ผู้เขียน | นฤตย์ เสกธีระ |
---|
คุยกับครูอุ้ม
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ นั่งเป็นเสมา 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเกือบปี
ครูอุ้ม ชูนโยบายการศึกษาด้วยแนวคิดที่อยากเน้นย้ำให้เกิดการศึกษาแบบทั่วถึง
สนับสนุนให้เกิดการศึกษาแบบ Anywhere Anytime
แนวคิดนี้เกิดขึ้นด้วยความต้องการผลักดันให้คนที่ไม่มีโอกาสสามารถมีโอกาสเข้าถึงความรู้ได้ง่าย
ตั้งใจให้การเรียนการสอนเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาหรือ Anywhere Anytime
ไอเดียของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน มีมากมายหลายอย่าง แต่ละอย่างต้องการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เด็กๆ
หวังจะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ผลักดันให้หลายโรงเรียนมีความเปลี่ยนแปลง โดยนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วย
ต่อไปครูที่สอนเก่งๆ จะได้รับการติดต่อให้มาถ่ายคลิปเพื่อเผยแพร่
ครูที่มีความสามารถในการสอนวิชาไหนก็ถ่ายคลิปเวลาที่สอน แล้วนำไปเผยแพร่ในช่องทางต่างๆ
ใครอยากเรียนก็เข้ามาเรียน
นักเรียนไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบ แม้จะอยู่นอกระบบการศึกษาก็สามารถเข้าถึงครูได้ทางออนไลน์
ไม่ว่าผู้เรียนจะมีอายุมาก หรือมีอายุน้อย ไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนนี้หรือโรงเรียนอื่น และไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดเดียวกันหรือไม่
หากอยากเรียนก็สามารถเข้ามาเรียนได้ทางออนไลน์
ครูที่เก่งและสอนดี ไม่จำเป็นต้องอยู่ในราชการ แม้แต่ครูที่เกษียณอายุไปแล้ว ถ้าสอนวิชานั้นดีเยี่ยม คนฟังแล้วเข้าใจง่าย มีทักษะการถ่ายทอดวิชาให้ผู้อื่นเป็นเยี่ยม ก็มีโอกาสได้สอนหนังสือผ่านทางออนไลน์
สำหรับเมืองไทยที่ผู้คนอยากให้ลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนดังในเมือง โรงเรียนมีชื่อเสียงในกรุง หากใช้แนวคิดแบบ Anywhere Anytime จะช่วยให้โรงเรียน ครู และนักเรียนได้ประโยชน์
หากแนวคิด Anywhere Anytime ได้ผล และขยายไปถึงระดับโรงเรียน ต่อไปนอกจากโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องที่มีอยู่แล้ว โรงเรียนดังทุกแห่งอาจจะมีศิษย์ทางออนไลน์
ใครสนใจเป็นศิษย์โรงเรียนดัง สามารถเรียนเพื่อรับความรู้จากโรงเรียนนั้นทางออนไลน์
แต่จะได้อ้างศักดิ์และสิทธิของโรงเรียนต้องผ่านกระบวนการสอบตามมาตรฐานของโรงเรียน
สอบผ่านได้ก็มีมาตรฐาน และมีศักดิ์และสิทธิเพียงพอที่จะเป็นศิษย์ของโรงเรียนนั้น
ถ้าสอบผ่านไม่ได้ก็กลับไปเรียนใหม่ แล้วมาสอบใหม่ สอบผ่านเมื่อไหร่ก็ได้เป็นศิษย์ของโรงเรียนนั้น
ต่อไป นักเรียน 1 คนอาจจะจบ 2 โรงเรียนในปีเดียวกัน
คือโรงเรียนที่ตัวเองเรียน และโรงเรียนที่สมัครเรียนทางออนไลน์
แต่ที่สำคัญครูอุ้มบอกว่า ถ้าทำเช่นนี้ได้ คนไทยจะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น
ฟังแล้วถ้าเป็นจริง น่าจะช่วยให้ผู้เรียนเลือกผู้สอนที่มีวิธีการสื่อสารให้เข้าใจในวิชานั้นๆ ได้ดีขึ้น
ดีกว่าที่จะให้ชีวิตนักเรียนขึ้นอยู่กับครูประจำวิชาของโรงเรียนนั้นๆ เพียงคนเดียวเท่านั้น
ด้านอาชีวศึกษา ครูอุ้มสนับสนุนให้เกิดการประสานงานระหว่างสถาบันการศึกษากับผู้ประกอบการ
สนับสนุนให้สถานประกอบการรับนักศึกษาไปเรียนไปฝึกกันที่บริษัท
เหตุที่คิดเช่นนี้เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว หากพึ่งแต่เครื่องมือจากวิทยาลัยอาชีวะอย่างเดียว กว่านักศึกษาจะเรียนจบ เทคโนโลยีนั้นก็เอาต์ไปแล้ว
เมื่อเกรงว่าวิชาความรู้ของนักศึกษาอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง การให้นักศึกษาเข้าไปเรียนไปฝึกกับผู้ประกอบการในสถานที่จริงเลย ย่อมช่วยแก้ปัญหานี้ได้
แต่ทั้งนี้ หลากหลายวิธีการที่ครูอุ้มบอก เหมาะสมสำหรับเด็กโตเท่านั้น
เด็กเล็กยังจำเป็นต้องมีครูอยู่ใกล้ชิด เพราะชีวิตทุกชีวิตต้องประคบประหงมด้วยการเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่
เด็กน้อยที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนเด็กเล็ก นอกจากจะเรียนวิชาการแล้ว ยังต้องเรียนรู้ทักษะชีวิต
เด็กๆ ต้องเติบโตในวัฒนธรรมของท้องถิ่น วัฒนธรรมของไทย เติบโตท่ามกลางปู่ย่าตายายและพ่อแม่พี่น้อง
ต้องอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างปกติสุข ต้องมีประสบการณ์การพึ่งพาอาศัยกันและกัน
ดังนั้น เด็กเล็กยังจำเป็นต้องอยู่กับครู
ทั้งครูที่โรงเรียน และครูที่บ้าน
ครูอุ้มยืนยันว่า ครูที่ดีที่สุดคือพ่อแม่
เรื่องนี้แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปแค่ไหน แม้รัฐบาลสนับสนุนการเรียนหนังสือทางออฟไลน์และออนไลน์กันอย่างไร
แต่ในที่สุด พ่อแม่ยังคงเป็นครูที่ดีที่สุดของลูก
ในวัยเริ่มต้นศึกษา แม้เด็กจะเข้าสู่ระบบ แต่เวลาที่ใช้ในโรงเรียนก็มีเพียงวันละ 8-9 ชั่วโมงเท่านั้น
เวลาที่เหลืออยู่กับครอบครัว
ดังนั้น พ่อแม่จึงมีความสำคัญในการสอนลูก
ตอกย้ำว่าพ่อแม่ยังเป็นครูที่ดีที่สุดที่จะถ่ายทอดทักษะชีวิตให้ลูกของตัวเอง
นฤตย์ เสกธีระ