ที่มา | อาทิตย์สุขสรรค์ มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | อธิษฐาน จันทร์กลม - เรื่อง วรพงษ์ เจริญผล - ภาพ |
จากทับลานถึงรัฐธรรมนูญ
ประภาส ปิ่นตบแต่ง
ส.ว. (พันธุ์) ใหม่ หวัง ‘ปฏิรูปสภา’ จูนสมมาตรทางอำนาจ
“ณ วันนี้เราก็คงเห็นชัด ว่ามันไม่ทำงาน”
เป็นคนธรรมดา ที่เห็นความไม่เป็นธรรม
เป็นความจำเป็น เมื่อระบบกลไกบางประการ ‘ไม่เวิร์ก’
หลังเกษียณอายุราชการในวัย 62 ปี รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง งัดคุณวุฒินักรัฐศาสตร์ 3 ใบปริญญาจากรั้วสิงห์ดำ สวมแว่นชาวนา และเอ็นจีโอผู้เคยสู้บนท้องถนนผ่านการมองคนมาแล้วหลายชนชั้น
ผันพลังคับข้องใจจากท้องทุ่ง พุ่งเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจ
ตัดสินใจลงสนาม วุฒิสภา (ส.ว.) สู้ในระบบที่อุทานว่า ‘ประหลาด’ เพราะมองสภาพบ้านเมืองแล้วยอมรับว่า สาหัส
‘เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ลบล้างมรดก คสช. เข้ามาร่วมกันสร้างกติกา จรรโลงระบอบประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานในสังคมไทย’ คือจุดยืนที่จรดชัดในใบสมัคร
“ชีวิตผมทำงานกับภาคประชาชนมายาวนาน ก่อนเป็นอาจารย์ก็เป็น NGO อยู่ที่ ‘โครงการแด่น้องผู้หิวโหย’ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ตั้งแต่ปี 2527 หลังจากนั้นมาอยู่ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และมีโครงการศึกษาทางเลือกการพัฒนา หลังเรียนต่อ ป.โท ทำงานอยู่ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) อยู่ 2-3 ปี ก่อนไปเป็นอาจารย์ที่ ม.เกริก ม.บูรพา และย้ายมาที่จุฬาฯ”
คือลูกหลานชาวนาคลองโยง จากปริมณฑลนครปฐม สู้เพื่อความเป็นธรรมจากยอดข้าว สู่ปากท้อง อดีตหัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ที่ทุกลมหายใจตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านพ้น ยังวนเวียนอยู่กับแวดวง กรรมกร ชาวนา นักศึกษา ไม่ต่างกับ ‘3 ประสาน’ ในร่างเดียว
ได้ยินได้ยลมาแล้วทั้งเสียงก่นด่า หยาดเหงื่อ และน้ำตา เพราะใจกลางปัญหายังไม่ถูกแก้ หลายชีวิตไม่มีแม้แต่สิทธิดื่มกิน ผลิตผลจากทรัพยากรธรรมชาติ
ก่อนปัดฝุ่นชุดสูท เข้าประชุมนัดแรกวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ อดใจไม่ไหวนัดหมาย 1 ใน 200 ว่าที่สมาชิกสภาสูง กลุ่ม 17 ประชาสังคมและองค์กรสาธารณประโยชน์ ผู้ครองใจชนชั้นกรรมกร นั่งสนทนาอย่างออกรสใต้ร่มสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ สถานที่เป็นดั่งบ้าน ด้วยเคยนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการ
สารพันปัญหาที่พรั่งพรู ทั้งปมร้อนอย่าง ‘ทับลาน’ ชาติพันธุ์ ปากท้องชาวบ้าน ที่ถูกล่ามด้วยกฎหมายและอำนาจ สะท้อนต้นสายปลายเหตุอันเป็นปัจจัยให้ใส่เกียร์เดินหน้า ‘รีโนเวตเสาเอกของบ้าน’
ใช้ความเป็นผู้รู้ ผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการตื่นตัวให้คนรากหญ้า จัดสรรสมดุลแห่งความเป็นธรรม บาลานซ์ ‘อำนาจที่ไม่สมมาตร’ ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน เพื่อลดความขัดแย้งที่ยังแฝงตัวอยู่ตามชายขอบ
⦁ ยังคงสู้อยู่เพราะอะไร เหตุใดจึงตัดสินใจก้าวเข้ามาสู้ในสนาม ส.ว.?
ผมทำงานกับภาคประชาสังคมมายาวนาน ตอนสอนหนังสือก็ยังไปเป็นที่ปรึกษา ให้กับสมัชชาคนจน สมัชชาเกษตรกรรายย่อย พีมูฟเครือข่ายหนี้สินชาวไทย เครือข่ายต่างๆ เห็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ความขัดแย้ง’ เห็นรัฐประหารปี 2549 ได้รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 มันมีปัญหาในเชิงโครงสร้างสถาบันทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบสากล ไหลเลื่อนและไม่สะท้อนเรื่อง ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน’
ปี 2535 เกิดพฤษภาทมิฬ สังคมก็เกิดกระแสว่าจะต้อง ‘ปฏิรูปการเมือง’ และผลักให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และยกร่างรัฐธรรมนูญปี’40 จนประกาศใช้วันที่ 10 ธ.ค.2540 ซึ่งผมเองก็อยู่ในกระบวนการร่างฯ ด้วย
ช่วงนั้นเอง สมัชชาคนจน ก็ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2539 นัดชุมนุมใหญ่ 99 วัน ผมก็เขียนหนังสือ ‘การเมืองบนท้องถนน 99 วัน สมัชชาคนจนฯ’ เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาป่าไม้ ที่ดิน เขื่อน ภาคใต้ก็มีเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ฯลฯ
มันโยงมาสู่เรื่องรัฐธรรมนูญ ที่พี่น้องร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับคนจน ซึ่งฉบับปี’40 น่าสนใจตรงที่มันมีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับปัญหาประชาชน ประเด็นสำคัญๆ อย่าง ‘สิทธิชุมชน’ นำมาสู่การถ่ายโอนอำนาจ การจัดการชีวิตสาธารณะ การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น และเริ่มมีบทบัญญัติให้ต้องทำประชามติและประชาพิจารณ์โครงการ ถ้ามองอีกแบบมันคือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือ ‘ประชาธิปไตยทางตรง’ ที่เราพูดถึงกัน ขยายพื้นที่การมีส่วนร่วม ถ่ายโอนอำนาจไปสู่ผู้คนข้างล่าง
⦁ ในฐานะที่เคยผ่านช่วงเวลาที่ได้ลิ้มลองรัฐธรรมนูญ ที่เปิดการมีส่วนร่วมของประชาชน มองรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แล้วรู้สึกอย่างไร?
ตอนนั้นการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ใช้ 50,000 ชื่อ และยังเสนอถอดถอนรัฐมนตรีได้ด้วย ถ้าประชาชนไม่ไว้วางใจ ซึ่งมันยังนำมาสู่เรื่องที่สำคัญคือ ‘การกระจายอำนาจ’ เกิดบทบัญญัติว่าผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนตรวจสอบอำนาจรัฐได้ เกิดสื่ออิสระ ก่อนที่จะมีมาตรา 40
เทียบกับปัจจุบันพูดได้อย่างเต็มปาก ว่าถ้ายุคนั้นเป็น ‘ยุคทองของการเมืองภาคประชาชน’ ยุคนี้มันคือยุคตกต่ำ ถดถอย เป็น ‘ยุคมืด’ เอาอำนาจขึ้นไปข้างบน ไปอยู่ที่องค์กรอิสระ ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ เราจะเห็นภาพสะท้อนชัดเจนจาก ส.ว.ไม่ได้ยึดโยงกับหลักการ ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย’ แต่กลับมีอำนาจปลด ส.ส. ผู้ที่มาจากประชาชนเลือก ผมพูดเลยว่า มาจนถึง ณ วันนี้ เราก็คงเห็นชัดว่า ‘มันไม่ทำงาน’ (หัวเราะ) ให้เกิดผลดีต่อการสร้างประชาธิปไตย ต่อการใช้สิทธิเสรีภาพที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต มันไม่ได้นำพามาซึ่งสิ่งเหล่านี้
มีปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งหลังรัฐประหาร 2557 หมาดๆ ยิ่งหนักหนาสาหัส เพราะอำนาจร่วมตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ มันลดหดหายไป กรณี เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นตัวอย่าง ลดการทำ EIA ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พวกนี้ลง
⦁ เหมือนตัดการตัดสินใจของประชาชนออกไปเรื่อยๆ?
ใช่ๆ (พยักหน้า) อย่างที่เราเห็นกันอยู่ สิ่งที่ชาวบ้านเผชิญจะว่าไปแล้วก็คล้ายๆ กับช่วงยุค 2540 เป็นปัญหาเดียวกัน แต่สาหัสกว่า พื้นที่ก็หดหายไป โครงการก็สร้างง่ายมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อนุมัติไว ต้องกลับมาจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ สร้างกติกากันใหม่ นั่นหมายความว่าต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับ ‘รัฐธรรมนูญ’
⦁ แล้วมันควรจะมีหน้าตาอย่างไร เริ่มจากจุดไหน?
ผมว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ควรนำมาเป็นตัวอย่างของบทบัญญัติที่ควรจะต้องคำนึงถึง ที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็เขียนไว้สั้นมาก มันควรจะถ่ายโอนอำนาจลงมา ต้องแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับการเสนอกฎหมาย เพราะพอประชาชนต้องเข้าชื่อ 10,000 ชื่อ ก็ยังมีร่างของรัฐบาล ของ กมธ.อะไรต่างๆ เข้ามาประกบอีก และมักจะเอาร่างของรัฐบาลมาเป็นร่างหลัก ปัดตกของประชาชน ถูกแก้จนเละเทะไปหมดอีก แทนที่จะให้อำนาจประชาชนตรงนี้เหมือนในหลายประเทศ
ผมคิดว่า ถ้าสภาไม่เห็นด้วยในกฎหมายสำคัญๆ เอาไปลงประชามติเสีย ถามประชาชน มันต้องการการปฏิรูปในเรื่องอะไรแบบนี้ รวมถึงการรับฟังความเห็น ในแง่ทางกฎหมาย ก็มีอยู่ใน ม.77 กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ก็ไปแขวนไว้ที่เว็บไซต์ คนเข้ามาแสดงความคิดเห็น 10 คน ก็ถือว่ารับฟังแล้ว? มันแคบมาก ซึ่งยังมีประเด็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย คือใช้ไป 5 ปีแล้วจะต้องปรับปรุง อย่างที่ผมตามอยู่กฎหมายที่กำลังมีปัญหา พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ก็ครบ 5 ปีในปี 2567 นี้พอดี ถามว่ามีใครรู้บ้าง ประชาชนรู้มากน้อยแค่ไหนว่ามีการประเมินผล
⦁ พูดถึงการรับฟังความเห็น ตอนนี้มีประเด็น #saveทับลาน ส่วนตัวมองอย่างไร?
ตอนนี้ก็มีคนเสนอ ม.64 เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาอุทยานทับลาน ที่จะให้ออก อท.4-01 แทน ส.ป.ก.4-01 ผมเห็นว่า ม.64 ของ พ.ร.บ.อุทยาน มันมีปัญหามาก เพราะไม่ให้สิทธิกับชุมชนที่เคยอยู่มาก่อน อย่างพี่น้องบางกลอย คือถ้าอยู่ในเขตประกาศอุทยานเมื่อไหร่ก็ตาม ชุมชนอยู่มา 100-200 ปีอย่างไรก็แล้วแต่ ให้ถือว่าที่ดินนั้นเป็นของรัฐ รัฐจะให้แค่ อท.4-01 คืออนุญาตให้ใช้ชั่วคราวไม่เกิน 25 ปี นี่คือสิ่งที่คนพูดถึงกัน แล้วก็ยังมีเงื่อนไขห้ามเก็บเห็ด เก็บอะไรได้ไม่เกิน 5 กิโลฯ มีอะไรพวกนี้หยุมหยิมไปหมด มีกฎหมายลูก กฎกระทรวง ทั้งๆ ที่พื้นที่แบบนี้ ชาวบ้านควรจะได้กรรมสิทธิ์ด้วยซ้ำ
ชุมชนแบบนี้ในช่วงที่มี พ.ร.บ.อุทยาน ปี 2562 ออกมา มีการสำรวจ 270 ครั้ง ก็พบว่ามีอยู่ 4,100 ชุมชน ที่ดินราว 4 ล้านไร่ ส่วนตัวผมคิดว่ากรณีอุทยานทับลาน โอเค มันอาจจะมีพื้นที่ซึ่งประชาชนบุกรุกทีหลัง พี่น้องถูกอพยพมาเพราะเป็นพื้นที่ความมั่นคง แก้ไขปัญหาในยุคที่รบกับพรรคคอมมิวนิสต์ อันนั้นก็ว่ากันไป แต่สำหรับคนซึ่งอยู่มาก่อน แล้วอุทยานไปประกาศทับที่ ที่เหล่านี้ควรจะให้กรรมสิทธิ์ ซึ่งไม่ได้มีแค่เฉพาะทับลาน ทางพีมูฟเองก็เสนอโฉนดชุมชนให้ถือครองร่วมกัน แต่ต้องไม่ใช่การออก อท.4-01 ที่จะเอามาแทน ส.ป.ก.4-01 นี่มันเป็นการรอนสิทธิชาวบ้าน
แม้เป็นกฎหมายอุทยาน แต่ก็ยังเชื่อมโยงมาถึงรัฐธรรมนูญ ที่ถ้ากำหนดชัดเจนเรื่อง ‘สิทธิชุมชน’ ก็จะต้องแก้กฎหมายอุทยาน ประเด็นนี้ก็ยังมีความซับซ้อน อย่าง ม.25 ที่กำหนดว่า ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคง หรือล่อแหลมต่อสภาพนิเวศฯ จะไม่บังคับใช้ประเด็นสิทธิชุมชนก็ได้ มันจึงนำมาสู่กรณีแบบทับลาน หรือกรณีแบบพี่น้องบางกลอย ที่ถูกอพยพลงมา ต้องกลับไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิชุมชน ต้องยกร่างให้ชัดเจน
⦁ ถ้าเรื่องสิทธิชุมชนหรือโฉนดชุมชน เกิดขึ้นได้จริง?
เรื่อง ‘โฉนดชุมชน’ จริงๆ บ้านผมที่คลองโยง เป็นโฉนดชุมชนแห่งแรกของไทย 1,803 ไร่ ใช้ร่วมกัน ผมคิดว่าแนวคิดนี้ จะช่วยจัดการความขัดแย้งในหลายลักษณะ เช่น พื้นที่เขตป่า เขตอุทยาน พี่น้องเองก็ต่อสู้กับแนวคิดตามการจัดที่ดินโดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยอาศัย ม.64 คือ รูปแบบของการให้อยู่ชั่วคราวไม่เกิน 25 ปี แต่เครือข่ายพีมูฟ และอื่นๆ มองว่า แบบนี้มันไปลิดรอนสิทธิชาวบ้าน ที่ควรจะมีความมั่นคงในที่ดิน ถือครองในลักษณะของชุมชน สร้างเงื่อนไขเรื่องการดูแลรักษาร่วมกันได้ อย่างที่ทับลาน เห็นได้จากดูการสัมภาษณ์ของผู้นำ คุณโชคดี ปรโลกานนท์ ชาวบ้านที่นั่นก็ร่วมกันปลูกป่า สร้างป่า ทำเขตกันไฟต่างๆ สร้างกติการ่วมกันได้ เจ้าหน้าที่รัฐมีไม่พอที่จะไปดูแลรักษาป่าหรอก ต้องสร้างภาคีสาธารณะ ที่มีทั้งหน่วยงานรัฐ อุทยานป่าไม้ ท้องถิ่น ชาวบ้านซึ่งรวมถึงนักอนุรักษ์หรือคนในเมืองแบบพวกเราด้วย ผมคิดว่าแนวทางนี้เท่านั้นแหละที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดิน ยั่งยืนได้ ไม่ใช่ใช้อำนาจรวบสู่ศูนย์กลาง
มันเป็นปัญหาค้างคาต้องได้รับการปฏิรูป เช่นเดียวกับสถาบันทางการเมือง ต้องมาจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ government ต้องปรับมาเป็น governance จัดการแบบภาคีสาธารณะ สร้างกติการ่วมกัน ผมคิดว่าแนวนี้เท่านั้นทำแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่แบบที่เสนอกัน ผมยังคิดว่ายังกลับไปสู่วิธีคิดแบบเก่า
⦁ รัฐธรรมนูญเป็นความใฝ่ฝัน หันมามองภาพรวมหน้าตา ส.ว.ชุดใหม่ ยังมีความหวังอยู่ไหม?
ส.ว. ประชาชน เข้ามาได้สัก 20-30 คน แต่ว่าแก้รัฐธรรมนูญต้องการเสียง ส.ว. 1 ใน 3 ดูแล้วคงลำบากแน่ แต่เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ดี มันไม่ได้เกิดขึ้นในสภา มันเกิดขึ้นเพราะพลังทางสังคม อย่าง 14 ตุลาฯ ฉะนั้นถ้าถามในบริบทปัจจุบันมันยาก เราต้องสร้างพลังความรู้ ศึกษารัฐธรรมนูญว่ามันมีปัญหาอย่างไรบ้าง ผมคิดว่า ถ้าได้ทำหน้าที่ ส.ว.หลังจากนี้ อยากจะตั้งอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาของรัฐธรรมนูญทุกมิติ และผมก็อยากเห็นประชาชนร่วมกันเข้าชื่อให้แก้ พ.ร.ป.เลือก ส.ว. หวังในสภาอย่างเดียวไม่ได้ ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันผลักดันให้เป็นประเด็นสาธารณะขึ้นมา
⦁ มองภาพบ้านเมืองตอนนี้แล้วเห็นอะไรบ้าง?
เราเห็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาทางภาคธุรกิจมากกว่า อย่าง ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์ปี 2551 ที่กำลังอยู่ในสภา หวังว่าจะได้ผลพวงทางเศรษฐกิจจากธุรกิจบาป เรากำลังพูดถึงการเปิดบ่อนกาสิโนเสรี แต่เรามีนโยบายเกี่ยวข้องกับคนจน น้อยมาก
⦁ ในมุมชนชั้นกลาง-ล่าง รัฐบาลก็มีนโยบายแก้หนี้ และปุ๋ยคนละครึ่ง?
จริงๆ แล้ว ปุ๋ยคนละครึ่ง ถ้าไปถามชาวนาเขาก็จะวิจารณ์ว่าไม่เห็นด้วย เพราะเดิมมีนโยบายชดเชยราคา หรือประกันราคาข้าว ให้ไร่ละ 1,000 บาท และยังให้ค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 500 ถ้ามีนา 20 ไร่ก็จะได้ราว 3 หมื่นบาท แต่ว่าพอมีปุ๋ยคนละครึ่ง ก็จะได้ 10,000 บาท ชาวบ้านก็จะบ่นเพราะได้ลดลง เขาก็เข้าใจว่ารัฐบาลเอาเงินไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ไม่ได้ตื่นเต้นเพราะเคยได้แล้ว และไม่รู้ว่าจะออกมาเมื่อไหร่ และจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องข้าว 70 ล้านไร่ต่อปี ราคาข้าวปีนี้ดีขึ้นมาหน่อย แต่ก็ไม่ได้สูงจนทำให้เกษตรกรอยู่ได้
⦁ ในฐานะที่เป็นลูกหลานชาวนา รับฟังปัญหามายาวนาน อะไรคือสิ่งที่เกษตรกรไทยต้องการจริงๆ?
อันนี้ต้องถอนหายใจ (ถอนหายใจ) มันเป็นปัญหาใหญ่มาก เรื่องข้าว ผมคิดว่ามันอยู่ในโครงสร้างการผลิตและกลไกราคาตลาด ที่ไม่สามารถทำให้ชีวิตชาวนาอยู่แบบเดิมได้ ถ้ามีนา 20 ไร่ ปลูกครั้งหนึ่งปีละ 2 ครั้ง ไร่ละ 1 ตัน กำไรไม่พอที่จะเลี้ยงครอบครัว สังคมผู้ประกอบการ ชี้ให้เห็นว่า สังคมชาวนาแบบเก่ามันเปลี่ยนไปแล้ว ต้องทำมาหากินหลายแบบ เป็นทั้งแม่ค้าขายของในเมือง เป็นคนงาน ขายของออนไลน์ก็มี ทางบ้านผมตอนนี้เหลือน้อยมากที่จะปลูกข้าว 20 ไร่ เพราะว่ามันไม่พอ ต้องปลูกผักชีฝรั่ง ทำนาบัวบ้าง หรือปลูกพืชล้มลุกต่างๆ ที่ทำในที่ดินสัก 2-3 ไร่ หรือ 5 ไร่ที่จะทำให้มีรายได้วันละ 400-500 บาท
การย่ำอยู่ที่แค่ปุ๋ยคนละครึ่ง หรือการชดเชยไร่ละพันบาท มันเล็กน้อยมากสำหรับชีวิตชาวนา ส่วนคนที่อยู่ในโรงงานทำอย่างไรที่เขาจะได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรมหรือมีสวัสดิการ มันถึงจะครอบคลุมถึงชีวิตชาวนา หรือผู้คนที่หันมาปลูกผัก ตลาดก็ถูกผูกขาด การกำหนดราคาก็มาจากพ่อค้าคนกลาง ผัดผักบุ้งไฟแดงจานละ 80 บาท ก๋วยเตี๋ยวก็ขึ้นชามละ 40-50 บาทแล้วมีผักบุ้งอยู่หน่อยหนึ่ง ก็มาจากทางบ้านผม แต่ชาวบ้านขายกำหนึ่งได้แค่ 3-4 บาท มีรถปิกอัพที่เป็นพ่อค้าคนกลาง รับมาส่งที่ตลาดสี่มุมเมือง เราต้องมาคิดถึงความเป็นธรรมในกลไกตลาด ที่ชาวบ้านต้องปรับชีวิต ทำอย่างไรให้ไม่ถูกตลาดเอาเปรียบ กำหนดราคากลางใหม่อะไรทำนองนี้ มียุคหนึ่งที่สร้างตลาดกลาง พอสร้าง ‘ตลาดกลาง’ ก็ร้างกันไปหมด
⦁ แต่ล่าสุด นายกฯ ก็ไปดีลกับซาอุดีอาระเบีย เตรียมส่งออกสินค้าการเกษตร น่าจะพอช่วยได้?
ปัญหาคือสินค้านั้นคืออะไร แต่สินค้าแบบผักบุ้ง ที่ตัดมาจากนาข้าว นาบัว หรือผักชีฝรั่ง มันไม่ใช่สินค้าที่จะส่งออกด้วยซ้ำ ถ้ามันคงต้องดูตลาดหลายระดับ ทั้งตลาดการบริโภคในท้องถิ่นด้วย ในเชิงหลักการก็คงจะต้องเสนอแบบนี้ ผมเข้าใจได้อยู่ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นง่าย แต่ถ้ามีวิธีคิดหรือจินตนาการเห็นถึงชีวิตผู้คน ก็จะทำให้เรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นไปได้ ต้องเป็นคนในสายตาที่รัฐมองเห็นก่อน
⦁ มีเรื่องที่น่ายินดี เห็นผลสำเร็จบ้างหรือไม่ อย่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ที่เพิ่งผ่าน ทำให้เห็นความหวังมากขึ้นบ้างไหม?
ถ้าพูดในแง่ความหวัง หน้าตามันจะออกมาเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง แต่เราเห็นความคืบหน้าของภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าไปทำงานร่วมกับพี่น้องที่เดือดร้อนทั้งในชุมชน กะเหรี่ยง ปกากะญอ และชาวเล อย่างน้อยที่สุดคือเรายอมรับการมีอยู่ของเขา จากที่เมื่อก่อนเรามองว่าพี่น้องกะเหรี่ยงเป็นคนบุกรุก ทำลายป่า และมันก็นำมาสู่มติ ค.ร.ม. และบทบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มองในแง่นี้ มันก็สะท้อนให้เห็นผลสำเร็จ ความเปลี่ยนแปลง แต่ยังมีหลายเรื่อง พ.ร.บ.อุทยาน ที่ดูจะถอยหลังไป ผมมองนโยบายสาธารณะหรือกฎหมาย ว่ามันมีวงจรชีวิตของมัน มีขึ้น-มีลง รัฐธรรมนูญวนไปวนมาจนหลายคนเรียกว่า วงจรอุบาทว์ ผมคิดว่ามันหมุนนะ แต่หมุนแบบสปริง หมุนขึ้นไปข้างบนเรื่อยๆ (หัวเราะ)
⦁ มองในมุมคนจนเมือง เห็นปัญหาอะไรบ้าง ตอนนี้ชาวเน็ตถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจแย่แก้ไม่ได้ ด้วยการให้แรงงานทำงานหนัก ส่วนตัวคิดเห็นอย่างไร?
มีงานศึกษาไว้มาก ‘คนจนเมือง’ เป็นคนที่เลี้ยงเมือง เศรษฐกิจนอกระบบ รถเข็นหาบเร่อะไรต่างๆ หรือชุมชนตรอกโพธิ์ที่ไฟไหม้ไป ผมเคยลงไปศึกษาเขาก็เป็นชุมชนบ้านเช่า ซึ่งเจ้าของเป็นผู้ครอบครองที่ดินรายใหญ่ เขาปลูกบ้านเช่าเล็กๆ มาเป็นร้อยปี ทั้งคนที่อยู่ดั้งเดิม คนใหม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ก็เช่าอยู่บ้าง เคยมีพี่คนหนึ่งที่ทำงานอยู่แถวนั้นเขาบอกว่า อาจารย์ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเมืองเหมือนกับ ‘ฟองน้ำ’ ผู้คนต่างๆ เหล่านี้จะเหมือนคนที่ซ่อนอยู่ตามรูเล็กๆ มันเป็นส่วนหนึ่งของฟองน้ำ เป็นคนที่เลี้ยงเมือง เป็นทั้งแรงงาน แหล่งอาหารราคาถูก มันก็มาจากตรงนั้น
มากไปกว่าเรื่องชุมชนตรอกโพธิ์ ที่จริงยังมีชุนชนแบบนั้นอยู่อีก 3 แห่ง ที่เป็นที่ดินขนาดใหญ่ ปล่อยให้เช่าเป็นบ้านเล็กๆ เป็นที่ดินตาบอด ที่ทั้งพี่น้องแรงงานชาวเมียนมา ลาว เขมร อยู่เต็มไปหมด มาเช่าตึกอยู่รวมกัน 4,000 บาท แต่อยู่กัน 14-15 คน ใช้วิธีผลัดกันนอน 3 กะ เพราะทำงานไม่ตรงกัน คนไทยก็อยู่เยอะแยะตามซอกตามหลืบ ถ้าพูดถึงปัญหาคนจนเมือง คงมีหลายด้าน ซึ่งมักเป็นอาชีพนอกระบบที่คนพูดกันเยอะ รวมถึงพื้นที่ขาย คนในเมืองก็อยากจะเห็นถนน บ้านเมืองสะอาด มีการจัดระเบียบ แต่อีกด้านหนึ่งคือผู้คนเหล่านี้เป็นคนเลี้ยงเมือง ผมเคยตามรถเข็นส้มตำ เอาจริงคนที่กินก็เป็นคนทำงาน กินอาหารเป็นร้อยบาทก็ไม่ได้ รายได้แบบเดือนชนเดือน มันก็เป็นวงจรที่เชื่อมโยงกัน
⦁ คอนโดผุด ราคาสูง แต่ดูเหมือนกำลังซื้อของคนจะไม่มี มองอนาคตเรื่องที่ดินกลายเป็นรองรับต่างชาติหรือไม่?
ใช่ๆ คนอยู่ไม่ได้ คนจนเมืองก็มีบ้านมั่นคง แต่มันไม่ได้รองรับเพียงพอ ในยุคหนึ่งก็มีการสร้างแฟลตข้าวโพด อยู่โน้นไกลเชียว คลองสามวา พี่น้องก็ทำมาหากินไม่ได้ อาจจะต้องคิดถึงที่อยู่อาศัยให้เช่าราคาถูก ผมคิดว่าการที่จะมุ่งสร้างบ้านให้คนจน อาจยังไม่พอ ต้องคิดหลายรูปแบบ อย่าง อินเดีย ให้เอกชนมาร่วมลงทุน เพื่อให้คนเช่าราคาถูก น่าสนใจที่ตอนนี้มีเครือข่ายพี่น้องคนไร้บ้าน เครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่เขาพยายามสร้างเป็นโมเดล สำหรับที่อยู่อาศัยแบบเช่า ร่วมกับ กทม. ที่การประปาแม้นศรี ผมว่าสำหรับคนจนเมือง ยังมีหลายมิติ แต่ ณ วันนี้เรื่องที่อยู่อาศัย มันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ที่จะต่อยอดทำมาหากิน
⦁ มองตอนนี้มีอะไรที่รัฐสามารถทำได้ทันที เพื่อกู้สถานการณ์ภาพรวมประเทศ?
ผมก็หวังว่า คนที่จะเข้าไปทำงานในฐานะวุฒิสมาชิก จะสร้างพื้นที่ตรงกลาง ให้พี่น้องกลุ่มต่างๆ ที่มีปัญหา ได้มาเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย การทำมาหากิน ให้เจ้าของปัญหามาพบกับผู้ที่มีหน้าที่ดูแล ‘รัฐสภา’ ต้องมีบทบาทในการผลักดัน ‘พื้นที่กลาง’ ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
ไม่ผูกขาดอยู่ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการ อยู่ฝ่ายเดียว