คอลัมน์ เริงโลกด้วยจิตรื่น : จิตของผู้ให้

การสัมผัสสัมพันธ์กับโลกของสรรพสัตว์มี 2 วิถีคือ สละของเราออกไป กับเก็บมาเป็นของเรา

ทั้ง 2 วิถีเกิดขึ้นเป็นปกติ ไม่มีใครสละอย่างเดียว ไม่มีใครรับอย่างเดียว

ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตต่างเป็น “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ของกันและกัน

ถ้าจิตตั้งอยู่ในความเป็นปกตินี้ สำนึกรู้ว่า “ให้” หรือ “รับ” เป็นธรรมดาของเหตุที่ก่อผล ชีวิตจะดำเนินไปตามธรรม

Advertisement

แต่ชีวิตสัตว์โลก โดยเฉพาะมนุษย์มักไม่เป็นอย่างนั้น เพราะแทนที่จะปล่อย “การให้” และ “การรับ” เป็นไปตามปกติแห่งเหตุปัจจัยที่มาประกอบกัน และมองเห็นความปกตินั้น กลับกลายเป็นมาส่วนใหญ่จะเติมความคาดหวังเข้ามา

และเป็นธรรมดาของ “ความคาดหวัง” ที่ “หวังจะได้ หวังจะรับ” มากกว่า “หวังจะให้”

แต่เหมือนกับมนุษย์เรานั้นมี “สามัญสำนึก” ที่เข้าถึงความรู้ในความธรรมดาของโลก “ให้” ดีกว่า

Advertisement

“รับ”

“ผู้ให้” จะได้รับผลภายภาคหน้าในทางปลอดโปร่งโล่งใจว่า “ผู้รับ”

ผู้ให้จะเป็นผู้ที่ไม่รู้สึกติดค้าง หรือเป็นหนี้บุญคุณใคร ไม่รู้สึกถึงภาระที่จะต้องชดใช้ นั่นหมายถึงชีวิตดำเนินในวิถีที่เป็นอิสระไม่ถูกผูกมัดด้วยภาระใดๆ มากกว่า

ดังนั้น ปราชญ์ทั้งหลายจึงบอกกล่าวชี้ทางให้แก่คนรุ่นหลังๆ ตลอดมาในทำนอง “จงเป็นผู้ให้” หรือชี้ให้เห็นว่า “ผู้ให้เหนือกว่าผู้รับ”

ปกติของวิถีแห่งกรรมก็เป็นอย่างนั้น

ชีวิตของ “ผู้ให้” เบากว่า “ผู้รับ”

อย่างไรก็ตาม ความเป็นปกติของชีวิตมักมีความซับซ้อน

เป็นความซับซ้อนอันเกิดจาก “ความอยากได้ใคร่มี” หรือที่เรียกว่า “ตัณหา”

จิตที่อยู่อย่างไม่ระมัดระวังมักจะถูกครอบงำด้วยตัณหา

และเมื่อจิตถูกครอบงำด้วยความอยากได้ใคร่มีเสียแล้ว กระทั่ง “การให้” ก็กลายเป็นภาระ

เหตุเกิดจาก “ความอยากได้ใคร่มี” จะชี้นำความคิดให้เกิด “ความคาดหวัง” และเป็น “หวังจะได้”

ทำ “การให้” กลายเป็นเพื่อ “หวังจะได้”

ในกระแสโลกที่ส่วนใหญ่ถูกครอบงำด้วยความคิดว่า “ความสำเร็จของชีวิตคือการมีมากกว่าในลาภ ยศ สรรเสริญ” ทำให้ “การให้” เป็นไปเพื่อ “หวังว่าจะได้”

“ให้” อย่างนี้ โดยมีความหวังว่าจะ “ได้” อย่างนั้น อย่างโน้น

กระทั่งทำบุญ ทำทาน ยังเพื่อหวังว่าจะได้ผลบุญ ผลทานเป็นลาภ ยศ สรรเสริญมากกว่าที่ให้ไป

ด้วยเหตุนี้เอง “จิตของผู้ให้” ซึ่งควรจะปลอดโปร่ง ด้วยสละภาระทิ้งออกไป กลับกลายเป็นจิตที่ท่วมด้วยภาระที่เกิดจากความคาดหวังนั้น

หรือแท้จริงแล้ว “ผู้ให้” เพราะ “หวังจะรับ” นั้น ไม่ใช่ “ผู้มีจิตของผู้ให้” แต่เป็น “จิตของผู้หวังจะรับ” มากกว่า

จิตแบบนี้จึงเป็น “จิตที่หนักอึ้งมากกว่า” ทั้ง “อยากได้ใคร่มีตามที่หวังว่าจะได้จากการให้” และ “กังวลเสียดายว่าการให้จะเป็นการสูญเปล่า เพราะไม่ได้อย่างที่หวัง”

พ้นไปเสียจาก “จิตผู้ให้” ที่แท้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image