คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน : ผักอินทรีย์ร้อยล้าน

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเกษตรกรในบ้านเราหันมาสนใจการทำเกษตรอินทรีย์ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว, ผัก, ผลไม้ และอื่นๆ

แต่กระนั้น ยังถือเป็นส่วนน้อยของเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ

เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคพืชต่างๆ มากมาย

ที่สำคัญ หากเกษตรกรรอบข้างไม่เอาด้วย เพราะเขาคุ้นชินกับการทำเกษตรโดยใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง เราเองก็ทำลำบาก เพราะต้องใช้คลองส่งน้ำสายเดียวกัน

Advertisement

ดังนั้น โอกาสที่สารเคมีจะปนเปื้อนหรือแพร่กระจายไปในนาข้าว สวน หรือแปลงผักของตัวเองย่อมมีสูง ผลเช่นนี้จึงทำให้เกษตรกรบางรายต้องใช้วิธีมวลชนสัมพันธ์

เข้าไปพูดคุยเพื่อให้เข้าใจในวัตถุประสงค์เดียวกัน

เมื่อก่อนอาจจะยาก แต่ปัจจุบันเกษตรกรหลายรายเริ่มเข้าใจในเรื่องของเกษตรอินทรีย์มากขึ้น โดยเฉพาะกับเกษตรกรรุ่นใหม่ เพราะเขารู้ด้วยตัวเองว่าข้าวที่กิน ผัก ผลไม้ที่ปลูกถูกหล่อเลี้ยงจากอะไร

Advertisement

เรื่องอะไรเขาจะนำสารพิษเข้าร่างกาย

แต่กระนั้น ในเรื่องบริหารจัดการก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความท้าทายต่อเกษตรกรอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องตลาด การนำผลผลิตไปขายกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะ

รวมถึงการกำหนดราคา

ผลเช่นนี้ จึงทำให้มีภาคเอกชนจากหลายๆ หน่วยงานเริ่มเข้ามาให้การสนับสนุน ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ การสร้างแบรนด์ การบริหารจัดการ และการนำผลผลิตไปขายในที่ต่างๆ

ทั้งยังช่วยกำหนดราคาให้อีกด้วย

แต่ไม่ใช่ว่าทุกรายจะประสบความสำเร็จ พวกเขายังต้องลองผิดลองถูกหลายครั้งกว่าจะกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ในเรื่องนี้เอง จึงทำให้ผมนึกถึงตอนไปศึกษาและดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น

โดยเฉพาะที่เมืองชิบะกับไซตามะ

เพราะแถบบริเวณนี้ถือว่าไม่ไกลจากโตเกียวเท่าไหร่นัก ทั้งแถบบริเวณนี้ยังปลูกผักชนิดต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นผักกวางตุ้ง, หัวไชเท้า, ถั่ว, เห็ดญี่ปุ่น, พริกชนิดต่างๆ, กระหล่ำปลี และผักญี่ปุ่นอีกหลายชนิด

ที่สำคัญ ผักทุกชนิดยังระบุชื่อของเกษตรกรที่ปลูก วันเก็บผลผลิต วัดหมดอายุ และมาจากแปลงผักที่เมืองอะไร เพราะแค่นำไปสแกนผ่านบาร์โค้ดก็จะรู้แล้วว่าเป็นผักแปลงไหนของเกษตรกร

สำคัญไปกว่านั้น เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตกรรุ่นใหม่ที่เบื่อหน่ายจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนในกรุงโตเกียว พวกเขาถามตัวเองว่า…ที่ทำงานอยู่ทุกวันนี้มันใช่ความสุขจริงๆ หรือเปล่า

เขาถามตัวเองทุกวัน

จนพบคำตอบว่า…ไม่ใช่

เขาจึงรวมตัวกันประมาณ 6-7 คน เพื่อปลูกผักอินทรีย์ แรกๆ ลองผิดลองถูกอยู่นาน จนวันหนึ่งการเรียนรู้ค่อยๆสอนให้เกิดความชำนาญในที่สุด

ทั้งๆ ที่พวกเขาเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตร

ซึ่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว พวกเขามีรายได้สุทธิประมาณ 30 ล้านเยน/ปี

ถามว่ามากไหม?

ก็พอสมควร

แต่ถ้าถามว่าพวกเขามีความสุขมากไหม?

พวกเขาตอบพร้อมกันว่า…มาก

ที่สำคัญ ภรรยา และลูกๆ ของพวกเขามีความสุขมากด้วย เพราะทุกคนได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ทุกคนได้บริโภคผักที่ปลอดสารพิษ

สำคัญไปกว่านั้นพวกเขายังบูรณาการแปลงผักให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ในการปลูกผักอินทรีย์อีกด้วย จนทำให้ผู้คนจากในประเทศ รวมถึงประเทศต่างๆ ต่างมาศึกษาหาความรู้จากพวกเขา

เพราะเขาไม่เพียงแค่ทำเฉพาะกลุ่มของตน

หากยังนำผักต่างๆ ที่ปลูกไปเชื่อมโยงกับร้านอาหารชุมชน ร้านอาหารในกรุงโตเกียว, ชิบะ และเมืองอื่นๆ ที่ต้องการเสิร์ฟเมนูอาหารอินทรีย์ให้กับลูกค้าอีกทางหนึ่งด้วย

จนทำให้แปลงผักของเขามีชื่อเสียง

กระทั่งมีลูกค้าที่อยู่รายรอบชุมชนต่างเข้ามาซื้อผักสดๆ กันถึงที่เลย ที่สำคัญอีกอย่างคือภายในชุมชนของเขายังก่อตั้งสหกรณ์ชุมชนขึ้นมาเพื่อรองรับผลผลิตทุกชนิดด้วย

ไม่ว่าจะเป็นผักจากพวกเขา ผลไม้จากที่อื่น รวมไปเนื้อสัตว์ต่างๆ ปลาหลากหลายชนิด รวมไปถึงอาหารแปรรูปอีกมากมายที่พวกเขาสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมา

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ

แต่ใช้เวลากว่า 20 ปีที่เรื่องของเกษตรอินทรีย์จะกลายเป็นที่ยอมรับในประเทศญี่ปุ่น แถมยังมีเพียง 1% ของเกษตรกรทั้งหมดของประเทศที่ดำเนินธุรกิจเกษตรอินทรีย์เท่านั้น

เพราะฉะนั้น ธุรกิจนี้จึงมีอนาคตอย่างยิ่ง

ซึ่งเหมือนกับกลุ่มเซ็นทรัลที่ดำเนินโครงการสินค้าชุมชน ทั้งนั้นเพราะกลุ่มนี้ดำเนินธุรกิจค้าปลีก ทั้งยังมีความชำนาญในธุรกิจนี้มากว่า 70 ปี ผ่านมากลุ่มเซ็นทรัลช่วยเหลือพัฒนาชุมชนไปแล้วกว่า 123 ชุมชน ใน 49 จังหวัดทั่วประเทศ

มีสินค้าที่ได้รับการพัฒนาแล้วกว่า 1,508 รายการ

ทั้งยังมีรายได้กลับคืนสู่ชุมชนกว่า 637 ล้านบาท

ถามว่ารายได้ทั้งหมดนี้มาจากอะไร?

คำตอบคือมาจากการปลูกข้าว และปลูกผักล้วนๆ อาทิ กะหล่ำดอก, บร็อกโคลี, ผักกาดขาวปลี, แขนงกะหล่ำ, คะน้าฮ่องกง, มะเขือเปราะ, กวางตุ้ง, ถั่วหวาน, ถั่วแขก, ซาโยเต้, ซูกินี, ลูกฟัก, เบบี้แครอต, เผือก และดอกหอม

ที่สำคัญผักเหล่านี้เป็นผักปลอดสารพิษทั้งสิ้น

โดยถูกนำไปขายผ่านท้อปส์ ซูเปอร์มาเก็ตต์, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และไทวัสดุ บางสาขาที่ร่วมรายการ ฉะนั้น จะเห็นว่าปัจจุบันการทำเกษตรอินทรีย์กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น

ยิ่งถ้ามาได้ภาคเอกชนเปิดช่องทางในการสนับสนุน ยิ่งจะช่วยทำให้ผลผลิตจากอินทรีย์ทั้งหมดมีอนาคต ซึ่งเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น และอีกหลายๆ ประเทศในโลกใบนี้ ที่ล้วนต่างมาให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยมากขึ้น

เพราะพวกเขาต่างเห็นแล้วว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกายในระยะยาวจริงๆ

แล้วทำไมถึงไม่หันมาปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์กันล่ะครับ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image