ครูผู้เปิดกว้าง ศิลปินผู้รู้โลก ปรีชา เถาทอง ในก้าวที่ 77 ของชีวิต

ครูผู้เปิดกว้าง ศิลปินผู้รู้โลก
ปรีชา เถาทอง
ในก้าวที่ 77 ของชีวิต

มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำหรับนิทรรศการอันเนื่องมาจาก ‘โครงการอนุรักษ์สืบสานต่อยอดปณิธานในหลวง ร.10 ชุดบูชาครูเหม เวชกร เพาะช่าง ศิลปากร และวัดโพธิ์ ก้าวเข้าสู่ 77 ปี ปรีชา เถาทอง’ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา

นำเสนอ 77 ภาพอันตระการตา จำนวนเทียบเท่าขวบปีของชีวิต ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง เจ้าของทฤษฎี ‘แสงและเงา’ ที่กลายเป็นตำนาน ทั้งยังเป็น ‘ครู’ ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ลูกศิษย์มากมายในช่วงหลายทศวรรษ

ภาพทั้งหมด ถูกเขียนขึ้นระหว่าง 26-27 เมษายนที่ผ่านมา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน อันเป็นจุดก่อเกิดไอเดียแสงเงาที่ตกกระทบเจดีย์งดงาม

Advertisement

ย้อนไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม, สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย, มูลนิธิศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง, สมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย จัดงาน ‘โครงการอนุรักษ์สืบสานต่อยอดปณิธานในหลวง ร.10 ชุดบูชาครูเหม เวชกร เพาะช่าง ศิลปากร และวัดโพธิ์ ก้าวเข้าสู่ 77 ปี ปรีชา เถาทอง’ โดยมี อนุกูล ใบไกล ผู้อำนวยการกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ผู้แทนแทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวถึงที่มาของงานศิลปะล้ำค่า ก่อนเข้าสู่ช่วงเสวนาที่มีบุคคลในแวดวงศิลปะตบเท้าขึ้นเวที ดำเนินรายการโดย พัทธมน นิศาบดี

(จากซ้าย) ญาณวิทย์ กุญแจทอง, ชาญณรงค์ ขันทีท้าว, เสริมคุณ คุณาวงศ์ และนักรบ มูลมานัส

⦁‘ทฤษฎีแสงเงา’ จุดเปลี่ยน ‘(ประวัติศาสตร์) ศิลปะไทยร่วมสมัย’

Advertisement

เปิดเวทีด้วยประสบการณ์ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ญาณวิทย์ กุญแจทอง อดีตคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีต่อ ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา โดยเล่าว่า เมื่อตนจบ ม.ศ.3 ไปสอบเข้า ‘โรงเรียนเพาะช่าง’ เมื่อ พ.ศ.2516 ‘อาจารย์ปรีชา’ เป็นผู้สอบสัมภาษณ์ จึงผูกพันมาตั้งแต่ตอนนั้น ต่อมา ครั้นสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถึง 2 รอบ อาจารย์ปรีชา ก็เป็นผู้สอบสัมภาษณ์อีก แม้กระทั่งตอนสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนด้านภาพพิมพ์ อาจารย์ปรีชาก็ไปส่งที่สนามบินด้วย

“แสงเงาของอาจารย์ปรีชาส่งอิทธิพลให้นักเรียนหลายคน และเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานให้ประสบความสำเร็จมาจนทุกวันนี้ ตอนนี้ก็เป็นอาจารย์สอนระดับปริญญาเอกร่วมกับอาจารย์ เป็นการสอนด้วยกัน เรียนรู้ด้วยกัน เหมือนได้เรียนกับ อาจารย์ปรีชามาโดยตลอด” อดีตคณบดีจิตรกรรมฯ เล่า

อบอุ่นไปด้วยชาวศิลปากร และบุคคลในแวดวงศิลปวัฒนธรรม

จากนั้น เสริมคุณ คุณาวงศ์ กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติสาขาศิลปะและศิลปะการแสดง เสริมประเด็นของอิทธิพลทฤษฎีแสงและเงาว่า ตนเคยเห็นผลงานของ อาจารย์ปรีชา จากคอลัมน์ระเบียงภาพ ในนิตยสารชาวกรุง ศิลปะร่วมสมัยของไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเป็นอย่างมาก โดยอาจารย์ปรีชาเป็นคนแรกที่ดึงเอกลักษณ์ไทยมาทำเป็นงาน Semi Abstract (ศิลปะกึ่งนามธรรม) จากการเฝ้าสังเกตเงาในวัดโพธิ์ แปลงเป็นภาพหลายโทนที่สะท้อนความเป็นไทย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการมองศิลปะไทยที่สามารถก้าวข้ามเทคนิคจิตรกรรมตะวันตกหลายๆ อย่าง

“อาจารย์ปรีชาเดินหน้าสร้างผลงานชุด แสงภายใน ก่อให้เงาที่เป็นเส้นโค้ง เส้นตรงยึกยัก ส่องเข้าไปในโบสถ์ วิหาร ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในนั้น ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ในปี 2526 อาจารย์กลับมาเขียนชุด แสงภายนอก ที่วัดพระแก้ว ซึ่งเป็นผนังที่มีการปิดทอง มีสี เกิดเป็นผลงานชุด วัดพระแก้ว อันโด่งดัง นักสะสมงานศิลปะไม่มีไม่ได้ เหมือนพระสมเด็จ พระเบญจภาคี” เสริมคุณเปรียบเปรยอย่างเห็นภาพ ก่อนย้ำว่า อยากให้เรามีศรัทธางานศิลปะไทยประเพณี ซึ่งมีเทคนิคเส้น การผสมสี การปิดทอง อยู่ในงานชุดเดียวกัน แม้ว่าวันนี้คนจะรู้จัก Cry Baby มากกว่าวัดตรีทศเทพ แต่วัดตรีทศเทพก็ยังไม่หายไปไหน ยังคงส่องประกายเจิดจรัสด้วยตัวเอง

⦁เปิดกว้าง ฟังคนรุ่นใหม่ ตามโลกร่วมสมัย ไม่ทิ้งแบบแผน ‘(ไทย) ประเพณี’

จากรุ่นใหญ่ มาฟังมุมมองของศิลปินดาวรุ่งพุ่งแรงมาก อย่าง นักรบ มูลมานัส ที่ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับงานคอลเลจ (ภาพตัดปะ) ผ่านผลงานมากมายโดยเฉพาะปกหนังสือ

นักรบ เผยว่า มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ปรีชาในงานของมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เมื่อปี 2566 รู้สึกโชคดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกัน โดยเมื่อครั้งยังเป็นเด็กเคยอ่านหนังสือ ‘จิตรกรรมไทยวิจักษ์’ ที่ท่านเป็นผู้เขียนก็สร้างแรงบันดาลใจให้ตนอย่างมาก

“ตอนนั้นเกร็งมาก แต่พอพูดคุยผ่าน Zoom อาจารย์มีความเมตตาสูงมากกับลูกศิษย์ ตอนแรกก็คิดว่าสิ่งที่เราทำ จะไปลดทอนคุณค่าผลงานของอาจารย์หรือเปล่า แต่อาจารย์เป็นคนเปิดกว้างมาก จึงหยิบภาพของท่านมาปะติดปะต่อใหม่ให้กลายเป็นต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ติดตั้งข้างกับชิ้นงานของอาจารย์ เหมือนเป็นงานบูชาครู และได้รังสรรค์งานร่วมตรงกลางด้วย

นอกจากนี้ ผมอยากจะใช้เทคนิคเก่าแก่ แต่อาจารย์บอกว่าทำไมไม่ใช้คิวอาร์โค้ด ไม่ทำลิงก์ดูวิดีโอ กลายเป็นว่าอาจารย์ล้ำไปกว่าเรา งานของอาจารย์ขึ้นหิ้ง เป็นงานจิตรกรรมไทยสมัยใหม่แต่มีความประเพณี รวมถึงเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม ในงานที่เป็น Installation art ใช้เทคนิค โปรแกรม คล้ายๆ กับปัญญาประดิษฐ์มาผสมด้วย

อาจารย์ปรีชาพยายามนำเอาความสมัยใหม่ นวัตกรรมต่างๆ มาทำงานตลอดเวลา และเป็นผู้เปิดกว้างให้กับสิ่งใหม่ คนรุ่นใหม่ ประทับใจมากที่ได้ร่วมงานกับอาจารย์” นักรบเผยความในใจ

⦁ศิษย์รุ่นเก๋าเล่าถึง ‘ครู’ ขอโชว์งานร่วมสักครั้ง ‘ต้องมาแบบทักกันทั้งเมือง’

ด้าน ชาญณรงค์ ขันทีท้าว หรือ ‘ติ๊ก กลิ่นสี’ นักแสดงชื่อดัง เล่าถึงเส้นทางชีวิตที่มาบรรจบกับอาจารย์ปรีชาว่า ตนเคยเรียนวิทยาลัยช่างศิลป ที่ท่าพระจันทร์ แต่พอผ่านไปได้ 1 ปี มีการย้ายไปที่ลาดกระบัง จึงคิดว่าต้องสอบเข้าคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร ให้ได้ สุดท้ายต้องสอบถึง 3 รอบถึงจะเข้าได้ พอใกล้เรียนจบต้องทำวิทยานิพนธ์ โดยมีอาจารย์ปรีชาเป็นที่ปรึกษา ช่วงนั้นตนแสดงภาพยนตร์เรื่องกลิ่นสีและกาวแป้งไปด้วย จึงขอให้เพื่อนช่วยขึ้นโครง พออาจารย์ปรีชามาตรวจ ก็ดูออกว่าไม่ใช่งานของตน จึงตัดสินใจไปพักที่บ้านอาจารย์ปรีชาจนเรียนจบ แล้วไปทำงานที่บริษัทแกรมมี่

“วิถีชีวิตของเราเปลี่ยน ผมไปเป็นนักแสดง อาจจะเอางานศิลปะเป็นการแสดงก็ได้ ผมก็รู้สึกว่าเป็นหนึ่งในดาราที่น่าสนใจ อย่าบอกว่าเก่งเลย จะเหมือนโชว์ ไม่มีใครรู้ ดูสภาพแล้วไม่น่าจบศิลปากร ผมไม่เคยบอกใคร

จนปี 2557 คุยกับตัวเองว่าจบจิตรกรรมมาแต่ไม่ทำงานศิลปะ เลยทำผลงานสะสมไว้ 50 กว่าชิ้น หาเทคนิคการทำงานศิลปะ จนได้สีเฉพาะที่เมื่อโดนน้ำจะเปลี่ยนเป็นอีกสีหนึ่ง โดยใช้ทักษะตอนเรียนมาประยุกต์กับชีวิตด้วย

ผมไม่เคยแสดงงานออกสู่สาธารณะ แต่ตั้งใจจะแสดงงานร่วมกับครูของผม คือ อาจารย์ปรีชา ผมอยากจะเซตงานโชว์ไม่ให้เหมือนใคร พิธีการเดิมมันหมดสมัยไปแล้ว สมัยนี้ต้องนอกเลย มาแบบทักกันทั้งเมือง เผลอๆ เอาตัวอาจารย์ปรีชาขึ้นข้างบนเลย เป็นร่มกางลงมาเลย ลองสักครั้งหนึ่งในชีวิตนะอาจารย์” ติ๊ก กลิ่นสี หยอดมุข พร้อมปิดท้ายอย่างน่าสนใจโดยหยิบยกวิธีคิดของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทยมาฝากไว้ให้คิด

“อาจารย์ศิลป์กล่าวว่า งานศิลปะคือศาสนา ศิลปะไม่ได้วาดรูปอย่างเดียว แต่งตัวก็ได้ แต่งรถก็ได้ ทำผมทำเผ้า เป็นศิลปะหมด เอาที่เรียนมาบรรเทาจิต มาระบาย เราจะได้บาลานซ์ งานศิลปะเป็นศาสนาหนึ่งที่บำบัดจิตของมนุษย์”

นิทรรศการ โครงการอนุรักษ์สืบสานต่อยอดปณิธานในหลวง ร.10 ชุดบูชาครูเหม เวชกร เพาะช่าง ศิลปากร และวัดโพธิ์ ก้าวเข้าสู่ 77 ปี ปรีชา เถาทอง จัดแสดงที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพฯ นำเสนอผลงานทั้ง 77 ภาพของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง พร้อมด้วยภาพจากศิลปินรับเชิญ วันนี้ ถึง 25 สิงหาคม 2567

 

จิตวิญญาณ สุนทรียะ
ศิลปะสู่โลกศิวิไลซ์

“ชีวิตผมที่ทุกคนยกย่องเชิดชูมา มาจากจิตใจที่บริสุทธิ์กับตัวเรา อาชีพของเรา และหน้าที่ของเราแค่นั้นเอง เมื่อเรามีความภูมิใจในหน้าที่เป็นครูศิลปะ เป็นพ่อแม่ลูก ก็ทำให้ดีที่สุดในทุกหน้าที่

ผมต้องการดึงจิตวิญญาณที่เรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์ในใจของแต่ละคนกลับมา ถ้ามนุษย์ไม่รู้จิตวิญญาณ ไม่รู้ตัวตน เราก็จะหลงใน ลาภ ยศ สรรเสริญ แอพพลิเคชั่นที่นำพาเราไปนู่นนี่มากมาย แต่จิตวิญญาณมีไว้เพื่อพัฒนาตัวเองให้อยู่บนโลกใบนี้และช่วยสังคม ช่วยสิ่งแวดล้อม

ทั้ง 4 คน บนเวทีเป็นศิลปินเหมือนกัน แต่พูดไม่เหมือนกัน นั่นคือจิตวิญญาณอัตลักษณ์แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ก็มีคุณธรรมในการเอาจิตวิญญาณมาสร้างงานศิลปะ สุนทรียะแต่ละคน ก็แล้วแต่ที่แต่ละคนสร้างขึ้นมา

ขอให้มีจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์และศรัทธาในสิ่งนั้น ขอให้ทุกคนศรัทธาในตัวเองและหน้าที่ คือ ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎก ธรรมะคือธรรมชาติ หน้าที่ ปกติ ทำธรรมชาติของเราให้เป็นหน้าที่ เป็น passion ของเราให้เป็นปกติธรรมดา

จิตวิญญาณอยู่ได้ด้วยคุณธรรม ถ้าคุณธรรมเบาลง จิตวิญญาณก็จะหลงไปทางนั้น สิ่งที่ช่วยได้มากคือสุนทรียะกับธรรมะ สุนทรียะเป็นศิลปะอันหนึ่งที่ช่วยตรึงความเป็นมิตรภาพ ศิลปะมาจากสิ่งที่มีอยู่ในใจส่งมอบให้เพื่อน ศิลปะอยู่ในทุกอาชีพของมนุษย์ ถ้าเรามีจิตวิญญาณที่ดี

สุนทรียะ เป็นตัวขับเคลื่อนในชีวิต ผมทำหน้าที่เป็นครู ทำหน้าที่เป็นศิลปิน ทำหน้าที่เป็นลูกศิษย์ รู้โลกก่อน รู้ตน รู้หน้าที่ รู้พอ รู้เพียง สุดท้ายคือรู้รักสามัคคี โลกต่อไปจะสันติสุข นั่นคือโลกศิวิไลซ์ที่จะมาถึงในเร็วๆ นี้”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง
18 กรกฎาคม 2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image