ผู้เขียน | กันยา เกิดแก้ว / อัศวินี ตรีเนตร |
---|
สันติภาพเมียนมา และ อินฟลูฯ ไทย ในการทูตสาธารณะ
เมื่อทุกเสียงมีความหมาย
สถานการณ์ยังคงตึงเครียด สำหรับสมรภูมิภายในของเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ซึ่งล่าสุด
รัฐบาลทหารขยายเวลาใช้กฎอัยการศึกต่อไปอีก 6 เดือน อ้างว่าเพื่อรวบรวมข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หลังประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี ครั้งเข้ายึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่นำโดย ออง ซาน ซูจี ที่จุดชนวนให้เกิดการประท้วงบนท้องถนน
นับแต่นั้น ก็ประกาศขยายเวลาบังคับใช้มาตรการดังกล่าวทุกๆ 6 เดือน เพราะการประท้วงได้แปรสภาพไปเป็นกลุ่มกบฏติดอาวุธที่ขยายตัวออกไปในพื้นที่ต่างๆ
ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และผู้พลัดถิ่นเป็นจำนวนมาก บางส่วนอพยพมาไทย โดยมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ
28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ SEA Junction ชั้น 4 Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ มีงานเสวนา ‘บทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ต่อประเด็นสันติภาพในเมียนมา’ (The Role of Influencers for Peace in Myanmar) ชวนให้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองหลากหลายอย่างน่าสนใจยิ่งในฐานะ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ซึ่งมีผู้ติดตามมากมายทั้งในโลกออนไลน์และชีวิตจริง
ขอเป็น ฝ่ายค้านที่ดื้อ ทำสังคมตื่นรู้ ส่งเสียงสะท้อนถึงรัฐบาลไทย
กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเป็นธรรม ตั้งคำถามว่า รัฐบาลจะเตรียมพร้อมกันอย่างไรในการรับมือสถานการณ์ที่เกิดผลกระทบในเมียนมาที่จะเข้ามาในไทย
“เราจะเตรียมรับมือกันอย่างไรในเรื่องสถานการณ์มนุษยธรรมในเมียนมา ทำไมเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไทยมีส่วนได้-เสียอย่างไรบ้าง
เราไม่สามารถหนีไปไหนได้ เราอยู่ตรงนี้ 2,416 กิโลเมตร ที่มีชายแดนติดต่อกันระหว่างไทยและเมียนมา เรามีประวัติศาสตร์กันมาอย่างยาวนาน ถ้าคุณจะทำเรื่องทุกเรื่องให้อยู่ใต้พรมตลอดเวลา มันเป็นไปไม่ได้” กัณวีร์กล่าว
จากนั้น รับว่าตนเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านที่ ‘ค่อนข้างจะดื้อ’ เพราะอยากสร้างความตระหนักและความตื่นรู้ผ่านสื่อ
“ผมเคยยืนถามในสภาว่า จะเอาอย่างไรในจุดยืนของไทยด้านการทูต ความมั่นคงและการทหารของเราจะทำอย่างไรต่อสถานการณ์ในเมียนมาที่จะมีผลกระทบต่อไทยหรือผลกระทบต่อมนุษยธรรมในเมียนมาอย่างไร แต่ไม่มีคำตอบ จึงลองถามอีกครั้งว่า เรื่องระเบียงมนุษยธรรมที่จะเอาไปช่วยผู้พลัดถิ่นในประเทศฝั่งเมียนมา คุณได้ยึดหลักการของมนุษยธรรมมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่ได้คำตอบจากรัฐบาล นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ว่า วันนี้ขอเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านที่ดื้อ จะเดินทาง 2,416 กิโลเมตร ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลงมาเรื่อยๆ จนถึงระนองลงไป และจะลองทำหนังสั้นขายความเป็นจริง
สิ่งสำคัญคือ จะทำให้สังคมตื่นรู้ เป็นกระบอกเสียงสะท้อนไปถึงรัฐบาล ไปถึงฝ่ายบริหารว่า คุณจำเป็นต้องให้ความสำคัญ และจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว ณ ปัจจุบันนี้ ผมยังไม่เห็นนโยบายและจุดยืนของประเทศไทยเป็นอย่างไรในฝั่งเมียนมา ผมยังไม่เห็นเขาจะบอกว่า เราสนใจที่จะแก้ไขปัญหา หรือสนใจสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในเมียนมา” กัณวีร์ คาใจ
สำหรับสิ่งที่จะยังคงเดินหน้าต่อไปคือ การสร้างแรงดึงดูด แรงสนใจให้รัฐบาล
“ผมยังเชื่อมั่นในเรื่องการทูตสาธารณะ ทุกคนในที่นี้สามารถเป็นนักการทูตได้ นักการทูตหรือนักการต่างประเทศไม่ใช่ต้องอยู่แค่กระทรวงการต่างประเทศ ตอนนี้สื่อ อินฟลูเอนเซอร์ หรือการใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ สามารถเป็นตัวแทนหรือเป็นกระบอกเสียงบอกต่อไปในเวทีระหว่างประเทศ การที่เรามียอดส่วนร่วมของประชาชน (public engagement) และมีจุดยืนอย่างชัดเจน เป็นการแสดงว่า นี่คือการทูตจริงๆ คือการพูดต่อทุกคน และยังมองว่า ประเทศไทยจะมีความเปลี่ยนแปลง แต่คงไม่ใช่ภายใน 3 ปีนี้ อาจจะเป็น 4 ปีต่อไปข้างหน้า” กัณวีร์เอ่ย
ทุกเสียง มีความหมาย สันติภาพเกิดขึ้นได้ ต้องเปล่งเสียงพร้อมกัน
นอกจากเมียนมา กัณวีร์ยังยกกรณีที่เกิดขึ้นในไทย นั่นคือ ‘ปาตานี’
“ถ้าเราพูดคำว่า ปาตานี เมื่อ 10 ปีที่แล้ว รับรองหน่วยงานความมั่นคงติดตามเราแน่นอน แต่ว่าครั้งนี้ การที่ได้มาอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์เล็กน้อย และบางคำพูดที่สามารถสร้างอิมแพกต์ได้ในสภา ก็ทำให้คนเชิญชวนกันมาพูดคำว่า ปาตานี จนเป็นเรื่องปกติ
ตอนนี้ เราพูดถึงเรื่องผู้ลี้ภัย ทุกคนก็เริ่มมองเห็นว่า เขาเป็นมนุษย์เหมือนพวกเรา จึงกลายเป็น คนเราเริ่มมองเห็นมนุษย์ คือมนุษย์เท่ากัน โชคดีที่ได้มาเป็นกระบอกเสียง และสามารถที่จะส่งสื่อสารไปโดยตรง กับคนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในฝ่ายบริหารได้ทันที ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เปลี่ยนก็ตาม แต่อย่างน้อยเขาจะได้ยิน เขาจะเห็นว่าคนไทยมีความพยายามอยู่สำหรับคนกลุ่มน้อยๆ ต้องการความเปลี่ยนแปลง
ผมยังยืนยันว่าเราต้องทำต่อไปเกี่ยวกับเรื่องสันติภาพในเมียนมา อย่างตัวผมเอง โดนส่งไปที่พม่าแล้วช่วยเอาผู้ที่ลี้ภัยอยู่ในไทยกลับไป เมื่อปี 2019 ผมไปเป็นหัวหน้าสำนักงาน ดึงคน 9 หมื่นคนมา Voluntary Repatriation (การเดินทางกลับโดยสมัครใจ) อยู่ที่ประเทศเมียนมา แต่ต้องเปลี่ยนแปลงการทำงาน จากการดูแลผู้เดินทางกลับ กลายเป็นต้องดูแลผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่เมียนมา ต้องดูแลเรื่องเกี่ยวกับสันติภาพที่ไม่หลงเหลือเค้าโครงคำว่าสันติภาพ ไม่หลงเหลือคำว่าประชาชนสามารถอยู่ดีมีสุขได้ในเมียนมา” นายกัณวีร์กล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า
ปัจจุบัน สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือ เปล่งเสียงพร้อมๆ กัน และมองเห็นว่าสันติภาพที่แท้จริงจำเป็นต้องเกิดขึ้น
“คนที่สามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้คือ ประชาชนในเมียนมา คนที่ถืออำนาจอยู่ สักวันก็จะไม่มีอำนาจ ถ้าประชาชนทุกคนยังมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสันติภาพ เราสามารถทำได้ และยังเชื่อมั่นว่า เสียงทุกเสียง มีความหมาย”
ปัญหาสังคม ‘คนเดียวแก้ไม่ได้’ ต้องพร้อมใจร่วมขับเคลื่อน
ด้าน ฟาโรห์ จักรภัทรานน เจ้าของช่องดังในยูทูบ อย่าง The Common Thread ร่วมพูดคุยและแสดงความคิดเห็นประสบการณ์ทั้งในการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ และผู้ร่วมผลักดันประเด็นปัญหาสังคม
“คิดว่าสามารถหลีกประเด็นสังคมแก้ไขปัญหา หรือสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว จนกระทั่งวันหนึ่งเรียนรู้ว่าคนเดียวไปไม่ได้
เลยมาดูว่า อะไรกันที่ทำให้หลายๆ คนมาเข้าร่วมกับเรา หลังจากวันที่เรายอมแพ้ด้วยตัวคนเดียว แล้วได้แรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ภาครัฐ หรือเอกชน หรือแม้กระทั่งกระแสสื่อหลัก
สิ่งแรกคือการตระหนักรู้หรือการตื่นรู้ร่วมกันว่าสิ่งนี้คือปัญหา ต้องได้รับการแก้ไข และแต่ละภาคส่วนจะสามารถหยิบยื่นมือเข้ามาได้ไกลมากพอที่จะเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาเหล่านั้นออกไป ในฐานะของอินฟลูเอนเซอร์ ก้าวแรกคือการสร้างความตื่นรู้และความตระหนักรู้ให้คนเห็นปัญหาพร้อมๆ กัน จะนำไปสู่ก้าวต่อๆ ไป
ผมเสียใจทุกครั้งเวลาเห็นข่าวใครสักคนที่พวกเขาไม่สมควรที่ต้องหยุดชีวิตเพียงแค่นี้ เพียงเพราะมีใครสักคนไม่ยอมปล่อยอำนาจออกจากมือไป แค่เพราะว่าเราคิดไม่เหมือนกัน
ผมจะทำหน้าที่ของผม ถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อการันตีว่าหลังจากนี้จะไม่มีชีวิตที่ต้องสูญเสียไปแบบนี้อีก เพื่อให้เราเรียนรู้จากบทเรียนราคาแพงที่สุดที่ไม่มีใครจ่ายได้คือชีวิตของมนุษย์ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์มันวนลูปซ้ำ” ฟาโรห์กล่าว พร้อมยืนยันว่า ไม่ควรมีชีวิตไหนบนโลกที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา
“อยากให้ทุกคนมองว่าถ้าเป็นบ้านเราล่ะ? นั่นเป็นสิ่งที่เราได้รับรู้ความรู้สึกของความรู้สภาวะที่อยู่ใต้กรอบข้อจำกัดของการกดขี่ในอะไรบางอย่าง เราไม่ต่างกันเลย เราต่างกันแค่สภาพสังคมที่อยู่ตอนนั้น ทำไมเราไม่เห็นว่านี่คือปัญหาของเรา” เจ้าของช่องดัง ฝากไว้ให้คิด
‘ไม่มีใครอยากทิ้งบ้าน’ อินฟลูฯ ไทยขอเคียงข้าง ‘เพื่อนเมียนมา’
อีกหนึ่งอินฟลูเอนเซอร์ไทยที่มีจุดยืนชัดตั้งแต่ชื่อเพจเฟซบุ๊ก คือ อรรวี แตงมีแสง หรือ แนทตี้ เจ้าของเพจ Natty Loves Myanmar โดยเผยว่า ในฐานะที่ตนเคยไปอาศัยอยู่ในเมียนมา จึงอยากเผยแพร่ข้อมูล ปัญหา ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น แล้วไปถึงหูของผู้ใหญ่ที่มีอำนาจซึ่งจะสามารถช่วยเหลือได้
“พยายามจะให้เป็นแพลตฟอร์มในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันกับเพื่อนๆ ในเมียนมา โดยเฉพาะในเหตุการณ์ตอนนี้หลายภาคส่วนต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะภาคประชาชน
พวกเขาไม่ควรจะเจออะไรแบบนี้ในยุคนี้ เราเห็นโลกที่มันตัดขาด ยากที่จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ความเจริญที่เข้าไม่ถึงการพัฒนา และรู้สึกว่าพวกเขาไม่ควรเจออะไรแบบนี้ เราจึงอยากจะช่วยเพื่อนเมียนมาของเรา
รู้สึกดีใจที่เห็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนเจน Z ที่เปิดรับประเด็นเมียนมามากขึ้น หรือแม้แต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ หรือคนทุกรุ่นตอนนี้ คนไทยมีมุมมองเกี่ยวกับเมียนมาในทางที่ดีขึ้น ในฐานะคนที่ทำเพจเกี่ยวกับเมียนมา
สิ่งที่อยากทำต่อไปคือการโปรโมตการอยู่ร่วมกันของคนเมียนมาและคนไทย พวกเขาต้องหลบหนีด้วยภาวะสงคราม เขาจำเป็นต้องมา ไม่มีใครอยากจะทิ้งบ้าน ทิ้งครอบครัว ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างมาอยู่ในประเทศอื่น เราต้องเข้าใจกันมากขึ้น” อรรวีทิ้งท้าย
ปลดล็อกความคิด สร้างสภาวะปลอดภัย ชวนเรียนรู้โลก ‘อย่าดูสไลด์แค่ในห้อง’
ปิดท้ายด้วยมุมมองของ ฟิซซา อวัน นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมพูดคุยในฐานะตัวแทนกลุ่มคนเจน Z ต่อบทบาทการเป็น‘นักเรียนสื่อ’ ในยุคปัจจุบันท่ามกลางสถานการณ์ในเมียนมา
“การเรียนสื่อถือเป็นโอกาสที่ให้เราเข้าไปรู้จักมนุษย์ ทำให้โลกเรากว้างใหญ่ขึ้น หากเราเรียนแต่ในห้องก็จะเห็นแค่สไลด์ของอาจารย์ แต่มันเทียบไม่ได้เลยกับการที่เราได้ลงพื้นที่ แค่ฟังหรือคุยกับเขา เราจะยิ่งอยากถ่ายทอด
เราอยากเห็นคนที่พูดประเด็นนี้มากขึ้น แต่เหตุผลหนึ่งที่ยังเกิดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ คือ กฎหมายบ้านเรา เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท ที่ไม่ได้เอื้อต่อการที่ทำให้เรามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก มันไม่ได้ทำให้เราพูดทุกเรื่องได้อย่างชัดเจน ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกล็อก
หากเราอยากเห็นภาพการที่อินฟลูเอนเซอร์พูดถึงเรื่องเมียนมา อย่างน้อยเราต้องปลดล็อกตรงนี้ให้ได้ สิ่งหนึ่งที่เราควรจะทำคือ ทุกๆ คนในสังคมช่วยกันสร้างสภาวะปลอดภัยที่จะพูดเรื่องนี้ ทุกคนต้องช่วยกันไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม ยิ่งทุกๆ คนช่วยกันจะยิ่งรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น จะนำมาสู่ความคิดสร้างสรรค์ เราจะเห็นประเด็นเมียนมาที่หลากหลายมากขึ้น
อยากเห็นประเทศไทยพร้อมสำหรับความเห็นในทุกๆ ความเห็น เมื่อข้อมูลครบถ้วน เราจะมีสิทธิตัดสินใจ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิด หรือเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของรัฐบาล” ฟิซซากล่าว พร้อมยืนยันด้วยความเชื่อที่ว่า
หากทุกคนมีโอกาสได้พูด ภาพของการเปลี่ยนแปลงมันไม่มีทางอยู่ไกล