4 นวัตกรรม ‘วันยางพาราบึงกาฬ’

เครื่องกรีดยางอัตโนมัตนวัตกรรมจากประเทศจีน

ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ซึ่งได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วน

รวมถึง “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560” งานมหกรรมยางพาราอันดับ 1 ของประเทศไทย จัดขึ้นที่จังหวัดบึงกาฬ เมืองหลวงของยางพาราภาคอีสาน ที่มีหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน ตลอดจนนักวิจัยจากสถาบันการศึกษา นำเอาสุดยอดเทคโนโลยี นวัตกรรม และการแปรรูปที่ผ่านการคิดค้น เพื่อยกระดับสู่การเป็น “บึงกาฬ 4.0”

‘หมอนยางพาราบึงกาฬ’
แปรรูปเพื่อสร้างความยั่งยืน

“เทคโนโลยีและนวัตกรรม” อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ในหลายพื้นที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และยังไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้จริง โดยเฉพาะในเรื่องการเกษตรและการแปรรูป

สำหรับจังหวัดบึงกาฬ แม้จะเป็นจังหวัดน้องใหม่ลำดับที่ 77 ของประเทศไทย แต่ก็มีการศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายปี เรื่องไหนที่ไม่รู้ เรื่องไหนที่ทำไม่ได้ ก็พร้อมจะเดินหน้าหาผู้รู้เพื่อช่วยส่งเสริมเรื่องเทคโนโลยีอย่างเต็มที่

Advertisement

ทำให้ในงานวันยางพาราปีนี้ ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ นำเสนอผลิตภัณฑ์ “หมอนยางพารา” ที่ผลิตโดยชุมชนและใช้วัตถุดิบจากชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต

แต่กว่าจะผลิตหมอนยางได้ในวันนี้ นิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ ในฐานะที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ เล่าว่า ต้องใช้ความพยายามหนักมาก ล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายครั้ง ใช้เวลาเกือบ 4 ปี ในที่สุดก็สามารถก่อตั้งโรงงานหมอนยางพาราแห่งแรกของจังหวัดขึ้นมาได้

นิพนธ์ คนขยัน ชมโรงงานหมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.บึงกาฬ
นิพนธ์ คนขยัน ชมโรงงานหมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.บึงกาฬ

“คนเราพร้อมมาก ตลาดก็มีจีนรองรับ แต่ทั้งระบบราชการและระบบหาทุนยากมาก กว่าจะคุยและทำความเข้าใจกันได้ เพราะเขากลัวว่ามันจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องบอกว่าวันนี้เราต้องมองเรื่องการแปรรูป ต้องเป็นเจ้าของเองนะ เราต้องรวมพลังเพื่อให้เกษตรกรไทยอยู่รอดและเพื่ออนาคตของประเทศชาติ”

Advertisement

สำหรับหมอนยางพารา เป็นการแปรรูปจากน้ำยางสด 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นน้ำยางพาราจากสวนยางในจังหวัดบึงกาฬ เบื้องต้น นิพนธ์ตั้งใจไว้ว่าจะขายในราคาประมาณ 500 บาท หวังแค่ไม่ให้ขาดทุนและพอมีกำไรบ้างเท่านั้น

“สาเหตุที่เราขายไม่แพง เพราะวันนี้เรามองว่าเกษตรกรไม่มีรายได้มากพอจะมาซื้อหมอนและที่นอนราคาเป็นหมื่น แล้วเราต้องการให้ที่นอนและหมอนของบึงกาฬเป็นสิ่งที่พี่น้องชาวเกษตรกรซื้อใช้ได้ แล้วสมมุติเกษตรกรชาวสวนยางบางคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าที่นอนเลย อาจจะมารับที่นอนไปแล้วเอาน้ำยางพารามาผ่อนที่นอนหรือหมอนไปใช้ก่อนได้เลย โดยไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเงินดาวน์” นิพนธ์ทิ้งท้าย

นอกจากนี้ในอนาคตบึงกาฬยังเตรียมจะพัฒนาหมอนยางด้วยเทคโนโลยี เพื่อสร้างหมอนนาโนปลอดเชื้อและยังช่วยขจัดกลิ่นยางพาราด้วย

‘เครื่องกรีดยางอัตโนมัติ’

เทคโนโลยีสุดล้ำ จากประเทศจีน

เป็นไฮไลต์สำคัญของงานวันยางพาราบึงกาฬ สำหรับ “เครื่องกรีดยางอัตโนมัติ” รุ่นที่ 14 เป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดจากประเทศจีน ที่นำมาจัดแสดงถึง 9 เครื่อง ยังมีความร่วมมือต่อเนื่องถึงการลงนามความร่วมมือ (MOU) เรื่องเครื่องกรีดยางอัตโนมัติขึ้นโดยเฉพาะ

จาง เหย็น ประธานบริษัท รับเบอร์วัลเลย์ กรุ๊ป จำกัด บอกว่า การลงนามความร่วมมือเรื่องเครื่องกรีดยางอัตโนมัติ เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่จะเข้าสู่ความเป็น 4.0 ระหว่างประเทศไทยและจีน การยกระดับอุตสาหกรรมไทยจากผู้ปลูก สู่ผู้แปรรูปยางต้องอาศัยนวัตกรรม ซึ่งรับเบอร์วัลเลย์ขอสัญญาว่าจะนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุด และใหม่ล่าสุดจากประเทศจีนเข้ามาที่จังหวัดบึงกาฬ

เครื่องกรีดยางอัตโนมัตนวัตกรรมจากประเทศจีน
เครื่องกรีดยางอัตโนมัตนวัตกรรมจากประเทศจีน

ทันทีที่เปิดงานวันยางพารานวัตกรรมนี้ก็ได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบการ

ดังเช่น พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา เป็นอีกผู้หนึ่งที่ให้ความสนใจเครื่องกรีดยางนี้อย่างมาก

“ผมมองว่าเครื่องกรีดยางพารามีความน่าสนใจมากที่จะนำมาใช้ในภาคใต้ เมื่อผมกลับไปที่จังหวัดจะนำเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งเป็นงบประมาณต่อไป เพื่อให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานสามารถยืม หรือผ่อนจ่ายเครื่องกรีดยางไปใช้ได้ โดยอาจร่วมกับทางจังหวัดบึงกาฬ ผู้ประกอบการ สั่งซื้อเครื่องกรีดยาง พร้อมกันจำนวนมากๆ น่าจะทำให้ราคาถูกลง หรืออาจจะมีการเจรจากับผู้ผลิตให้สามารถใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตจากประเทศไทยเพื่อลดต้นทุน และหากโครงการนี้สำเร็จ ผมจะเสนอเรื่องไปยังเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ รวมถึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้มีการนำมาใช้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร”

ขณะที่ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน

“ตอนนี้แรงงานกรีดยางในบึงกาฬขาดอยู่มาก อย่างส่วนยางของผมวันนี้ขาดแรงงานอยู่ 7 ครัว หรือ 14 มีด ซึ่ง 1 ครัวกรีดยาง 1,500 ต้น แสดงว่าผมไม่สามารถกรีดยางได้กว่า 10,000 ต้น ทำให้ผมขาดรายได้ ซึ่งสวนยางส่วนใหญ่ในขณะนี้มีสภาพแบบนี้คือขาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคใต้ขณะนี้ขาดแรงงานอย่างมาก ผมก็พยายามผลักดันให้ราคาไม่เกิน 4,000 บาท ไม่เกิน 1 ปีสามารถคืนทุน แล้วเครื่องกรีดยางแทนคนเราไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์ อย่างทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะแบ่งผลประโยชน์กันประมาณ 60:40” พินิจอธิบาย

สำหรับการทำงานของเครื่องกรีดยางอัตโนมัติจะควบคุมด้วยรีโมต สั่งทำงานไร้สาย เพื่อเลือกช่วงเวลากรีดยางพร้อมกันได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน รวมถึงแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้วย

‘ถนนยางพาราดินซีเมนต์’

ถนนยางสายแรกของ ‘บึงกาฬ’

นวัตกรรมยอดเยี่ยมที่ถูกพูดถึงมากเป็นอันดับต้นๆ ในงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ สำหรับ “ถนนยางพาราดินซีเมนต์” ของมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ที่นอกจากจะมีตัวอย่างและกระบวนการสาธิตให้เห็นกันในโซนนิทรรศการแล้ว ยังลงพื้นที่ระหว่างบ้านโคกนิยม หมู่ 2 ต.วังชมภู อ.พรเจริญ เชื่อมต่อกับ บ้านตาลเดี่ยว หมู่ 4 ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ ทำถนนยางพาราสายแรกในจังหวัดบึงกาฬ ระยะทาง 300 เมตร ความกว้าง 5 เมตร

ระพีพันธ์ แดงตันกี
ระพีพันธ์ แดงตันกี

ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอาจารย์ประจำ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มจพ. นักวิจัยผู้คิดค้นนวัตกรรม ระบุว่า ข้อดีของการทำถนนยางพาราคือ สามารถดึงยางพาราในประเทศมาใช้ ส่วนถนนก็สร้างได้โดยไม่ยุ่งยากและรวดเร็ว วันหนึ่งสามารถทำได้ 500-600 เมตร นอกจากมีต้นทุนที่ถูกลง ยังมีเรื่องของโครงสร้างที่แข็งแรงด้วย

ทำถนนยางแห่งแรกที่ อ.เซกา
ทำถนนยางแห่งแรกที่ อ.เซกา

แต่กว่าจะเป็นถนนสำเร็จในวันนี้ ผศ.ดร.ระพีพันธ์เผยว่า หลังจากปีที่ผ่านมาเรามีเฉพาะโมเดลของถนนมาโชว์แล้วบอกว่าเราจะทำให้สำเร็จ หลังจากนั้นก็ได้ทำถนนตัวอย่างในมหาวิทยาลัยและได้เข้าสู่การพิจารณาหลายส่วน เพราะการวิจัยต้องมีการตรวจสอบเรื่องการใช้งานอย่างน้อย 1 ปี เบื้องต้นจากการสอบถามผู้ที่ใช้ถนน โดยเฉพาะรถที่วิ่งบริเวณนั้นส่วนใหญ่เป็นรถขนดิน บรรทุกค่อนข้างหนัก เขาก็ค่อนข้างพอใจว่าถนนไม่แฉะ ฝนตกแล้วไม่ลื่น ส่วนสภาพถนนแทบไม่ต่างจากเดิม แล้วเราก็มีการประสานงานกับ อบจ.บึงกาฬ ติดต่อกันมานานมาก ในที่สุดก็ทำถนนสายแรกสำเร็จ

“ตอนแรกก็มีแนวคิดจะทำที่ริมแม่น้ำโขง แต่ก็เกิดคำถามเรื่องการใช้งานจริง เลยเลือกถนนที่ชาวบ้านสัญจรจริงและเกิดปัญหาขึ้นจริง แล้วบริเวณที่เราไปทำมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ถนนยางก็น่าจะช่วยได้ แต่ต้องมารอดูกันในช่วงหน้าฝนปีนี้”

ยังมีนวัตกรรมอีกมากมาย แต่นวัตกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ ผศ.ดร.ระพีพันธ์บอกว่าเขาคนเดียวไม่สามารถทำได้ ต้องมีทีมงานและมีโจทย์ปัญหาจากชาวบ้านมานั่งทำงานกัน แล้วจะเกิดประโยชน์ตามมา

พินิจ จารุสมบัติ เดินชมถนนยางแห่งแรกที่ อ.เซกา
พินิจ จารุสมบัติ เดินชมถนนยางแห่งแรกที่ อ.เซกา

‘กรวยจราจรแปดเหลี่ยม’

นวัตกรรมเพื่อเพิ่มการใช้ยาง

อีกนวัตกรรมจากยางพาราที่โดดเด่นที่จะพัฒนาสู่ความเป็น 4.0 อย่าง “กรวยจราจรแปดเหลี่ยม” ของ อนุชิต วาณิชย์เสริมกุล ผู้เดียวกับที่สร้างนวัตกรรมมาแล้วมากมาย ทั้งตู้แผนที่แบบหมุนได้, ป้อมตำรวจจราจร, บ้านลอยน้ำจากไฟเบอร์กลาส, ของเล่นจากไฟเบอร์ และนวัตกรรมที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วประเทศอย่าง “หุ่นจ่าเฉย”

ซึ่งนวัตกรรม “กรวยจราจรแปดเหลี่ยม” เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากความต้องการระบายยางพาราและต้องการแก้ปัญหาบนท้องถนน เพราะกรวยแปดเหลี่ยมนี้นอกจากจะใช้ยางเป็นส่วนประกอบสำคัญแล้ว เหลี่ยมมุมทั้ง 8 ด้านยังสะท้อนแสงได้ดีกว่าอีกด้วย

อนุชิต กับกรวยยางแปดหลี่ยม
อนุชิต กับกรวยยางแปดหลี่ยม

อนุชิตเล่าที่มาที่ไปของการเกิดกรวยจราจรจากยางพาราว่า มีจุดเริ่มต้นจากงานวันยางพาราบึงกาฬเมื่อปีก่อน จากคำแนะนำของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่บอกให้นำยางพารามาใส่ในกรวยให้ได้ ในที่สุดก็สามารถนำยาง 35 เปอร์เซ็นต์ ใส่ลงในกรวยยางสำเร็จเรียบร้อยแล้วในปีนี้

“ขณะนี้สามารถผลิตได้เดือนละ 50,000 ตัว วางจำหน่ายแล้วในราคา 550 บาท ซึ่งแทบไม่ต่างจากกรวยกลมปกติ แต่มีคุณสมบัติดีกว่า จุดแรกอยู่ที่เหลี่ยมทั้ง 8 มุมสามารถสะท้อนแสงได้ดีกว่ากรวยกลม ยังมีการเจาะรูบริเวณส่วนบนของกรวยเพื่อให้ลมที่ปะทะกับกรวยผ่านไปได้ ทำให้ไม่ล้มง่ายๆ ตัวฐานทำบ่าขึ้นมาเพื่อไม่ให้ถูกรถเหยียบได้ นอกจากนี้ยังมีความแข็งแรงทนทาน อายุการใช้งานประมาณ 5 ปี” เรื่องความแข็งแรง ทนทาน อนุชิตมั่นใจเต็มที่

“กทม.ทดลองเอากรวยของผมไปนอนแล้วให้รถเหยียบดูแล้ว กระเด้งกลับขึ้นมาเลย”

ในส่วนการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐนั้น อนุชิตบอกว่า วันนี้รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะช่วยชาวสวนยาง แต่บางครั้งท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าตรงไหนถึงจะช่วยได้จริง ดังนั้นถ้าเจอหน่วยงานที่สามารถนำพืชผลการเกษตร เช่น ยางพารามาผสมกับอะไรก็ตามแล้วเกิดประโยชน์ เกิดรูปแบบ ก็ควรสนับสนุน อย่างกรวยจราจรของผม ถ้าสนับสนุนให้ท้องถิ่น อบต.ซึ่งเขาจำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว ก็มานำนวัตกรรมนี้ไปใช้งานแห่งละ 100-200 ตัว ก็จะเกิดประโยชน์เกิดการใช้ยางจำนวนมาก

“ผมอยากให้ประเทศไทยมีความสามารถในการทำสินค้าโดยใช้วัสดุและของที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์”

ยังมีแนวคิดต่อยอดทำเครื่องเล่นเด็กรูปผลไม้จากยางพาราในอนาคตด้วย

เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมจากยางพารา ที่เกิดขึ้นแล้วในงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image