ค้นพบใหม่ จดหมายลับ ‘กงสุลอังกฤษ’ ไขปริศนาคดีอื้อฉาว สมัย ร.5

เมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นพบหนังสือสำเนาสำคัญ 2 เล่มที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษ เขียนโดยอดีตเจ้าหน้าที่กงสุลของอังกฤษที่เขียนถึง “ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายไทย” เมื่อต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้พบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น คดีความของพระปรีชากลการที่เกือบบานปลายเป็นเหตุให้อังกฤษนำเรือรบมาข่มขู่สยาม หรือคดีที่รัฐบาลสยามบังคับให้เจ้าเชียงใหม่ชดใช้เงินให้กับคนในบังคับของอังกฤษ เป็นต้น

ปฐมบทแห่งการค้นพบ

ที่มาของบันทึกทั้งสองเล่มนี้ยังเป็นปริศนา เผด็จ ขำเลิศสกุล นักวิจัยประวัติศาสตร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำหอจดหมายเหตุแห่งชาติของอังกฤษ (The National Archives) ผู้ค้นพบเอกสารทั้งสองเล่ม กล่าวว่า เอกสารนี้อยู่ในระบบทะเบียนของหอจดหมายเหตุ แต่ไม่มีใครทราบมาก่อนว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับอะไร เพราะเป็นภาษาไทย ที่สามารถค้นเจอเพราะใช้การค้นผ่านระบบฐานข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เอกสารนี้เขียนขึ้นในกรุงเทพฯ แต่เข้ามายังหอจดหมายเหตุเมื่อไหร่อย่างไร และเท่าที่ค้นประวัติการใช้งาน ยังไม่มีการใช้งานมาก่อน ดังนั้น จึงถือเป็นเอกสารภาษาไทยที่ค้นพบใหม่

นอกจากนี้ เผด็จยังให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อมีการยกเลิกสถานกงสุล ด้วยการตั้งสถานทูตขึ้นมาแทน จึงทำให้หนังสือสำเนาทั้งสองเล่มถูกส่งกลับไปยังประเทศอังกฤษ เป็นไปได้ว่ายังมีเล่มอื่นๆ อีก แต่ยังหาไม่พบ

โทมัส ยอร์ช น็อกซ์
โทมัส ยอร์ช น็อกซ์

สำเนาจดหมายที่เขียนไว้ในบันทึกทั้งสองเล่มมีทั้งหมด 1,007 ฉบับ ซึ่งกงสุลอังกฤษส่งถึงขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายไทย ในช่วง ค.ศ.1876-1880 (พ.ศ.2419-2423) เขียนโดยข้าราชการในกงสุลหลายคนได้แก่ “มิศเตอนอก”, “มิสเตอนุมัน”, “มิศเตอเอดเวิศ”, “มิศเตอกูล์” เป็นต้น แต่โดยมากแล้วจดหมายเหล่านี้เขียนโดย “มิศเตอนอก” หรือมีชื่อเต็มว่า “โทมัส ยอร์ช น็อกซ์” (Thomas George Knox) ผู้เป็นกงสกุลใหญ่ของอังกฤษประจำประเทศสยาม

Advertisement

“มร.น็อกซ์” ข้าราชการนักพนัน กุญแจสำคัญเอกสารอังกฤษ

มร.น็อกซ์ เป็นชาวอังกฤษ รับราชการในอินเดียก่อน เล่ากันว่าเล่นพนันจนหมดตัวจึงลาออกแล้วเดินทางเข้ามายังสยาม พร้อมกับเพื่อนอีกคนคือ อิปเป เมื่อเข้าไปถวายตัวต่อรัชกาลที่ 4 ปรากฏว่า รัชกาลที่ 4 ทรงรับอิปเปไว้รับราชการในวังหลวง ส่วน มร.น็อกซ์ รัชกาลที่ 4 ทรงให้ไปรับใช้สมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งชาวต่างชาติถือกันว่าเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สองของสยามรองจากรัชกาลที่ 4

มร.น็อกซ์ได้ทำหน้าที่เป็นครูฝึกทหารอย่างยุโรปในวังหน้าของพระปิ่นเกล้า นอกจากนี้ คุณกฤษฏิ์ เลกะกุล ผู้ที่ช่วยในการถ่ายสำเนาเอกสารทั้งสองเล่มยังได้เล่าด้วยว่า มร.น็อกซ์ ผู้นี้คือผู้ที่นำเพลง God Save the Queen ของอังกฤษ มาทำเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีเวอร์ชั่นแรกสุดอีกด้วย

จนกระทั่งเมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง เมื่อ พ.ศ.2398 ทางรัฐบาลอังกฤษจึงให้เขาเป็นผู้ช่วยกงสุล ต่อมาได้รับเลื่อนฐานะขึ้นเรื่อยๆ จนได้เป็นกงสุลใหญ่ ทว่า ภายหลังได้ก่อเรื่องราวใหญ่โตจนรัฐบาลอังกฤษต้องเรียกตัวกลับ

Advertisement

อำนาจศาลสยาม คดีความ “สัพเยก”

เผด็จได้สรุปเนื้อหาหลักของทั้งสองเล่มว่าเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ การค้าของอังกฤษกับสยามโดยเฉพาะการค้าไม้สัก และวัว ปัญหาคนในบังคับ หนี้สิน พินัยกรรม มรดก และคดีอาชญากรรมต่างๆ ของคนในบังคับของอังกฤษที่มีทั้งชาวจีน อินเดีย กะเหรี่ยง (เกรียง) ไทยใหญ่ (ฉาน) พม่า และตองซู

คนในบังคับนี้บางครั้งเรียกว่า “สัพเยก” ซึ่งมาจากคำว่า Subject คนเหล่านี้เมื่ออยู่ภายใต้การคุ้มครองของอังกฤษ บางครั้งได้ก่อคดีความ ทำให้สถานกงสุลต้องเข้าไปจัดการคดีความต่างๆ แต่ก็สะท้อนการไร้อำนาจของศาลไทย ณ เวลานั้น

นอกจากนี้ ในหนังสือทั้งสองเล่มยังมีเรื่องอื่นๆ อีกที่น่าสนใจ เช่น การทำโครงข่ายสามเหลี่ยม หรือการทำแผนที่ เรื่องการค้าฝิ่น เรื่องผู้ร้ายข้ามแดนจากสงครามเปรัค (Perak War) ในมาเลเซีย ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1875 โดยหลบเข้ามายังฝั่งสยาม เรื่องการติดต่อทำการค้ากับสิงคโปร์ เรื่องการติดต่อกับอินเดีย เรื่องเรือรบอังกฤษ เป็นต้น

S__2834490

ประวัติศาสตร์ “ความสัมพันธ์” หลังสนธิสัญญา “เบาว์ริ่ง”

ในที่นี้ผมขอให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงความสำคัญของหนังสือ 2 เล่มนี้ด้วยว่า จดหมายต่างๆ นอกจากทำให้เราเข้าใจบทบาทของอังกฤษที่มีต่อรัฐบาลสยามมากขึ้นแล้ว ยังสะท้อนภาพการค้าในระดับท้องถิ่นไม่ใช่เฉพาะที่กรุงเทพฯ ซึ่งช่วยทำให้เข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดการขยายตัวทางการค้าในระดับท้องถิ่นอย่างรวดเร็วหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง จังหวัดที่กงสุลอังกฤษติดต่อไปมีทั้งหมด 47 เมือง (จังหวัด) ด้วยกัน เช่น เชียงใหม่ ลำปาง น่าน ตาก ปัตตานี โคราช อุบลราชธานี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี เป็นต้น

เพื่อให้เห็นเนื้อหาบางส่วนของหนังสือทั้งสองเล่ม และเชื่อมโยงสู่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์จะขอยกตัวอย่าง 2 คดีที่น่าสนใจมาให้อ่านกันดังนี้

“พระปรีชากลการ” นักโทษประหารเหยื่อ “เกาวแมนไทย” ?

เรือรบอังกฤษชื่อฟอกซ์ฮอนด์รุกเข้าในบางกอกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2422 เพราะ มร.น็อกซ์ต้องการจะช่วยลูกเขยคือ พระปรีชากลการ ซึ่งต้องโทษประหาร เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าทารุณกรรมและฆ่าคนงานเหมืองทองตายที่เมืองกบินทร์บุรี พร้อมทั้งข้อกล่าวหาไม่ตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ด้วย เพราะมัวแต่ไปพลอดรักกับเมียคือ แฟนนี่ ซึ่งเป็นลูกสาวของ มร.น็อกซ์ นับเป็นข้อหาฉกาจฉกรรจ์

เผด็จ ขำเลิศสกุล ผู้ค้นพบเอกสาร
เผด็จ ขำเลิศสกุล ผู้ค้นพบเอกสาร

ในหนังสือที่ค้นพบใหม่นี้พบว่ามีเรื่องของพระปรีชากลการ ซึ่ง มร.น็อกซ์ได้พยายามส่งจดหมายไปเจรจากับผู้ใหญ่ก่อนหน้าที่จะตัดสินใจสั่งให้เรือรบอังกฤษเข้ามา ดังจดหมายที่ลงวันที่ 8 เม.ย. 1879 ความว่า

“มิสเตอนอก กรมท่า ด้วยข้าพเจ้าได้รับหนังสือของเจ้าคุณ เปนหนังสือมาถึงข้าพเจ้า ด้วยข้าพเจ้าขอให้มีการขอโทษเรื่องข้อกล่าวโทษพระปรีชา มีความว่า บุตสาวข้าพเจ้าได้ทำความผิดมาก ว่าอย่างนี้ต่อน่าท่านทั้งปวง ? อนึ่งที่ว่าในหลวงแลท่านเสนาบดีเสียใจ เพราะที่ข้าพเจ้าถือเปนการประจานนั้น ไม่เปนการฃอโทษเลย เปรียบเหมือนจะดีแล้วก็กลับว่า หมายว่าผู้ที่จะดีนั้นจะดีใจ ? เพราะชะนี้ข้าพเจ้าต้องขออิกหนึ่ง ให้มีการฃอโทษชัดเจน แลต้องฃอให้ปล่อยพระปรีชาด้วย…” (ลงวันที่ 8 เม.ย. 1879 จากหนังสือเล่มสอง ปี 1878 หน้า 200-206)

“แต่คดีนี้มีอะไรที่น่าสงสัยหลายอย่าง ซึ่งเป็นไปได้ว่าพระปรีชากลการถูกใส่ร้าย ดังที่ มร.น็อกซ์บันทึกไว้ว่า “เหนว่าความเรื่องพระปรีชานี้ได้ชำระโดยรีบร้อน เหนลางคนจะมีในเกาวแมนไทย (รัฐบาลไทย) ที่ยังไม่ทันเหนความผิดของพระปรีชาเปนแต่น้อย กับเปนการประจานข้าพเจ้า” (จากหนังสือเล่มแรก ปี 1876 หน้า 200-206)

คาดเดากันว่าความขัดแย้งที่ว่านี้อาจเป็นผลมาจากปัญหาระหว่างตระกูลบุนนาค และตระกูลอมาตยกุลในช่วงเวลานั้น เพราะพระปรีชากลการนี้มีชื่อจริงว่า “สำอาง อมาตยกุล” จึงยังมีอะไรให้น่าค้นหาอีก

พระปรีชากลการถือเป็นบุคคลสำคัญมากทีเดียวในประวัติศาสตร์ โดยใน พ.ศ.2414 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสุปรินเทนเด็นอินยีเนีย เพื่อคุมเรือพระที่นั่งนำรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยังต่างประเทศ จึงเป็นผู้มีความสามารถและโปรดปรานของพระองค์ ต่อมาโปรดให้ไปควบคุมเหมืองทองที่กบินทร์บุรี และได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี เมื่อ พ.ศ.2419 อีกด้วย

คดีของพระปรีชากรกาลสำคัญและมีสีสันมาก ทำให้ได้รับการนำมาแต่งเป็นนิยายเรื่อง Fanny & Regent of Siam แต่งโดย อาร์.เจ.มินนี่ ในปี 1962 ต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาไทยว่า “ตัวจึงตาย เพราะได้เมียฝรั่ง”

เมินจัด “โปลิด” กงสุลอังกฤษฟ้อง “เจ้าเชียงใหม่”

คดีความนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มที่2 ตั้งแต่หน้า 189-197 เหตุเป็นเพราะ “มองโบ๊” คนในบังคับของอังกฤษ ถูกปล้นเงินหนึ่งแสนรูปีที่บ้านสักคา เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2421 ซึ่งตามข้อตกลงระหว่างสยาม เชียงใหม่ และอังกฤษแล้ว ความจริง เจ้าเมืองเชียงใหม่ต้องจัดหา “โปลิด” เพื่อคุ้มกัน แต่ไม่ได้ดำเนินการ จึงเป็นเหตุให้มองโบ๊เสียทรัพย์ เป็นเหตุที่ทำให้กงสุลอังกฤษทำการฟ้องต่อเจ้าเมืองเชียงใหม่

ในเอกสารบันทึกไว้ว่า “กรมการอังกฤษในพม่าทำเรื่องราวกล่าวโทษฟ้องเจ้าเชียงใหม่แลข้าหลวงที่เมืองเชียงใหม่มีหลายประการ … บัดนี้ข้าพเจ้าฃอให้เจ้าคุณให้ข้าพเจ้าทราบว่าในเรวๆ นี้ ด้วยข้อที่ข้าพเจ้าฃอนั้นเกาวแมนไทยจะบังคับให้เจ้าเชียงใหม่ใช้เงินให้กับมองโบ๊หฤๅไม่ที่ได้สืบรู้แน่แล้วเปนเงิน 52000 รูเปียนั้น” (หน้า 189-197 เหตุการณ์เกิดในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1878)

เจ้าเชียงใหม่ที่ถูกฟ้องนี้คือ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2416-2440 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สยามสามารถมีอำนาจเหนือเชียงใหม่ได้อย่างเด็ดขาด

หลังจากนี้ ภาพถ่ายของหนังสือทั้งสองเล่มจะดำเนินการแต่งภาพและจัดทำเป็นรูปเล่ม และมอบให้กับห้องสมุดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปภายในปีนี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถใช้งานได้โดยสะดวก

กล่าวได้ว่า หนังสือทั้งสองเล่มนี้นับว่ามีคุณค่าอย่างมาก เพราะช่วยทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนต้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงให้หลังเพียง 21 ปีเท่านั้นเอง

หอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษ

ขุมทรัพย์เอกสารไทยในอังกฤษ

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ อังกฤษ ยังเก็บเอกสารสำคัญอื่นๆ ไว้อีกหลายพันรายการ ได้แก่ บันทึกไว้เกี่ยวกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 จำนวนหนึ่งที่ทางอังกฤษบันทึกไว้ เอกสารเกี่ยวกับเสรีไทย เอกสารที่อังกฤษเข้ามาทิ้งระเบิดและสอดแนมในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงภาพถ่ายของไทยจำนวนมาก

นอกจากนี้ เผด็จซึ่งเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายของหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) ยังพบว่ามีเอกสารที่ทางอังกฤษบันทึกไว้เกี่ยวกับการเดินทางมาของหม่อมราโชทัย ผู้เป็นล่ามหลวงที่เดินทางไปกับคณะราชทูตไทยที่อัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เมื่อ พ.ศ.2400 ตรงกับรัชกาลที่ 4 และเป็นผู้แต่งนิราศลอนดอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image