‘ไปรสนียาคาร’ ในวันรอพลิกฟื้น เนรมิตสวนสาธารณะ เชื่อม กรุงเทพฯ-กรุงธนฯ ปลุก ‘ปากคลองตลาด’ ย่านสร้างสรรค์

‘ไปรสนียาคาร’ ในวันรอพลิกฟื้น
เนรมิตสวนสาธารณะ เชื่อม กรุงเทพฯ-กรุงธนฯ
ปลุก ‘ปากคลองตลาด’ ย่านสร้างสรรค์

คลาคล่ำไปด้วยผู้คนต่างวัย มาร่วมออกลีลาเต้นสะวิงแดนซ์ ในบรรยากาศตะวันลาลับ ลมพัดเย็นสบาย โดยมีฉากหลังคือ ‘ไปรสนียาคาร’ ตั้งตระหง่าน คือ หนึ่งในกิจกรรม ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ จัดงาน ‘Creative Pop Park ย่านสร้างสรรค์ ปากคลองตลาด’ เมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นการจับมือกระชับระหว่างสำนักงานเขตพระนคร ร่วมกับ กลุ่ม we!park, Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ และพระนครเนอร์ Phranakor’ner

ปัจจุบัน พื้นที่โดยรอบอาคารไปรสนียาคาร เชิงสะพานพระปกเกล้า กำลังจะได้รับการพัฒนาเป็น สวนสาธารณะเล็กๆ ที่มีแลนด์มาร์กสะดุดตา

รองผู้ว่าฯกทม. ศานนท์ หวังสร้างบุญ และเครือข่ายประชาคม อาทิ ยศพล บุญสม
กลุ่ม we!park, รศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร และพรสมใจ ฮวดหุ่น ผู้ค้าย่านปากคลองตลาด เป็นต้น

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการ กทม. พร้อมด้วย โกศล สิงหนาท ผอ.เขตพระนคร, ปาจริยา มหากาญจนะ ผอ.ส่วนสวนสาธารณะ 1 สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม., รศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ หรืออาจารย์หน่อง อาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ผู้ก่อตั้ง we!park เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันแสดงความคิดเห็น เพื่อพัฒนาพื้นที่ไปรสนียาคาร อนุสรณ์สถานแห่งกาลเวลาที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของการไปรษณีย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งยังเป็นกรมไปรษณีย์โทรเลขในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Advertisement

⦁จากพื้นที่รกร้างสู่สวนสวย
‘เราจะผลักดันงบประมาณให้เร็วที่สุด’

จุดเริ่มต้น มาจากการที่ กทม.รับมอบพื้นที่จาก กรมทางหลวงชนบท มาดูแล โดยมีโครงการพัฒนาพื้นที่ไปรสนียาคารให้กลายเป็นสวนสาธารณะของย่านปากคลองตลาด เปิดให้ประชาชนในย่านทุกเพศทุกวัยเข้ามาใช้งาน และเป็นสวนที่เชื่อมต่อในพื้นที่ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี การจัดทำกระบวนการเพื่อรับฟังความคิดเห็นนี้ จะมีการนำเสนอแผนการพัฒนาปรับปรุงสวนสาธารณะใต้สะพานพระปกเกล้า และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาสวนสาธารณะในขั้นตอนต่อไป โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. จะเป็นผู้ปรับปรุงพื้นที่สวนสาธารณะ

Advertisement

สำหรับในส่วนของการปรับปรุงอาคารไปรสนียาคาร สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. รับดำเนินการ

รองผู้ว่าฯศานนท์ เล่าว่า ตอนเดินทางมาถึง รู้สึกว่าที่นี่เปลี่ยนไปมาก ภาพแรกที่จดจำได้คือพื้นที่ซึ่งปกคลุมด้วยต้นไม้และหญ้ารกๆ ใครเข้ามาก็กลัว

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. ยืนยันพร้อมผลักดันงบประมาณให้เร็วที่สุด

“เรามีโอกาสมาทำกิจกรรมที่นี่ 4-5 ครั้งแล้ว อาจารย์หน่อง (รศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์) มาตอนงาน Bangkok Design Week แล้วเห็นศักยภาพของอาคารไปรสนียาคารที่เก่าแก่แต่อยู่ในพื้นที่ปิด ครั้งนี้ก็มาเปิดอีกครั้ง หัวใจจริงๆ ไม่ใช่การมาเปิดเป็นครั้งๆ แต่จะทำอย่างไรให้เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ไปด้วย เป็นโอกาสดีที่เรามีย่านปากคลองตลาด ทำอย่างไรให้เชื่อมคน ไหลจากปากคลองตลาดมาตรงนี้ ไปเชื่อมกับคลองโอ่งอ่าง เยาวราช และพื้นที่อื่นๆ การจะทำให้พื้นที่ตรงนี้มีชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญ

สำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับ we!park ร่วมออกแบบสวนเบื้องต้น และอยากให้ร่วมแสดงความเห็นสวนนี้ด้วย อยากจะมีสนามบอลไหม เห็นน้องๆ เอารองเท้าฟุตบอลมาเตะ โดยเราจะผลักดันงบประมาณให้เร็วที่สุด วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ มันจะถูกจารึกไว้ว่าเราจะให้มันเป็นอะไร” ศานนท์กล่าว พร้อมย้ำว่า

พื้นที่ตรงนี้น่าสนใจอยู่แล้ว ถ้าเราเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่สำหรับเด็กเล็ก ซึ่งทีมก็มีแผนทำอยู่แล้ว การปรับปรุงอยู่ในขั้นแรก ขั้นที่สองคือการดูแล มีการหารือว่าไม่ใช่แค่รัฐดูแลอย่างเดียว อยากให้มีคณะกรรมการประจำสวน ที่มาช่วยกันจัดกิจกรรม จะทำให้สวนมีชีวิต จะเป็นอีกมิติหนึ่งที่สำคัญ

โพสต์อิทระดมความเห็นอนาคตพื้นที่ไปรสนียาคาร

กฤตพงศ์ ยงเกียรติพานิช หรือ ‘แฮ่ม’ หนึ่งในนักออกแบบจาก we!park ผู้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ความต้องการของพื้นที่ เผยถึงที่มาความสำคัญของโครงการดังกล่าวว่า พื้นที่รอบอาคารไปรสนียาคารเต็มไปด้วยย่านดังต่างๆ เช่น ปากคลองตลาด เยาวราช สำเพ็ง ทรงวาด พาหุรัด ฝั่งธนบุรี ก็มี กุฎีจีน คลองสาน จุดนี้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของพื้นที่โดยรอบ จึงอยากออกแบบให้เป็นจุดเปลี่ยนผ่านไปย่านต่างๆ และเป็นสวนสาธารณะใจกลางเมือง Color of Life Park เป็นสีสันของวิถีชีวิต ดึงดูดผู้คนเข้ามาในย่าน สร้างความหลากหลายของชีวภาพในพื้นที่นี้ และเป็นมิตรกับผู้ใช้ที่หลากหลาย มีลานจอดรถ ลานพลาซ่า ลานสนามกีฬา สนามเด็กเล่น สวนดอกไม้ สวนไม้มีกลิ่น

⦁ไม่ได้มีแค่ดอกไม้ ‘ปากคลองตลาด’ ครบมิติ
สิ่งที่ขาดคือบูรณาการ

ว่าแล้ว ไปฟังมุมมองของคนพื้นที่ อย่าง พรสมใจ ฮวดหุ่น หรือ ‘อ้อย’ เจ้าของร้าน Flowerland ใน
ปากคลองตลาด แสดงความเห็นว่า ศักยภาพของไปรสนียาคาร และพื้นที่โดยรอบถือว่าสมบูรณ์แบบ ทั้งการเดินทางทางบก ทางน้ำ รถไฟฟ้าก็เยี่ยม มีสถานศึกษารายรอบ ไม่ติดขัดเรื่องจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ มีชุมชน ไม่มีอะไรที่ตรงนี้ไม่มี สิ่งที่ขาดคือการบูรณาการ และการใช้พื้นที่อย่างครบองค์ประกอบ

ประชาคมร่วมฟังแนวคิดและระดมความเห็น

“ส่วนตัวอยากให้มีพื้นที่ของนักเรียนนักศึกษา เวลาใกล้งานกีฬาสี น้องๆ ร.ร.สวนกุหลาบไม่มีพื้นที่ทำกิจกรรมประชุมเชียร์ ทำงาน เพราะเขาอยู่โรงเรียนในเวลาจำกัด และเขาจะมีความลับที่จะประชุมเป็น กลุ่มย่อย ย่านนี้ยังมีวิทยาลัยเพาะช่างฯ และเสาวภา (วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา) ยังไม่รวมน้องๆ โรงเรียนวัดราชบพิธ ข้ามไปฝั่งธนฯ ก็โรงเรียนศึกษานารี น่าจะมาจอยกันได้ที่นี่” พี่อ้อยกล่าวท่ามกลางบรรยากาศที่เปิดพื้นที่ทดลองให้ทุกคนได้เข้ามาลองใช้งานในพื้นที่สวนสาธารณะแห่งนี้ก่อนจะมีการปรับปรุงจริง เช่น ตลาดชุมชนจากผู้ประกอบการรายย่อยในเขตพระนคร นิทรรศการให้ความรู้และกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ใต้สะพานพระปกเกล้า ดนตรีในสวนจากนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ กิจกรรมสอนเต้นสะวิงแดนซ์กับ Jelly Roll Jazz Club กิจกรรม Workshop งานศิลปะจากวิทยาลัยและโรงเรียนในเขตพระนคร

ขณะที่ ‘อุ้ม’ ชาวบ้านผู้คุ้นเคยกับย่านปากคลองตลาด กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่อง Story Telling หลายคนเห็นสถาปัตยกรรมที่สวยงาม การได้ขึ้นไปบนตึก ได้สัมผัสเรื่องราวที่มีการเล่าต่อกันมา ถือว่าน่าขนลุกมาก แต่ยังขาดคนเล่าเรื่อง ที่สำคัญคือพื้นที่ตรงนี้มีความหลากหลายมาก ไม่ใช่แค่ดอกไม้ เรามีผัก ผลไม้ พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่กันมา 30-40 ปี ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้ดึงเรื่องราวของคนเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดออกมาให้คนรุ่นใหม่เข้าใจได้ แล้วส่งต่อความรู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้

“พี่สาวที่เป็นแม่ค้าในปากคลองตลาด เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีคนหาบบัวมาขายริมคลอง บรรยากาศพวกนี้
มันหายไปหมดแล้ว ก็อยากให้มีการดึงเรื่องราวกลับมาเล่าให้คนรุ่นหลังได้ฟัง” อุ้มแนะ

ไปรสนียาคารในปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2546 หลังอาคารเดิมถูกรื้อถอนเพื่อสร้างสะพานพระปกเกล้า

⦁พื้นที่ศักยภาพสูง สเกลไม่ใหญ่
หวังประชาคมมีส่วนร่วม

รศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ หรืออาจารย์หน่อง อาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เผยว่า ปัจจุบันหาที่ดินของรัฐริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้อีกแล้ว เพราะมีแต่ของเอกชน ทุกคนโหยหาพื้นที่ตรงนี้ ส่วนตัวเห็นด้วยที่ว่าจุดนี้จะจ่ายคนไปคลองโอ่งอ่าง ปากคลองตลาด และตลาดน้อย

ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ผู้ก่อตั้ง we!park เสริมว่า พื้นที่นี้มีศักยภาพเป็น Gateway เข้าสู่เขตพระนครชั้นใน ในอนาคตนักท่องเที่ยวจะมาลงเรือตรงนี้ ปัญหาเรื่องจุดอับจะดีขึ้น ถ้าเพิ่มท่าเรือ หรือเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายระบบขนส่งสาธารณะ

ปาจริยา มหากาญจนะ ผู้อำนวยการส่วนสวนสาธารณะ 1 สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เน้นย้ำว่า พื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพเต็มร้อย เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ถ้าทำเสร็จได้ตามที่หวังจะมีประโยชน์มาก

“อยากให้สวนนี้เป็นสวนแรกที่ประชาคมมามีส่วนร่วม สเกลก็ไม่ใหญ่เกินไป ชุมชน ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง” ผอ.ปาจริยาทิ้งท้าย

 

ย้อนไทม์ไลน์ 145 ปี ‘ไปรสนียาคาร’

⦁ พ.ศ.2422 เดิมทีไปรสนียาคารเคยเป็นเรือนของพระปรีชากลการ (สำอางค์ อมาตยกุล) อดีตเจ้าเมืองปราจีนบุรี โดยมีลักษณะเป็นอาคารแบบยุโรป 2 ชั้นครึ่ง มีขนาดกว้าง 25.5 เมตร ยาว 53.5 เมตร ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือปากคลองโอ่งอ่าง แต่ถูกริบเข้ามาเป็นทรัพย์สินของหลวง เนื่องจากพระปรีชากลการถูกกล่าวหาว่า ‘ฆ่าคนตายและทารุณกรรมแก่คนไทยที่เมืองกบินทร์บุรี’ จนต้องโทษประหารชีวิต

ไปรสนียาคาร ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศก่อนถูกรื้อเพื่อสร้างสะพานพระปกเกล้าเมื่อ พ.ศ.2525 (ภาพโดยเอนก นาวิกมูล ถ่ายขาวดำ เมื่อ พ.ศ.2523)

⦁ พ.ศ.2426 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง ‘กรมไปรสนีย์แลโทรเลข’
เพื่อประโยชน์ทางด้านการติดต่อสื่อสาร และเป็นการประกาศเกียรติภูมิของประเทศให้ทัดเทียมกับอารยประเทศในขณะนั้น โดยได้นำเรือนของพระปรีชากลการมาใช้เป็นตึกที่ว่าการฯ เรียกกันว่า ‘ไปรสนียาคาร’ ซึ่งเป็นสถานที่รับฝากและนำจ่ายไปรษณีย์ในเขตกรุงเทพมหานคร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรสนีย์เป็นพระองค์แรก

⦁ พ.ศ.2428 หลังจากดำเนินการได้ 2 ปี สยามได้รับเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพไปรษณีย์สากลจึงมีการเปิดบริการฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ไปต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ณ ‘ออฟฟิศ-ไปรสนีย์ที่ 2’ บริเวณศุลกสถาน (หรือปัจจุบันคือสถานีดับเพลิงบางรัก) พร้อมกับขยายการบริการออกไปยังหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ

⦁ พ.ศ.2469 กิจการไปรษณีย์สยามเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากจนไปรสนียาคารอันเป็นศูนย์กลางเดิมมีความแออัด จึงมีความจำเป็นต้องย้ายไปรสนียาคารและออฟฟิศไปรสนีย์ที่ 2 ไปรวมกันเพื่อให้ผู้คนที่เข้ามาใช้บริการสะดวกยิ่งขึ้น โดยได้ย้ายที่ทำการไปยังไปรษณีย์กลาง ณ ถนนเจริญกรุง เนื่องจากเป็นถนนสำคัญสายแรกของกรุงเทพฯ ที่ก่อสร้างตามแบบตะวันตก และถือเป็นย่านธุรกิจการค้าที่เจริญรุ่งเรือง โดยใช้อาคารสำนักงาน และพื้นที่เดิมที่เคยเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลอังกฤษ

⦁ พ.ศ.2475 ในยุคการปฏิวัติสยาม ไปรสนียาคาร เป็นสถานที่แห่งแรกที่ทางคณะราษฎรจะต้องทำการบุกยึดเนื่องจากเป็นชุมทางการสื่อสาร คือ โทรเลขและโทรศัพท์ เพื่อตัดระบบการสื่อสาร โดยกลุ่มคณะราษฎรสายพลเรือนที่นำโดย หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) และนายประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเคยรับราชการที่นี่ได้ทำการยึดและตัดการสื่อสารให้ได้ภายในเวลา 04.00 น. เพื่อมิให้ผู้คนสงสัย

⦁ พ.ศ.2524 ในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี รัฐบาลโดยกรมโยธาธิการมีความเห็นว่าควรสร้างสะพานพระปกเกล้า เพื่อช่วยระบายการจราจรเคียงข้างขนานไปกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า เนื่องจากในบริเวณนั้นเกิดปัญหาการจราจรถึงจุดวิกฤต ทำให้ไปรสนียาคาร หลังเดิมที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณนั้นถูกรื้อถอนออกไป เก็บไว้ที่สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมก่อนที่ต่อมาจะถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานกรมทางหลวงชนบท

⦁ พ.ศ.2546 กรมทางหลวงชนบทได้ก่อสร้างอาคารจำลองขึ้นมาทดแทนไปรสนียาคารหลังเดิมด้วยมาตราส่วน 1:75 โดยสร้างเฉพาะส่วนมุขด้านหน้าของอาคารที่มีความกว้าง 25.5 เมตร และลดความยาวลงจากเดิมเหลือเพียง 3.5 เมตร เป็นอาคาร 2 ชั้นครึ่งรูปแบบคล้ายของเดิมที่ออกแบบโดย ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา สถาปนิกชื่อดังของไทย และใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 10 ล้านบาท เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งกาลเวลา สำหรับแสดงประวัติศาสตร์ของการไปรษณีย์ไทย โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image