ที่มา | คอลัมน์อาทิตย์สุขสรรค์ มติชนรายวัน 25 ส.ค.67 หน้า 9-10. |
---|---|
ผู้เขียน | ภูษิต ภูมีคำ - เรื่อง ยิ่งยศ เอกมานะชัย - ภาพ |
ปรีดา ข้าวบ่อ
จากผู้กรุย ‘ทางอีศาน’
สู่บรรณาธรเกียรติยศ
‘ถ้าไม่ขบถ อย่าเขียน’
“คนอีสานมันถูกล้วงตับไตไส้พุง ไปกินหมดแล้ว ชาวบ้านผลิตได้ มีเงิน แต่เป็นหนี้ ในขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ ถามว่าอยู่ดีกินดีไหม นานๆ ได้กินหมูกระทะทีนึง เหลือแต่หัวใจที่เต้นอยู่”
‘หัวใจ’ ที่ว่านั้น ถูกเปรียบหมายถึง ‘วัฒนธรรม’ ก็เริ่มเต้นอย่างแผ่วเบา ใกล้ล้มหายตายลง
บทสนทนาสุดเข้มข้นถูกถลกขึ้นมาวางกลางวง เมื่อพูดถึงสภาพความเป็นอยู่คน ‘อีสาน’ บนพื้นที่ราบสูงบน จนต้องเริ่มไล่เรียงสางปัญหา เปิดเปลือยสภาพท้องถิ่นออกมาจนเริ่มเห็นเลือดเนื้อ และความยากแค้น ณ สำนักพิมพ์ ‘ชนนิยม’ ย่านรามอินทรา กรุงเทพฯ
วาระสุดพิเศษสำหรับการนัดหมายพูดคุยกับ ปรีดา ข้าวบ่อ หรือ ‘ตุ๋ย’ นักกวีชาวขอนแก่น วัย 69 ปี เจ้าของรางวัล ‘บรรณาธรเกียรติยศ’ จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยประจำปี 2567 จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย อันเป็นรางวัลสำหรับบุคคลที่รังสรรค์ชีวิตของวงวรรณกรรมไทยให้ธำรงอยู่อย่างมีความหมาย ถาวรและสง่างาม
นับได้ว่าปรีดาเป็นหนึ่งบุคคลคุณภาพ ผู้เวียนว่ายบนสายธารของวรรณกรรมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ยุค ‘คนเดือนตุลา’ จนกลายมาเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ชนนิยม ที่มุ่งเคลื่อนสังคมเพื่อ ‘การเปลี่ยนแปลง’
จากจุดยืนอันแน่วแน่คงเส้นคงวาของ ‘ปรีดา’ ที่ยังคงยึดมั่นในคุณค่าใน ‘เนื้อหา’ มากกว่าทำการตลาด มุ่งทำวรรณกรรมและศิลปวัฒนธรรมให้มีชีวิต ส่งผ่านเมล็ดพันธุ์ทางความคิด ‘สร้างความตื่นตัว’ ไปจนถึงท้องถิ่นอีสาน หวังการกระจายอำนาจแย้มบานอยู่ที่ปลายทาง เพื่อให้คนอีสานยืนหยัดขึ้นมาอย่างแท้จริง
‘ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม’
ยกวรรคทองจากกลอน ‘อีศาน’ บทประพันธ์ของ นายผี กวีผู้แหลมคมด้วยลวดลายสัมผัส และเนื้อหาอันทรงพลังระหว่างบรรทัด จนนักเขียนระดับตำนานอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ต่างน้อมยกย่องต่อกลอนบทนี้ ได้กลายมาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของชื่อนิตยสาร ‘ทางอีศาน’ ชื่อพ้องความหมายนัยเดียวกับ ‘อีสาน’ ดินแดนบ้านเกิด
บทสนทนาต่อจากนี้ ฉายภาพเส้นทางชีวิต และเส้นทางอีศาน ด้วยนิตยสารที่เปรียบเหมือนพาหนะที่บรรจุด้วยเชื้อเพลิงเต็มถัง ยังคงมุ่งหน้าโลดแล่นออกไปบนถนน พร้อมความหมายมั่นตั้งใจทุ่มเทอย่างหนักต่อไปอย่างน้อยอีก 1 ทศวรรษ…
⦁ เริ่มต้นจากชีวิตวัยเด็กชาวอีสาน เบื้องหลังชีวิตเกิดและเติบโตมาอย่างไร?
ผมเกิด อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น โตมาแบบได้ใช้ชีวิตเด็กเต็มที่ ไร้เดียงสาไม่ได้สนใจอะไรเลย เล่นสนุกสนาน ไปบ้านญาติร่วมงานบุญ ทางสัญจรในหมู่บ้านยังเป็น ‘โสก’ เวลาน้ำเซาะเดินลงท้องไร่ทุ่งนาก็ยังเป็นร่องน้ำลงไปในนา เดินระหว่างหมู่บ้านก็ดูทิวไผ่รอบหมู่บ้าน สะพานปูนยังไม่มี มีสะพานไม้เวลาน้ำมาก็ขาด ค่อนข้างมีความธรรมชาติหน่อย
เราใช้ชีวิตไร้เดียงสาแบบไม่ได้คาดหวังอะไร สมัยนั้นมีค่านิยม ‘เจ้าคนนายคน’ ไม่ได้มีให้เลือกสักเท่าไหร่ ถ้าผู้ชายไม่เป็น ตำรวจ ทหาร ก็ครู มีให้เลือกแค่นี้ ยังนึกไม่ภาพไม่ออก ขนาดตอน ม.ต้น ข้างบ้านมีบริษัทซิงเกอร์ (singer) มาเปิดมีผู้จัดการมาประจำ ตกใจสงสัยเลย อุ้ย! เขาเรียนจบอะไรมาถึงได้เป็นผู้จัดการซิงเกอร์อะไรอย่างนี้
⦁ แล้วความสนใจด้านงานเขียนเกิดขึ้นมาตอนไหน?
หลังจากเรียนที่โรงเรียนอำเภอบ้านไผ่ ก็ไปเรียนต่อวิทยาลัยครูอุดรธานี เรียกว่า ‘ปกศ.เตี้ย’ 2 ปี อายุยังไม่ถึงสอบบรรจุครู เลยมีผู้ใหญ่บอกให้ไปเรียนต่อที่นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่ก็สอบไม่ติด มาลงทะเบียนเรียน ม.รามคำแหง ช่วงนั้นก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พอดี ก็เลยได้เข้าร่วมขบวนกิจกรรม ‘แผนกวรรณศิลป์’ ร่วมกับเพื่อนๆ เข้าไปในสายธารประชาธิปไตย กิจกรรมการเมือง นับว่าเพื่อน ม.เกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็ถือว่าเป็นเพื่อนเดียวกัน
⦁ ตอนนั้นแผนกวรรณศิลป์ ม.ราม บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง?
เรียนรามก็ย้ายไปอยู่กับเพื่อนรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม ซึ่งตอนนั้นก็หัดอ่าน หัดเขียนอยู่ในแผนกวรรณศิลป์ หน้าห้องเขาก็จะมีโต๊ะตั้งไว้เวลาใครเข้าไปเขาก็จะเขียนกลอนคนละบทต่อกัน เขียนเติมกันไป หรือก็จะมีการแนะนำหนังสือกันว่า ฉันอ่านเล่มนี้มานะ เรื่องนี้มานะ
ยุคนั้นก็เป็นที่รู้ว่าต้องอ่านหนังสืออะไรกันมาบ้าง ทุกคนต้องพกไม่ว่าจะเป็น ทวีป วรดิลก หรือ จิตร ภูมิศักดิ์ แล้วยังมีการประกวดกลอนระหว่างมหาวิทยาลัยบ้าง กิจกรรมรับน้อง ประชุมสัมมนา เวลามีอภิปรายก็ไปนั่งฟัง เราจะได้รับความรู้จากที่นี่ต่างจากตอนเรียนที่โรงเรียนเราไม่ได้อ่านเลย
⦁ วงการเขียนในยุคนั้นมีความตื่นตัวกันสูงมาก ตอนนี้มันเป็นอย่างไรบ้าง?
จุดเริ่มต้นของความสนใน คือ เราไปอยู่ในแวดล้อมของคนที่สนใจในงานวรรณกรรม ตอนนั้นเพื่อนผมก็มี วัฒน์ วรรลยางกูร, ศิลา โคมฉาย, เรืองรอง รุ่งรัศมี, วีระศักดิ์ ขุขันธิน, เฉลิมศักดิ์ แหงมงาม ส่วนใหญ่เขาก็จะเป็นนักอ่านกันมาก่อน บ้างก็เขียนหนังสือกันมาตั้งแต่มัธยม มันเป็นทักษะและความชอบของแต่ละคนที่มาอยู่รวมกัน จนสมัยนั้นผมก็เริ่มเขียนได้แล้ว เขียนลง นสพ.ประชาธิปไตย และ นสพ.เสียงใหม่ ซึ่งเป็นหนังสือที่ก้าวหน้าในสมัยนั้น
ช่วงนั้นปี 2516 จากยุคทหารมาเป็นยุคประชาธิปไตย ก็มีมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรมอ่าน เขียน เพิ่มมากขึ้น บรรยากาศมันเป็นแบบที่เวลาพูดอะไร เราก็ตบมือเชียร์กันไว้ก่อน ‘มึงได้ (เขียน) ลงนะ’ มันเป็นบรรยากาศเติบโตทางความคิดที่เห็นได้ทั่วไปเลย
⦁ ยังจำผลงานที่เขียนชิ้นแรกๆ ได้หรือไม่ ตอนนั้นเป็นอย่างไร?
งานชิ้นแรกๆ ที่ผมเขียนลงหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยตอนนั้น องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) เขาจะจัดนิทรรศการ ‘จักรพรรดินิยม’ ครั้งแรก พูดถึงเกี่ยวกับสงครามเย็น ได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายรูปเครื่องบินรบที่อุดรธานี ไปพร้อมกับเพื่อนในแผนกไปถ่ายรูปด้วยกัน ผมก็ขับรถพาเขาเข้าไปถ่ายรูปในฐานทัพ ก็เลยได้แต่งกลอน ‘เจ้านกเหล็ก’ ขึ้นมา
⦁ อุดมการณ์อะไรที่ยึดถือร่วมกัน ตั้งแต่ตอนนั้นมาจนถึงวันนี้?
‘เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น’ ผมถือว่าได้ใช้ชีวิตในช่วงหนึ่ง ถ้าพูดถึง 2475 เราก็ได้สัมผัสกับรุ่นทายาท ได้รู้ประวัติศาสตร์ ปี 2500 เราก็ได้พบ รู้จักครูบาอาจารย์ในยุคนั้น ยุคสายลมแสงแดด จนกระทั่ง 14 ตุลาฯ 2516 นักเขียนรุ่นนั้นก็ถือว่าได้อ่าน ได้ศึกษา กระทั่งปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามา คนในยุคผมพยายามที่จะทำอะไรเท่าที่ทำได้ และสืบทอดจากคนรุ่นก่อน ประสานงาน เชื่อมร้อย และให้กำลังใจต่อไป
⦁ ก่อนจะเปิดสำนักพิมพ์ ‘ชนนิยม’ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง?
หลังจากที่ทำกิจกรรมใน ม.ราม เราได้เกียรติบัตรมาบ้าง ทำให้เรารู้ว่าพอมีทักษะด้านนี้อยู่ ด้านตรวจปรู๊ฟ ทำหนังสือ ด้านเขียนหนังสือนิดหนึ่ง พอตอน 6 ตุลาฯ 2519 ผมถูกจับที่ธรรมศาสตร์ ผมถูกจับที่ธรรมศาสตร์แล้วก็เข้าป่าที่อีสานใต้ แถวชายแดนกัมพูชา ตั้งแต่โคราช สุรินทร์ ไปจนถึงศรีสะเกษ อยู่ในป่า 4 ปี ก็ไปทำหนังสือของพรรคคอมมิวนิสต์ นิตยสารรายเดือนชื่อ ‘ธงชัย’ ตอนนั้นบนภูเขา 10 วันต้องปิดต้นฉบับ สลับกับการออกแนวหน้าไปสัมภาษณ์สหาย เอาเรื่องมาเขียนวนอยู่อย่างนั้น
ออกป่ามาปี พ.ศ.2525 มาเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ดอกหญ้า เพราะว่าคนทำงานมีแต่คนจากวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์ ซึ่งมีความคุ้นเคยรู้จักกันดี ตอนนั้นก็ยังมือใหม่อยู่ ติดไข้มาลาเรียออกมาด้วยกว่าจะรักษาหาย ตอนนั้นก็เริ่มทำหนังสือเล่มแรก ‘นาฏกรรมบนลานกว้าง’ ผลงานของ คมทวน คันธนู ก็ได้รางวัลซีไรต์
จากนั้นก็ไปทำหนังสือเพื่อนชาวบ้าน ทำหนังสือท่องเที่ยว หนังสือแพรว หนังสืออาวุโสของเครืออมรินทร์ จนถึงปี 2528 หรือ 2529 ผมก็ได้ตั้งสำนักพิมพ์ ‘ชนนิยม’ เป็นของตัวเอง
⦁ ตอนที่ลุยเปิดสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง ตอนนั้นเริ่มจากตรงไหน?
ตอนแรกเราก็รู้จักนักเขียนผู้หลักผู้ใหญ่ กรุณา กุศลาสัย, สุภา ศิริมานนท์ เราก็ขอต้นฉบับท่านมาพิมพ์ ‘เมฆทูต รัตนกวี กาลิทาส’ เล่มแรกขาดทุน เล่มที่สอง ‘บุคลิกภาพ’ ของ สมศรี สุกุมลนันทน์ 3 เดือนขายหมด แล้วก็ต่อมา ‘อมตวาจา มหาตมา คานธี’ ออกมา 3 เดือนก็ขายหมด ก็เลยลาออกจากงานประจำ
จนกระทั่งปี 2536 ถึงจดทะเบียนตั้งบริษัทแล้วก็จัดจำหน่ายเองด้วย ตอนแรกให้คนอื่นจัดจำหน่ายให้ ก็ตระเวนไปทั่วประเทศ
⦁ ทำไมมีแต่ประเด็นหนักทั้งนั้น วางแนวทางคัดเลือกเนื้อหามาตีพิมพ์อย่างไร?
แล้วคิดว่าดี แล้วก็พิมพ์ออกไป ไม่ได้คิดเหมือนคนอื่นที่คิดเรื่องการตลาดก่อนว่า ตอนนี้คนชอบอะไรอยู่ จะพิมพ์อะไรถึงจะขายได้ เราไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะเราเป็นคนทำกิจกรรมมา ถ้าเห็นว่า เฮ้ย! อันนี้ดีนะ ก็อยากให้เผยแพร่ออกไป ไม่ได้วางแผนว่าเล่มนี้ตลาดกำลังต้องการนะ
ไม่มีเลย
⦁ จุดไหนที่ทำให้ขยับมาเปิดนิตยสาร ‘ทางอีศาน’?
เราทำพ็อคเก็ตบุ๊ก หรือหนังสือเล่มจนรู้สึกว่าอิ่มตัวแล้ว แล้วเราคิดว่า เอ๋? เราจะทำอะไรอีก ก็เลยคิดหันมาเปิดนิตยสาร ‘ทางอีศาน’ ปี พ.ศ.2554 ในความคิดก็คือ เราเป็นคนอีสานก็อยากให้หนังสือเล่ม ย่อยมาเป็นหนังสือนิตยสารที่ให้คนอ่านมากขึ้น แล้วเราก็คิดถึงการกระจายอำนาจ ภูมิภาคต้องเข้มแข็ง คนต้องมีศักดิ์ศรี จนออกมาเป็น ‘ทางอีศาน’
⦁ ทำไม ‘ทางอีศาน’ ถึงเขียนด้วย ศ.ศาลา ไม่เขียนแบบ ‘อีสาน’?
‘ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม’ เนื้อหาบทกลอน ‘อีศาน’ ของนายผี ก็เป็นอีกหนึ่งในแรงบันดาลใจ ซึ่งนักเขียนทั้งหมดก็น้อมหัวให้กวีบทนี้ว่า เป็นกวีครูที่ให้ทั้งเนื้อหา สาระ คำที่มีพลัง อุปมาอุปไมย เปรียบเทียบความหมายที่ยังสอดคล้องกับยุคได้มาถึงปัจจุบันอยู่ แม้ว่าจะเขียนมากว่า 70 ปีแล้วสะท้อนภาพการเมืองที่มีคนคดโกงขึ้นมา จนตอนจบเขาพูดถึงพลังของคนอีสานต้องรวมกันเข้า ‘อีสานจะไม่พ่ายใครอีกแล้ว’
⦁ เคยมีคนมาท้วงเรื่องชื่อบ้างไหม แล้วฟีดแบ๊กออกมาเป็นอย่างไรบ้าง?
ตอนผมทำโลโก้ติดข้างรถขับไปข้างนอก แวะเติมน้ำมันอยู่ ผู้จัดการที่ปั๊มเขามาบอกว่า ‘เนี่ยๆ เขียนผิดนะ ไปแก้ด้วย’ เขาพูดด้วยความหวังดี เราก็เลยเล่าแนวคิดให้เขาฟัง แล้วเขาก็ประทับใจ จากนั้นเขาก็มาเป็นนักอ่านของเราเลย (หัวเราะ)
⦁ พอหันมาทำ ‘ทางอีศาน’ ผ่านความยากลำบากอะไรมาบ้าง?
อืม… ช่วงนั้นมีสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ก่อนหน้านั้นก็เผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ถือว่านอกจากความอิ่มตัวในทางพ็อคเก็ตบุ๊ก การออกนิตยสารก็เหมือนเจอพายุอยู่ แทนที่เราจะเอาเรือขวางหรือหันหลังกลับ แต่เราเอาหัวเรือพุ่งชนเลย เป็นทางรอดอย่างหนึ่ง เราเรียกพลังทั้งหมดเท่าที่มี ทุ่มลงไป
⦁ แล้วเล่มแรกที่โหมโรง เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ฟีดแบ๊กดีไหม?
ตอนนั้นถือว่าเป็น ‘มวยใหม่’ ขึ้นไปก็ชกรัวๆ เต็มไปด้วยเนื้อหา แต่มันไม่กลมกล่อม แล้วหนามาก 160 หน้า อัดแน่นไปด้วยบทความ ตอนหลังเราถึงมาย้อนดูแล้วสรุปได้ว่า นิตยสารมันเหมือนก๋วยเตี๋ยวชามนึงนะ ต้องมีทั้งเส้น เนื้อ มีไส้มีอะไรกรุบกรับ มีถั่วงอก มีหวาน เค็ม มัน มีกวี มีนิทานคร่อม มีอะไรแบบนี้ ปรุงรสให้มันกลมกล่อมครบทุกรสชาติ เพราะบางคนเปิดอ่านคอลัมน์เดียวก็ชอบ แล้วเขาก็ค่อยๆ อ่านเรื่องอื่น
แต่ตอนต้นวัตถุดิบที่มี เราใส่ไปเต็มๆ เหมือนมวยไม่มีชั้นเชิง จะใส่อย่างเดียว (หัวเราะ) เราก็ได้ฟีดแบ๊ก ได้กำลังใจกลับมาบ้าง อย่างหลวงพ่อที่ จ.กาฬสินธุ์ ท่านอ่านแล้วโทรมาเลยนะ อาตมาได้รับทางอีศานแล้ว จำวัดอยู่ 2 วัน อ่านจบแล้วขึ้นธรรมาสน์เทศน์ต่อได้เลย
⦁ ตั้งใจเหมือนหว่านเมล็ดพันธุ์ ปลุกให้คนคิดต่อหรือเปล่า?
ใช่ เหมือนกับอาจารย์คนนึงจาก ม.ขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เขียนจดหมายมาบอกว่า ผมขอบคุณนิตยสารนี้ที่ทำให้ผมได้แต่งงาน ผมก็งงว่าทำไม ปรากฏเขาอธิบายว่า แต่ก่อนมีทัศนคติเกี่ยวกับพี่น้องลาว ที่มองว่าบ้านเราสูงกว่า จนได้เปิดใจรับรักสาวลาว และได้แต่งงานกัน
บางทีก็มีดึกๆ 3-4 ทุ่ม โทรมาเสี่ยงอ้อๆ แอ้ๆ “ผมอยากคุยกับ บก.ทางอีศาน” พูดภาษาลาวเลยนะ “คิดยังไงถึงกล้าทำทางอีศาน สุดยอด ทำได้ยังไง” ก็เป็นกำลังใจให้เรา นักศึกษารุ่นใหม่ที่สนใจ มีผู้ปกครองอ่านแล้วตอบปัญหาประวัติศาสตร์ ให้ลูกฟังได้
⦁ ทำไมถึงต้องทำให้ศิลปวัฒนธรรมอีสาน มีตัวตนขึ้นมา?
ผมว่าทั้งประเทศ โดยเฉพาะอีสานบ้านเรา การบันทึกอะไรมีมาแค่ 100 กว่าปีนี้เอง เราขาดส่วนนี้ไป ก็เลยพยายามระดมทุกส่วน ทั้งอาจารย์ คนรู้จัก คือถ้าเราไม่บันทึกวันนี้ มันจะไม่มีนะ จะขาดพร่อง เหมือนประวัติหมู่บ้านหรือตำบล “พ่อใหญ่นั้น เล่ามาอย่างนี้นะ” มันต้องเริ่มเท่าที่มีอยู่ตอนนี้แล้วค่อยๆ สาวกลับไปถึงสาเหตุ
⦁ ทำไมการจดบันทึกเรื่องราวในท้องถิ่น มันถึงมีสำคัญมาก?
ตอนนี้ผมว่าชัดเจน มีนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ รวมถึง พี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่บุกเบิกเรื่องนี้ ตอนหลังมาแกสามารถฟันธงเลยนะว่า ‘อารยธรรมอีสาน มันมีมาก่อนเจ้าพระยา’ การถูกบูลลี่ กดทับกัน แทนที่จะร่วมกันแสดงความเป็นชาติขึ้นมา ก็ไปมองภูมิภาคว่าต้องเอาเข้ามาให้อยู่ในอาณัติ ต้องพูดภาษากลาง รวมทั้งไม่สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
อย่าง ‘โกลเด้นบอย’ คนที่คุณบอกว่า ‘เขมรป่าดง’ นั่นพันปีมาแล้วที่เขาสามารถสร้างอะไรแบบนั้นขึ้นมาได้ มีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน มันชัดเลย
ล่าสุดที่เราเรียนรู้เรื่อง ‘ภูพระบาท’ มันเป็นอารยธรรมที่ไปทั้งอีสาน แล้วเราเห็นความชัดเจนว่าจากทวารวดี ขอม มาล้านช้าง ก่อนทวารวดีก็คือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตอนนี้ความรับรู้ที่นักวิชาการรุ่นใหม่ทำมา แล้วนำเสนอ
มันควรจะมานั่งล้อมวงเขียนประวัติศาสตร์ตรงนี้ ให้เด็กประถมได้เริ่มอ่าน อยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน มันควรทำอย่างนั้นได้แล้ว ผมว่ามีองค์ความรู้มากพอ ทางอีศาน เราก็พร้อมประสานเครือข่าย มานั่งระดมความคิด
งานวิจัย เอามาย่อยให้เห็นง่ายๆ
⦁ คิดว่า ‘โง่ จน เจ็บ’ ที่เป็นภาพจำในอดีตเปลี่ยนไปแล้วในแง่ไหนบ้าง?
ก่อนเกิด 6 ตุลาฯ 2519 ก็รู้สึกว่าสภาพบ้านเมืองลำบาก ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ผลผลิตก็ไม่แน่นอน ช่วงหลังผมออกจากป่า รู้สึกว่าบ้านเมืองเปลี่ยนไป สิ่งอำนวยความสะดวก ไฟฟ้า ประปา ถนนหนทางมันมากขึ้น แต่พอดูในรายละเอียดจริงๆ
ผมคิดว่าตอนนี้หมู่บ้านในไทย มันถูกล้วงตับ ไต ไส้พุง ไปกินหมดแล้ว เพราะค่านิยมที่คนเป็นเจ้าคนนายคน ส่งลูกหลานให้ได้เรียน แต่ยังติดหนี้เหมือนเดิม ธ.ก.ส.ตั้งมาไม่กี่ปี มีเงินเป็นหมื่นล้านเข้าไปหมุน ทั้งๆ ที่ชาวบ้าน
ผลิตได้ มีเงิน แต่ยังเป็นหนี้ ในขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ถามว่าอยู่ดีกินดีไหม นานๆ ได้กินหมูกระทะทีนึง แต่ผมว่าถูกล้วงตับไต ไส้ พุง เหลือแต่หัวใจที่เต้นอยู่ก็คือ ‘วัฒนธรรม’
⦁ พูดได้ไหมว่าเหมือนจะดูดีขึ้น แต่ปัญหาเดิมที่กดทับยังแก้ไม่หาย?
ค่านิยม ทัศนคติ การปกครอง คุณภาพของข้าราชการ การคอร์รัปชั่นยังมากมายมหาศาล คิดในแง่ที่โหดร้ายสุด ถ้าเราไม่เข้มแข็งขึ้น ยังเป็นอย่างนี้แล้วทุนจีนเข้ามา ไทยจะเป็นฝุ่น ตามจีน จนไม่เหลือความเป็นตัวเอง กลายเป็นแรงงานเป็นอะไรไป ให้ทุนจีนที่เข้ามาสร้างทางรถไฟ สร้างผลผลิตมหาศาล ที่เข้าพร้อมจะทะลักเข้ามา
ถ้าพูดถึงเขาพร้อมที่จะซื้อประเทศไทย เหมือนกับลาว แล้วมันเป็นไปอัตโนมัติด้วย ด้านหนึ่ง คนจีนทางใต้ เขาก็นิยมชมชอบวัฒนธรรม ความสงบ เพราะถ้าจะขึ้นไปบนปักกิ่ง มันใช้ชีวิตยากต้องแข่งขันสูง เขาก็หันมาทางนี้
⦁ แม้แต่ ‘วัฒนธรรม’ ที่เป็น ‘หัวใจ’ ก็อาจจะไม่หลงเหลือ?
ไม่เหลือ หัวใจเราเต้นอย่างแผ่วเบา สำหรับผมคือ ต้องใช้งานวัฒนธรรมต่อไป ให้หัวใจเข้มแข็ง แก้ปัญหาปากท้องให้ได้ แล้วมาร่วมกันแก้ไข อย่างน้อยทำระบบข้าราชการให้มีคุณภาพ ไม่มีคอร์รัปชั่น แค่นี้ประเทศก็ดีขึ้นมากแล้ว
⦁ รู้สึกอย่างไรที่ได้รับรางวัล ‘บรรณาธรเกียรติยศ’ มองว่าเขาเห็นอะไรในตัวเรา?
ผมว่าเป็นรางวัลที่คนในวงการคนทำหนังสือให้กำลังใจกัน บางคนที่เป็นนักเขียนก็ได้ร่วมงาน ช่วยกันมาตั้งแต่ต้น เป็น 20-30 ปี ส่วนใหญ่ในวงการเขาก็มักจะสงสัยว่า ผมอยู่มาได้ยังไง (หัวเราะ) ในขณะที่หัวใหญ่ๆ ก็อยู่ไม่ได้ ผมบอกทุกคนว่า เล่มอื่นเขากำไรน้อยลงก็คงหยุด แต่ของผมทำหนังสือเพื่อ ‘เปลี่ยนแปลงสังคม’ และมีความสุขที่จะได้ทำมัน งบไม่มี ก็หาทางอื่นมาโปะ
หลังโควิดก็เคยคิดว่าจะหยุด แต่เราจะฟื้นไม่ได้นะเพราะมันขาดช่วง ยังดีมีโฆษณาตัวหนึ่ง พอได้ช่วยค่าพิมพ์บ้าง ก็เลยตัดสินใจยังทำอยู่ ในขณะที่ร้านค้า เอเยนต์ทยอยหยุด ส่วนใหญ่ต่างจังหวัดตอนนี้แทบจะไม่มีร้านหนังสือ ก็อาศัยสมาชิกที่มีอยู่ส่วนหนึ่ง แล้วขายตรง ในกรุงเทพฯ ก็วางที่จุฬาฯ,
คิโนะคูนิยะ, ริมขอบฟ้า ถือว่าเราได้มีพื้นที่ มีเวทีสำหรับทำงานที่รัก แล้วนักเขียนของเราก็เป็นอาสาสมัคร ทุกคนไม่รับค่าเรื่อง ทำด้วยแพชชั่นล้วนๆ
⦁ ทำไมถึงยังเข้มงวดในการเลือกเนื้อหา มากกว่าจะไปเขียนตามกระแสให้มันจะขายได้?
ผมบอกทุกคน เราก็ต้องการงานเขียนหลากหลายนะ แต่ที่เป็นหัวใจคือ ‘ถ้าไม่เขียนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ไม่จำเป็นต้องเขียน’ ถ้าจะพูดแรงๆ คือ ‘ถ้าไม่ขบถ อย่าเขียน’ ถ้าจะมาเขียนอวดดีตัวเอง มันเชยมาก ก็พยายามกระตุ้นนักเขียน คอลัมนิสต์ทุกคน เราเป็นเวทีพี่น้อง นักเขียนหน้าใหม่ๆ ส่งมาเราก็เปิดโอกาส ก็มีส่งมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะกวี
⦁ ทุกวันนี้เติมแรงใจในการทำงานให้ตัวเองอย่างไร?
หนึ่ง แทนคุณครูบาอาจารย์ที่สอนเรามา เมตตาให้เรามีสาระในทางสังคม สอง แทนคุณมิตรสหายที่ตายไปก่อนเรา (เสียงสั่นเครือ)
ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ทำแทนเขา บ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็เคยทำมาอย่างนี้ ที่ผ่านมาไม่ถือว่าเหนื่อย เขาตายแทนเราในสงคราม เราก็ต้องทำแทนเขา ช่วงหลังปี 2519 เราและเขาต่างก็เสียสละไปเยอะ รวมทั้ง
ผู้อาวุโสที่เขาถากถางทางมาก่อนเรา
⦁ ตอนนี้มองการก้าวต่อและจุดปลายทางเป็นอย่างไร?
ช่วงเดือนนี้กำลังเตรียมทำสื่อในหมู่มิตรสหาย ใช้ชื่อว่า สปท. ‘สำนักข่าวเสียงประชาชนประเทศไทย’ กำลังเตรียมงานกัน จะดีเดย์เดือนตุลาคมนี้ จะทำทุกแพลตฟอร์มเท่าที่ทำได้ เสนอข่าวสารเพื่อการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลง ตอนนี้กำลังทดลองอยู่ แต่ตุลาฯจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แล้วดูปฏิกิริยาผู้ฟัง ผู้อ่าน ว่าเราจะปรับยังไง มีทุกแขนง ศิลปวัฒนธรรรม บทความ ถือว่างานก็คงมากขึ้น แต่เป็นงานอาสานะ (หัวเราะ)
แล้วผมก็อยากอ่านเรื่องอยากอ่าน แต่ไม่มีเวลา ผมต้องได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์อีกเยอะ เพราะผมเริ่มต้นมาจากไม่ใช่นักอ่าน เพื่อไปขยายฐานรองรับผู้รู้ อย่างเราถ้าจะไปถามประวัติศาสตร์กับพี่สุจิตต์ ถ้าเราไม่รูอะไรเลย แกคงจะว่า ‘บ้า’ หรือว่าในงานวรรณกรรม นักเขียนใหม่ๆ เขาเขียนอะไรกัน เราควรจะได้อ่านมากขึ้น ตรงนี้ที่อยากทำ
ตอนนี้พออายุมากขึ้นมีปัญหาสุขภาพก็เริ่มจะทำงานช้าลง ก็หวังว่าจะยังไม่อัลไซเมอร์ อะไรๆ จะไม่เสื่อมเร็ว อยู่อย่างนี้ไปได้อย่างน้อยอีก 10 ปี