เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด จาก ‘เพลิงพระนาง’ ถึง ‘จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์’

อั้ม-พัชราภา ใน "เพลิงพระนาง" และพระนางศุภยาลัต

ศาลาริมน้ำ จักรพงษ์วิลล่า เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คับแคบไปถนัดตา

เมื่อสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ ร่วมกับสำนักพิมพ์มติชน จัดเสวนาหัวข้อที่เชื้อเชิญทั้งไทยและเทศเดินทางมุ่งสู่จักรพงษ์วิลล่า

“เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด จากราชันผู้พลัดแผ่นดินถึงจิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์”

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลหนังสือ “ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง”, “ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน” และ “จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์” ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์

Advertisement
บรรยากาศในห้องเสวนาเต็มจนล้นทุกที่นั่ง
บรรยากาศในห้องเสวนาเต็มจนล้นทุกที่นั่ง

เปิดประวัติศาสตร์ที่ปกปิด

สุภัตรา ภูมิประภาส บอกว่า นับตั้งแต่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในปี 1885 (พ.ศ.2428) ประวัติศาสตร์พม่าก็ถูกปกปิด เป็นเวลานานกว่า 100 ปี หนังสือเล่มแรกที่เปิดเผยเรื่องราวหลังจากนั้น คือ “ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง” (The King in Exile : The Fall of the Royal Family of Burma) เขียนโดย สุดาห์ ชาห์ แม้กระทั่งชาวพม่าเองจำนวนมากที่ทราบประวัติศาสตร์ตัวเองก็จากหนังสือเล่มนี้

ส่วน “ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน” (Thibaw’s Queen) แฮร์โรลด์ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ ถ่ายทอดจากปากคำของคนวงใน นางกำนัลที่ทำหน้าที่ถวายพระโอสถมวน ในพระราชวังมัณฑะเลย์ ตั้งแต่พระนางยังมีชีวิต แต่หนังสือเล่มนี้ไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ขณะที่ “จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ : ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา” (Finding George Orwell in Buirma เขียนโดยเอ็มม่า ลาร์คิน) เป็นเรื่องราวในพม่าหลังจากนั้น

เรื่องราวของพม่าในความรับรู้ที่อยู่ในสังคมไทยจะมาจากกระแสหลัก ที่เขียนโดยเจ้าอาณานิคม ส่วนใหญ่จากหนังสือ 2 เล่ม คือ “เที่ยวเมืองพม่า” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เมื่อครั้งเสด็จเยือนเมืองพม่าขณะอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และ “พม่าเสียเมือง” บทประพันธ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวถึงการล่มสลายของพม่าว่าสาเหตุมาจากราชวงศ์สุดท้ายในฐานะผู้ปกครองบ้านเมืองว่า มีความเขลาเบาปัญญา และความรับรู้ส่วนใหญ่จะจบเพียงแค่นั้น หลังจากที่พระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัต ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย ในปี 1885 แล้วก็แทบไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกงของบริษัททำไม้ในประเทศอังกฤษ เรื่องพม่าที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าไปสู่จีน และเจตจำนงที่อังกฤษต้องการจะยึดครองพม่า เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีการรับรู้กันเลย

พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิที่ถนนเจดีย์ชเวดากอง
พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิที่ถนนเจดีย์ชเวดากอง

ในละครเรื่อง “เพลิงพระนาง” จะพูดถึงพระนางศุภยาลัต เป็นราชินีโหดร้าย ก็ดัดแปลงมาจากหนังสือ 2 เล่ม คือ “พม่าเสียเมือง” และ “เที่ยวเมืองพม่า”

สุภัตราบอกอีกว่า บาทหลวง ดร.จอห์น มาร์คส์ เป็นครูสอนหนังสือในราชวงศ์มัณฑะเลย์ที่พระเจ้าธีบอเชิญมาสอนพระราชโอรสพระราชธิดา คือต้นเรื่องของประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นนี้ ตอนที่ท่านมาอยู่นั้น พระนางศุภยาลัตยังมีอายุเพียง 9 ขวบ ท่านบอกว่า เด็กคนนี้ใจร้าย เพราะเห็นตอนที่หักปีกหักขานก ซึ่งเป็นภาพจำของบาทหลวง โดยมีแม่ (พระนางซินผิ่วมะฉิ่น) คอยให้ท้าย

บาทหลวงมาร์คส์อยู่ที่มัณฑะเลย์ 7 ปี ก็มีเรื่องกับพระเจ้ามินดง จึงย้ายไปอยู่ร่างกุ้ง ตอนนั้นพระนางศุภยาลัตอายุได้ 16 ปี ซึ่ง 3 ปีต่อมาพระเจ้ามินดงก็สวรรคต พระเจ้าธีบอขึ้นครองราชย์แทน เมื่อมีเรื่องเล่าลือถึงการสังหารสมาชิกในราชวงศ์หลายพระองค์ บาทหลวงจึงบันทึกเรื่องราวนี้ด้วยความเชื่อว่าพระนางศุภยาลัตโหดร้าย ซึ่งเป็นต้นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่แพร่หลายในประวัติศาสตร์กระแสหลัก

“หนังสือพม่าเสียเมือง และเที่ยวเมืองพม่า สองเล่มนี้เขียนถึงวาระสุดท้ายของราชวงศ์คองบองดราม่ามาก และมีอิทธิพลอย่างมากต่อความรับรู้ของคนไทย ยิ่งโลกเข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ต เรื่องของพระนางศุภยาลัต ยิ่งเป็นเวอร์ชั่นของบาทหลวงมาร์คส์”

Thibaw’s Queen หรือ “ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน” ของ แฮร์โรลด์ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ เป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง แฮร์โรลด์ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ ใกล้ชิดกับพม่า และเป็นคนที่มองท้องถิ่นแบบเข้าใจมาก อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะเห็นว่า ข้อเสียมากๆ ของพระนางศุภยาลัตคือ ขี้หึงมาก จึงมีเรื่องกับขุนนางราชสำนักเนื่องจากขุนนางเหล่านี้ต้องการให้พระเจ้าธีบอมีลูกมากๆ

พระตำหนักที่รัตนคีรี ประเทศอินเดีย
พระตำหนักที่รัตนคีรี ประเทศอินเดีย

การเซ็นเซอร์สื่อ กับสุดยอดการข่าว

ทางด้าน ดร.ลลิตา หาญวงษ์ นำเสนอในมุมมองของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์อาณานิคม ประเด็นของการเซ็นเซอร์สื่อในพม่า ว่า

พม่าหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ มีรัฐบาล 2 ลักษณะ คือ รัฐบาลอูนุ และรัฐบาลของนายพลเนวิน

สมัยรัฐบาลอูนุเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่ดิฉันก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นประชาธิปไตย เพราะจนถึงวันนี้คำว่าประชาธิปไตยเราก็ยังตีความกันอยู่ รัฐบาลอูนุก็มองประชาธิปไตยในแบบหนึ่ง

ความที่มองว่าคนพม่ายังไม่พร้อม สมัยนั้นจึงมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่อ่านเอกสาร เป็นยุคที่บ้านเมืองไม่นิ่ง มีความวุ่นวายมาก กระนั้นก็มีหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียวที่ถูกสั่งปิด ในสมัยของรัฐบาลอูนุ

ขณะที่รัฐบาลเนวิน ซึ่งเข้ามาโดยการทำรัฐประหารนั้น ให้เสรีภาพกับสื่อมาก เพราะเนวินก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับสื่อ จึงปล่อยเสรีให้กับสื่อและคอยดูว่าจะมีสื่อไหนที่อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล ปรากฏว่ามีสื่อหลายสำนักที่ไม่ได้เลือกข้างรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เดอะ เนชั่น

ภายใต้รัฐบาลเนวินที่เป็นสังคมนิยม แต่เป็นสังคมนิยมที่ ดร.ลลิตาให้ทรรศนะว่า แปลกมาก เพราะเน้นให้ความเป็นอยู่ที่ดีของชนชั้นกรรมาชีพ มีการออกหนังสือพิมพ์ เวิร์คกิ้ง พีเพิลส์ เดลี่ แต่ไปๆ มาๆ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กลับเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลเนวิน เนื้อหาห่างไกลจากการเป็นกระบอกเสียงกรรมาชีพมากนัก

ปี 1862 รัฐบาลเนวินสั่งปิดหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เจ้าของหนังสือพิมพ์หลายแห่งต้องหนีออกนอกประเทศ หรือไม่ก็ต้องจำกัดขอบเขตของการนำเสนอเนื้อหา โดยรัฐบาลเนวินมีการตั้งพรรค “บีเอสพีพี” (Burma Socialist Programme Party) มีนโยบายต่อสื่อสิ่งพิมพ์เข้มข้นตามลำดับ ซึ่งแนวทางหนึ่งคือ ไม่ต้องการโปรโมตความหลากหลายใดๆ ในพม่า มีการขับคนอินเดียจำนวนมากออกจากพม่า ขับฝรั่งจำนวนมากออกจากพม่า ทั้งๆ ที่บางคนทำประโยชน์ต่อพม่าด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ยังมีการเกิดขึ้นของหน่วยงาน พีเอสบี (Press Scrutiny Board) ทำหน้าที่เซ็นเซอร์สื่อ จนกระทั่งปี 2012 จึงค่อยๆ ลดบทบาทลง

ภายใต้หน่วยงานนี้มีการออกกฎหมายกำหนดว่า ไม่ว่าจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ กวี นักเขียนการ์ตูน จะต้องไม่พูดจาใส่ร้ายป้ายสีต่อรัฐบาล ซึ่งคำว่า “ใส่ร้ายป้ายสี” ที่ว่าอยู่ภายใต้การพิจารณาของรัฐ ตัวอย่างเช่น การพิมพ์หนังสือใดๆ รวมทั้งที่เป็นพ็อคเก็ตบุ๊ก เมื่อพิมพ์แล้วเสร็จจะต้องส่งให้ตรวจ ถ้ารัฐไม่เห็นชอบ สามารถยกเลิกจะวางจำหน่ายได้ทันที หรือกรณีที่มีบางข้อความไม่ชอบ จะใช้ลิควิดป้ายข้อความนั้น หรืออาจจะฉีกทิ้งทั้งหน้าก็ได้

โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าปี 1988 ยิ่งมีการเซ็นเซอร์สื่อหนักมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันจึงมีคนทำวิจัยน้อย เพราะหาคนที่จะให้ข้อมูลได้น้อยมาก…ดร.ลลิตาบอก และว่า ทั้งนี้เป็นเพราะหน่วยสืบราชการลับของพม่าทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะที่ไทยเราจะสืบข้อมูลพม่า แต่เรายังไม่สามารถสื่อสารกับพม่าได้

“ปัจจุบันภายใต้ประชาธิปไตยแบบนี้ ยังมีการเซ็นเซอร์ แต่ไม่ได้มาจากรัฐบาล เพราะจะทำให้ชื่อเสียงแปดเปื้อน แม้กระทั่งด่อ ออง ซาน ซูจี ก็ไม่ค่อยจะพูดเพราะที่ปรึกษาแนะนำไม่ให้พูด

“บอกได้เลยว่า ในอีกไม่นานจะเกิดเหตุการณ์ยุ่งเหยิงในพม่า ด้วยนโยบายที่เซ็นเซอร์ตัวเอง เป็น Politics of Silence”

จะสังเกตว่ามีคำบางคำที่เราจะไม่ได้ยิน เช่น “โรฮีนจา” พม่าจะบอกว่าเป็น “เบงกาลี” แม้แต่หนังสือพิมพ์ปัจจุบันก็จะไม่พยายามพูดถึงด่อ ออง ซาน เพราะ 80% ของคนพม่ายังให้การสนับสนุนด่อ ออง ซานอยู่และพร้อมที่จะลุกขึ้นปกป้อง

ดร.ลลิตาบอกอีกว่า พูดถึงการเซ็นเซอร์สื่อในยุคก่อน สมัยที่อังกฤษยังปกครองอยู่ หนังสือพิมพ์เฟื่องฟูมาก หรือแม้แต่ในสมัยพระเจ้ามินดง ซึ่งถึงกับมีการออกพระราชบัญญัติให้เสรีภาพกับสื่อสามารถวิจารณ์กษัตริย์ได้ ถือเป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกๆ ของเอเชียที่ให้เสรีภาพสื่อในการแสดงออก

พระนางศุภยาลัตและพระเจ้าธีบอ
พระนางศุภยาลัตและพระเจ้าธีบอ

เบื้องหลังการเข้ามาของอังกฤษ

สมฤทธิ์ ลือชัย ตั้งข้อสังเกตถึงยุคพระราชินีนาถวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ว่า ในยุคนี้มีสตรี 2 นาง ที่ถูกย่ำยี คือ “พระนางซูสีไทเฮา” และ “พระนางศุภยาลัต”

เพราะจีนมีพระนางซูสีไทเฮา อังกฤษจึงเข้ามาปลดเปลื้องให้จีน เช่นเดียวกับพม่าที่มีพระนางศุภยาลัต

เราเชื่อว่าในเวอร์ชั่นนี้ เมื่อเราปลดผู้หญิง 2 คนนี้ลง เรายกย่องพระราชินีนาถวิคตอเรีย เราเชื่ออย่างนี้มานาน

สมฤทธิ์บอกว่า ในประวัติศาสตร์ก็มีแพะ และการสร้างแพะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก

ทำไมพระนางศุภยาลัตจึงทำลายพม่าได้?

หลังจากคลองสุเอซเปิดทำให้พื้นที่ถูกกระชับเข้ามา ฝรั่งเศสขยับเข้ามาทางด้านตะวันออก ขณะที่อังกฤษขยับมาทางด้านตะวันตก

พระเจ้ามินดงเป็นคนที่มีความคิดเป็นตะวันตกมาก เป็นกษัตริย์เอเชียองค์แรกที่ก้าวหน้ามาก แม้จะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ส่งคนไปเรียนทำแก้วที่ฝรั่งเศสแล้วกลับมาทำงานที่พม่า

เทียบกับกรณีของสยามเมื่อครั้งเผชิญกับลัทธิการล่าอาณานิคม สยามดึงอังกฤษเข้ามาคานอำนาจกับฝรั่งเศส แต่พม่าดึงฝรั่งเศสเข้ามาถ่วงดุลกับอังกฤษ

การสร้างเมืองหลวงของพระเจ้ามินดงนั้นก็เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ การย้ายอังวะขึ้นไปอมรปุระ และย้ายไปมัณฑะเลย์ นั้นเป็นการหนีอาณานิคม

ในปี 1885 (2428) หลังจากแตกหักกับบริษัท บอมเบย์เบอร์ม่า บริษัทสัมปทานทำไม้ในพม่าแล้ว จะเห็นว่าพม่ามีความพยายามเจรจาตลอด แต่เรามักมองว่า เหตุการณ์ในปี 1885 ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพระนางศุภยาลัต

“ไฟที่โหมไหม้พม่าจนเสียเมืองคือ พ่อค้าอังกฤษ โดยมีผลประโยชน์อังกฤษเป็นฟืน ส่วนเหตุการณ์ในพระราชวังเป็นกระแสลมที่โหมให้ไฟลุกขึ้น ต่อให้ไม่มีพระนางศุภยาลัต พม่าก็เสียเมือง”

เพราะช่วงที่มีปัญหากับบอมเบย์เบอร์ม่า พ่อค้าว่าให้ยึดพม่าตอนบนเพราะมันขวางการสำรวจ ซึ่งสุดท้ายก็ไปยึดฮานอย

ในปี 2426 เมื่อเวียดนามเป็นของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าธีบอส่งทูตไปฝรั่งเศสเพราะทราบว่าฝรั่งเศสกำลังพยายามขยายตัวขึ้นมาแล้ว

ฉะนั้น อาณานิคมเป็นตัวที่ทำให้พม่าเสียเมือง

อีกสาเหตุที่ทำให้พม่าเสียเมืองนั้น สมฤทธิ์ตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขุนนางที่ชื่อว่า “กินหงุ่น มินจี” ผู้นี้อยู่ในสมัยพระเจ้ามินดง และเป็นที่มาของการสังหารขุนนางจำนวนมาก

เป็นขุนนางสมัยพระเจ้ามินดง และเป็นทูตที่ไปเจรจากับฝรั่งเศส เป็นคนเดียวที่พระนางศุภยาลัตเกลียดมาก

ที่สำคัญคือ กินหงุ่นมินจี เป็นคนเดียวที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากอังกฤษ หลังจากพม่าเสียเมืองแล้ว

8

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image