ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ บุกเบิกเเหล่งเรียนรู้เรื่องยาง สร้างสรรค์-สร้างแรงบันดาลใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของสังคม แต่ที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์ถูกมองเป็นศูนย์รวมเรื่องราวในอดีต และสำหรับคนรุ่นใหม่อาจมองเป็นเรื่องน่าเบื่อเสียด้วยซ้ำ

จึงมีความพยายามที่จะปรับปรุงนำเสนอสิ่งใหม่เรื่องราวใหม่ รวมถึงความพยายามที่จะพลิกโฉม โดยเปลี่ยนวิธีนำเสนอให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

เหมือนกับ รับเบอร์แลนด์ (Rubber Land) ที่นำเสนอเรื่องราวของยางพาราในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ สอดแทรกความคิดสร้างสรรค์ และมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการนำเสนอเพื่อให้ “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต”

ถึงแม้จะเปิดได้ไม่นาน แต่รับเบอร์แลนด์ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก

Advertisement

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท พี.พี. สยามลาเท็กซ์ จำกัด หรือ รับเบอร์แลนด์ บอกว่ารับเบอร์แลนด์เปิดในช่วงเดือนเมษาที่ผ่านมา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 9 ถนนสุขุมวิท ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับยางพาราทั้งระบบ ต่อยอดถึงการแปรรูปที่ไม่ได้มีแค่ล้อรถ

โดยหวังว่าจะสามารถจุดประกายให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานจากยางพาราขึ้นในอนาคต

– จุดเริ่มต้นของรับเบอร์แลนด์?

จริงๆ รับเบอร์แลนด์เกิดขึ้นมานานเเล้วพอสมควรในต่างประเทศ แต่ในไทยยังเป็นเรื่องใหม่

Advertisement

สำหรับประเทศไทย เกิดจากเราเห็นช่องว่างการตลาดว่าลูกค้าชาวเกาหลีชอบหมอนยางพารา เลยมองว่าจริงๆ แล้วถ้าหมอนยางพาราของไทยมีศักยภาพก็น่าจะเปิดตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าได้ เลยเกิดแนวคิดเปิดรับเบอร์แลนด์ขึ้น เเละขายหมอนยางพาราให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทย มีหมอนยางพารา ที่นอนยางพารา โดยเราใช้น้ำยางพาราจากประเทศไทยซึ่งเป็นน้ำยางข้น 100 เปอร์เซ็นต์ ผลตอบรับจากกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศค่อนข้างดี โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนชอบหมอนยางพารามากกว่าลูกค้ากลุ่มเเรกอย่างเกาหลีด้วยซ้ำ

พอขายได้ช่วงหนึ่ง เริ่มมองเห็นว่าเราน่าจะให้ความรู้กับลูกค้าที่มาซื้อ ก็คิดกันว่าจะใช้วิธีการง่ายๆ อย่างไร ที่ทำให้เขารู้ถึงกรรมวิธีการผลิตยาง

พาราตั้งเเต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เลยเกิดพิพิธภัณฑ์ยางพาราขึ้นมาเป็นอินเตอร์เเอ๊กทีฟมิวเซียมยางพาราแห่งเเรกของเอเชีย

เเต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พิพิธภัณฑ์ยางพาราหรือรับเบอร์มิวเซียมมีมาก่อนแล้ว อย่างในมาเลเซียมีในลักษณะมิวเซียมดั้งเดิม เป็นพิพิธภัณฑ์แบบนิ่งๆ แต่ของไทยทำเป็นระบบสื่อผสม สามารถโต้ตอบกับผู้มาเยี่ยมชมได้ ช่วยให้เรียนรู้เเละเข้าใจได้ง่าย

– เลือกสถานที่อย่างไร?

ความจริงเเล้วพิพิธภัณฑ์ยางพารามันควรจะต้องอยู่ตามแหล่งที่มียางพารา เเต่เนื่องจากยางพาราเป็นอะไรที่คนให้ความสนใจยาก ให้ความสำคัญน้อย ฉะนั้นเราจึงเลือกสถานที่ที่เป็นเเหล่งท่องเที่ยวอย่างพัทยา ซึ่งเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยเเละต่างประเทศ การเดินทางก็ค่อนข้างสะดวก ห่างจากกรุงเทพฯไม่มาก เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีในการจะสร้างอะไรต่างๆ เเต่สมมุติเราไปอยู่ภาคใต้หรืออีสานที่มีการปลูกยางพารา การทำให้เป็นจุดสนใจหรือให้คนมาเยี่ยมชมจะยากกว่า

– เนื้อหาในพิพิธภัณฑ์ยางพารา?

เราปูพื้นตั้งเเต่เรื่องเเหล่งปลูกยางพาราที่เหมาะสมเป็นอย่างไร อยู่ในพื้นที่แบบไหน การกรีดยางพาราควรกรีดในช่วงที่อุณหภูมิเท่าไหร่ เวลาไหนจึงได้น้ำยางที่มีคุณภาพ ไปจนถึงเรื่องการเก็บน้ำยางและการทำเป็นน้ำยางข้น ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน ทุกประเภทที่เมืองไทยทำได้ จนกระบวนการขั้นสุดท้ายเป็นสินค้าประเภทต่างๆ ตั้งเเต่ยางรถยนต์ เครื่องมือทางการเเพทย์ เสื่อโยคะ จุกนมเด็ก หรืออะไรต่างๆ ที่คนเราไม่คาดคิด เป็นต้น

โซนสุดท้ายของรับเบอร์เเลนด์ เรียกว่ารับเบอร์เเฟนตาซี จำลองโลกของยางขึ้นมาให้เด็ก หรือผู้สนใจได้เรียนรู้ว่ายางพาราเป็นได้ตั้งหลายอย่าง

– เอกลักษณ์ หรือลักษณะเด่นของรับเบอร์เเลนด์?

รับเบอร์แลนด์เป็นเรื่องของยางพารา เจอกับความคิดสร้างสรรค์ เกิดเป็นสิ่งใหม่ นี่เป็นสิ่งที่รับเบอร์เเลนด์กำลังพยายามจะสื่อ ถ้าเกิดว่าคุณมีจินตนาการหรือมีความคิดสร้างสรรค์แล้วมาเจอกับยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สามารถแปรรูปได้หลายเเบบ มันสามารถเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้

003

– หาข้อมูลเรื่องยางพารามาบรรจุอย่างไร?

จริงๆ เก็บข้อมูลทุกส่วน ตั้งเเต่ข้อมูลเพื่อมาทำมิวเซียม ข้อมูลเพื่อตรวจสอบว่าจะทำยังไงให้ถูกต้อง การทำให้ข้อมูลน่าอ่าน ซึ่งใช้เวลาเกือบ 2 ปี ระดมสมองหลายสิบคน ก่อนจะเปิดให้บริการ ยังมีการอบรมพนักงานผู้ให้คำบรรยายต้องมีการอบรมเรื่องความเข้าใจพื้นฐานของยางพารา

รับเบอร์เเลนด์อาจจะไม่ใช่แหล่งเรียนรู้ที่ครบวงจรในเชิงลึกทางวิชาการ แต่เป็นศูนย์รวมยางพาราบวกกับเเรงบันดาลใจ ให้คนเข้าไปค้นคว้าต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ต่อไป ซึ่งจริงๆ จุดประสงค์หลักของรับเบอร์เเลนด์ คือต้องการจะจุดประกายให้กับนักออกแบบ นักประดิษฐ์ ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ไทยได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ของยางพารา เพื่อให้มีผลิตผลที่เป็นลิขสิทธิ์ของคนไทยอย่างเเท้จริง เนื่องจากยางพาราของไทยเป็นยางพาราที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก เเต่เรายังขาดนักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ที่สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเเละขายได้ในราคาสูงขึ้น

เรามองว่าตอนนี้คนไทยผลิตยางที่เป็นวัตถุดิบ หรือระดับต้นน้ำ เเล้วส่งออกไปต่างประเทศที่เขามีนวัตกรรม มีการเเปรรูป แล้วกลับเข้ามาขายในประเทศไทยในราคาที่แพง

รับเบอร์เเลนด์จึงเกิดขึ้นเพื่อลูกฝังเด็กและเยาวชน นักวิทยาศาสตร์เเละนักออกแบบไทยได้มองเห็นเรื่องเหล่านี้ เเล้วจุดประกายให้เขาคิดขึ้นมาว่าจริงๆ เเล้วยางพาราเป็นได้มากกว่า ล้อรถยนต์ สามารถเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายได้อีก เรากำลังรอช้างเผือกตรงนี้อยู่

– ผลตอบรับ?

ค่อนข้างดีครับ คนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของเราเเล้วเกิดความประทับใจ ว่าจริงๆ เเล้วยางพาราสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง พอดูเสร็จเเล้วเขามีความเข้าใจเลยว่าทำไมหมอนยางพารา หรือที่นอนยางพาราถึงมีราคาเเพง

อย่างหมอนยางพารา 1 ใบ ใช้ยางพาราจากหลายต้นกว่าจะผลิตออกมาได้ ต้องผ่านกระบวนการอีกตั้งเยอะ นี่เป็นสิ่งที่กลุ่มผู้ผลิตอยากสื่อสารกับผู้บริโภค เเล้วกลุ่มลูกค้าก็มีความสบายใจที่จะซื้อเพราะเขาเข้าใจกรรมวิธีการผลิตเเละการเก็บยางพารามากขึ้น นักท่องเที่ยวชาวจีนก็ซื้อมากขึ้น ขณะที่คนไทยมาดูพิพิธภัณฑ์เเล้วอยากซื้อหมอนยางพารากลับไป มันเป็นวิธีการให้ความรู้พ่วงการขาย มองว่าในอีกราว 1-2 ปีจะสร้างรับเบอร์เเลนด์ 2 ขึ้น น่าจะมีขนาดใหญ่ขึ้น จะทำเป็นสวนยางพารา ทำเป็นโรงงานแปรรูปให้เห็น

สำหรับตอนนี้ค่อนข้างพอใจนะ เเต่คิดว่าจะต้องเพิ่มมากขึ้นอีกโดยเฉพาะในเรื่องของกลุ่มอุดมศึกษาที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ก็คิดว่าจะต้องเพิ่มเรื่องของการสื่อสารให้มากขึ้น ยังมีเรื่องของเนื้อหาที่ตอนนี้จะเพิ่มในเรื่องการปรับข้อมูลให้ถูกต้องตามวิชาการให้มากขึ้น

– การมีพิพิธภัณฑ์ยางพารามีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร?

ผมว่าเรายกระดับภาพลักษณ์ของยางพาราไทยในเเง่มหภาค มองว่าคนเห็นคุณค่าเเละความสำคัญของยางพารามากขึ้น ทำให้คนหันมามองพืชเศรษฐกิจตัวนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจของคนใช้ยางพาราเเละยกระดับความเข้าใจในภาพรวมมากขึ้น

– รับเบอร์เเลนด์จัดพิพิธภัณฑ์สัญจรด้วย?

ความจริงรับเบอร์เเลนด์สัญจรที่จังหวัดบึงกาฬ ในงานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2560 เป็นการสัญจรครั้งเเรก ที่เรานำพิพิธภัณฑ์สัญจรมาจัดเเสดง

การสัญจรจะมีความยากตรงที่เราดึงส่วนประกอบของมิวเซียมได้ไม่หมด เนื่องจากพื้นที่เเละงบประมาณในการทำมีจำกัด ทำให้เราต้องดึงเฉพาะส่วนสำคัญเท่านั้น อย่างครั้งนี้ดึงในเรื่องของเเรงบันดาลใจของยางพาราออกมา ในส่วนที่ 1.ประติมากรรมยางพารายักษ์ ถ้าเดินเข้าไปส่วนประติมากรรมด้านบนจะเห็นเป็นท่อเเล้วมีน้ำยางไหลลงมา จากนั้นจะเป็นสิ่งต่างๆ ซึ่งทำจากยางพารา อาทิ เก้าอี้ ลูกบอล แผ่นปูรองพื้น รองเท้า กระเป๋า และหมอน ทำให้คนเข้ามาเเล้วเห็นว่ายางพาราทำอะไรได้บ้าง ส่วนที่ 2.จะเป็นวีดิทัศน์ ที่นำเสนอถึงการใช้ชิ้นส่วนจากยางพาราจนประกอบเป็นรถยนต์ 1 คัน เพื่อให้เห็นว่าในรถยนต์ยางพาราไม่ได้ทำเเค่ล้ออย่างเดียว ในส่วนที่ 3.ลานกิจกรรมดีไอวาย เป็นกิจกรรมเวิร์กช็อปให้เด็กมาใช้ความคิดสร้างสรรค์จากยางวงเล็กๆ เป็นเครื่องประดับ เป็นต้น

– มองการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬเป็นอย่างไร?

ดีครับ เพราะตรงนี้เป็นแหล่งปลูกยางพาราอยู่เเล้ว เเละคนที่มาที่นี่ส่วนใหญ่ก็มีความรู้เรื่องยางพารา แต่เขาอาจจะยังไม่รู้ว่ายางพาราตรงปลายน้ำ มันสามารถแปรรูปไปได้อีกเยอะ เเล้วความต้องการของโลกเรื่องยางพาราก็ยังมีอีกเยอะ ผมคิดว่าคนที่มางานนี้จะได้รับความรู้ครบถ้วนตั้งเเต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

002

– มีโอกาสที่รับเบอร์เเลนด์จะสัญจรมาที่บึงกาฬอีกหรือเปล่า?

ก็มีโอกาสนะครับ เเต่คงต้องดูว่าเราเองมีอะไรใหม่ๆ มาหรือเปล่า เพราะถ้ามาเเล้วซ้ำเเบบเดิมก็อาจจะไม่มา

– ทำงานเกี่ยวกับยางพารามาคิดว่าเรื่องไหนยากที่สุด?

เรื่องความเข้าใจผิด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว เพราะว่าที่ผ่านมามันมียางพาราปลอม หรือผลิตภัณฑ์ยางจากต่างประเทศที่เข้ามาเเล้วไม่ใช่ยางพารา 100 เปอร์เซ็นต์ มาแฝงขายแล้วบอกว่าเป็นของประเทศไทย ทำให้เราต้องต่อสู้กับของเหล่านี้ ต้องกู้ความเข้าใจกลับคืนมา

ขณะนี้เรื่องผลิตภัณฑ์ยางที่เข้ามาแบบนี้ก็ดีขึ้นเเล้ว เนื่องจากทางรัฐบาล คสช.มีการกวาดล้างเรื่องของผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่มาเเฝงหาผลประโยชน์ตรงนี้ ก็กวาดล้างไปมากพอสมควรก็ทำให้ปัญหาดีขึ้น ตัวเราเองก็พยายามหาข้อมูลต่างๆ มายืนยันว่าเราเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพดี

– กลุ่มลูกค้าของรับเบอร์เเลนด์ขณะนี้?

ทุกกลุ่มครับ เเต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้ประเทศจีนให้ความสำคัญกับยางพารามาก คนจีนเลยเป็นอันดับ 1 ที่เข้าเยี่ยมชม เเล้วเขายังนิยมใช้หมอนยางพารามากอีกด้วย เนื่องจากเทรนด์ของคนจีนในขณะนี้เขารักสุขภาพ พยายามใช้สินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเขาก็จะชอบมากเเละซื้อมาใช้

สำหรับคนไทยก็เริ่มนิยมใช้หมอนยางพารามาก แต่ยังไม่นิยมมากเท่ากับประเทศจีน

– ปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวเรื่องนี้มากเเค่ไหน?

ยังน้อยอยู่ครับ อย่างเด็กไทยถ้าให้คิดเรื่องของงานสิ่งประดิษย์ เขาจะคิดในเรื่องส่วนอื่นเเทน คือยางพาราจะไม่อยู่ในหัวเขาเลย รับเบอร์เเลนด์ก็กำลังพยายามทำเเคมเปญดีไซน์คอนเทสต์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอนาคต เพื่อให้เยาวชนในระดับอุดมศึกษาได้เข้ามาเเข่งขันมาร่วมสร้างสรรค์กันว่ายางพาราจะประดิษฐ์อะไรได้บ้าง

แต่ในส่วนของเกษตรกรชาวสวนยางผมมองว่ามีความตื่นตัวมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนชาวส่วนเกือบทั้งหมด ทำเเค่กรีดยางแล้วขาย เเต่วันนี้ผมเริ่มเห็นเกษตรกรในมุมชุมชนต่างๆ เริ่มที่จะกรีดเเล้วผลิตเอง ซึ่งผมเชื่อว่าวันหนึ่งจะมีผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่เกิดจากชาวสวนมาขายในราคาที่ไม่เเพงมากเเต่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

– ส่วนตัวคิดอย่างไรกับยางพารา?

คือผมมองว่ายางพาราเป็นวัตถุดิบที่ไม่มีวันหมดไปจากโลกตราบใดที่ยังมีดิน มีน้ำ มีเเสงแดด ยางพาราก็สามารถให้ผลผลิตกับมนุษย์ได้ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ เหมือนกับพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานน้ำซึ่งมันเป็นทรัพยากรที่ใช้ไม่รู้จบ ผมมองว่าน้ำมันวันหนึ่งยังหมดเเต่ยางพาราเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นทรัพย์สินของคนไทยที่สามารถให้ประโยชน์กับคนในชาติต่อไปเรื่อยๆ

– ความคาดหวังในอนาคต?

เราหวังไว้ไกลมากถึงขนาดที่เราอยากจะมองหาช้างเผือก หาคนที่จะมาพลิกประวัติศาสตร์ของยางพาราไทยเพราะวันนี้เราผลิตเเต่ยางดิบ ยางเเผ่นรมควัน หรือยางเเท่ง เเต่เราอยากจะเห็นเด็กไทย นักวิทยาศาสตร์ไทย หรือนักประดิษฐ์ไทย ผลิตสิ่งต่างๆ ออกมาจากยางพารา อาจจะเป็นส่วนประกอบของตึกหรืออุปกรณ์ก่อสร้างที่เกี่ยวกับยางพาราก็ได้

เราอยากเห็นตรงนั้นมาก

“ศิลปะและการวาดภาพ”

เทคนิคความสำเร็จในสายการตลาด

“ตั้งเเต่เด็กผมเป็นคนที่ชอบคิดอะไรเป็นภาพ ชอบจินตนาการเเละชอบวาดรูป ได้คะเเนนศิลปะค่อนข้างดี” ฐวัฒน์ เล่าย้อนถึงความชอบตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน

กระทั่งเป็นนักศึกษาก็เลือกเรียนสถาปัตย์ ซึ่งต้องใช้ศิลปะพอสมควร ก่อนจะเลือกเรียนการตลาดต่อในระดับปริญญาโท

“ผมเลือกเรียนการตลาด แต่ก็ยังเอาความเข้าใจของเราในเรื่องศิลปะมาใช้ เวลาทำงานจะจินตนาการเป็นภาพประกอบกับแผนธุรกิจทำให้งานมีความชัดเจนมากขึ้น ก่อนจะทำก็เห็นตอนจบเเล้วว่าจะเป็นแบบไหน งานจะออกมาเป็นอย่างไรประกอบไปด้วยสีอะไร สิ่งไหนจะอยู่ในองค์ประกอบนั้น เผื่อทำแผนให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดเป็นภาพ” เป็นเทคนิคส่วนตัวที่ฐวัฒน์นำมาใช้จนประสบความสำเร็จมาเเล้วหลายงาน

นอกจากศิลปะเเล้วเรื่องความคิดก็เป็นสิ่งสำคัญ ฐวัฒน์บอกว่าเวลาทำงานสิ่งสำคัญคือจะไม่ปิดกั้นความคิดของตัวเอง รวมถึงความคิดของคนในทีม จะบอกทุกคนเสมอว่าเราจะต้องมีทัศนคติว่าเราสามารถทำได้นะ เเล้วทุกอย่างจะประสบความสำเร็จ รวมถึงเรื่องยางพาราด้วย

“อย่างตอนมาเริ่มทำเรื่องยางพารา ก่อนหน้านั้นไม่ได้สัมผัสเรื่องนี้มาก่อน ดังนั้น การให้ความสำคัญกับยางพาราก็คงเหมือนคนทั่วไปที่ไม่ค่อยสนใจมากนัก แต่พอลองมาทำดูแล้ว ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการก่อตั้งรับเบอร์เเลนด์ ตั้งเเต่การวางคอนเซ็ปต์เเต่ละโซนว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจ ทำให้รู้ว่าจริงๆ เเล้วยางพารามีความน่าสนใจ มันสามารถเป็นอะไรได้มากกว่าที่เราคิด”

“จึงเริ่มสนใจตั้งเเต่นั้นเป็นต้นมา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image