แท็งก์ความคิด : เส้นทางตลาดหุ้น

เส้นทางตลาดหุ้น

เมื่อต้นปีนักลงทุนในตลาดทุนต่างท้อแท้ ใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตกฮวบ

เพิ่งมาช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่้ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยพุ่งทะยานขึ้นติดต่อกันหลายวัน

จากต่ำกว่า 1,300 จุด พุ่งขึ้นเหนือ 1,360 จุด เรียกขวัญและกำลังใจให้บรรดานักลงทุนได้บ้าง

Advertisement

เชื่อว่าประสบการณ์ 50 ปีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยน่าจะมีหนทางขับเคลื่อนให้เติบโต

เพราะนับตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดทำการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ

Advertisement

หนังสือ 5 Decades of SET The Pillar of Growth & Sustainability ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯทำขึ้นได้ฉายภาพชัด

ตั้งแต่ 30 เมษายน 2518 เริ่มเปิดซื้อขายวันแรก ผ่านไปถึงปี 2522 เกิดวิกฤตราชาเงินทุน

แต่เมื่อผ่านพ้นจากมรสุมก็เข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลในปี 2527

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ จากช่วงแรกๆ 200-300 จุด ไต่ระดับเป็น 400 จุด 800 จุด 1,000 จุดขึ้นไปเรื่อยๆ

มูลค่าการซื้อขายจาก 2 พันล้าน ไต่ระดับเป็น 4 พันล้าน 6 พันล้าน 8 พันล้าน

จนถึงปี 2537 วันที่ 4 มกราคม มูลค่าการซื้อขายพุ่งสูงกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท

ดัชนีพุ่งทะยานถึงระดับ 1,753.73 จุด

แล้วหลังจากนั้นดัชนีเริ่มลดต่ำ โดยเฉพาะปี 2540 ที่เผชิญหน้าวิกฤตต้มยำกุ้ง

แต่เมื่อพ้นวิกฤตไปได้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นอีกครั้ง

วันที่ 24 มกราคม 2561 ดัชนีแตะ 1,838.96 จุด สูงกว่าเมื่อปี 2537 เสียอีก

หลังจากนั้นดัชนีก็ลดลง และลดหนักเมื่อปี 2562 ก่อนจะเงยหัวขึ้นมา

ปี 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีดัชนีอยู่ที่ประมาณ 1,400 จุด ก่อนจะลดลงมาอยู่ 1,300 จุดกว่าๆ ในขณะนี้

แลดูจากไทม์ไลน์และจังหวะก้าวของตลาดหลักทรัพย์แล้วเห็นชัดว่า มีทั้งขึ้น มีทั้งลง

ประเด็นคือ จะทำอย่างไรให้ตลาดทุนของไทยเติบโตขึ้น

เรื่องนี้หนังสือ 5 Decades of SET The Pillar of Growth & Sustainability ได้สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องหลากหลาย

แต่ละคนมีคำชี้แนะที่น่าสนใจ

หนึ่งในนั้น คือ นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายพิชัย เป็นประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 18

ตอนหนึ่งในบทสัมภาษณ์ นายพิชัยแสดงความเห็นว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องให้ความสำคัญกับสินค้าที่หลากหลาย เครื่องมือที่ทันสมัย ส่งเสริมการสร้างความเชื่อมั่น รวมไปถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุน

แม้ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีบริษัทจดทะเบียนอยู่ 800 กว่าบริษัท แต่คนรู้จักจริงๆ เพียง 100 แห่ง เพราะดัชนีโดดเด่น

ส่วนบริษัทที่เหลือนักลงทุนอาจไม่มีความคุ้นเคย เนื่องจากไม่ค่อยมีข่าว

ในบรรดาบริษัทเหล่านั้น มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเอสเอ็มอี

ดังนั้น ควรจะดูแลบริษัทเหล่านี้ให้ดี เพราะเชื่อว่า ในบริษัทที่เหลือกว่า 600 แห่ง ต้องมีบริษัทที่มีศักยภาพ แต่ปัญหาคือ “เขาอยู่คนเดียวและมีขนาดเล็กเกินไป ไม่มีข้อมูลเพียงพอ ทำให้ไม่รู้ว่าอาจมีอีกบริษัทหนึ่งที่สามารถทำธุรกิจร่วมกันได้”

ทางแก้ที่นายพิชัยเสนอ คือ การใช้ฐานข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เป็นประโยชน์

ทำอย่างไรให้นักลงทุนเดินผ่านแล้วต้องเหลียวกลับมาดู

เหมือนการทำให้นักช้อปที่เดินห้างสรรพสินค้าแล้วซื้อของติดไม้ติดมือกลับบ้าน

ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีเครื่องมือใหม่ๆ เช่น High Frequency Trading ต้องเปิดโอกาสให้นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยได้ใช้อย่างทั่วถึง ในราคาที่เข้าถึงได้

นายพิชัยเสนอแนะให้ช่วยคนที่ไม่เก่งให้เก่งขึ้นด้วยข้อมูล และต้องสร้าง Trust และ Confidence คือ ความเชื่อมั่นให้ได้

สำหรับแนวทางส่งเสริมการเติบโต ต้องมีการทบทวนและเปลี่ยนแปลงตามโลก

ต้องสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่อยู่ต้นน้ำ โดยระหว่างที่สร้างเทคโนโลยีเหล่านั้น ให้อัพเกรดสินค้าที่มีอยู่ด้วยการดึง S-curve เล็กๆ ขึ้นมา ทดแทนช่วงเวลาที่ยังไม่มีสินค้าใหม่

ต้องให้สินค้าเหล่านั้นยืนอยู่ได้ 15 ปี

เพราะการสร้างเทคโนโลยีใหม่ต้นน้ำขึ้นมาได้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 ปีขึ้นไป

ส่วนสินค้าที่สร้างได้เร็วสำหรับไทย คือ ภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ นายพิชัยยังมองเห็นจุดเด่นของไทยในด้านภูมิรัฐศาสตร์

ไทยอยู่ในภูมิภาคที่แวดล้อมด้วยคน 700 ล้านคนใน CLMVT และอยู่ในภูมิภาคที่มีความเจริญสูงสุด คือ เอเชีย

สินค้าไม่จำเป็นต้องอยู่ในไทย แต่ขอให้ผ่านไทย ล่องลงใต้ไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ หรือเลี้ยวออกไปทางทะเลอันดามันก็ได้

ส่วนการผลิตสินค้าก็ขอให้เลือก Scetor ที่ไม่ซ้ำจีน หรือเป็น Sector ที่ส่งเสริมเกื้อหนุนกัน หรือต้องปรับประเทศให้รู้จักกลไกการค้าขายมากขึ้น เป็น Trading Nation ซื้อมาขายไป หรือให้สินค้าผ่านแบบเก็บค่าผ่านทาง

ขณะที่ธุรกิจใหม่ที่ไทยต้องดำเนินการ ต้องเคลื่อนไปทาง Digital Platform ให้มากขึ้น

ทั้งนี้นายพิชัยคาดหวังกับตลาดคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้นายพิชัยยังมีไอเดียอื่นๆ โดยเฉพาะเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จำเป็นต้องทบทวนยุทธศาสตร์

ต้องผลักดันวาระสำคัญร่วมกับภาครัฐ เพื่อพัฒนาแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

นี่แค่ไอเดียเดียว เป็นไอเดียของนายพิชัย

เชื่อว่านอกจากไอเดียของนายพิชัยแล้วยังมีไอเดียดีๆ จากคนอื่นๆ อีก

ไอเดียต่างๆ เหล่านี้ หากหยิบยกขึ้นมาแล้วผลักดันให้ก่อเกิดเป็นรูปธรรมได้

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีโอกาสเติบโตแบบยั่งยืนตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image