ล่องนาวาเจ็ดสมุทร ภูมิทัศน์เอเชียอาคเนย์ ในเอกสารอาหรับ-เปอร์เซียศตวรรษที่ 9-14

ล่องนาวาเจ็ดสมุทร
ภูมิทัศน์เอเชียอาคเนย์
ในเอกสารอาหรับเปอร์เซียศตวรรษที่ 9-14

ปรับใหม่จากคำนิยมของ
สุเนตร ชุตินธรานนท์

ล่องนาวาเจ็ดสมุทร: ภูมิทัศน์เอเชียอาคเนย์ในเอกสารอาหรับเปอร์เซียศตวรรษที่ 9-14” นับเป็นงานค้นคว้าทางวิชาการที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการ “ฟื้นอดีต” ของอุษาคเนย์ หรือเอเชียอาคเนย์ยุคโบราณ ก่อนการปะทะสังสรรค์กับโลกยุโรปตะวันตกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองบทใหญ่

บทแรก ว่าด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับการค้าทางทะเลของชาวอาหรับเปอร์เซีย นับว่าเป็นกรุข้อมูลที่ทรงคุณค่า แต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

Advertisement

บทที่สอง เป็นบทที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นกุญแจไขสู่โลกโบราณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหลากมิติ เป็นบทแปลภาษาไทยของเอกสารอาหรับเปอร์เซียที่อ้างถึงโลกอุษาคเนย์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ถึงศตวรรษที่ 14

ภาคผนวก ประกอบด้วยกาลานุกรมเอกสารอาหรับเปอร์เซียที่อ้างถึงเอเชียอาคเนย์ในศตวรรษที่ 9-14 อภิธานศัพท์ และดัชนีค้นคำ เป็นประโยชน์ยิ่งต่อการเพิ่มความชัดเจนและสืบค้นสาระที่ปรากฏอยู่ในสองบทใหญ่ของหนังสือ คู่ขนานไปกับการเติมเต็มความรู้ความเข้าใจที่ผู้อ่านสามารถนำไปศึกษาค้นคว้าต่อยอด

Advertisement

ล่องนาวาเจ็ดสมุทร” จะเปิดมิติความรู้ความเข้าใจของผู้อ่านว่าด้วยภูมิภาคอุษาคเนย์ยุคโบราณ แต่เมื่อได้เริ่มอ่านจากบทที่หนึ่ง ก็ตระหนักในเรื่องเครือข่ายความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่ภูมิภาคอุษาคเนย์มีกับโลกตะวันตก ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าเอกสารอาหรับเปอร์เซียได้ถูกบันทึกโดยพ่อค้า นักเดินทาง และผู้รู้ ที่เติบโตคุ้นชิน และยึดโยงตัวเองกับ “โลกอาหรับเปอร์เซีย” ลีลาหรือกระบวนการเล่าเรื่องจึงร้อยรัดโลกอาหรับ มหาสมุทรอินเดีย ทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล คาบสมุทรมลายู ทะเลชวา ทะเลจีนใต้ และจีนแผ่นดินใหญ่ให้เป็นเนื้อเดียวกัน

แผ่นน้ำไม่ได้แบ่งแยกแต่เชื่อมโยงอุษาคเนย์เข้ากับพาณิชยกรรมในทะเลแดง คาบสมุทรอาระเบีย อันเป็นจุดเชื่อมและประตูที่เปิดไปสู่ลุ่มน้ำไทกริสยูเฟรตีส ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอียิปต์ ทั้งสินค้า ผู้คน และวัฒนธรรม เลื่อนไหลไปมาผ่านสถานีการค้า เมืองท่า หมู่เกาะอันหลากหลาย

ยิ่งอ่านก็ยิ่งเห็นตัวตนของอุษาคเนย์ที่ยึดโยงกับโลกโพ้นทะเลอย่างแยกกันไม่ขาด ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงระหว่างบรรทัด ที่อธิบายบูรณาการของภูมิภาคอุษาคเนย์ที่พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมืองและแอ่งอารยธรรมโลกในยุคที่สุนิติศึกษา

เป็นธรรมดาของการบันทึกที่ผู้บันทึกจะต้องตีแผ่ประสบการณ์เฉพาะเส้นทางที่ประกอบธุรกรรม

พ่อค้าอาหรับเปอร์เซียที่เดินทะเลจึงบันทึกแต่ภาคส่วนของอุษาคเนย์ที่เส้นทางเดินเรือของตนตัดผ่าน ภาพอดีตของอุษาคเนย์ที่ถูกพลิกฟื้นในเอกสารอาหรับเปอร์เซียจึงเกี่ยวพันกับช่องแคบ หมู่เกาะ และบ้านเมืองที่เส้นทางเดินเรือตัดผ่านนั่นเอง อาทิ อ่าวเบงกอล ศรีวิชัย จามปา ฮานอย และเชื่อมขึ้นไปถึงภาคใต้ของแผ่นดินใหญ่จีน แต่ก็เพียงพอกับการขยายโลกทัศน์ของผู้อ่านที่สนใจอุษาคเนย์โบราณ

ในทางกลับกัน บันทึกของนักเดินเรือชาวอาหรับจะเล่าถึงพื้นที่นอกภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยึดโยงกับเส้นทางการเดินเรือจากทะเลแดงถึงทะเลจีนใต้ สะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ที่อุษาคเนย์มีต่อโลกสากล

หนังสือ “ล่องนาวาเจ็ดสมุทร” นับเป็นขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์ หากแต่ผู้อ่านต้องอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์และค้นคว้าเพิ่มเติม สุนิติได้เลือกแปลงานจากเอกสารอาหรับที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับอุษาคเนย์ โดยแบ่งงานแปลของเป็นหัวเรื่องตามชื่อและประเภทเอกสาร การจะศึกษาเพื่อยังประโยชน์ ผู้อ่านจึงต้องทราบถึงลักษณะของเอกสารแต่ละประเภท เพราะเอกสารแต่ละชิ้นที่ได้รับการแปลจะมีสาระที่เฉพาะเจาะจง

ภูมิภาคอุษาคเนย์ในการรับรู้ของคนเรือโพ้นทะเลคือดินแดนแห่งความมั่งคั่ง อาทิ หลักฐานจากอินเดีย มีคำเรียกภาษาสันสกฤตเรียกดินแดนนี้ว่า “สุวรรณภูมิ” และ “สุวรรณทวีป” เป็นที่น่าสังเกตว่าเอกสารอาหรับเองก็มีคำเฉพาะในความหมายเดียวกัน คือ บิลาด อัษษะฮับ (Bilād adh-Dhahab) มีความหมายว่า “แดนทอง” อุษาคเนย์ในการรับรู้ของชาวอาหรับเปอร์เซียจึงไม่แตกต่างจากอุษาคเนย์ในการรับรู้ของอินดีย จึงมิใช่เรื่องแปลกที่คำว่าแดนทองจะมีปรากฏอยู่บ่อยครั้งในเอกสารอาหรับ อาทิ ตำราเรื่องมหัศจรรย์แห่งอินเดีย

นอกจากนี้ เอกสารหลายชิ้นของอาหรับเปอร์เซียได้กล่าวถึงความมั่งคั่งของอาณจักรในอุษาคเนย์อย่างเป็นรูปธรรมด้วยการจำแนกถึงความหลากหลายของสินค้าสูงค่า อาทิ ทุ่งทองและเหมืองอัญมณี มีความตอนหนึ่งกล่าวถึง “กษัตริย์แห่งซาบัจญ์” (ศรีวิชัย) ว่า พระองค์ทรงครอบครองเครื่องเทศและไม้หอมนานาชนิด ไม่มีอาณาจักรใดจะมีทรัพยากรมากไปกว่านี้อีกแล้ว สินค้าส่งออกของพระองค์ คือ การบูร กฤษณา กานพลู ไม้จันทน์ ลูกจันทน์เทศ ลูกกระวาน พริกหาง และสินค้าอื่น ๆ อีก…”

ในตำรา สายโซ่ประวัติศาสตร์ ของพ่อค้าชาวเมืองซีรอฟนามว่า อะบู ซัยด์ อัลฮะซัน อัซซีรอฟีย์ ที่ได้อุทิศบทหนึ่งของหนังสือว่าด้วย “เรื่องเล่าเกี่ยวกับซาบัจญ์” มีความตอนหนึ่งระบุว่า มหาราชแห่งซาบัจญ์ (ศรีวิชัย) ได้กรีาทัพเรือไปยังอาณาจักรของราชาแห่งเกาะมาร (เขมร) และประหารราชาเขมรที่บังอาจกล่าววาจาหมิ่นประมาทพระองค์ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 8 ก่อนการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (.. 802-850) ซึ่งสอดคล้องกับความในจารึกที่ระบุว่าพระองค์เคยตกไปเป็นองค์ประกันที่ชวา จึงเป็นไปได้ว่า “ชวา” น่าจะอยู่ในหมู่เกาะของอินโดนีเซียที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของกษัตริย์ศรีวิชัย

ล่องนาวาเจ็ดสมุทร” เป็นหนังสือที่ “เปิดศักราชใหม่” ว่าด้วยภูมิภาคอุษาคเนย์ยุคโบราณ หนังสือไม่เพียงฟื้นอดีตอันยาวไกลของภูมิภาค แต่ยังเติมเต็มข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่จำกัดพร้อมกันไป หนังสือยังได้ขยายมิติการรับรู้เกี่ยวกับภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยึดโยงกับโลกการค้านานาชาติ ครอบคลุมพื้นที่อ่าวเปอร์เซีย ทะเลแดง มหาสมุทรอินเดีย ทะเลชวา ทะเลจีนใต้และจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้ ยังไม่รวมการผจญภัย ชีวิตชาวเรือ ขนบธรรมเนียมประเพณีของผู้คนอันหลากหลาย

ล่องนาวาเจ็ดสมุทร : ภูมิทัศน์เอเชียอาคเนย์ในเอกสารอาหรับเปอร์เซียศตวรรษที่ 9-14” คือ เพชรเม็ดงามแห่งบรรณพิภพไทย ควรค่าแก่การเก็บสะสม อ่านประเทืองความรู้ และค้นคว้าอ้างอิงต่อผู้รักประวัติศาสตร์

หนังสือนี้นับเป็นทรัพยากรอันยิ่งค่าควรมีไว้ครอบครองโดยปราศจากข้อกังขา

ปรับปรุงใหม่จากคำนำของ
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เอเชียอาคเนย์เป็นดินแดนรุ่มรวยอารยธรรม นอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของโลกแล้ว ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าระหว่างซีกโลกตะวันออกตะวันตกมาตั้งแต่สมัยโบราณ ภูมิภาคนี้จึงเป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

การทำความเข้าใจพลวัตทางวัฒนธรรมของเอเชียอาคเนย์ตั้งแต่อดีตสืบเนื่องถึงปัจจุบันจำเป็นจะต้องเข้าใจพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชนชาติและดินแดนต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ นอกเหนือไปจากวิธีวิทยาทางโบราณคดีที่ใช้ศึกษาวัตถุวัฒนธรรม แล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่หลีกไม่พ้นก็คือ เอกสารโบราณ อันเป็น “กรุความรู้” และ “มรดกความทรงจำ” ที่เก็บบันทึกเรื่องราวต่างๆ มากมาย ไม่ว่าการเมือง กฎหมาย ความเชื่อศาสนา ภาษา สังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจการค้า

เอกสารโบราณเหล่านี้ นอกเหนือจาก “เอกสารท้องถิ่น” ของเอเชียอาคเนย์เองแล้ว ยังมีกลุ่ม “เอกสารต่างชาติ” ที่บันทึกเรื่องราวจากมุมมองโลกทัศน์ของตน ผ่านการปฏิสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งการค้า การเมือง และจาริกแสวงบุญ ฯลฯ บันทึกที่เป็นที่คุ้นเคยกันดีและมักมีการนำมาอ้างอิงอยู่เสมอเป็นเอกสารโบราณจากอินเดีย จีน และยุโรป

แต่ยังมีอีกหนึ่งกลุ่มเอกสารหนึ่งที่วงวิชาการไทยพูดถึงกันมานาน นั่นคือ “เอกสารอาหรับเปอร์เซีย” โดยที่อารยธรรมอาหรับเปอร์เซียมีประวัติศาสตร์การเดินทางไปในดินแดนต่างๆ และมีการจดบันทึกไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนและเป็นระบบ เอกสารโบราณเหล่านี้จึงทรงคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์

หากพินิจพิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างชาวอาหรับเปอร์เซียกับเอเชียอาคเนย์ จะพบว่าพวกเขาเข้ามามีบทบาทในฐานะ “พ่อค้าคนกลาง” ในการเชื่อมต่อเอเชียอาคเนย์กับภูมิภาคอื่นๆ ผ่านเครือข่ายการค้าทางทะเล

ชาวอาหรับเปอร์เซียมีโลกทัศน์ที่มองว่าเอเชียอาคเนย์เป็นส่วนหนึ่งของ “หมู่เกาะของอินเดีย” และเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ ได้แก่ เครื่องเทศ ไม้หอม สมุนไพรรักษาโรค และแร่ธาตุต่างๆ มีชาวพื้นเมืองที่มีลักษณะกายภาพและวัฒนธรรมเฉพาะ ตลอดจนมีลักษณะทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติอันน่ามหัศจรรย์ อีกทั้งพวกเขายังได้ใช้ภูมิภาคนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าเชื่อมโลกตะวันตกตะวันออก จึงทำให้มีบันทึกเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับภูมิภาคนี้มาเป็นเวลานานนับพันปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านภาษาเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึง “กรุความรู้” ที่ยิ่งใหญ่นี้ “เอกสารต้นฉบับ” อันจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ อันจะนำไปสู่ความงอกงามทางวิชาการหรือเป็นประโยชน์ในการต่อยอดสร้างเป็นผลงานเชิงสร้างสรรค์ใหม่ๆ ยังคงมีอยู่จำกัด

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการ “สร้างทุนทางปัญญาทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี” โดยเป็นผลิตหนังสือวิชาการ และสื่อการเรียนรู้เพื่อให้สังคมไทยเกิดความตระหนักรู้ถึงรากเหง้าความเป็นมาและความเป็นพหุวัฒนธรรมของเอเชียอาคเนย์

หนังสือล่องนาวาเจ็ดสมุทร: ภูมิทัศน์เอเชียอาคเนย์ในเอกสารอาหรับเปอร์เซียศตวรรษที่ 9-14 ได้นำเสนอ “บทแปลภาษาไทย” จากต้นฉบับเอกสารภาษาอาหรับเปอร์เซียที่อ้างถึงดินแดนเอเชียอาคเนย์จากมุมมองที่หลากหลาย โดยข้อมูลเหล่านี้มีพัฒนาการสอดคล้องไปกับบริบททางประวัติศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจการค้าโลกในแต่ละยุคสมัย ซึ่งนอกจากจะสามารถนำไปเชื่อมโยงกับเอกสารโบราณต่างชาติกลุ่มอื่น ๆ อย่างเอกสารอินเดีย จีน และยุโรปเพื่อปะติดปะต่อภาพผู้คนและดินแดน ต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ได้แล้ว ยังช่วยพาผู้อ่านก้าวข้ามกำแพงภาษาและวัฒนธรรม ข้ามพรมแดนของเอเชียอาคเนย์ไปยังโลกอาหรับเปอร์เซีย เรียนรู้เกี่ยวกับอารยธรรมอิสลาม ซึ่งเป็นแหล่งภูมิปัญญาและศิลปวิทยาการที่สำคัญของโลก

จึงถือได้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็น “มิติใหม่” ที่แวดวงวิชาการและสาธารณชนไทยควรจะได้อ่าน

เรือเดินสมุทร [จากหนังสือมะกอมาต อัลฮะรีรีย์ (Maqāmāt al-Harīrī) ภาพวาดโดย ยะห์ยา บิน มะห์มูด อัลวาซิฏีย์, ครึ่งแรกศตวรรษที่ 13]

แผนที่โลกของอัลอิดริซีย์ (จากต้นฉบับสำเนาของ อะลี บิน ฮะซัน อัลฮุฟีย์ อัลกอซิมีย์, .. 1456)

เกาะพิศวง [จากหนังสือมะกอมาต อัลฮะรีรีย์ (Maqāmāt al-Harirī) วาดโดย ยะห์ยา บิน มะห์มูด อัลวาซิฏีย์, ศตวรรษที่ 13]


ล่องนาวาเจ็ดสมุทร : ภูมิทัศน์เอเชียอาคเนย์ในเอกสารอาหรับเปอร์ซียศตวรรษที่ 9-14 โดย สุนิติ จุฑามาศ (นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี) พิมพ์ครั้งแรกโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มิถุนายน 2567 ราคา 680 บาท

เพชรเม็ดงามแห่งบรรณพิภพไทย ควรค่าแก่การเก็บสะสม อ่านประเทืองความรู้และค้นคว้าอย่างยิ่งต่อผู้รักประวัติศาสตร์

หนังสือเล่มนี้นับเป็นทรัพยากรอันยิ่งค่า ควรมีไว้ครอบครองโดยปราศจากข้อกังขา

สุเนตร ชุตินธรานนท์

บทแปลภาษาไทย” จากต้นฉบับเอกสารภาษาอาหรับเปอร์เซีย ที่อ้างถึงดินแดนเอเวียอาคเนย์จากมุมมองที่หลากหลาย—-

จึงถือไดว่าหนังสือเล่มนี้เป็น “มิติใหม่” ที่แวดวงวิชาการ และสาธารณชนไทยควรจะได้อ่าน

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ผู้อำนวยการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image