ดูนกเมืองแขมร์ (3) นกบ่อ : คอลัมน์ ประสานักดูนก

นกกระสาคอขาว

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ เมื่อชมแร้งอาเซียน 3 ชนิดที่ร้านอาหารแร้งกลางป่าเต็งรัง ใกล้ชุมชนกันอิ่มอกอิ่มใจแล้ว สมาชิกบางคนเริ่มออกอาการเบื่อ แม้ว่าจะนั่งๆ นอนๆ หลบแดด มีลมเย็นชายป่าพัดเข้าบังไพรมุงจากในบรรยากาศสบายๆ ก็ตาม จึงมีมติกันว่าย้ายวิก เปลี่ยนเป้าหมาย ไปตามหานกเทพหายากชนิดอื่นๆ ของกัมพูชาดีกว่า ยังมีอีกหลายชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่า จะอาศัยอยู่ในป่าเต็งรังแล้งแห้งเช่นนี้ แถมเป็นนกน้ำขนาดใหญ่มาก เคยพบในที่ราบเจ้าพระยาน้ำท่วมถึงเมื่อ ครึ่งทศวรรษก่อน แต่บัดนี้สูญพันธุ์หมดสิ้นแล้วก็ปืน และนิสัยยิงสัตว์ป่าไม่เลือกของคนบางคน

นกช้อนหอยใหญ่ และนกช้อนหอยดำ ในอดีตเคยพบในภาคกลางบ้านเราเช่นกัน แต่ปัจจุบันนักดูนกจากที่ไหนๆ อยากเห็นก็ต้องดั้นด้นมาตากแดดรับลมแล้งกลางป่าเมืองกัมพูชา ทำให้นกป่าสนับสนุนวิถีของคนท้องถิ่นด้วยการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ใช้สัตว์ป่าเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้ชุมชน และสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์ป่าไปในตัวด้วย คุณค่าที่คนเราใช้สัตว์ป่าเช่นนี้ เป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่ต้องล่า ไม่รุกรานเบียดเบียนสัตว์ป่า คนอยู่ได้ นกอยู่ได้ เพราะแค่มาส่องดูนก ศึกษาพฤติกรรมนก หาได้ยกปืนขึ้นส่องหมายจะพรากชีวิต แค่ “ล่า” ด้วยกล้องดูนกและกล้องถ่ายภาพ เก็บกลับบ้านเพียงความทรงจำและภาพถ่าย

ทั้งทีมเดินทางด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ขยอกขย้อนลำไส้ไปบนถนนดินที่เหมาะสำหรับรถแต๊กๆ มากกว่ารถหรูยี่ห้อญี่ปุ่น ไกด์ท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ขององค์กรอนุรักษ์นกของประเทศกัมพูชาพาเราไปหยุดอยู่ที่บึงน้ำขนาดใหญ่กว้างเกือบร้อยเมตร กลางป่าเต็งรัง เพียงขยับเดินเข้าไป นกตะกรุม นกน้ำขนาดยักษ์ สูงกว่าอีแร้ง หัวล้าน จะงอยปากหนาตรง ไว้จับปลาหรือกบที่งับไว้เมื่อไรก็ยากจะดิ้นหลุด บินขึ้นจากดงกกสูงๆ กลางบ่อ หรือคนแขมร์เรียกว่า “ตรอเปียง” กลางบ่อมีน้ำแฉะๆ ตื้นๆ บ่งบอกสภาพความแห้งแล้งของพื้นที่ มีแต่โคลนเละๆ และรอบนอกเป็นผืนดินแห้งแตกระแหงเป็นร่องลึก แต่ร่องดินเหล่านี้แหละ เป็นแหล่งหากินสำคัญของนกน้ำตัวยักษ์ทั้งหลาย อาทิ นกช้อนหอยใหญ่ นกช้อนหอยดำ นกตะกรุม นกตะกราม และนกกระสาคอขาว เพราะในร่องลึกนั้นยังคงมีน้ำซึมซ่อนอยู่ บรรดากบเขียด ปลา ปลาไหลยังอาศัยน้ำซึมใต้ดินยังชีวิต นกน้ำข้างต้นจึงใช้ปากยาวๆ หนาตรงหรือโค้งยาวดุจตะขอ ทิ่มลงไปแงะหาเหยื่อด้วยระบบสัมผัส โดยไม่ต้องมองเห็น จับสัตว์น้ำขึ้นมากินได้ น้ำตื้นๆ ในบ่อหรือบึงกลางป่านี้ จึงเอื้อต่อนกเทพสำคัญๆ เหล่านี้ในฐานะที่เป็นแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำดื่ม ดับกระหายอีกด้วย

เมื่อเดินกลับจากสำรวจบ่อ 1 นี้ ไกด์ได้ยินเสียงร้องแหลมของ เหยี่ยวเล็กตะโพกขาว เหยี่ยวปีกแหลมป่าขนาดเล็กเท่านกเอี้ยง มองหาอยู่ไม่นานก็พบทั้งเหยี่ยวตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งเหยี่ยวตัวเมียมีสีส้มบนหัว เด่นสง่ากว่าคู่ของมันเมื่อเหยี่ยวตัวผู้บินเข้ามาใกล้ เหยี่ยวตัวเมียส่งเสียงร้องและบินไปไล่ตี แสดงฐานะเหนือกว่าของเหยี่ยวปีกแหลมอาศัยในโพรงที่หายากมากๆ ชนิดนี้อีกด้วย

Advertisement

เพราะเหยี่ยวเล็กตะโพกขาวเป็นนกจำเพาะของป่าเต็งรัง จัดเป็นนกถิ่นเดียวของอุษาคเนย์ ไม่พบแพร่กระจายพันธุ์ที่อื่นใดบนโลกนี้ อีกเป้าหมายของนักดูนก ถ้าอยากเห็นก็ต้องเดินทางมาดูที่บ้านเราหรือกัมพูชา ในโสตนี้นกจึงเป็นเสมือนอัญมณีหรือทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่าของชุมชน และประเทศ

หากรู้จักรักษาและใช้อย่างรู้ค่า และยั่งยืนย่อมเป็นแหล่งรายได้ให้ชุมชนอีกด้วย เพราะนักดูนกในฐานะนักท่องเที่ยวธรรมชาติ เดินทางไปไหนย่อมต้องใช้จ่ายเงินผ่านการเดินทางด้วยรถ น้ำมัน ที่พัก อาหารและการจ้างไกด์ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น เป็นการสร้างรายได้หลากหลายช่องทางให้ชุมชนที่ดูแลรักษาสัตว์ป่า นอกเหนือจากความรู้สึกภาคภูมิใจที่ช่วยกันรักษามรดกธรรมชาติเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image