อาศรมมิวสิก : การประลองไทยใหม่ ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องปรับตัว

วงพิชชโลห์ ผู้รับรางวัลชนะเลิศ บรรเลงถวายในงานมหกรรมการวิจัยแห่งชาติ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2567 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์

การประลองไทยใหม่
ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องปรับตัว

การประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 โดยโครงการวิจัยดนตรีประจำชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรี “ไทยใหม่” จบการประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรีครั้งแรก (กุมภาพันธ์-มิถุนายน พ.ศ.2567) โดย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส บันทึกผลงานนำออกเผยแพร่สู่สาธารณะ

การประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2567 ที่ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ รับสมัครวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 10 ตุลาคม พ.ศ.2567

การประลองไทยใหม่อาศัยพันธมิตรหลายองค์กร เดิมเป็นโครงการวิจัยวัฒนธรรมดนตรีแสดงผลงานเพลงอย่างเดียว อาทิ เพลงอมตะสยาม เพลงไทยทางเปลี่ยน เสียงใหม่ เพลงประจำชาติ ครั้งนี้เป็นเพลงไทยใหม่ นำเสนอวิสัยทัศน์และทิศทางเพลงไทยเพื่อรักษามรดกวัฒนธรรมดนตรีที่เป็นประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ศึกษาดนตรีที่เป็นความภูมิใจและความประทับใจ เพลงไทยใหม่นำมาแสดงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา

Advertisement

คณะกรรมการประเมินโครงการวิจัยฯมีความคาดหวังมากขึ้น เพิ่มการประลองวงเยาวชนยอดฝีมือเพื่อให้คนรุ่นใหม่หันมาพัฒนาเพลงของท้องถิ่น ใช้เครื่องดนตรีในชุมชน นำมรดกดนตรีมาสร้างนวัตกรรมใหม่ อาศัยความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเพลงให้ก้าวหน้า สร้างแรงบันดาลใจ อาศัยการวิจัยนำทาง เริ่มจากการเลียนแบบทำซ้ำ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ใช้ความกล้าหาญในการคิดแหกคอก ใช้พลังดนตรีเพื่อความเสมอภาค ยกย่องความเท่าเทียม ยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย ยอมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อดนตรีจะอยู่กับสังคมใหม่ได้ นำวงเยาวชนยอดฝีมือทั้ง 6 วง มาห่อด้วยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา

วงเยาวชน 2-5 คน อายุ 15-25 ปี เล่นเพลงที่เป็นมรดกของท้องถิ่น ใช้เครื่องดนตรีที่เป็นเสียงธรรมชาติ (Acoustic Instruments) ความยาว 5 นาที ส่งผลงานประกวดออนไลน์ วงที่เข้ารอบสุดท้ายแสดงร่วมกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ที่เมืองนครราชสีมา ที่ปราสาทเมืองต่ำ บุรีรัมย์ มีถ้วยและเงินรางวัลรวม 600,000 บาท

Advertisement

พันธมิตรมีองค์การบริหารท้องถิ่น เทศบาล อำเภอ จังหวัด สถาบันการศึกษา สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสซึ่งได้ร่วมงานกันมานาน โครงการวิจัยต้องอาศัยทรัพยากรท้องถิ่น อาทิ ห้องน้ำสาธารณะ พลังไฟฟ้า สาธารณูปโภคที่เอื้ออำนวยการจัดงาน โต๊ะเก้าอี้ ร่มกันแดดกันฝน ซึ่งต้องร่วมมือกับพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี อธิการบดี รวมทั้งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง

เมื่อครั้งแสดงที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ มีโครงการบินโดรนแปรภาพประกอบดนตรี ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ดูแลโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติด้วย ได้ทดลองนำเสนอผลงานไปพร้อมกัน ก็จะกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ “ดนตรีประกอบโดรน” แสดงบนพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น กลายเป็นโครงการงอก

ดนตรีประกอบโดรนเป็นนวัตกรรมใหม่ การบินโดรนกับการบรรเลงดนตรีสด มีภาพที่เกี่ยวกับเรื่องราวของชุมชน เป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้งานวิจัยมากขึ้น ทำให้งานมีพลัง มีพันธมิตรเพิ่ม สังคมได้เห็นภาพในมิติที่แตกต่าง

การประลองไทยใหม่กับความเปลี่ยนแปลง งานประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรีได้เป็นหุ้นส่วนโครงการวิจัยฯ สนับสนุนวงเยาวชนดนตรีรุ่นใหม่ที่มีฝีมือและสามารถพัฒนาสร้างผลงาน บันทึกเพลง ทำเพลงที่อยู่กับคนรุ่นใหม่ นำบทเพลงของท้องถิ่นมาใช้กับชีวิตใหม่ สร้างความภูมิใจ รื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่น (Soft Power) สนองนโยบายรัฐบาลที่โหยหาอดีต ขณะเดียวกันดนตรีท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย ดนตรีประจำชาติ มีโอกาสส่งเสียงดังและมีพื้นที่รองรับในสังคม

ขจัดความเหลื่อมล้ำทางดนตรี การศึกษาของไทยใช้ความเหมือนและสนใจความเป็นอื่น สนใจความเป็นฉันน้อย ถือคติที่ว่า “ตามเขาว่าเก่ง ทำเองว่าโง่” ซึ่งทำตามกันมาจนเป็นมาตรฐานของสังคม ทั้งที่สังคมประกอบด้วยความแตกต่างและความหลากหลาย อาทิ ดนตรีไทย ดนตรีลาว ดนตรีท้องถิ่น ดนตรีชาติพันธุ์ ดนตรีเขมร แขก ม้ง เงี้ยว จีน ฝรั่ง มอญ เป็นต้น เมื่อไม่มีผู้สืบทอด ดนตรีเหล่านี้ก็ตายไป โครงการวิจัยฯได้ศึกษาและยกระดับความเท่าเทียมทั้งบทเพลงและเครื่องดนตรี ได้ร่วมแสดงกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เผยแพร่ผ่านสื่อออกสู่สาธารณะ เพื่อบอกให้สังคมไทยรับรู้ทั้งความแตกต่างและหลากหลายที่อยู่ร่วมกันมาก่อน

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข แถลงข่าวโครงการไทยใหม่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยฯ
คุณประวิทย์ คงขวัญรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายสารคดีและสารประโยชน์ โทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมแถลงข่าว

การยกย่องดนตรีในท้องถิ่น ดนตรีชาติพันธุ์ และดนตรีประจำชาติ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ เหมือนยาจกนั่งอยู่บนถุงทอง ไม่รู้คุณค่าและไม่ได้ขุดถุงทองวัฒนธรรมดนตรีมาใช้ เสนอกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้นำเพลงที่เป็นมรดกวัฒนธรรมใช้ประกอบการสอนดนตรีให้แก่เด็กในโรงเรียนและในสถาบันอุดมศึกษา การศึกษาไทยจะเสียดุลการค้าน้อยลง

เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศนำดนตรีวงเยาวชนที่ชนะเลิศ นำเพลงไทยและเพลงประจำชาติ นำวงออร์เคสตรา บรรเลงเพลงประจำชาติในงานระดับชาติ เพื่อแสดงให้คนในชาติและคนต่างชาติได้ชื่นชม

วงลวนรินทร์ ลพบุรี ผู้ชนะขวัญใจมวลชน คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมแถลงข่าว

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม ก็ควรนำบทเพลงวงดนตรีเยาวชนไปกล่อมนักท่องเที่ยว แสดงในงานเทศกาลที่กระทรวงจัดขึ้น ซึ่งวัฒนธรรมดนตรีไม่ได้สึกหรอสิ้นเปลือง แตกต่างไปจากสินค้าที่เป็นของกินของใช้ ใช้แล้วก็หมดไป แต่ดนตรียิ่งใช้ยิ่งมีพลังเพิ่มมากขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ควรนำดนตรีประจำชาติไปขายเป็นสินค้าวัฒนธรรมดนตรี เพื่อถ่วงดุลทางการค้า อาทิ บทเพลง เสียงเพลง โน้ตเพลง ตำราดนตรี ลิขสิทธิ์เพลง เครื่องดนตรี นักดนตรี ปัจจุบันไทยเสียดุลการค้าดนตรีให้แก่ต่างชาติมาก เราซื้อความสำเร็จสินค้าดนตรีจากวัฒนธรรมอื่น นำดนตรีเข้ามาใช้ทำมาหากิน วิชาดนตรีในโรงเรียนทุกระดับ การประกวดแข่งขันดนตรี การแสดงดนตรีในสังคมไทย หากนำเพลงไทยใหม่ไปใช้ เริ่มจากการศึกษา ใช้ประกอบการสอนในโรงเรียน ไทยจะลดดุลการค้าทางดนตรีได้อีกมาก

ตารางการประลองและการแสดงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา

กระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงกลาโหม ควรอาศัยเครือญาติรอบประเทศไทย ลาว เขมร พม่า มาเลเซีย ใช้ดนตรีเชื่อมความสัมพันธ์ผ่านเครือญาติและพื้นฐานวัฒนธรรมร่วมกัน ช่วยกันขายวัฒนธรรมและต่อยอดมรดกดนตรี นำดนตรีมาสร้างความสามัคคีของเครือญาติ เพราะการเมืองทำให้คนทะเลาะกัน แต่ดนตรีทำให้คนรักและเข้าใจกัน เรามีแต่ประวัติศาสตร์ราชวงศ์และสงคราม แต่ไม่มีประวัติศาสตร์วิถีชีวิตและสังคม

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ทำงานวิจัยดนตรีประจำชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรี “ไทยใหม่” เพื่อสร้างวิสัยทัศน์วัฒนธรรมดนตรี กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ รักษาวัฒนธรรมดนตรี สร้างนวัตกรรมดนตรี ถ่วงดุลทางการค้าเกี่ยวกับดนตรี การยกย่องดนตรีให้ความเท่าเทียมกัน เพื่อเปิดใจยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย ใช้ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของวิถีชีวิต ดนตรีเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต โครงการวิจัยไทยใหม่นำบทเพลงและยอดฝีมือเยาวชนดนตรีมาสร้างสรรค์ร่วมกันเพื่อบอกเล่าความเป็นไปในท้องถิ่น

ขอบคุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ได้ร่วมสนับสนุนโครงการวิจัยไทยใหม่

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image