โหวตฉ่ำยืนหนึ่ง‘พึงพอใจ’ ณรงค์ ตาปสนันทน์ ผอ.เขตบางแค แก้ปัญหาเดลิเวอรี่ ปิดจบไว ไปถึงที่

โหวตฉ่ำยืนหนึ่ง‘พึงพอใจ’
ณรงค์ ตาปสนันทน์
ผอ.เขตบางแค
แก้ปัญหาเดลิเวอรี่ ปิดจบไว ไปถึงที่

ปังสุด ฉุดไม่อยู่ สำหรับ ‘สำนักงานเขตบางแค’ ที่ชาวฝั่งธนฯทุกแขวงในอาณาเขต 46.55 ตารางกิโลเมตร พร้อมใจเทคะแนนฉ่ำ ผ่านแอพพ์ดังอย่าง ‘ทราฟฟี่ฟองดูว์’ (Traffy Fondue)

จนยอด ‘ยืนหนึ่ง’ ในบรรดา 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ด้วยคะแนนความพึงพอใจ 4.17

เนื่องด้วยเร่งรุดแก้ปัญหาได้อย่างฉับไว ปิดจบได้ไม่ยืดเยื้อจากทีมเวิร์กของเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยมี ณรงค์ ตาปสนันทน์ นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการเขต เป็นพ่อบ้านดูแลสารทุกข์สุกดิบชาวบางแคด้วยประสบการณ์กว่า 35 ปี ปักหมุดเริ่มต้นที่ตำแหน่ง ‘นักพัฒนาชุมชน’ เมื่อ พ.ศ.2532

Advertisement

“ผมบรรจุครั้งแรกที่เขตภาษีเจริญ เขาคงบรรจุให้ใกล้บ้าน และโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่งมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เขตคลองสาน เขตพระนคร และข้ามไปทำงานฝั่งกรุงเทพฯ อยู่นานพอสมควร” ณรงค์ ย้อนเล่าเส้นทางชีวิต ก่อนเป็น ‘ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต’ ในปี 2560 ถึง 4 เขต ได้แก่ บางซื่อ ราษฎร์บูรณะ บางคอแหลม และทวีวัฒนา

Advertisement

เรียกได้ว่า สั่งสมความแก่กล้าในการบริหารมาแล้วอย่างเต็มเปี่ยม กระทั่งเมื่อปี 2564 ได้นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ

จากนั้น เช็กอินโลเกชั่นยังเขตบางแคเมื่อปี 2565 ในฐานะผู้อำนวยการเขต

“การเป็นผู้อำนวยการเขตเป็นหัวหน้าหน่วยงาน เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจที่ได้ทำอะไรหลายๆ อย่างให้กับพื้นที่ ให้กับพี่น้องประชาชน และการได้มาเกษียณที่นี่ ก็ถือว่าได้ทำอะไรให้บ้านเกิด” ผอ.เขตบางแคเผยความในใจ ก่อนพาย้อนไทม์ไลน์ชีวิตที่ราวกับถูกขีดเส้นเป็นวงกลมให้มาบรรจบยังบ้านเก่าที่เติบโตและใช้ชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก อย่าง ‘ภาษีเจริญ-บางแค’ ตั้งแต่ยังไม่แยกออกจากกัน

“ผมเกิดที่โรงพยาบาลวชิระ กรุงเทพฯ บ้านอยู่คลองสาน ตอนนั้นยังเป็นอำเภอคลองสาน พอสักประมาณ 10 ขวบ ย้ายมาอยู่ภาษีเจริญ เรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แล้วก็ไปเรียนปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จบมาพอดี กทม.เปิดสอบ ก็ได้บรรจุเลย”

ฟังเผินๆ ราวกับชีวิตราบเรียบ สวยงามตามครรลอง แต่แท้จริงแล้ว เด็กชายตั้ม ‘เกือบเรียนไม่จบ ม.ศ.5’ OSK99 คนนี้สารภาพว่าเคยเป็น ‘สายห้าว’ มาก่อน

“ตอนเด็กๆ เกเร ครูประจำชั้นเคยเชิญผู้ปกครองเข้าพบด้วย พอเรียนรามฯชีวิตเป็นอิสระ เที่ยวอย่างเดียวเลย ออกจากบ้านขึ้นรถเมล์ไปหาเพื่อน พอเรียนจบ สอบเข้า กทม.ได้ทำงานปุ๊บ คุณพ่อเกษียณพอดี เราต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ เพราะพี่ชายคนแรกไปอยู่ต่างประเทศ พี่ชายคนที่สองแยกบ้านไปอยู่ที่อื่น

ตอนแรกไม่ได้อยากทำงาน กทม.ด้วย อยากเป็นนายธนาคาร เห็นเขาผูกไท ทำงานห้องแอร์ แต่คุณพ่อคุณแม่อยากให้รับราชการ เพราะพี่ชาย 2 คนไม่มีใครรับราชการ พอมาคิดตอนนี้ พ่อแม่เขาวางแผนมาดี”

⦁ การเป็นผู้อำนวยการเขตในยุคผู้ว่าฯชัชชาติ เป็นอย่างไรบ้าง?

ท่านผู้ว่าฯชัชชาติ เน้นการทำงานในพื้นที่ ใช้คำว่าการพัฒนาเส้นเลือดฝอย คือให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่เราดูแล ต้องเข้าไปอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม ท่านอยากจะเห็นว่าพี่น้องประชาชนอยากให้พื้นที่พัฒนาไปในทิศทางไหน มีปัญหาตรงไหนบ้าง อยากให้แก้อะไร

⦁ ตอนมีกับไม่มีทราฟฟี่ฟองดูว์ต่างกันอย่างไร?

ทราฟฟี่ฟองดูว์เป็นแพลตฟอร์มที่ท่านผู้ว่าฯชัชชาติได้นำมาใช้ เพราะว่าเป็นการแก้ปัญหาของเมือง ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถแจ้งปัญหา แล้วก็สิ่งที่อยากจะให้แก้ไขได้โดยตรงเลย ซึ่งเขตสามารถรับความคิดเห็นได้ทันทีจากทราฟฟี่ฟองดูว์ ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีทราฟฟี่ฟองดูว์อาจจะต้องแจ้งไปทางหน่วยงาน แล้วหน่วยงานถึงจะส่งต่อมาตามเขตต่างๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความล่าช้า

ก่อนมีทราฟฟี่ฟองดูว์ประชาชนร้องเรียนที่ศูนย์ร้องเรียนของ กทม. โทร 1555 เป็นเบอร์กลาง และทางเฟซบุ๊กของเขต ซึ่งก็มีคนร้องเรียนมาบ้างพอสมควร แต่พอมีทราฟฟี่ฟองดูว์ใช้แล้วเรื่องก็เข้ามาเรื่อยๆ น่าจะเยอะกว่าเมื่อก่อน เพราะมันสะดวก ทุกคนมีสมาร์ทโฟนกันหมด สามารถแจ้งได้เลย ถ่ายรูปส่งมาได้เลย แล้วก็ส่งพิกัดจุดที่มีปัญหาให้เราได้ทราบด้วย แล้วก็ไปถึงจุดได้ถูกต้อง

⦁ ประชาชนร้องเรียนตามลำดับเรื่องอะไรมากสุดตั้งแต่ใช้ทราฟฟี่ฟองดูว์มา?

เขตบางแคเรามีทั้งหมดประมาณ 20,000 กว่าเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องปัญหาของทางเท้า และไฟฟ้าแสงสว่าง แล้วก็เป็นเรื่องข้อเสนอแนะอื่นๆ ก็มีเยอะอยู่

⦁ ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง?

ต้องเรียนอย่างนี้ ที่เขตบางแค เราจะมีเจ้าหน้าที่คอยรับเรื่อง ซึ่งเรากำหนดเจ้าหน้าที่ไว้ ที่จะคอยรับเรื่องที่เวลาเรื่องเข้ามา พอรับเรื่องแล้วเราก็จะส่งต่อไปให้กับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการที่จะออกไปแก้ไขปัญหา การทำงานเราก็มีทีม ทีมที่รับเรื่องเป็นของฝ่ายปกครอง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ แล้วก็ส่งให้ฝ่ายต่างๆ ฝ่ายต่างๆ เขาก็จะมีทีมที่จะออกไปแก้ไขปัญหาตรงที่ประชาชนร้องมา

⦁ บุคลากรมีเพียงพอหรือไม่?

บุคลากรเราก็มีตามกรอบที่กำหนดมาให้เรา เราก็ดำเนินการตามลำดับเรื่อง เรื่องแจ้งมาแล้วก็ไปทำ ก็เพียงพอทำได้ เรามีการประชุมเพื่อเอาปัญหามาคุยกัน ว่าปัญหาที่ประชาชนแจ้งมาเป็นอย่างไร กรณีที่สามารถไปแก้ไขได้เลย เจ้าหน้าที่ก็ไปทำได้เลย ส่วนใหญ่ปัญหาที่ร้องเรียนมาเยอะก็คือทางเท้า เช่น ทางเท้าชำรุดบ้าง อะไรบ้าง ก็ให้รีบไปแก้ไขปัญหา อันนี้เลยเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน

⦁ สถิติการแก้ปัญหาผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์เป็นอย่างไร?

ความพึงพอใจที่ประชาชนให้ เนื่องจากเราพยายามที่จะแก้ไขปัญหาให้เร็วนะ ก็คือสถิติส่วนกลาง เราตรวจสอบดูแล้วพบว่าเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนแจ้งเข้ามา จากค่าเฉลี่ยจากทั้งหมด เราออกไปทำงานหลังจากรับแจ้งภายใน 2 ชั่วโมง แล้วก็เรื่องที่เสร็จสิ้นภายใน 2 วัน อันนี้เป็นสถิติที่ผมไม่ได้ตั้งเองนะ มาจากส่วนกลาง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนพึงพอใจ ในอีกเรื่องหนึ่งก็คือประชาชน ปัญหาต่างๆ บางทีเราติดต่อกับผู้ร้องผู้แจ้งได้เลย เราก็เข้าไปคุย อันไหนติดขัดอะไรเราก็บอกเขา เขาก็เลยอาจจะเข้าใจกับการทำงานของเรามากขึ้น

⦁ เรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมา บางทีไม่อยู่ในอำนาจของเขต มีการประสานกับหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบแก้ปัญหาอย่างไร?

ในตัวทราฟฟี่ฟองดูว์ที่พี่น้องแจ้งมา มีช่องทางส่งต่ออย่างเช่น เกี่ยวกับสายโทรศัพท์ เราก็ส่งไปที่ NT ให้ทางนั้นได้รับทราบ แล้วก็ไปแก้ไขต่อ ส่วนจะมีการแก้ไขได้รวดเร็วไหมนั้น ไม่ทราบได้ พอเราส่งต่อแล้วก็เป็นส่วนของเขาที่จะต้องไปดำเนินการ

ในการแก้ไขปัญหา เราไม่ได้แก้แล้วก็ให้จบแค่นั้น อย่างเช่นการซ่อมแซมบำรุงสิ่งที่ชำรุดทั้งหลาย ต้องเรียนว่า เราเก็บข้อมูลเก็บสถิติ เพื่อที่จะทำเป็นโครงการที่จะไปของบประมาณในการปรับปรุง แล้วก็ความพึงพอใจที่พี่น้องประชาชนมอบให้กับเขต เราก็ส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ให้เขาได้มีกำลังใจในการทำงาน เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ปัญหา ความบกพร่องทั้งหลาย เขตต้องขอขอบคุณผ่านมติชนด้วย ขอบคุณพี่น้องประชาชน ที่ไว้วางใจผมในการทำงานของเขต ถ้าไม่ไว้วางใจท่านคงไม่แจ้งเขต ซึ่งท่านผู้ว่าฯก็เห็นความสำคัญส่วนนี้ ในการมีส่วนร่วมที่อยากให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้แจ้งข้อมูลโดยตรง เพื่อนำไปแก้ไข

เราไม่ได้แก้แล้วทิ้งเลย แต่เราเก็บข้อมูลไว้เพื่อนำไปประกอบโครงการของบประมาณ สิ่งที่สำคัญๆ เรียงลำดับ เป็นสิ่งที่ท่านผู้ว่าฯให้นโยบายมา ว่าทราฟฟี่ฟองดูว์ต้องเก็บสถิติ เก็บข้อมูลไว้ เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่ต่อไป

⦁ ถ้าวันหนึ่งประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจน้อยมาก จะอธิบายกับเขาอย่างไร?

เรามีข้อจำกัด เพราะว่ามันมีข้อกฎหมาย อย่างเช่นเรื่องการแก้ไขที่เป็นที่เอกชน หนึ่งคือ เราต้องติดต่อเจ้าของที่ดิน เจ้าของกรรมสิทธิ์ ว่าจะเข้าไปดำเนินการแก้ไข ท่านจะยินยอมไหม อะไรอย่างนี้ มันอาจทำให้ล่าช้า พี่น้องประชาชนอาจจะทวงถามมาว่าเมื่อไหร่จะแก้สักที เราก็ต้องเข้าไปอธิบายให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ

⦁ ปัญหาเรื่องทางเท้า เขตได้เตรียมอุปกรณ์ซ่อมแซมไว้เพียงพอหรือไม่?

ฝ่ายโยธาของเรามีวัสดุอุปกรณ์ที่เตรียมพร้อมในการซ่อม สำหรับแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ส่วนเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องไฟฟ้าดับ เราก็เร่งแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เพราะเรามองว่าไฟฟ้าดับมันไม่ใช่แค่มืด มันเป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนด้วย ก็ต้องรีบแก้ ท่านผู้ว่าฯชัชชาติก็ให้เป็นนโยบายหลักเลยว่า ไฟฟ้าดับต้องรีบแก้

⦁ ในเขตบางแคพบการขโมยสายไฟ หลอดไฟไหม?

ตั้งแต่ตรวจสอบมายังไม่มี ที่ไฟดับเพราะว่าหลอดขาด หลอดชำรุด หรือไม่ก็เป็นที่ระบบสายไฟ ซึ่งที่เขตก็จัดซื้อหลอดไฟแอลอีดีแล้ว ในบางถนนบางซอย เราก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วพอได้รับแจ้งว่าชำรุด ซึ่งอาจจะเป็นระยะทางยาว เราก็เปลี่ยนให้พี่น้องประชาชน ซึ่งก็ของบประมาณในการซ่อมแซมพวกนี้อยู่

⦁ โปรเจ็กต์ใหม่ปี 2568 ที่กำลังจะทำในเขตบางแคมีอะไรบ้าง?

จากทราฟฟี่ฟองดูว์ที่เรารับเรื่องแก้ไขมา เราไปซ่อมแล้วก็เก็บสถิติไว้ ว่าตรงไหนที่ประชาชนเดือดร้อนบ่อยๆ ต้องการแก้ปัญหาบ่อยๆ เราก็จัดทำคำของบประมาณในการซ่อมทั้งหมด อย่างเช่นในปีที่แล้ว เราได้รับแจ้งจากประชาชนว่าได้รับความเดือดร้อนในช่วงที่ฝนตกเยอะๆ ในหมู่บ้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ 40-50 ปีมาแล้ว ท่อระบายน้ำอะไรทั้งหลายมันก็เล็ก ชำรุดไปบ้างแล้ว เราก็เลยดำเนินการด้วยการทำรางระบายน้ำบนผิวจราจร ซึ่งตอนนี้เราได้งบปีนี้มาแล้วกำลังทำอยู่ จะได้แบ่งเบาปริมาณน้ำฝนได้รวดเร็วขึ้น

สำหรับปีหน้า เรามีสถิติข้อมูลว่าพี่น้องประชาชนใช้เส้นทางเดินเลียบคลองเยอะ ที่คลองบางเชือกหนัง แต่ว่าเขตเราก็ไปซ่อมอยู่บ่อย เพราะว่ามันชำรุด สร้างมาตั้งแต่ช่วงปี 2530 โดยในปีงบประมาณ 2568 เราก็ของบประมาณจัดทำ รื้อของเก่าออกแล้วสร้างใหม่ ทำทางเดินเลียบคลองใหม่ ประมาณ 3 กม. ปีที่แล้วซ่อมไปช่วงหนึ่ง และปีนี้ก็ซ่อมต่อ

⦁ ปัญหาน้ำท่วมในเขตมีจุดไหนบ้าง และดำเนินการแก้ไขอย่างไร?

พื้นที่เขตบางแคเรามีซอยที่ใช้มาแต่เดิมนานแล้ว บางซอยก็ไม่มีท่อระบายน้ำ บางซอยก็มีท่อระบายน้ำแต่ขนาดเล็กประมาณ 60 ซม. ก็มีน้ำท่วมขัง อย่างเช่น ซอยบางแวก 138 มีปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งถนนบางแวกได้รับการยกระดับสูงขึ้น แล้วซอยก็ยังต่ำอยู่ เลยต้องยกระดับซอยให้ใกล้เคียงกับถนนใหญ่ แล้วก็ทำท่อระบายน้ำให้ลงถนนบางแวก

⦁ แต่ละซอย แต่ละหมู่บ้าน มีการยกให้เป็นที่สาธารณะเยอะไหม?

เป็นที่สาธารณะก็มี แต่ที่ยังเป็นเอกชนอยู่ก็มี สำหรับที่เอกชนต้องเรียนว่าเรานำงบประมาณเข้าไปดำเนินการไม่ได้ ถ้าไม่ยกให้เป็นที่สาธารณะ ซึ่งมีประชาชนร้องเรียนน้ำท่วมอยู่บ้าง แต่ว่าเราก็ต้องจัดสรรงบประมาณ ที่จะมาดำเนินการ ซึ่งอาจจะต้องไล่เรียงกันไปเรื่อยๆ อันไหนปัญหาหนักเราก็จะเสนอเข้าไปแก้ปัญหาให้ก่อน แต่ไม่ได้ปล่อยปละละเลยนะ เราก็เอาเครื่องสูบน้ำไปตั้งสูบช่วย ซึ่งทุกปีเราก็ต้องทำแบบนี้ ถ้าแก้ปัญหาถาวรเขาเราต้องปรับปรุงถนน ปรับปรุงซอย ปรับปรุงท่อระบาย

⦁ การประสานงานกับประธานชุมชนต่างๆ ราบรื่นไหม มีอุปสรรคอะไรบ้าง?

เขตบางแคมี 47 ชุมชน คุยไม่ยาก เราทำงานด้วยกันมาโดยตลอดกับพี่น้องประชาชน เวลามีการประชุมชุมชนทุกเดือน ได้รับข้อแนะนำจากพี่น้องประชาชน ประธานชุมชนทุกเดือน แล้วเราก็มีการออกไปเยี่ยมชุมชนด้วย

⦁ ย้อนไปเมื่อครั้งผู้ว่าฯสัญจรไปดูปัญหาน้ำท่วม ที่หมู่บ้านสุขสันต์ 6 ซอยกาญจนาภิเษก 5 มีการแก้ไขอย่างไร?

เราแก้ไขหมดแล้ว ยกระดับถนนหมดแล้ว เหลือหมู่บ้านสุขสันต์ 7 อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างผู้รับเหมา มาดำเนินการยกระดับถนน แล้วก็เปลี่ยนท่อระบายน้ำ

⦁ ตอนนี้มีปัญหาเหล้าปลอมระบาด ที่เขตบางแคพบไหม?

เมื่อไม่นานนี้เพิ่งประชุมกรรมการชุมชน ผมก็ประชาสัมพันธ์ว่าให้ช่วยสอดส่องดูแลให้หน่อย ว่ามีลักลอบขายยาดอง ขายเหล้าเถื่อนอะไรไหม ก็ไม่มี พี่น้องประชาชนก็แจ้งว่ายังไม่พบ ซึ่งวันที่ประชุมชุมชน ทาง สน.ก็มาด้วย สน.ก็ยืนยันว่าแจ้งได้เลยถ้ามีเจอที่ไหนแจ้งได้ เราประสานงานกับ สน.ทำงานร่วมกันตลอด

⦁ ทำงานกับ ส.ก.เขตบางแค (อำนาจ ปานเผือก พรรคประชาชน) เป็นอย่างไรบ้าง?

ทำงานด้วยความราบรื่น มีปัญหาอะไรท่านก็แจ้งมาที่เขต เรามีอะไรให้ช่วยอธิบายกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ท่านก็ทำ เราไปด้วยกันทำงานควบคู่

⦁ มีการประสานงานโรงพยาบาลราชพิพัฒน์อย่างไรบ้าง?

กับโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เราก็ยังมีศูนย์บริการสาธารณสุข 40 ด้วย เราก็ออกไปตรวจเยี่ยมพี่น้องประชาชน ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง โดยมีฝ่ายพัฒนาชุมชนที่จะเข้าไปช่วยดูแลซัพพอร์ตกับศูนย์บริการสาธารณสุข เรามีข้อมูลผู้ป่วยติดเตียงที่จะต้องดูแลประมาณกว่า 40 ราย เราก็ดูแลเรื่องถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภคบ้าง

⦁ ปัญหาไหนที่หนักใจ หรือแก้ไขยากมาก?

อย่างที่เรียนไปแล้ว ก็คือบางพื้นที่เป็นที่ของเอกชน และเราก็ติดต่อเขาไม่ได้ หนึ่ง อาจจะด้วยสาเหตุที่เป็นมรดกของลูกหลานไปแล้ว เราก็สืบหาลูกหลานไม่ได้ ทีนี้เราก็เลยต้องพยายามที่จะไขแก้ปัญหาพี่น้องประชาชน แบบชั่วครั้งชั่วคราวไป

⦁ ปัญหาแท็กซี่จอดแช่หน้าตลาดบางแค แก้ปัญหาอย่างไร?

ตลาดบางแค เป็นตลาดเก่าแก่ ที่พี่น้องฝั่งธนฯมาจับจ่ายใช้สอยกันมาเนิ่นนานแล้ว คงต้องปรับเปลี่ยนกายภาพด้วย อย่างเช่นรถที่วิ่งออกมาพอผ่านตลาดบางแค แล้วมาเจอไฟแดงถนนบางแค ซึ่งอาจจะมีปริมาณรถเยอะ แล้วพี่น้องที่จับจ่ายใช้สอยก็อาจจะต้องเรียกแท็กซี่ เรียกรถสาธารณะ ประกอบกับไฟแดงที่อยู่ข้างหน้า ก็เลยอาจจะทำให้การจราจรติดขัดตรงนั้น ก็ได้ประสานกับ สน.แล้วก็สำนักการจราจร ในการควบคุมไฟแดงให้ปล่อยระยะยาวขึ้น

⦁ สวนสาธารณะ รวมถึงสวน 15 นาทีในเขตบางแคมีอยู่กี่สวน?

เดิมมีสวนอยู่ 5 สวน ในปี 2566 เราทำเพิ่ม 1 สวน ในปี 2567 ทำเพิ่มอีก 3 สวน ก็จะได้ 9 สวน ส่วนสวนบางแคภิรมย์ เป็นสวนสาธารณะใหญ่ ที่พี่น้องประชาชนมาใช้บริการเยอะ แต่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม

⦁ ตลาดบางแคภิรมย์มีการโปรโมตอย่างไร?

ท่านผู้ว่าฯพยายามโปรโมต อยากจะให้ร้านค้าเข้าไปเช่า เป็นการแบ่งเบาภาระด้านเศรษฐกิจ โดยเก็บค่าเช่าในราคาถูก แต่ว่าตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยกระเตื้องเท่าไหร่ แต่ว่าเรามีโครงการในเดือน ต.ค.นี้ เราจะจัดตลาดนัดของกลุ่มเขตกรุงธนใต้ ที่ตลาดบางแคภิรมย์ โดน 7 เขตของกลุ่มเขตกรุงธนใต้ จะระดมสินค้าให้พี่น้องประชาชนจับจ่ายใช้สอย เป็นสินค้าในพื้นที่ของ 7 เขต ซึ่งให้ผู้ผลิตมาจำหน่ายด้วยตัวเอง ไม่ต้องผ่านคนกลางอะไร เป็นการที่ผู้ซื้อกับผู้ขายเจอกันโดยตรง

⦁ สินค้าชุมชนเด่นๆ ของเขตบางแคมีอะไรบ้าง?

พวกพืชผักผลไม้ คือเรายังมีสวนปลูกอยู่ มีพี่น้องเกษตรกรอยู่ในพื้นที่ แต่ที่ขึ้นชื่อก็คือฝรั่งลุงพล คือลุงพลเป็นคนปลูก ปลูกด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ซึ่งไม่ใช้สารเคมี ผมยังเคยไปเยี่ยมเลย แกก็ปลูกเองขายเองอยู่ที่นั่นแหละ ประมาณ 3-4 ไร่ เวลาเขตมีงานก็สนับสนุนให้ไปขาย นอกจากนี้ ก็มีสวนทิดป้อม เป็นเป็นผักออร์แกนิค พวกผักสลัดที่ปลูกโดยวิธีออร์แกนิค ที่หน้าสำนักงานเขตเราก็มีพืชผักผลไม้มาขายทุกวันในตอนเช้า ให้พี่น้องที่ต้องการระบายสินค้าได้มีโอกาสมาขาย

⦁ สถานที่ท่องเที่ยวในเขตบางแคมีอะไรบ้าง?

สถานที่ท่องเที่ยวเรากำลังจะโปรโมตอยู่ แต่ว่าต้องฝากรุ่นหลังช่วยดูให้หน่อย มีแนวคิดกับหลายท่านว่าอยากจะทำตลาดน้ำบริเวณวัดม่วง ซึ่งเมื่อก่อนเป็นเส้นทางผ่านของเกษตรกรที่อยู่แถวๆ นครชัยศรี เอาสินค้ามาขายในเมือง แต่พอถึงเวลาน้ำลงเรือไปไม่ได้ ก็ต้องจอดแวะที่วัดม่วง แล้วพักสินค้าและสินค้าก็คือมะม่วง เราอยากให้เป็นตลาดน้ำ เพราะว่าเราไม่ค่อยมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติ เป็นวัฒนธรรมเก่าๆ ส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ชอบเที่ยวอะไรที่เป็นวัฒนธรรมเก่าๆ ตลาดเก่า ตลาดโบราณ เราก็พยายามจะฟื้นฟูขึ้นมา

⦁ มีการจัดทำงบประมาณพัฒนาตลาดน้ำแล้วหรือยัง?

เราพยายามที่จะไม่ใช้งบประมาณ เพราะอยากใช้ความเป็นตลาดธรรมชาติที่พี่น้องประชาชนมาค้าขายเอง ต้องเข้ามาร่วมแรงร่วมใจกัน ดึงภาคประชาสังคมมาช่วยกัน ซึ่งก็มีการพูดคุยกันมานานแล้ว เพราะเราอยากให้คนในพื้นที่ที่เป็นเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนมาทำ มีผู้สนับสนุน ไม่อยากให้เป็นตลาดนัดที่จัด 4-5 วันแล้วเลิก

⦁ การทำงานในกลุ่มเขตกรุงธนใต้เป็นอย่างไร?

กรุงธนใต้เหนียวแน่นมาก ทำงานด้วยกันอย่างสนุกสนาน มีครั้งหนึ่งที่เกิดเหตุตึกเอียงจะล้ม แล้วข้างหลังเป็นชุมชน ท่านนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เขาบอกว่าให้ทำบังเกอร์ เอากระสอบทรายมาค้ำไว้ ตัวตึกเอียงตลอด ไม่อย่างนั้นต้องรื้อตึกทันที ตอนนั้นเช็กกระสอบทรายที่เขตมีอยู่ 300 ใบ โทรกริ๊งในเขตกรุงธนใต้ ภายใน 2 ชั่วโมง รถขนกระสอบทรายมาเต็ม ช่วยกันดีมาก

⦁ ฝากทิ้งท้ายถึงพี่น้องชาวบางแค?

ฝากเรียนพี่น้องประชาชน ขอบคุณในความพึงพอใจที่มอบให้ แล้วก็เราก็ยังทำต่อ ถ้าสิ่งใดที่อาจจะทำล่าช้า หรือว่ายังแก้ไขไม่ครบถ้วน เราก็พยายามที่จะปรับปรุงต่อไป

⦁ ถามจริงๆ ชีวิตหลังเกษียณวางแผนทำอะไร?

ดูแลสุขภาพก่อน ตอนแรกอาจจะพักผ่อนสักระยะหนึ่งก่อน วางแผนไปเที่ยวกับภรรยา แต่ถ้าหน่วยงานมีอะไรจะให้แนะนำปรึกษาก็ยินดี ทางเขตบางแคยังคิดถึงอยู่ อยากจะให้มาให้คำปรึกษา ให้ข้อแนะนำอะไรก็ยินดี เราก็ไม่ได้ตัดขาดกันเสียทีเดียว

อย่างน้อยๆ ก็ทำงานกับ กทม.มาตลอด 35 ปีแล้ว (ยิ้ม)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image