ผู้เขียน | ภูมิดนัย สารพันธ์ |
---|
ประกาศให้โลกรู้ ‘นี่คือยุครุ่งเรือง’
เทศกาลประวัติศาสตร์
เมื่อ LGBTQ+ รันวงการภาพยนตร์
‘ไทย’ เป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’
พ.ร.บ.ฉบับใหม่ อันเกิดขึ้นจากการเคี่ยวเข็ญผลักดันของทุกภาคส่วน เพื่อคืน ‘เสรีภาพทางความรัก’
ให้บุคคลทุกเพศสภาพ ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ตามหลักเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ให้เพศทางเลือก ได้รับสิทธิเลือกคู่ครองได้อย่างที่ควรจะเป็น ไม่จำกัดแค่ชาย-หญิง เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีความสัมพันธ์ ความรัก ต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคมไม่ต่างกัน
‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ กลายเป็นประเด็นที่คนหันมาสาดสปอตไลต์ เห็นได้จากภาพคู่รักที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ ทั้งไทย-เทศ สะท้อนให้เห็นชีวิต ความเป็นอยู่ การถูกยอมรับทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น ‘รักแห่งสยาม’ แสดงให้เห็นความกล้าที่จะยอมรับตัวตนของตนเอง หรืออย่าง ‘วิมานหนาม’ ที่แม้จะออกโรงฉายหลังฉลองกฎหมายไปไม่นาน แต่ก็ได้ทำหน้าที่สื่อสารความปรารถนาของคู่รัก LGBTQ+ ไว้อย่างไม่ขาดตก
ล่าสุด Before I Change My Mind จากผู้กำกับ Trevor Anderson ภาพยนตร์สัญชาติแคนาดา แนวคอมเมดี้-ดราม่า ถูกนำมาฉายเปิดตัว ใน เทศกาล Thailand international LGBTQ+ Film And TV Festival 2024 ไปหมาดๆ นำทีมร่วมจัด โดย กระทรวงวัฒนธรรม, กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ศูนย์การค้าสยามพารากอน, หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กลุ่มบางกอกไพรด์
และเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ระหว่าง 6-10 กันยายนที่ผ่านพ้นมา
พาผู้ชมย้อนกลับในยุค 80’s ลองนั่งในใจ ‘โรบิน’ สัมผัสเรื่องราวของเด็กที่ไม่ได้เปิดเผยเพศของตนเองว่าเป็นหญิงหรือชาย (Non-Binary) ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในโรงเรียนแห่งใหม่ ซึ่งการไม่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นเพศไหน ทำให้เพื่อนในโรงเรียนมอง โรบินเป็นตัวประหลาด กลุ่มเด็กในโรงเรียนจึงชอบหาเรื่องมาปั่นประสาทและกลั่นแกล้งอยู่บ่อยครั้ง
ทำให้เขาต้องทนอยู่กับแรงกดดัน จากความเปลี่ยนแปลง และการต่อสู้เพื่อสานสัมพันธ์กับเพื่อนกลุ่มใหม่
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามไปยังสังคมวัยรุ่นในช่วงระหว่างยุค 80’s ทั้งการยอมรับความแตกต่างทางเพศ ไปจนถึงประเด็นความละเอียดอ่อนในการเติบโตของเยาวรุ่น ที่พยายามอย่างหนักเพื่อยืนหยัดในสังคมที่เต็มไปด้วยความคาดหวัง
ท่ามกลางความสับสนและการค้นหาตัวเอง จะทำอย่างไรให้คนรอบข้างยอมรับ ‘ตัวตน’ ที่แท้

ช่วงเวลาประวัติศาสตร์
ยุคโอบรับความหลากหลาย
“ผมคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ได้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์ Thailand international LGBTQ+ Film And TV Festival 2024 ครั้งแรก
เป็นการประกาศครั้งสำคัญของการเริ่มต้น การโอบรับความหลากหลายทางเพศ เรากำลังจะประกาศถึงการเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของภาพยนตร์ ที่แสดงสัญลักษณ์เกี่ยวกับเพศทางเลือกในประเทศไทย”
คำประกาศเจตนารมณ์ของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี้ยบ ในฐานะกรรมการ และเลขานุการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ทำงานด้านยุทธศาสตร์พลังละมุน ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
โดยประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนตัว ‘หมอเลี้ยบ’ ขอชื่นชมไปยังบริษัท
กันตนา และผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนทำให้งานนี้เกิดขึ้นมา
เชื่อว่าเทศกาลนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ที่บ่งบอกว่าประเทศของเรากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ครั้งใหญ่ ทั้งในเรื่องภาพยนตร์ ทีวีและอีกหลายส่วน
“สิ่งเหล่านี้จะนำเสน่ห์ของประเทศไทยและความเท่าเทียมทางเพศ ไปสื่อกับคนทั้งโลกได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหน มีความหลากหลายอย่างไร พวกเราพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้เกิดความเท่าเทียมกัน
พร้อมกันนั้น ภาพยนตร์ก็จะเป็นเครื่องมือสื่อไปให้ทั่วโลกเห็นว่า ประเทศเราพร้อมที่จะเปิดโอกาสของความแตกต่างทางเพศให้กับทุกคน” นพ.สุรพงษ์กล่าวอย่างภูมิใจ
LGBTQ+ไทยแคร์ไม่แพ้ชาติอื่น
ฉายแววให้โลกรู้แรงดึงดูดนักท่องเที่ยว
ทางด้าน ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก ผู้อำนวยการเทศกาล Thailand international LGBTQ+ Film and TV Festival
ยกให้เป็นเฟิร์สต์ไทม์ ครั้งแรกของประเทศเรา ที่มีเทศกาลนำภาพยนตร์จากทั่วโลกมาบอกเล่าเรื่องราวของความหลากหลายทางเพศ มัดรวมไว้ในงานเดียว
โดยวางเป้าหมายหลักคือ การสนับสนุนความเท่าเทียม และคาดหวังให้ผู้คนตระหนักถึง การยอมรับความหลากหลายทางเพศ
ปิยะรัฐ มั่นใจว่าการจัดเทศกาลนี้ จะมีส่วนให้ผู้คนได้เห็นถึงความมีศักยภาพของประเทศ ทั้งด้านการยอมรับความเปิดกว้างของผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทุกมิติ
“เรายังเชื่อว่ามันจะเป็นโอกาสที่ดีในการแสดงศักยภาพในการสร้างภาพยนตร์ และยังมุ่งมั่นที่จะผลักดันภาพยนตร์ไทย ให้ก้าวสู่เวทีระดับโลก
เรายังหวังว่าจะสามารถสร้างซอฟต์พาวเวอร์ที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมไทย ให้ทั่วโลกได้เห็น เป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวและผู้สร้างภาพยนตร์จากทั่วโลกเข้ามาในประเทศของเรา ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจในประเทศได้” ผู้อำนวยการเทศกาล TILFF 2024 เห็นแง่มุมดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
“พวกเราต้องการสื่อให้โลกรู้ ว่าเราอยากให้ทุกคนมาร่วมมือกันสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิม เป็นพื้นที่ของคนทุกเพศทุกวัย”
ปิยะรัฐออกตัวว่า แม้เทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ก็นับเป็นจุดมุ่งหมายอันดี ที่จะทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น
“เราก็ได้แต่หวังว่าผลตอบรับที่ได้จะออกมาดี จะมีการพัฒนารูปแบบของงานให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเราต้องการจะสื่อให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศไม่แพ้ชาติอื่น” ปิยะรัฐกล่าวทิ้งท้าย
โอกาสสร้างชื่อรันวงการภาพยนตร์ สู่เวทีโลก
ในสายตาของ ประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม คิดเห็นว่าไทย เป็นประเทศที่มีเสน่ห์ในหลายด้าน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร วัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว ธรรมชาติ และความเป็นคนไทยที่สุดแสนจะยูนีค มั่นใจอย่างยิ่งว่าจะเป็นตัวดึงดูดให้ผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อสัมผัสประสบการณ์เหล่านั้น ที่เห็นได้ผ่านภาพยนตร์
ประสพ เชื่อว่าการที่เทศกาลนี้ ได้รับความสนใจจากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพราะมีประเด็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ ที่ทั่วโลกให้ความสนใจอยู่
ในฝั่งของ กระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ทำหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสื่อวีดิทัศน์ต่างๆ ถือว่าเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้เป็น ก้าวสำคัญที่จะนำอุตสาหกรรมวงการภาพยนตร์ไทย ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
“โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่เนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ แสดงเนื้อหาทันสมัย ประกอบกับมุมมองความเท่าเทียมทางเพศ จะช่วยให้วงการภาพยนตร์ไทย เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับโลก” ประสพเผยมุมมอง
มีวันนี้เพราะช่วยกัน
สูญเสียคือแรงผลักดันมากว่า 20 ปี
สำหรับ อรรณว์ ชุมาพร หรือ วาดดาว หนึ่งในผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กล่าวในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ ที่รวมกลุ่มขับเคลื่อนมามากกว่า 20 ปี กว่าจะมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมในวันนี้
ทั้งทำงานร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกันร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปี 2558 ที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีกลไกหลายอย่างที่ไปหนุนเสริม ให้ผลักดันสมรสเท่าเทียมได้สำเร็จในเวลาต่อมา
วาดดาวเล่าว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีคู่รักหลายคู่ที่ออกมาเรียกร้องว่าถูกเลือกปฏิบัติ เพราะว่าไม่สามารถแต่งงานกันได้ มีการวินิจฉัยของคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ที่พิจารณาออกมา ซึ่งมีประโยชน์กับกลุ่ม LGBTQ+ เป็นอย่างมาก
“การบอกว่า การวินิจฉัยให้แต่งงานไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ หรือการที่นักเรียนไม่สามารถแต่งตัวตามเพศสภาพตัวเองได้ เป็นการเลือกปฏิบัติ ส่งผลไปยังข้อกฎหมายสมรสเท่าเทียม ให้ก้าวหน้าไปได้
“เท่าที่เราปฏิบัติงานมาตั้งแต่ปี 2556 มีหลายเหตุการณ์ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจ เป็นเหตุการณ์ของคู่เลสเบี้ยนไปจดทะเบียนสมรสที่เขตบางรัก สุดท้ายเจ้าหน้าที่เขตก็ไม่จดทะเบียนให้ เรารู้สึกว่ามีบางสิ่งผิดปกติ ทำไมถึงเป็นพวกเราที่แทบไม่มีสิทธิอะไรเลย
“อีกเคสหนึ่ง เป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ ที่พาแฟนของตัวเองไปหาหมอเพราะเส้นเลือดในสมองแตก แต่ไม่สามารถเซ็นรับรองการรักษาได้ เหตุการณ์นี้จึงทำให้รู้สึกว่ามันเป็นชีวิตจริงที่ทุกคนมีโอกาสเจอเหตุการณ์แบบนี้” อรรณว์เผยเรื่องราวที่เป็นแรงผลักดัน ให้ต่อสู้เพื่อสมรสเท่าเทียม
“มองกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วในวันที่ 4 กรกฎาคม กำลังอยู่ในช่วงระยะเวลา 90 วันก่อนการประกาศใช้ในวันที่ 2 ตุลาคม ซึ่งเราจะทราบผลการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถ้าไม่มีอะไรขัดข้องคาดว่าราวปลายเดือนธันวาคมนี้ ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะสามารถจดทะเบียนสมรส ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“ความสำเร็จครั้งนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนคนเดียว แต่ขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายที่มีการสูญเสียไปจริงๆ และการยอมรับของประชาชนในสังคม ที่ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ด้วย” อรรณว์ ยกความดีความชอบให้กับทุกคนที่ลงแรงขับเคลื่อนร่วมกัน จนถึงฝั่งฝันในวันนี้
ภูมิดนัย สารพันธ์