ผู้เขียน | ทีมข่าวเฉพาะกิจ |
---|
อุตสาหกรรมที่ทำถึง
‘FEED Y AWARDS 2024’ ที่ไม่ใช่แค่จิ้น
ถึงเวลาส่งออก พลังความฟิน
“ทุกวันนี้เขายัง Appreciate กับสิ่งที่เราจัดอยู่ เพราะทำให้เขามีตัวตน
เวลาให้สัมภาษณ์ก็มักจะย้อนไปว่า FEED นำเรามาตั้งแต่ยังไม่มีชื่อเสียง จนวันนี้ก็ยังเชิญเรามาทุกปี”
สมปรารถนา คล้ายวิเชียร รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย เครือมติชน ยกเรื่องราว
ของบ้าน Me Mine Y ในฐานะผู้ผลิตซีรีส์วายเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย หลังสื่ออารมณ์ดีสายไลฟ์สไตล์อย่าง FEED ชักชวนมาฉายแสง เชิญมาพูดคุย นำเสนอความเคลื่อนไหว เปิดพื้นที่ดันศิลปินไทยจนกลายเป็นที่รู้จัก
ล่าสุด ออกมาเหยาะน้ำจิ้มถึงงานใหญ่งานอลัง ‘FEED Y AWARDS 2024’ นับถอยหลังรอสัมผัสความฟินในอีกไม่กี่อึดใจ จากผลตอบรับ 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มศิลปิน Y หรือบอยเลิฟ ที่มาร่วมแจม ‘เมืองหลวงซีรีส์วาย’ ปัง! ชนิดที่ต้านไม่อยู่
21 กันยายนนี้ พร้อมเสิร์ฟความใจสั่นอีกครั้ง ควงแขนศิลปินนับ 100 ชีวิต มาปรากฏกายบนพรมแดง
ไม่เพียงแค่สาย ‘ซีรีส์วาย’ Boy Love แต่หมายรวมถึงนักแสดง Girl Love และวงการเพลง T-POP (วงการเพลงป๊อปไทย) รุ่นใหม่ๆ ที่จะมาร่วมกันสร้างสีสันใจกลาง พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 บันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย
ประกาศศักดา ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ระเบิดพลังความสร้างสรรค์ ให้เปล่งเสียงดังไปไกลระดับโลก!
หนนี้รับบทสื่อกลางมัดรวมทุกคอนเทนต์สายนี้ ให้แสงทุกบ้าน ซัพพอร์ตทุกด้อม ไม่ต่างจากลมใต้ปีก
ไม่ใช่แค่มา ‘จิ้น’ กันแล้วจบ เพราะศักยภาพคนไทยก็ครบจบ น่าส่งออกเกิ๊นน…
⦁‘อุตสาหกรรม’ ที่ทำถึง
ขนทัพความฟิน ส่งมอบพลังบวก
สมปรารถนา มองซีรีส์ Y เป็นตัวส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชั้นดี เห็นได้จากค่ายใหญ่ๆ ที่เริ่มเข้ามา
สนับสนุน ไม่ว่าจะแกรมมี่ ที่ปลุกกระแสให้คู่จิ้น
“หรืออย่าง Be On Cloud, Me Mine Y ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นค่ายเล็กๆ เราก็ชวนมาร่วมกันจัด ด้านนึง
มันก็เป็นเครดิตของเขา แฟนคลับเขาเยอะขึ้นด้วย รู้จักในวงกว้าง อีกด้านมันทำให้คนรู้ว่า นี่คืออุตสาหกรรมบันเทิงที่แข็งแรง”
สมปรารถนา ค่อนข้างชัวร์ว่าไปได้อีกไกลแน่ๆ จากที่เมื่อก่อนบ้านเราอิมพอร์ตป๊อปไอดอล อย่าง BNK48 เข้ามา แพตเทิร์นนั้นถูกนำมาใช้ แต่อีกมุม เราก็มีผู้ผลิตหรือค่ายที่สร้างเด็กไทยให้มีศักยภาพ จับมาฟอร์มวงกันและมีเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ดีในการร้อง เต้น จนเริ่มเห็นฐานแฟนๆ
“พอค่ายนึงทำแล้วเริ่มประสบความสำเร็จ ก็จะมีค่ายอื่นๆ เข้ามาทำเยอะขึ้น ทำให้ตลาดกว้างขึ้น งานปีที่แล้วเราก็มีโชว์จากศิลปิน T-POP ที่คนเริ่มรู้จักมากขึ้น เข้ามาร่วมในงานของเรา สัดส่วนของซีรีส์ Y (ชายชาย) และ Yuri (หญิงหญิง) 60% กับส่วนของ T-POP 40% เลยก็ว่าได้ เราเลยรู้สึกว่า T-POP น่าสนใจ แล้วเทรนด์มันก็มา” สมปรารถนาเผย
มองการซัพพอร์ต ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง สำคัญกับการขับเคลื่อนวงการอย่างยิ่ง
“เป็นรางวัลสนับสนุนให้เขามีกำลังใจผลิตงานต่อๆ ไป ไม่ใช่เฉพาะตัวนักแสดง เราให้ทั้งศิลปิน นักแสดงและผู้ผลิต ความจริงแล้วโมเดลเหมือนการมอบรางวัลในสายบันเทิงทั่วไป แต่เราอยากให้คนได้เห็นว่ามีจำนวนงานในตลาดเยอะ แล้วมีคุณภาพ น่าส่งเสริมด้วย” หัวเรือ FEED เผยถึงเหตุผลที่ต้องมีรางวัลนี้
ปีนี้มีผู้เข้าชิงที่น่าจับตา อย่าง ‘หมีเนย’ ที่ผลโหวตแซงโค้ง ส่วนคู่ยูริ ก็ไล่บี้สูสีสุดๆ
ถามถึงเกณฑ์ในการคัด หลักๆ ดูภาพรวม ทั้งจากตัวผลงาน คุณภาพเนื้อหา การนำเสนอ และเพอร์ฟอร์แมนซ์ เน้นงานดี ไม่ได้ดูเฉพาะกระแสความฮิต
⦁จากใต้ดิน สู่บนดิน
พิสูจน์แล้วว่าปัง การซัพพอร์ตสำคัญ
ในมุมสื่อที่คอยซัพพอร์ต เชื่อมั่นว่าเราจะไปยืนอยู่ในระดับสากล เหมือนอย่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ได้แน่ๆ
หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง
“ผมว่าซีรีส์วายไทยไปได้ไกลอย่างซีรีส์เกาหลี เราเอาตัวคอนเทนต์ไปขายทั้งในภูมิภาคนี้หรือต่างประเทศได้ ที่ผ่านมาก็ได้รับเสียงตอบรับดี นักแสดงมีฐานแฟนคลับอยู่ทั้งในจีน ญี่ปุ่น ยุโรป หรือแม้แต่ลาตินอเมริกา
“อย่างเวลาเราจัดงานแล้วไลฟ์สด จะเห็นต่างชาติเข้ามาคอมเมนต์ ภาษาสเปน ญี่ปุ่นก็มี เพราะจริงๆ แล้วเทรนด์ของอุตสาหกรรมนี้ก็ค่อนข้างไปได้ไกล มีเจ้าใหญ่ๆ บริษัทที่ให้ความสำคัญ ผมว่ามันก็จะเติบโตขึ้นไปได้เรื่อยๆ จากวันแรกๆ คนเควสชั่นว่าเราจะไปสู้กับ K-POP ได้อย่างไร ถ้าบุกอย่างจริงจังน่าจะขยายตลาดในต่างประเทศได้เยอะพอสมควร” สมปรารถนาเห็นขีดความสามารถที่ทะลุกรอบ
เพราะถึงจุดนึงได้พิสูจน์แล้วว่า ถ้าตัวศิลปินมีความสามารถ ก็สร้างแรงหนุนที่เข้มแข็ง สร้างฐานแฟนๆ ที่พร้อมซัพพอร์ตอย่างเหนียวแน่น ได้ไม่ยาก
“จริงๆ มันโตมาได้ด้วยภาคเอกชนและคนในแวดวงเป็นหลัก มีบางหน่วยงานเริ่มให้ความสำคัญ อย่างกระทรวงพาณิชย์ ที่เห็นศักยภาพของศิลปิน Y บ้านเรา ที่น่าจะใช้เป็นตัวเชื่อม เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ
“เริ่มเห็นการสนับสนุนจากภาครัฐบ้าง แต่ถ้าหากมีการพูดคุยกัน หรือวางทิศทางในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย อุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง ก็น่าจะส่งเขาไปได้ไกลกว่านี้” ผู้บริหาร FEED พูดในสายตาของสื่อที่เข้ามาจับตั้งแต่ยังไม่มีกระแส
จากที่เคยถูกกดทับไว้เมื่อสังคมเปิดกว้าง ผู้ผลิตก็กล้านำเสนอ สอดรับกับสถานการณ์บ้านเมือง ที่มี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พอดิบพอดี
“ปีแรกๆ เวทีทอล์กเราพูดกันเรื่อง การเอาคอนเทนต์ Y ขึ้นมาไว้บนดิน ให้คนทั่วไปยอมรับ จากที่ต้องหลบมุมเขียนในเว็บ หรือซ่อนไว้ตอนดึกๆ แต่พอสังคมเปิดกว้าง ศิลปินที่คนนิยมไม่ได้จำกัดแค่หญิง-ชาย เรื่องความรัก มันเกิดขึ้นได้กับทุกเพศสภาพ”
คือตัวบ่งชี้ ‘ได้รับการพิสูจน์แล้ว’ ว่าคนทั่วไปรับได้
“มันเป็นโอกาส สังคมพัฒนาจนถึงขั้นที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ เรามีงานไพรด์ใหญ่ติดอันดับโลก อุตสาหกรรมที่ตอบรับกระแสเหล่านี้ก็เติบโตไปพร้อมๆ กัน ซึ่งทาง FEED ก็ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนกระแสตรงนี้” สมปรารถนาทิ้งท้าย
⦁ไม่ใช่แค่จิ้น
รางวัล ‘FEED Y’ โอบรับคุณค่าความหลากหลาย
ด้าน เบญจพร ศรีดี บรรณาธิการบริหาร ฝ่าย Digital Media ‘FEED’ เล่าย้อนไปนับตั้งแต่ “FEED Y CAPITAL เมืองหลวงซีรีส์วาย” ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2022
นับเป็นสื่อ ‘ตัวเปิด’ แรกๆ ที่พรีเซ็นต์คอนเทนต์เกี่ยวกับ ‘ซีรีส์วาย’
“ตั้งแต่ยุคซีรีส์วายผุดมาจากใต้ดิน เราก็เป็นสื่อเจ้าแรกๆ ที่เข้าไปจับ และนำเสนอมาต่อเนื่อง กระทั่งเรามีประสบการณ์มาถึงจุดหนึ่ง ก็ได้ขยายรูปแบบออกมาเป็น ‘อีเวนต์’ เราอยากเปิดพื้นที่ให้เขาโชว์ศักยภาพ ว่ามันมีคุณภาพจริงๆ ไม่ใช่แค่มาจิ้นกัน” เบญจพรย้อนจุดเริ่นต้น
หวังทุกด้อมมาร่วมโชว์ได้ ไม่จำกัดบ้านเล็ก-บ้านใหญ่ หรือค่ายไหน
ก่อนเล่าถึงการจัดงานปีถัดมา ‘FEED Y CAPITAL 2nd เมืองหลวงซีรีส์วาย’ ช่วงกันยายน 2023 ซึ่งตอนนั้นเห็นกระแส T-POP เริ่มมา
“เราเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีศักยภาพ เขาซ้อมร้อง ซ้อมเต้นกัน ไม่ได้แพ้ K-POP หรือประเทศไหนเลย” เบญจพรเล็งเห็น
จากซีรีส์วาย ความสนใจขยายสู่ ‘ซีรีส์ยูริ’ แบบหญิงรักหญิง จึงตั้งใจที่จะผลักดันอุตสาหกรรมนี้ควบคู่กันไป ในงาน FEED Y Capital ครั้งที่ 2 นับได้ว่าเป็นการผนึก ยูริ และ T-POP เข้ามาไว้ในงานเดียว
นอกจาก ‘รางวัล’ จากคณะกรรมการทรงคุณวุฒิ ที่จะมอบให้กับศิลปิน T-POP ยังมีรางวัลคู่จิ้นจากซีรีส์วาย และยูริ รวมถึง ‘รางวัลยอดนิยม’ ครั้งแรก จากการร่วมโหวตผ่าน SMS อีกด้วย
“ปีนี้ได้เพิ่มสาขา T-POP เข้าไป ก็ต้องมาลุ้นกันว่าใครจะได้ เป็นรางวัลสำหรับศิลปิน T-POP และเพลงไทยยอดนิยม ที่จะมอบให้โดย FEED”
⦁ไฮไลต์ ที่ตาห้ามกะพริบ
เวทีส่งมอบพลัง โชว์ของ เดินพรมแดง
เพิ่มโชว์ รางวัล จัดหนักไฮไลต์ และเวทีทอล์ก
เบญจพร ขยับมาถึงความตื่นตาตื่นใจ ที่จะได้เจองาน FEED Y AWARDS 2024 ซึ่งปีนี้มาในคอนเซ็ปต์ SOFT POWER UNLIMITED
ไฮไลต์คือ จะได้มีตแอนด์กรี๊ดกับศิลปิน T-POP และนักแสดง Boy Love-Girl Love นับ 100 ชีวิต ที่จะมาโชว์ของบนพรมแดง มาส่งมอบพลังบวก
“อยากชวนทุกคนมางานวันที่ 21 กันยายนนี้ คนที่มางานก็จะได้รับความสุขกลับไป มารับพลังและมาส่งต่อพลังดีๆ ให้กัน ไม่ใช่แค่ได้เจอศิลปินแล้วแฟนคลับจะได้ปลื้มปริ่มอย่างเดียว ศิลปินเองก็ได้รับพลังจากแฟนคลับกลับไปด้วย” เบญจพรเผยความตั้งใจ
บก.บห.ฝ่าย Digital Media เน้นย้ำอีกว่า งานในปีนี้ก็รับรองว่าไม่ผิดหวัง ขนโชว์มาไว้บนเวทีตั้งแต่เที่ยงวัน ยาวไปจนถึง 3 ทุ่ม แล้วก็มาลุ้นกันว่าปีนี้ใครจะได้รับรางวัล
“แนะนำว่าให้มาตั้งแต่ช่วง 10.00 น. เพราะเรามีบูธกิจกรรมให้ร่วมเยอะมาก และที่สำคัญ ฟรี! แต่ใครอยากนั่งใกล้ชิดติดขอบเวทีในช่วงไฮไลต์ ก็ต้องติดตามได้ที่ทางเพจเฟซบุ๊ก Feed มีกิจกรรมต่างๆ ให้ร่วมลุ้นเพียบ” เบญจพรชี้เป้า
⦁ซีรีส์วาย-ยูริ ไม่แผ่วแน่
ต่างชาติชื่นชม ‘สมรสเท่าเทียม’
หันมาฟังมุม ‘เม’ เมธกานต์ เอนกธนะสุวรรณ และ ‘คริสติน’ กุลสตรี มิชารัลสกี้ นักแสดงรุ่นใหม่จากซีรีส์ ‘ดาวบริวาร Reverse 4 You’ ร่วมเล่าขานมุมมองต่อความรักว่า “ความรักก็คือความรัก มันเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย
พอมารับบทตรงนี้ รู้สึกดีใจมากๆ ที่ซีรีส์ของเราสามารถอยู่ในเน็ตฟลิกซ์ ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก รู้สึก
ดีใจมากๆ ถือว่าทำให้ไทยเป็นที่รู้จัก ในช่วงที่โลกเริ่มมีแนวโน้มเปิดกว้างมากขึ้น” คริสตินเผยความรู้สึก
ภาคภูมิใจที่ประเทศเราไปได้ไกล มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะขนาดเพื่อนชาวต่างชาติยังเคยพูดด้วยความอิจฉา ‘อยากมาแต่งงานที่ประเทศไทย’
“เขารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่น่ารัก ความรักในทุกรูปแบบที่มันเกิดขึ้นจริง มันเป็นสิ่งสวยงามเสนอ อย่าไปตีกรอบเลยว่าหญิง-หญิง ชาย-ชาย หญิง-ชาย” เมและคริสตินเผยมุมมอง
ด้าน ฐิติพันธ์ รักษาสัตย์ หรือมาดามฟันนี่ ผู้กำกับมือทอง ยอมรับว่าเราพูดถึง LGBTQ กันมานานมาก เป็น 10 ปี และหนังของเราได้ไปฉายงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ ตั้งแต่ยังไม่มีซีรีส์วาย จากนั้นมาก็พัฒนามาเป็นชาย-ชายมากขึ้น
“ซีรีส์วาย หรือยูริ อีก 5-6 ปี จะไม่มีวันแผ่วแน่นอน เพราะกลุ่มหลากหลายทางเพศมีมานานแล้ว ซึ่งอาจจะยังไม่เปิดตัวตนมากนัก แต่ปัจจุบันเปิดตัวกันมากขึ้น มีบทบาทมากขึ้นในด้านการสร้างสรรค์ผลงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“เราไม่สามารถปฏิเสธการมีตัวตนของเขาบนพื้นที่สื่อ และต้องมีกลุ่มความหลากหลายทางเพศ สอดแทรกในเนื้อหาอย่างไม่มีวันจบแน่นอน”