
‘ถ้วยสาเกจักรพรรดิ’
เลคเชอร์ทรงพลัง
ฟัง‘เสียง-สามัญชน’
เวทีทอล์ก‘คนธรรมดา’สร้างชาติ
หลังสิ้นเสียงปรบมือกึกก้อง ลิโด้ คอนเน็กต์ ฮอลล์ 2
ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกแก้วสาเก เชื้อเชิญผู้ร่วมงานดื่มด่ำกับรสชาติแห่งวัฒนธรรมญี่ปุ่น
เพื่อเป็นการปิดจบการแสดง Lecture Performance ‘An Imperial Sake Cup and I’ ถ้วยสาเกจักรพรรดิกับเรื่องเล่าสามัญ บนเวที ‘Talks for Thailand 2024 เสียง-สามัญชน’
12 กันยายนที่ผ่านมา เครือมติชน ระดมนักวิชาการชั้นนำของประเทศมาร่วมถ่ายทอดเจตจำนงมั่นของคนธรรมดา อันเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนชาติไปข้างหน้า
‘ดอกซากุระ’ ถูกซุกไว้ใต้เก้าอี้ หนังสือที่มีชื่อเดียวกับโชว์ถูกมอบแทนคำขอบคุณจากปัญญาชนลูกชาวบ้าน ‘บ้านโป่ง’ ผู้มีความพันผูกและหลงรักดินแดนอาทิตย์อุทัย
ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์เปิดด้วยการเล่าเรื่องราวชีวิตผ่านสิ่งของสะสมตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งแสตมป์ เหรียญ รูปภาพ ฯลฯ
‘มีดเชลย’ คือชิ้นแรกที่บิดาได้จากทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกชิ้นคือ ‘ถ้วยสาเก’ สีแดงชาด ที่ได้รับเป็นที่ระลึกจากการร่วมรับเสด็จมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ และพระชายา เมื่อ 60 ปีก่อน ครั้งยังเป็นพนักงานวิเทศสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร
ตลอดชั่วชีวิตของนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยท่านนี้ เปี่ยมล้นไปด้วยความทรงจำร่วมกับแดนอาทิตย์อุทัย นับแต่สงครามโลก จวบจนการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลของนักศึกษาไทยในทศวรรษที่ 70
ที่น่าเรียนรู้ว่าทำไมวันนี้ ‘สามัญชนญี่ปุ่น’ จึงเขยิบเข้าใกล้สังคมแห่งความเท่าเทียมเสมอหน้า ได้อย่างน่าทึ่ง
ดีดเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง
ดังต้นต้อยติ่ง

เปิดเสียงสามัญชน โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการ กอง บก.มติชนสุดสัปดาห์ ที่ยกเรื่องราวของ ‘โต น้อย เล็ก’ สามัญชนกลุ่มหนึ่งในนวนิยาย ‘คนดีศรีอยุธยา’ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่แม้จะไม่ใช่พี่น้องคลานตามกันมา แต่ร่วมทุ่มแรงเพื่อรวบรวมชาวบ้านที่แตกฉานซ่านเซ็นหลังกรุงแตกให้กลับมาเป็นชุมชนที่ปลอดการกดขี่
ดังที่เสนีย์เขียนไว้ว่า
“ผมพยายามขุดหารากเหง้าของสิ่งเหล่านี้ด้วยจินตนาการที่มีอย่างจำกัด ท่ามกลางป่าละเมาะที่มีไม้แก่น ที่แกร่งกล้าของบางระจัน คงจะมีต้นหญ้า หรือต้อยติ่งขึ้นอยู่บ้าง ผมไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่ในประวัติศาสตร์ และผมเชื่อว่า ผมไม่ได้ปลอมประวัติศาสตร์”
สุวพงศ์เปรียบสามัญชนกับต้นหญ้าและ ‘ต้อยติ่ง’ อันมีอยู่มากมายในสังคม แต่ไม่ได้การยอมรับในศักยภาพว่าคือผู้ร่วมสร้างชาติ แม้ถูกกดทับ ปิดกั้นโดยองค์กรอิสระจนน่าสิ้นหวัง แต่ก็ยังเกิดขึ้นใหม่มาทดแทนไม่ขาดสาย และแผ่กระจายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง
“ขอให้มีพลังอย่างต้นต้อยติ่งที่ดีดเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง และความฝันออกไปโดยกว้างขวาง ว่าสามัญชนมีสิทธิ มีเสียง สร้างชุมชน สังคม และชาติอันเท่าเทียมและเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด”
บก.มติชนสุดสัปดาห์เปิดไมค์ ให้เสียงคนธรรมดาดังก้องกังวาน

กรุยทางไว้นานแล้ว
‘โลกของสามัญชน’ อยู่ไม่ไกล
กษิดิศ อนันทนาธร จากรั้วนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง เปิดมุม สามัญชนสร้างชาติ : มองสามัญชนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่คำนี้สะกิดใจให้นึกถึง ‘สาย สีมา’ ตัวละครในนวนิยายปีศาจ เป็นโลกซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่อยู่ในโลกเก่า ไม่ต่างจากคณะราษฎร หรือกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องความเสมอภาค และการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งยังถูกมองเป็นปีศาจอยู่เสมอ
แม้สามัญชนจะไม่เคยถูกจารึกในแง่ ‘ร่วมสร้างชาติ’ แต่นวนิยาย ‘แลไปข้างหน้า’ ก็มีบทสนทนากระแทกใจ ที่หม่อมราชวงศ์รุจิเรข กล่าวกับตัวละครที่เป็นนักเรียนลูกชาวบ้านอย่าง ‘นิทัศน์’
‘แต่การที่พงศาวดารมิได้จารึกชื่อราษฎรสามัญชนจำนวนมากมาย ที่ได้สละเลือดเนื้อ ต่อสู้ ป้องกันบ้างเมืองของเราเหมือนกัน ก็ถือเป็นเหตุให้เราถือว่า เราไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณท่านผู้กล้าหาญ ที่เป็นสามัญชน ชาวบ้านเหล่านั้นด้วยหรือ’
กษิดิศเชื่อว่า ‘โลกของสามัญชน’ อยู่ไม่ไกล เพราะถูกกรุยทางมานานแล้ว ไม่ว่าจาก เทียนวรรณ, กบฏ ร.ศ.130, คณะราษฎร คนอย่าง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง, เตียง ศิริขันธ์ ที่ไม่ได้มาจากตระกูลชนชั้นสูง แต่เป็นผู้แทนทางปากเสียงให้กับคนธรรมดา ศักดิชัย บำรุงพงศ์, เสนีย์ เสาวพงศ์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา, ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตคนสำคัญ แน่นอนว่า ‘ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์’ คือ 1 ในนั้น
สามัญชนเปลี่ยนชาติ
ย้อนมอง ‘บทบาทคนธรรมดา’

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง จากรั้วคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวในหัวข้อ ‘บทบาทพลเมืองไทยในช่วงต้นรัฐประชาชาติ’ มองเป็น ‘ผู้ปิดทองหลังพระ’ เสียสละโดยไม่ต้องออกหน้า
“ผมนึกถึงเนื้อความอันหนึ่งของนักเรียนมัธยมปลาย เขียนเรียงความส่งรัฐบาลในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สาระสำคัญบอกว่า สยามจะเจริญได้ด้วยพลเมือง เขาเหมือนกับมีโลกทัศน์ใหม่ ภูมิใจในสามัญชน ไม่ได้สำนึกว่าประเทศชาติอยู่รอดด้วยมหาบุรุษ แต่ด้วยมือเรา” ผศ.ดร.ณัฐพลระบุ
หนึ่งในตัวอย่างคืองาน ‘ลาก่อนรัฐธรรมนูญ’ ของศรีบูรพา ที่เขียนโดยใช้ปากของ สมศักดิ์ เด่นชัย กล่าวถึงความภูมิใจที่ผู้คนมากมายออกมาพิทักษ์ประชาธิปไตย ซึ่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เกิดนิยามใหม่ที่ว่า ‘ชาติเป็นของเรา’ เห็นการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้าน ‘บ้านโป่ง’ หรืออย่างขบวนการเสรีไทย ที่พร้อมยินยอมสละชีพ ต่างจากอดีตที่ถูกกะเกณฑ์โดยไม่สมัครใจ

ในมุมของ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ มองละครเรื่อง ทองประกายแสด ที่ยังได้รับความนิยม ซึ่งเชื่อว่าแมสเพราะสะท้อนในสังคมไทยที่ขาดโอกาส จนผู้หญิงจำเป็นต้องใช้ร่างกายเข้าแลก
ประชาชนในชาติต้องหาช่องเติบโตเอง
“ทุกวันนี้ รูของระบบการเมืองที่คิดว่าน่าจะเป็นจุดที่ประชาชนเข้าไปได้ง่ายที่สุด ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด นายกฯมีสิทธิถูกถอดถอนได้ทุกคน มันสะท้อนว่า รูที่เล็กที่สุดที่ประชาชนน่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ก็ยังไม่เปิด” ศิโรตม์กล่าวปิดเสียงสามัญชน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังยื่นไมค์ให้ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทิ้งท้ายเล็กน้อย
“ผมคิดว่าเสียงสามัญชนในประเทศนี้ จะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงบางเรื่อง พวกเราจะได้เห็นในไม่นาน ผมว่าเสียงยังดังไม่พอ แต่โซเชียลมีเดีย การมีเวที ก็ทำให้คนหลากหลายคนได้คุยกัน และอาจจะทำให้เสียงนั้นก้องมากขึ้นกว่าที่เคย”
มีหลายเรื่องให้รื้อฟื้น
‘เวทีสะท้อนคนสามัญ’ สร้างแรงบันดาลใจ
ประดาป พิบูลสงคราม ทายาทจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนักการทูต ที่ตั้งใจมาชมการแสดงและรับฟังช่วงทอล์กของเหล่าวิทยากร อวยยศด้วยว่า โชว์สนุก แสดงดี และสอดแทรกแง่คิดใหม่ๆ
“อ.ชาญวิทย์ผูกประเด็นขึ้นมาได้น่าสนใจ ส่วน อ.กษิดิศและณัฐพลก็มีข้อมูลใหม่ๆ มาเล่าให้ฟัง ได้อัพเดตตัวเองด้วย” ทายาทจอมพล ป.ให้นิยาม ‘สามัญชน’ ว่าคือคนธรรมดา ที่มีสำคัญต่อการผลักดันประเทศด้วย ‘หน้าที่’ อันแตกต่างกันไป ซึ่งชาติจะพัฒนาได้ ชนชั้นปกครองต้องฟังเสียงเรียกร้อง

สำหรับ Ms.Kawamura Maki ผอ.สำนักข่าวสาร สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย หลังจบโชว์แล้วเอ่ยปากว่าประทับใจอย่างยิ่งที่ อ.ชาญวิทย์ เข้าใจอย่างถ่องแท้ในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทั้งยังอยากป้ายยาให้คนไทยได้ดู และเชื่อว่าคนญี่ปุ่นซาบซึ้งใจแน่ หวัง 2 ชาติ สานสัมพันธ์อันดีเช่นนี้ต่อไป
ด้าน ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง คนสำคัญ มาพร้อมกับ ดร.คริส เบเคอร์ ซึ่งมั่นใจว่าสังคมจะเจริญไม่ได้ หากประชาชนไม่มีความสุข หรือรู้สึกว่าไม่มีพื้นที่

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ผู้เขียน ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจ และทรงจำของ (คณะ) ราษฎร ได้แรงบันดาลใจที่ช่วยกระตุกความคิดทางด้านสังคม ชวนให้ย้อนคิดถึงยุคปัจจุบัน ว่าสามัญชนมีที่มีทางอยู่ตรงไหน

ในมุมของ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้เขียน ‘2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน’ เป็นหนึ่งในคนที่นิยมเก็บหนังสืออนุสรณ์งานศพ และยกมาเขียนถึงบ่อยครั้ง เพื่อไม่ให้คนเหล่านั้นถูกลืม
“มีเรื่องราวของสามัญชนในอดีตเต็มไปหมดที่เราควรรื้อฟื้นให้เป็นที่รู้จัก เพราะสามัญชนเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อรุ่นในการสร้างเนื้อสร้างตัว”

สำหรับ สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เชื่อว่าหลังจากนี้เสียงของสามัญชนจะดังขึ้นอีกเพราะมีการทำให้เกิดความขุ่นเคือง ว่าทำไมเสียงที่ดังที่สุดของพวกเขา ถึงไม่ได้รับความสำคัญ
มาถึงเสียงของ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ นักกิจกรรมทางการเมือง จากองค์กร CALL ประทับใจที่งานนี้ชวนให้นึกถึงการต่อสู้ของคนในอดีต ซึ่งจับจุดกับการต่อสู้ในยุคปัจจุบัน ไม่เพียงบันดาลใจในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังการปลุกความเป็นสามัญชนในตัว
ชานันท์ ยอดหงษ์ หรือ ปกป้อง นักประวัติศาสตร์ ที่เคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ ยกให้เป็นเวทีที่สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนเติบโตไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนสังคม ซึ่งรัฐสภาและพรรคการเมืองเองก็ได้หยิบเสียงนั้นมาพูดถึงอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น แต่ยังต้องอาศัยเวลา ความอดทน และความเข้มแข็งของโทนเสียงที่มีเหตุผล หลักฐานและทางแก้ไขเป็นองค์ประกอบ เพื่อให้ถูกนำมาปฏิบัติ
ให้คำว่า ‘เสียงของประชาชนคือเสียงของสวรรค์’ เกิดขึ้นได้จริง
ทีมข่าวเฉพาะกิจ