จากหอคองคอเดียสู่วังหน้า 150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงฉายพระรูปร่วมกับหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล และหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล พระธิดา ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ส่วนจัดแสดงประติมากรรมสัมฤทธิ์ และเครื่องใช้สัมฤทธิ์ต่างๆ ของพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร

จากหอคองคอเดียสู่วังหน้า
150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย

พิพิธภัณฑ์ไทย ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2417 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถือเอาวันที่มีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมวัตถุจัดแสดงใน ‘หอคองคอเดีย’ เป็นครั้งแรกเป็นจุดเริ่มต้น

หอดังกล่าว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในพระบรมมหาราชวัง ปัจจุบัน คือ ‘ศาลาสหทัยสมาคม’

ย้อนไปก่อนหน้านั้น กล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑ์ไทย มีรากฐานมาจากการเก็บรักษาเครื่องราชบรรณาการ และวัตถุสะสมส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแสดงในพระที่นั่งราชฤดี

ADVERTISMENT

ต่อมาย้ายไปจัดแสดงในพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ พระที่นั่งองค์หนึ่งในพระอภิเนาว์นิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง

ทว่า ในครั้งนั้นยังไม่นับเป็นพิพิธภัณฑ์ตามหลักสากล เพราะยังไม่มีการเปิดให้คนทั่วไปเข้าชม

ADVERTISMENT

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งโปรดให้นำวัตถุต่างๆ เหล่านั้น มารวมกับเครื่องราชูปโภคของหลวง ของแปลก ของมีค่า รวมถึงสิ่งของจากห้างร้านชาวยุโรป และอื่นๆ มาจัดแสดง ณ หอคองคอเดีย ดังที่กล่าวมาข้างต้น

นับแต่นั้น ได้พัฒนาต่อยอดเรื่อยมาจนปัจจุบัน โดยมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วไทย ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 5-6 (พ.ศ.2421-2422) พิมพ์เผยแพร่ ‘ว่าด้วยเครื่องแต่งตั้งในหอมิวเซียม’ อธิบายการจัดแสดงวัตถุต่างๆ ภายในหอคองคอเดีย

 

ขวดแก้วมีตะกร้อ ต้นไม้ สิ่งของต่างๆ อยู่ภายใน และโคมไม้ไผ่ฉลุลาย เมื่อ 150 ปีมาแล้ว
กล้องยาแดงทำด้วยรากไม้ไผ่ป่าแต่งเป็นรูปทรงต่างๆ
พระพุทธรูปปางถวายเนตร จำหลักจากแก้วสีต่างๆ

เนื่องในวาระ 150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทยใน พ.ศ.2567 นี้ กรมศิลปากร จัดงานใหญ่พร้อมเครือข่ายทั้งในและนอกสังกัดกรมศิลป์ ตั้งแต่ 19-21 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งอีเวนต์ เวทีเสวนา และพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนซึ่งเป็นที่นิยมตลอดมา

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการพิเศษ ‘จากหอคองคอเดีย สู่วังหน้า ภาพเก่าเล่าพิพิธภัณฑ์’ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ โดยยังเปิดให้เข้าชมในขณะนี้

โทนมโหรีและพิณเพียะ อายุราว 150 ปีมาแล้ว
แผ่นป้ายภายในนิทรรศการ เผยภาพและข้อมูลการจัดแสดงพระพุทธรูปและเครื่องดนตรีในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน (ภาพถ่ายเก่าครั้งรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ.2450)
ช้างทรงรูปพระโพธิสัตว์ในขบวนแห่วันวิสาขบูชา ศิลปะญี่ปุ่น อายุราว 100 ปีมาแล้ว ของทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดนิตไตจิ เมืองนาโกยา คราวเสด็จประพาสญี่ปุ่น พ.ศ.2473 พระราชทานแก่พิพิธภัณฑสถาน
พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นฤษี หรือโยคี ศิลปะอยุธยา พบที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา ย้ายมาจากอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษมในปัจจุบัน

บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ ‘หอคองคอเดีย’ กระทั่งพัฒนาสู่ ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร’ ผ่านข้อมูล เอกสาร และที่สำคัญคือภาพถ่ายเก่าเล่าเรื่องราวร้อยเรียงตามลำดับเวลา โดยนำโบราณวัตถุน่าสนใจที่ปรากฏในภาพถ่ายแต่ละห้วงเวลาออกมาตั้งตระหง่านให้ชมละลานตา

ตลอดระยะเวลา 150 ปี งานพิพิธภัณฑ์ไทย มีพัฒนาการเรื่อยมา ทั้งรูปแบบ และเนื้อหาการจัดแสดง รวมถึงกิจกรรมที่โน้มน้าวให้ชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติมีส่วนร่วม

พระพิมพ์แผงปางมารวิชัยและพระพุทธรูปปางมารวิชัย พบในกรุพระเจดีย์ใหญ่วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระราชวังโบราณ พระนครศรีอยุธยา
ภาพถ่ายเก่าเมื่อครั้งนำพระพุทธรูป พระพิมพ์ สถูปพระบรมสารีริกธาตุจากกรุพระเจดีย์ประธานองค์ทิศตะวันออก วัดพระศรีสรรเพชญ์ มาจัดแสดงให้ประชาชนชม ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับพระนคร 22-25 มีนาคม พ.ศ.2475
พิพิธภัณฑสาร เล่ม 4 เรื่อง ตำนานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในกรุงเทพฯ เรียบเรียงโดย หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ หัวหน้ากองพิพิธภัณฑ์ฯ จำหน่ายเล่มละ 50 สตางค์
หอคองคอเดีย ทางทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ส่วนพิพิธภัณฑ์ ‘แห่งชาติ’ ของไทย ในอนาคต จะก้าวเดินไปทางใด จะถูกย้อนเล่าบนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ของตัวเองอย่างไร

จะได้เห็นความเป็น ‘ชาติ’ ในความหมายใหม่ที่หมายถึงประชาชน ให้สมกับพิพิธภัณฑสถาน ‘แห่งชาติ’ โดยบอกเล่าเรื่องราวมากมายในหลากมิติผ่านวัตถุล้ำค่าที่เบื้องหลังล้วนมีผู้คนเป็นส่วนประกอบสร้างสำคัญด้วยหรือไม่ ยังต้องรอชมในกาลข้างหน้า

นิทรรศการพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย ‘จากหอคองคอเดีย สู่วังหน้า ภาพเก่าเล่าพิพิธภัณฑ์’ จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทุกวัน (ยกเว้นจันทร์-อังคาร) 08.30-16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2224-1370

พรรณราย เรือนอินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image