‘เมื่อดิฉันไปเกณฑ์ทหาร’…เตรียมตัว เตรียมใจอย่างไรดีสำหรับ’บุคคลข้ามเพศ’

-

เข้มงวดเข้ามาเรื่อยๆ แล้วสำหรับฤดูกาลเกณฑ์ทหารที่จะมาถึงในวันที่ 1-12 เมษายนนี้

แน่นอนว่านอกเหนือจากบรรยากาศอันเต็มไปด้วยความครึกครื้นของกองเชียร์ประจำถิ่นระหว่างการจับใบดำ-ใบแดง ท่ามกลางความลุ้นระทึกของเหล่าชายหนุ่มแล้ว ยังมีความหวือหวาของผู้เข้ารับเกณฑ์ทหารที่เป็น “คนข้ามเพศ” อันหมายถึง คนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดอีกด้วย

หลายครั้งหลายคราว สังคมเองก็ให้ความสนใจกับคนข้ามเพศมากกว่าเนื้อหาของการเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ทั้งในเรื่องรูปลักษณ์ บุคลิก กระทั่งการแต่งเนื้อแต่งตัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มากไม่น้อย พฤติกรรมเหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งความอึดอัดของเหล่าคนข้ามเพศเอง หรือหนักหนากว่านั้นยังนำไปสู่การถูกกดดันจากสังคมโดยรอบ หรือการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากสังคมซึ่งมีลักษณะของชายเป็นใหญ่และระเบียบวินัยอันเคร่งครัดอยู่สูง ซึ่งอาจเกิดจากความไม่รู้ตัวของสังคมด้วยส่วนหนึ่ง

Advertisement

ยังไม่นับว่า หากเป็นคนข้ามเพศแล้ว ใบรับรองผลการตรวจคัดเลือกทหารกองเกินจะระบุว่าเป็น “โรคจิตถาวร” ซึ่งนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง

ย้อนกลับไปในปี 2549 สามารถ มีเจริญ หนึ่งในคนข้ามเพศเข้ารับการเกณฑ์ทหารและแน่นอนว่า ใบรับรองผลการตรวจคัดเลือกทหารกองเกินนั้นระบุว่าสามารถเป็นโรคจิตถาวร นำมาสู่กรณีเครือข่ายความหลากหลายทางเพศยื่นฟ้องศาลปกครองให้กระทรวงกลาโหมแก้ไขข้อความในใบรับรองผลการตรวจคัดเลือก กระทั่ง 29 พฤศจิกายน 2549 ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาเพิกถอนใบสำคัญนั้นและแก้ไขข้อความว่าเป็น “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” แทน

ใช่หรือไม่ว่านี่นับเป็นความก้าวหน้าในเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนข้ามเพศอย่างใหญ่หลวงครั้งหนึ่ง

Advertisement

และด้วยเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย จึงจัดงาน “เมื่อดิฉันต้องไปเกณฑ์ทหาร” นำเสนอขั้นตอนการและการเตรียมความพร้อมของคนข้ามเพศในการเข้ารับคัดเลือกเป็นทหาร โดยมี รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานโครงการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน, พันเอก ไตรจักร นาคะไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และ เจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการบริหาร โครงการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมแนะนำแลกเปลี่ยนวิธีคิดตลอดงาน

รณภูมิ สามัคคีคารมย์, พ.อ.ไตรจักร นาคะไพบูลย์ และเจษฎา แต้สมบัติ
รณภูมิ สามัคคีคารมย์, พ.อ.ไตรจักร นาคะไพบูลย์ และเจษฎา แต้สมบัติ

คนข้ามเพศไม่ได้เป็นโรคจิต
คำระบุที่ต้องระวัง

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการระบุว่า คนข้ามเพศเป็นคนมีปัญหาทางจิตหรือโรคจิตถาวร”

รณภูมิ เปิดประเด็นหลักของการสนทนา อันเป็นเรื่องที่นำไปสู่ความยุ่งยากใจ เช่น ถูกปฏิเสธเวลาไปสมัครงานของคนข้ามเพศ

“รัฐธรรมนูญปี 50 เองระบุว่า พลเมืองไทยต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเพศ เราต้องสื่อให้คนในสังคมรับรู้และเข้าใจว่าคนข้ามเพศมีสิทธิที่จะถูกระบุว่าเป็นอะไร ถูกปกป้องอย่างไรเมื่อต้องไปเกณฑ์ทหาร”

เพราะอย่างหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดอย่างปฏิเสธไม่ได้คือ ทหารและกองทัพนั้นเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ซึ่งก็อาจจะด้วยความไม่รู้หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้เกิดการหยอกล้อต่อคนข้ามเพศ จนบางครั้งการเย้าแหย่นั้นก้าวข้ามขีดการหยอกล้อไปไกลลิบ จนกลายเป็นการเหยียดหรือดูหมิ่นความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย

นี่ยังไม่นับว่าเคยมีการตรวจร่างกายคนข้ามเพศในพื้นที่ไม่มิดชิด, ถูกใช้ให้เสิร์ฟน้ำ นวด หรือเต้นเพื่อสร้างความบันเทิงในฐานะ “ตัวตลก” และอาจถึงขั้นถูกสั่งให้ถอดเสื้อเพื่อขอดูหน้าอก กระทั่งขู่ขอมีเพศสัมพันธ์ในบางกรณี

ใช่หรือไม่เล่าว่า นั่นย่อมเป็นพฤติกรรมที่ไม่อาจยอมรับได้ ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน

“คนข้ามเพศบางคนเลยไม่อยากไปเกณฑ์ทหาร เพราะไปแล้วกลัวโดนถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้า กลัวโดนละเมิดด้านร่างกายหรือทางคำพูด” ซึ่งแน่นอนว่าอย่างหลังนี้อาจไม่ได้มาจากเจ้าหน้าที่เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังรวมถึงกองเชียร์ กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่ทำให้เกิดความอับอายต่อคนข้ามเพศ

ดังนั้น เป้าหมายของรณภูมิจึงไม่ได้อยู่แค่ที่ท่าทีหรือความเข้าใจจากเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสังคมด้วย

ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ
รอยกระเพื่อมในทางที่ดี

อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการบริหารโครงการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างเจษฎา มองว่า ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงฤดูกาลเกณฑ์ทหารในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดใหญ่ๆ แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น การดูแลคนข้ามเพศอย่างละเอียดอ่อนและให้เกียรติกันมากขึ้น

“แต่ก็ยังมีความท้าทายจากกองเชียร์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ยังละเมิดสิทธิคนข้ามเพศด้วยคำพูดอยู่บ้าง กระทั่งสื่อเองก็นำเสนอว่า ปีนี้จะมีคนข้ามเพศมาเกณฑ์ทหารมากแค่ไหน ใครสวย มันเลยเป็นการผลิตภาพซ้ำของคนข้ามเพศด้วย”

ขณะที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการบางคนก็อาจกระทำไปโดยไม่ทันยั้งคิด เช่น การขอดูอวัยวะบางส่วนที่ผ่านการตัดมาแล้วของคนข้ามเพศ หรือการถามถึงเพศวิถี ไม่ว่าจะคบใครหรือเพศใด อันเป็นคำถามซึ่งอยู่นอกเหนือการปฏิบัติงาน

“ซึ่งเราเข้าใจว่าส่วนนี้ เจ้าหน้าที่อาจไม่ได้อยากละเมิดสิทธิแต่เป็นคำถามที่มาจากความไม่รู้” เจษฎาย้ำ

 พ.อ.ไตรจักร นาคะไพบูลย์
พ.อ.ไตรจักร นาคะไพบูลย์

อย่าหลบ อย่าหนี
หากมีเอกสารพร้อม

พ.อ.ไตรจักร นาคะไพบูลย์ เสริมว่า หลังเหตุการณ์ของสามารถ มีเจริญ เมื่อปี 2549 เกิดขึ้น ทางเจ้าหน้าที่หรือทางกองทัพบกก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการประชุมเพื่อที่จะกำหนดคำเหมาะสมสำหรับน้องๆ บุคคลข้ามเพศ โดยเป็นการประชุมร่วมมือกับฝ่ายสื่อสารมวลชน กระทรวงสาธารณสุข และกรมการแพทย์ กระทั่งปี 2555 จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์สำเร็จ

“ในกรณีที่มีบุคคลข้ามเพศเข้ามาเกณฑ์ทหาร เราจะกำหนดให้อยู่ในประเภทที่ 2 คือ ใช้ลักษณะในทางที่ว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด จากนั้นก็ประชาสัมพันธ์ไปหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติต่อบรรดาคนข้ามเพศนั้น คือหน่วยงานสัสดี

“เพื่อให้เข้าใจว่าจากนี้หากมีน้องๆ บุคคลข้ามเพศเข้ามาเกณฑ์ทหาร เราจะไม่กำหนดให้เป็นโรคจิตถาวร แต่เราจะกำหนดให้เป็นบุคคลข้ามเพศหรือบุคคลที่มีเพศภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”

ทั้งนี้ อยากให้คนข้ามเพศเตรียมตัวมาให้พร้อมในวันเกณฑ์ทหารตามระบบขั้นตอนที่วางไว้ ทั้งย้ำให้มาแสดงตัวในวันตรวจเลือก อย่าหลบหนี เพราะหากเตรียมเอกสารไว้ครบถ้วน คณะกรรมการตรวจเลือกฯ ทุกพื้นที่ก็จะนำเอกสารเหล่านั้นไปดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้ความเป็นธรรม ความถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ที่กองทัพได้กำหนดไว้สำหรับคนข้ามเพศที่เข้ามาทำการตรวจเลือกทหารฯ

โดยการกำหนดให้เป็นบุคคลข้ามเพศนั้น กองทัพได้แบ่งเป็น 3 ระดับคือ

1.การผ่าตัดแปลงเพศและมีหนังสือรับรอง

2.ยังไม่ได้แปลงเพศแต่มีลักษณะส่วนอื่น ฮอร์โมนก็ดีหรือมีการเสริมหน้าอก ตัดกล่องเสียง

3.เป็นสุภาพบุรุษเต็มร้อย แต่มีลักษณะเป็นบุคคลข้ามเพศ โดยลักษณะนี้จะมีการตรวจร่างกายก่อน ซึ่งในแต่ละปีจะมีให้ไปตรวจยังโรงพยาบาลทหารต่างๆ ทั่วประเทศ

“ในวันเกณฑ์ทหารถ้ามีน้องๆ ที่เป็นเพศภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดมาเข้ารับการเกณฑ์ ขอให้ปฏิบัติเสมือนน้องๆ เป็นสุภาพสตรี คือจะต้องจัดเก้าอี้ให้นั่งให้เรียบร้อย จะต้องไม่มีการพูดถึงหรือแสดงกิริยาไม่ดี แม้กระทั่งการตรวจ ถ้าจำเป็นต้องตรวจจะต้องไปตรวจในห้องลับเท่านั้น” พ.อ.ไตรจักรย้ำ

ทั้งหมดนี้คือก้าวใหญ่ที่สำคัญอีกก้าวของการเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ซึ่งมีวิถีทางดำเนินชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย และความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้นั่นเองที่เราล้วนต่างต้องเคารพ

เคารพในความเป็นมนุษย์ และมากที่สุด-มันย่อมหมายถึงการเคารพตัวเราเอง

เมื่อดิฉันไปเกณฑ์ทหาร
เตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรให้พร้อม

ในกรณีที่เป็นบุคคลข้ามเพศที่ต้องไปเกณฑ์ทหาร ให้เตรียมตัวดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 เตรียมตัวให้พร้อม อายุ 17 ปี ไปรับใบสำคัญทหารกองเกินหรือใบ ส.ด.9 อายุ 20 ปี ไปรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร หรือ ส.ด.15 และก่อนวันเกณฑ์ทหารจริง 1-12 เมษายนของทุกปี ต้องไปขอใบรับรองสภาพร่างกายและจิตใจ หนังสือสำคัญที่ใช้ยืนยันราชการในความเป็นเพศสภาพ ขอได้กับโรงพยาบาลทุกแห่งที่มีแผนกจิตเวชหรือสังกัดโรงพยาบาลทหาร เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลในค่ายทหาร และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยขอได้ตั้งแต่เดือนมกราคม ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ก่อนจะนำเอกสารต่างๆ บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หลักฐานการศึกษา และใบรับรองแพทย์ที่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยด้านอื่นๆ

ขั้นตอนที่ 2 อ่านกำหนดการให้รอบคอบ แต่งตัวให้รัดกุม กางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้น โดยหากมีทหารท่านใดที่ไม่มีปลอกแขนสีแดงกำกับอยู่สั่งให้ถอดเสื้อก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

เมื่อยื่นเอกสารเสร็จสิ้นแล้ว หากถูกจัดให้เข้าสู่ บุคคลประเภทที่ 1 หรือจับได้ใบแดง ให้รีบนำเอกสารไปยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการคัดเลือกทันที โดยห้ามกลับบ้านก่อนอย่างเด็ดขาด ซึ่งกรรมการคัดเลือกนั้น ให้สังเกตที่ปลอกแขนสีแดงของเจ้าหน้าที่ โดยคณะกรรมการคัดเลือกที่มีอำนาจสั่งการนั้นมีเพียง 3 คนเท่านั้น ได้แก่ ประธานกรรมการคัดเลือก, แพทย์ประจำหน่วยคัดเลือก และกรรมการสัสดีจังหวัด

โดยภายในงานมีการแนะนำว่า หากพื้นที่ในการตรวจร่างกายไม่มิดชิด, ถูกใช้ให้เสิร์ฟน้ำ นวด เต้นเพื่อสร้างความบันเทิงหรือถูกทำให้เป็นตัวตลก, สั่งให้ถอดเสื้อ ขู่ขอมีเพศสัมพันธ์หรือขอดูหน้าอก ให้ร้องเรียนโดยทันที

กรณีถูกจัดเข้าสู่ บุคคลประเภทที่ 2 ไม่ต้องเป็นทหาร ให้รอใบรับรองผลการตรวจเลือด (ส.ด.43) และตรวจเช็กให้แน่ใจว่า เอกสารระบุสถานะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดนั้นถูกต้อง หากไม่ถูกต้อง ให้ขอแก้ที่คณะกรรมการคัดเลือกทันที

และหากถูกจัดเข้าสู่ บุคคลประเภทที่ 3 เนื่องจากเอกสารไม่ครบ ถือว่าได้รับการผ่อนผัน ต้องกลับไปเตรียมตัวให้เรียบร้อยแล้วมาเกณฑ์ใหม่อีกครั้งปีหน้า

อย่าทำร้ายตัวเอง เช่น ตัดนิ้วชี้เพื่อจะได้เหนี่ยวไกปืนไม่ได้, เอานมข้นหวานหยอดหูเพื่อให้ดูเป็นหูน้ำหนวก หรือฉีดน้ำเกลือเข้าหน้าอกเพื่อให้หน้าอกใหญ่ขึ้น หรือทำร้ายตัวเองโดยวิธีการอื่นๆ อย่างเด็ดขาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image