มองพม่าผ่านภาพยนตร์ ดร.เจน เอ็ม.เฟอร์กูสัน

นับตั้งแต่มีละคร “เพลิงพระนาง” กระแสความสนใจของประชาชนในสังคมส่วนใหญ่ก็พุ่งไปที่ “พม่า”

แง่หนึ่งต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า คนไทยมีอคติต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า ครั้งหนึ่ง “นครย่างกุ้ง” อันเป็นเมืองหลวงเก่าของพม่า เคยมีความคึกคักยิ่งกว่ามหานครนิวยอร์กเสียอีก อาจเรียกว่า “ถนนทุกสายมุ่งสู่ย่างกุ้ง” ก็คงจะไม่ผิดนัก จนก่อเกิดความรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน

หากจะให้ภาพนี้กระจ่าง ก็คงต้องเปรียบเทียบกับประเทศไทย ช่วงทศวรรษที่ 1960-70 พม่ามีเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ นามว่า อูถั่น (U Thant) ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง 10 ปี ขณะที่บ้านเรายังคงมีรัฐบาลทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ทว่า เมื่อเข้าสู่ยุคของการปกครองโดยทหาร ทุกอย่างกลับกลายเป็นความดำมืด รวมถึง “ภาพยนตร์พม่า” ด้วย นี่เองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ ดร.เจน เอ็ม.เฟอร์กูสัน นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หันมาทำวิจัยเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

Advertisement

ตัวอย่างภาพยนต์ยุคแรกๆ ของพม่า

ที่มาของการศึกษา ‘ภาพยนตร์พม่า’ อย่างจริงจัง

เมื่อ 14 ปีที่แล้วได้ลงพื้นที่ทำการวิจัยที่ชุมชนชาวไทยใหญ่ และพบว่าแม้ชาวไทยใหญ่จะต่อต้านรัฐบาลพม่า แต่ยังบริโภคสื่อบันเทิงอย่างภาพยนตร์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมป๊อปของเมียนมา

จุดเล็กๆ นี่เองที่ ดร.เจนมองว่าน่าสนใจ เมื่อลองค้นหาเอกสารทางวิชาการ เกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อปของพม่าแต่กลับไม่พบเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น ดร.เจนจึงตัดสินใจทำวิจัยด้วยตัวเอง

Advertisement

“เมื่อ 16 ปีที่แล้ว การเข้าถึงเอกสารต่างๆ ยากเหมือนกัน เพราะต้องเรียนภาษาพม่าก่อนจึงจะอ่านเอกสารของพม่าได้ ต้องซื้อวารสารจากตลาดมืดแล้วสะสมไปเรื่อยๆ ค่อนข้างแปลกใจว่าไม่มีใครเคยทำวิจัยแล้วเขียนลงวารสาร หรือหนังสือเป็นภาษาอังกฤษเลย อีกอย่างคือบรรดาแหล่งข้อมูลที่ไปสัมภาษณ์ ต้องถามแบบอ้อมๆ ต้องใช้เวลามากกว่าจะได้ข้อมูล

“ปัญหาอีกอย่างคือมีภาษาราชการซึ่งเป็นภาษาพม่ากับภาษาท้องถิ่น ซึ่งคนไทยใหญ่จะรู้ 2 ภาษา เวลาสัมภาษณ์ทหารไทยใหญ่ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ถามเขาว่าในเมื่อต่อต้านรัฐบาลทหารแต่ทำไมยังชอบดูภาพยนตร์น้ำเน่าพม่า

“เขาตอบชัดเจนว่า ‘ต้องแยกแยะ เราต่อต้านแค่รัฐบาลเท่านั้น หากเราจะชนะ ถ้าไม่รู้ภาษาของเขา เราจะชนะได้อย่างไร’ ”  

‘ซีนีมาโตกราฟี’ ความบันเทิงรูปแบบใหม่

ดร.เจนพบว่า ก่อนที่จะมีภาพยนตร์อย่างตะวันตกนั้น ประชาชนในเมียนมามีการแสดงหุ่นกระบอก โดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายจากปี 1895 เป็นการฟ้อนที่เรียกว่า “Zat Pwe” ที่ภายหลังมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์พม่าอย่างมาก

กระทั่ง ค.ศ.1901 นาย Abudullay Esofally ชาวอังกฤษ เป็นคนแรกที่นำกล้องถ่ายภาพยนตร์เข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แน่นอนว่าที่แห่งนั้นคือ “ย่างกุ้ง” ขณะยังถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ทำให้ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในยุคแรกของพม่าถ่ายทำโดยชาวอังกฤษ และเกิดโรงภาพยนตร์แห่งแรกคือ “Cinema de Paris”

ดร.เจนมองว่าสิ่งที่โดดเด่นอย่างมาก คือเมื่อปี ค.ศ.1905 มีภาพยนตร์เกี่ยวกับการทำสงครามระหว่างสหภาพโซเวียตและญี่ปุ่น โดยในฉากที่ฝ่ายทหารญี่ปุ่นได้รับชัยชนะ ผู้ชมชาวพม่าในโรงภาพยนตร์ต่างลุกขึ้นยืนบนเก้าอี้ ไชโยโห่ร้องในความพ่ายแพ้ของทหารรัสเซีย

เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่สะท้อนว่า ชาวเอเชียผิวเหลืองก็เอาชนะฝรั่งตาสีฟ้าได้

“เมื่อ 16 ปีที่แล้วเคยไปดูหนังที่โรงหนังพม่า ผู้ชมพม่าจะ participate มาก ถ้าพระเอกได้นางเอก ทุกคนจะยืนขึ้นเฮ แสดงออกทางอารมณ์ ไม่ใช่ passive audience เลย ตอนนั้นยังไม่เข้าใจภาษาพม่าเท่าไหร่ แต่ก็ตื่นเต้นไปด้วย”

โปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่อง Love and Liquor ภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างโดย U Ohm Maung
โปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่อง Love and Liquor ภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างโดย U Ohm Maung

U Ohm Maung : บิดาแห่งภาพยนตร์พม่า

U Ohm Maung ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของภาพยนตร์พม่าเพราะเป็นคนแรกที่ถ่ายทำภาพยนตร์เมื่อปี ค.ศ.1920 จากเดิมที่ก่อนหน้านั้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์พม่าถูกสร้างโดยชาวอังกฤษ และการร่วมทุนสร้างกับอินเดีย

ภาพยนตร์พม่าเรื่องแรกของ U Ohm Maung คือ Metta Hnint Thuya (Love and Liquor – Myitta Nit Athuyar) แม้จะเป็นการปกครองด้วยระบบสังคมนิยม แต่ในภาพยนตร์ก็มีหลักคำสอนทางพุทธศาสนา ต่างกับสังคมนิยมบางประเทศที่ไม่เหลือศาสนา

โดยภาพยนตร์พม่าช่วงแรก มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาและพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า เรื่องราวความรัก ตำนานและไสยศาสตร์ และเรื่องเกี่ยวกับการเมือง กระทั่งช่วงทศวรรษ 1930 Aung Thapyay สร้างภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องราววันสุดท้ายที่กษัตริย์ปกครองพม่า (พระเจ้าธีบอ) แน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นถูกสั่งห้ามฉายโดยรัฐบาลอย่างไม่ต้องสงสัย

ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์พม่า ทำให้เกิดงานประกาศรางวัลอคาเดมี อวอร์ดครั้งแรกในนครย่างกุ้งเมื่อ ค.ศ.1952 ซึ่งยังคงจัดต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ดร.เจนบอกว่า ปีนั้นนับว่ามีโรงภาพยนตร์จำนวนมากที่สุด แม้กระทั่งในชนบทก็ยังได้ดูภาพยนตร์ที่คนในเมืองได้ดู แบบที่ปิดตลาดแล้วเอาจอมาฉายหนัง (ถ้าเป็นในไทยอาจเรียกว่า “ปิดวิก”)

“น่าทึ่งตรงที่ขณะนั้น รัฐบาลพม่าบังคับให้โรงหนังต้องฉายหนังพม่าอย่างน้อยปีละ 60 วัน เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมหนังตายไปเพราะภาพยนตร์บอลลีวู้ดและฮอลลีวู้ด”

เครื่องมือต่อต้านอาณานิคม

ปี ค.ศ.1940 U Nu ได้เป็นผู้ช่วยกำกับภาพยนตร์เรื่อง Boycotta เป็นเรื่องราวการเดินทางไปญี่ปุ่นของ นายพลอองซาน เพื่อเจรจากับหน่วยงานลับให้เกิดกองกำลังปลดปล่อยพม่า นี่เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าการผลิตภาพยนตร์ของพม่าเชื่อมโยงกับการต่อต้านอาณานิคม

หลังสงครามโลกสิ้นสุดลงแล้ว ปี ค.ศ.1948 พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลที่เข้ามาขณะนั้นสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์อย่างมาก

ดร.เจนวิเคราะห์ว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคแล้ว พม่ามี “ภาษาภาพยนตร์” ดีกว่ามาก นั่นเป็นผลจากการที่ประชาชนของพม่าอ่านหนังสือเยอะ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น

“มีคนบอกว่าย่างกุ้งเป็น Cosmopolitan มากที่สุดในโลก มากกว่ามหานครนิวยอร์กเสียอีก มีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลมายังนครแห่งนี้”

ดร.เจน เอ็ม.เฟอร์กูสัน
ดร.เจน เอ็ม.เฟอร์กูสัน

ยุคสังคมนิยม กับกฎเหล็กที่ผู้สร้างหนังต้องเผชิญ

นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียบอกว่า ปี ค.ศ.1962-1988 นายพลเนวิน ขึ้นครองอำนาจ มีการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์อย่างละเอียด ห้ามมีเรื่องแม่มด ปีศาจ คนทรง และทุนนิยม ยุคนี้เป็นช่วงที่ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์น้อยลง ไม่มีเรื่องกู้ชาติเช่นเมื่อครั้งเป็นอาณานิยมของอังกฤษ

“ช่วงนี้เกิด (1) ภาพยนตร์คอร์ปอเรชั่นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กฎระเบียบและการกระจายตัวของภาพยนตร์) และ (2) สภาภาพยนตร์ เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของภาพยนตร์ โดยรัฐบาลพยายามที่จะควบคุมทุกขั้นตอนของการผลิต

“ช่วงนี้มีภาพยนตร์ที่รัฐบาลทหารสร้างคือเรื่อง ‘ที่รักแผ่นดิน’ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ” ดร.เจนยกตัวอย่าง

และอธิบายต่อไปว่า ผู้สร้างภาพยนตร์ในพม่าต้องขออนุญาตจากรัฐบาลซึ่งพยายามควบคุมทุกขั้นตอน โดยมีกฎการเซ็นเซอร์ 11 ข้อ คือ 1) สิ่งที่เป็นอันตรายต่อโครงการสังคมนิยมพม่า 2) สิ่งที่เป็นอันตรายต่ออุดมการณ์ของรัฐ 3) สิ่งที่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจสังคมนิยม 4) อะไรที่อาจจะเป็นอันตรายต่อความเป็นปึกแผ่นของชาติและความสามัคคี 5) อะไรที่อาจจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของกฎหมาย สันติภาพ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน

6) ความคิดใดๆ ที่ไม่ถูกต้องและมีความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับเวลา 7) คำอธิบายใดๆ ที่แม้ว่าจะถูกต้องจริง, ไม่เหมาะสมเพราะเวลาหรือสถานการณ์ของการเขียนของพวกเขา 8) ภาพใดๆ ลามกอนาจาร (โป๊) 9) สิ่งใดๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการก่ออาชญากรรมและความโหดร้ายผิดธรรมชาติและความรุนแรง 10) การวิจารณ์ของชนิดที่ไม่สร้างสรรค์ในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐใดๆ และ 11) กลั่นแกล้งหรือใส่ร้ายบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ดร.เจนเล่าว่า ทหารที่เข้ามายึดอำนาจมองว่าภาพยนตร์คือสิ่งเป็นพิษ ทำร้ายและมอมเมาประชาชน เมื่อปฏิวัติแล้วภาพยนตร์จะเสนอแบบ Realistic เช่น การสร้างความสามัคคีระหว่างชาติพันธุ์ การเสนอความงามของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นด้วยสีหน้ามีความสุข ไม่มีปัญหาสังคม ทั้งนี้ สมัยที่ พลเอก ขิ่น ยุ้นต์ เป็นนายกฯ มีการสนับสนุนภาพยนตร์ กระทั่งเกิดพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์พม่า ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของนครย่างกุ้ง

“แม้ว่าการเซ็นเซอร์ในปัจจุบันจะไม่เข้มงวดอย่างในอดีต แต่ก็ไม่ใช่อิสระ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น The Moon Princess เกี่ยวกับสาวหอคำของพระเจ้าธีบอ ถูกห้ามฉายในกรุงเนปิดอว์”

 วิน อู พระเอกชื่อดังของพม่า
วิน อู พระเอกชื่อดังของพม่า

‘รักสามเศร้า’ อิทธิพลจากผู้สร้างภาพยนตร์พม่ายุคสังคมนิยม

ช่วงนี้เองที่เกิดภาพยนตร์ประเภท “รักสามเศร้า” เพราะผ่านการเซ็นเซอร์เร็วที่สุด

“ทั้งนี้ ในการเซ็นเซอร์ ผู้สร้างต้องจ่ายค่าตรวจให้คณะกรรมการ และแม้หนังจะเข้าโรงฉายแล้วก็มีสิทธิถูกถอดได้ทุกเมื่อ”

ค.ศ.1962 วิน อู หรือฉายาว่า “เจมส์ ดีน ของพม่า” เป็นดาราที่แสดงภาพยนตร์มากที่สุดคือ 93 เรื่อง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีโรงหนังมากที่สุดคือ 442 แห่ง เขาเป็นไอคอนด้านแฟชั่น เป็นสัญลักษณ์ของการแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับวัฒนธรรมพม่า โดยรับและปรับใช้อย่างเหมาะสมกับวัฒนธรรมพม่า

มีตัวอย่างภาพยนตร์รักสามเศร้า น้ำเน่าที่เอามารีเมค นั่นคือ Only son (2004)

อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่าภาพยนตร์พม่าจะสอดแทรกหลักคำสอนพุทธศาสนา ทำให้หนังรักสามเศร้าของพม่าต่างจากที่อื่นๆ – หากเป็นรักสามเศร้าของประเทศอื่น เช่นบราซิล ความรักจะชนะทุกสิ่ง แต่ของพม่า “หลักธรรม” จะชนะ คือ “เมตตา กรุณา รวมถึงการปล่อยวาง”

“ส่วนอิทธิพลที่มีต่อภาพยนตร์พม่า เท่าที่สังเกตจะเป็นอินเดียมากกว่า เพราะมีอิทธิพลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย แล้วสมัยก่อน การผลิตภาพยนตร์จะส่งมุมไบ บอลลีวู้ด แม้แต่สัญลักษณ์เช่น ดอกไม้ตก กับจับมือ การวิ่งกัน ก็เห็นในบอลลีวู้ดมากกว่าหนังไทย”

ดร.เจนเล่าว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้วไปเยี่ยมเพื่อนที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งมีการวางขายดีวีดีภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวร

“เพื่อนได้ซื้อมาดู เมื่อถึงฉากทหารพม่ากำลังบุกอยุธยา มีเด็ก 8 ขวบพูดว่า ทหารพม่าพูดภาษาไทยได้เก่งมาก (ทุกคนหัวเราะ) ซึ่งจริงๆ แล้วในสายตาของชาวพม่า ไม่ค่อยเห็นไทยเป็นศัตรู”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image