คอลัมน์โลกสองวัย : หัวขบวนชี้นำปรองดอง

เมื่อวานว่าถึงรายชื่อผู้ที่จะมา “ทำการ” ปรองดอง เพื่อให้สภาพการเมืองไทยและสังคมไทยเป็นสังคมที่ “ปรองดอง” กัน ทั้งที่เมื่อก่อนนี้ สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่ปรองดองกันสักหน่อย เพียงแต่ไม่มีความแตกแยกรุนแรงกระทั่งยกพวกตีกัน ฆ่ากัน ยกเว้นเวลาเชียร์กีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล ที่เรียกว่า “บอลแพ้ คนไม่แพ้” คำว่า “ปรองดอง” ว่าตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า ออมชอม ประนีประนอม ยอมกัน ไม่แก่งแย่งกัน ตกลงกันด้วยความไกล่เกลี่ย ตกลงกันด้วยไมตรีจิต พจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ.2547 ให้ความหมายไว้เพียง 3 คำ คือ ออมชอม ประนีประนอม ไม่แก่งแย่งกัน

ไม่ต้องเปิดไปหาคำว่า ออมชอม ประนีประนอม ไม่แก่งแย่งกัน ฯลฯ เพราะรวมแล้วมีความหมายว่า “ปรองดอง”

การที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้ มีพฤติกรรมมากมายหลากหลาย ไม่ต้องดูอื่นไกล น้องหนูลองพิจารณาซิว่า ในครอบครัวที่มีเพียง พ่อ แม่ ลูก 2 คน จะเป็นผู้ชายทั้งคู่ หรือผู้หญิงทั้งคู่ หรือผู้ชายคนหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่ง หรือ ฯลฯ ทั้งสี่คนไปด้วยกันทุกเรื่องได้หรือไม่ ลองหยิบยกขึ้นมาสักเรื่องหนึ่งซิครับ น้องหนู

เรื่องใกล้ตัวที่สุด คือเรื่องอาหารการกิน

Advertisement

แม่ต้องการให้ทุกคนในครอบครัวได้รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ลูกหนึ่งในสองคนไม่กินผัก บางคนแพ้อาหารบางประเภท เช่น “ถั่ว”

พ่อกับลูกชายชอบกินเนื้อวัว ลูกสาวชอบกินไก่ แม่กลับชอบกินปลาและอาหารทะเล เช่นกุ้ง เช่นปู

การจะรอมชอม หรือปรองดองกันได้ ไม่ได้อยู่ที่ประเภทของอาหาร แต่อยู่ที่จำนวนทุนทรัพย์ในกระเป๋าของพ่อ หรือของแม่

Advertisement

กระนั้น รับรองว่าไม่มีการ “ตีกัน” หรือแย่งกันเด็ดขาด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะประนีประนอมกันได้ แต่ควรจะมีสัญญากันบ้างว่า วันหนึ่งจะพากันไปกินอาหารทะเล ซึ่งไม่เฉพาะแม่ชอบ ทุกคนก็ชอบ

การปรองดองเกิดขึ้นจากวัตถุประสงค์หนึ่งคือ เมื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งไม่สอดคล้องต้องกัน หรือมีการขัดผลประโยชน์นั้น หากเกิดกับคนจำนวนมาก กว่าจะจัดการให้ผลประโยชน์ลงตัว ต้องใช้เวลามาก เพราะกว่าจะจัดการให้ผลประโยชน์ของแต่ละคนของแต่ละกลุ่มไปด้วยกันได้ ต้องต่อรอง ต้องลดวาราศอก (ในความหมายของการวัด คือ “วา” และ “ศอก” คำว่า “ลด” คือ “ลด” ส่วนคำว่า “รา” คือการผ่อนปรน)

การใช้ปรองดองกับการแบ่งปันง่ายกว่าใช้โน้มน้าวความคิดให้เห็นไปในทางเดียวกัน หรือในทางใดทางหนึ่งของใครคนหนึ่ง หรือของอีกกลุ่มหนึ่ง

โดยเฉพาะทางการเมืองที่มีองค์ประกอบของความเชื่อและศรัทธาเป็นสำคัญ

เรื่องของความเชื่อและศรัทธาเป็นเรื่องยากที่จะโน้มน้าวให้มนุษย์คล้อยตามได้โดยง่าย เมื่อเกิดเชื่อถือและศรัทธาแล้ว การเปลี่ยนความเชื่อและศรัทธานั้นให้มาเป็นอย่างอื่นคงเป็นไปไม่ได้ง่าย

เพราะกว่าจะเกิดความเชื่อและศรัทธาขึ้นมาได้ ผู้ที่จะสร้างความเชื่อและศรัทธาต้องมี “บารมี” ที่ทำให้มนุษย์เกิดความเชื่อและศรัทธาอย่างแรงกล้า

เรื่องความเชื่อและศรัทธาเกิดขึ้นมาหลายครั้งจากหลายคนมาแล้ว

วันนี้ประเทศไทยที่ยังไม่เคยเกิดความเชื่อและศรัทธาอย่างแท้จริงในทางการเมือง แต่มีความพยายามจะทำให้ทุกคนทุกฝ่ายเกิดการปรองดองขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนเดินตามแนวทางของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ที่สำคัญ ผู้มีชื่อเป็นหนึ่งในคณะสร้างความปรองดองจะปรองดองซึ่งกันและกันแม้ในคณะเดียวกันหรือไม่ มีใครทราบบ้าง เพราะแต่ละคนย่อมมีความคิดเห็นของตัวเอง

ขณะที่ในจำนวนนั้นจะมีคนหนึ่งที่จะชี้นำว่า “ปรองดอง” คืออะไร และอย่างไร และใครเป็นผู้ชี้นำ น้องหนูลองเหลือบดูรายชื่อเท่าที่นำมานำเสนออีกครั้งหนึ่งซิว่าใครคือหัวขบวนชี้นำการปรองดอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image