ผู้เขียน | สุกรี เจริญสุข |
---|
ทดลองดนตรีสร้างสรรค์ในวันเกิด
เพื่อโฉมหน้าใหม่ที่ท้าทาย
ผมไม่เคยจัดงานวันเกิดมาก่อน เมื่อผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ (อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์) ท่านเปรยไว้ว่า “ถ้ามีรายการแสดงดนตรีดีๆ ขอให้บอกด้วย” ท่านเคยมาชมงานแสดงดนตรี 2 ครั้งแล้ว คล้ายๆ กับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถืออีกท่านหนึ่งคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านก็เคยสั่งไว้ว่า “ถ้ามีรายการแสดงเปียโน มีคนเล่นเก่งๆ ขอให้บอกด้วย” ผมก็มักจะหาโอกาสจัดการแสดงดนตรีขึ้นเพื่อจะมอบความสุขให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือได้ชื่นชม เพราะถือว่า “เป็นบุญที่ได้รับใช้ผู้ใหญ่” ซึ่งท่านเป็นบุคคลสำคัญของแผ่นดิน
อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชอบฟังทั้งดนตรีไทยและดนตรีคลาสสิก ผมเลือกจัดดนตรีดีๆ เพื่อความสุขของท่านเป็นการส่วนตัวและเผื่อแผ่ความสุขให้แก่มิตรรักแฟนเพลงด้วย จัดขึ้นที่บ้านเอื้อมอารีย์ มีพื้นที่แสดงขนาดเล็ก จุผู้ฟังได้ 60-70 คน การแสดงดนตรีพิเศษครั้งนี้ มอบให้แก่ผู้ฟังคนสำคัญ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อายุ 92 ปี ท่านเดินขึ้นบันไดก็ลำบาก จึงได้ทำลิฟต์ขึ้นเป็นกรณีพิเศษและได้เรียนกับอาจารย์สุลักษณ์ไปว่า อาจารย์ต้องมาฟังอย่างน้อย 10 ครั้ง จึงจะคุ้มค่าทำลิฟต์

วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2567 จึงหาเหตุให้เป็นวันเกิดผม ในบัตรประชาชนนั้นผมเกิดวันที่ 29 ตุลาคม เมื่อพ่อยังมีชีวิตอยู่ท่านเคยอธิบายให้ฟังว่า พี่ๆ ของผม 2 คน เกิดมาอายุไม่ครบเดือนก็เสียชีวิต เมื่อผมเกิดมาตามหลังพี่ๆ พ่อก็คิดว่าคงไม่รอด คือคงตายเหมือนพี่ๆ จึงไม่ได้ไปแจ้งวันเกิดที่อำเภอ เพราะอำเภอนั้นอยู่ไกลถึง 8 กิโลเมตร พ่อต้องเดินเท้าไปแจ้งเกิดซึ่งใช้เวลาเป็นวัน เมื่ออายุเลยเดือนไปแล้ว ผมยังหายใจอยู่ พ่อเกรงว่าจะเป็นความผิดที่ไม่ได้แจ้งวันเกิดไว้ จึงได้แจ้งวันเกิดของผมช้าไปหนึ่งเดือน ผมจึงมีวันเกิด 2 วัน ทั้งวันจริงและไม่จริง วันเกิดจริงคือ 29 กันยายน ใช้สำหรับหมอดู ส่วนในบัตรประชาชนวันที่ 29 ตุลาคม ใช้กับทางการ

คนในท้องถิ่นชนบทไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่รู้หนังสือ อ่านหนังสือไม่ออก ไม่ได้จดบันทึกวันเดือนปีเกิด อาศัยแค่จดจำไว้ และชาวบ้านก็ไม่เคยมีใครจัดงานฉลองวันเกิดกัน ต่างไปจากวัฒนธรรมตะวันตกที่เป็นธรรมเนียมของผู้รู้หนังสือ นิยมฉลองวันเกิด ฉลองวันรำลึกถึงวันตาย คนไทยในสังคมเมืองโดยเฉพาะคนที่รู้หนังสือและผู้ที่อยู่กับความเจริญ ก็จะนิยมจัดงานวันเกิดเอาอย่างสากล

ปีนี้ผมถือโอกาสฉลองวันเกิดครั้งแรก ต้องการหาเหตุใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อเชิญอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับเพื่อนๆ มาฟังดนตรีที่บ้านเอื้อมอารีย์ ซอย 33 พุทธมณฑลสาย 2 เป็นงานดนตรีทดลองจัดแสดงของคณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ แสดงตอน “สืบสานยกรบจับนาง” หนุมานจับนางสุวรรณมัจฉา (ปลาทอง) ซึ่งเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ นางสุวรรณมัจฉาเป็นธิดาของทศกัณฐ์ และเป็นภรรยาของหนุมาน
คณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ มีความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่รุ่นครูแกร ยังเขียวสด ซึ่งเป็นโขนหลวงเล่นเป็นตัวหนุมาน สมัยรัชกาลที่ 5 สืบทอดมาถึงรุ่นลูกครูสาคร ยังเขียวสด ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หุ่นละครเล็ก) พ.ศ. 2539 สืบทอดมาถึงรุ่นหลาน (พิสูตร ยังเขียวสด สุรินทร์ ยังเขียวสด) ซึ่งดำเนินกิจการอยู่
คณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ เคยเดินทางไปแสดงที่ญี่ปุ่น พ.ศ. 2531 โดยความอนุเคราะห์ของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยไปร่วมงานประกวดหุ่นโลก (World Festival of Art) เมื่อ พ.ศ. 2551 ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ได้รับรางวัลที่หนึ่งจากงานประกวดหุ่นโลกครั้งนั้น ปัจจุบันคณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ได้ห่างหายไปจากการแสดง กระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่ได้สนใจแต่อย่างใด ยิ่งคนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จักหุ่นละครเล็กโจหลุยส์
คราวนี้ผมชวนคณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์มาแสดงร่วมกับวงเครื่องสายสากล (String Orchestra) โดยทดลองใช้เครื่องสายสากล 7 ชิ้นก่อน เพื่อเชิดหุ่นเล่นเพลงไทยชุดเดิม เพียงแต่เปลี่ยนมาเล่นด้วยเครื่องสากล และเอาเครื่องจังหวะ (ตะโพนกับฉิ่ง) มากำกับจังหวะให้นักเชิดหุ่นเต้น ทั้งนี้เพื่อต้องการเปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนไปอีกมิติหนึ่งของการแสดงหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ เป็นงานทดลองใหม่ เพื่อสร้างสีสันและสร้างบรรยากาศใหม่ขึ้นบนเวทีเพื่อจะอวดความงามที่วิจิตร เผื่อไว้รองรับผู้ชมที่สนใจ นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ เพื่อหาโอกาสต่อยอดออกไปในอนาคต ใช้เสียงดนตรีเป็นแค่ฉากรองพื้น ทำให้หุ่นละครเล็กถูกเชิดชูให้มีความโดดเด่นมากขึ้น
ข้อแตกต่างระหว่างวงปี่พาทย์เชิดหุ่นกับวงเครื่องสายสากลเชิดหุ่น วงปี่พาทย์นั้นมีความคุ้นเคย แต่ก็ไม่เหมาะที่จะแสดงในห้องขนาดเล็ก เพราะเสียงปี่พาทย์จะดังมากไป ส่วนวงเครื่องสายสากลก็เป็นเรื่องใหม่ ใช้นักดนตรีที่มีฝีมือสูง ใช้นักเรียบเรียงเสียงประสานเพลงที่มีความชำนาญ ทำให้การแสดงเปลี่ยนเป็นนุ่มนวลไป ตัวอย่างเมื่อวงเครื่องสายสากลเล่นเพลง “ฟองน้ำ” บอกอาการของปลาทองว่ายน้ำ บทเพลงไพเราะมาก จนได้จินตนาการต่อไปว่า “ยังมีเพลงไทยอีกหลายพันเพลงที่ยังไม่ได้ทำอะไร” ซึ่งเป็นมรดกที่ล้ำค่ายิ่งของแผ่นดิน ทำให้นึกถึงบทกวีของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ “เพชรดีสูงค่าราคายิ่ง อยู่กับลิงรู้ค่าราคาหรือ”
คณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ เคยมีความรุ่งเรืองมากสมัยที่มีเวทีในสวนลุมไนต์พลาซ่า เมื่อสวนลุมไนต์พลาซ่าปิดกิจการ ก็พยายามช่วยตัวเองไปสร้างพื้นที่ใหม่หลายแห่ง แต่ก็ไม่สามารถจะรักษาโรงละครเอาไว้ได้ วันนี้คณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ไม่มีพื้นที่ ไม่มีเวทีแสดง ทั้งๆ ที่คณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์เป็นมรดกสำคัญของชาติ
ในการแสดงวันเกิด มีหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ ตอนสืบสานยกรบจับนาง ใช้วงเครื่องสายสากล 40 นาที เรียบเรียงเพลงใหม่โดย พันเอกพิเศษ ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ต่อด้วยวงสมัยนิยมของโรเบอร์โต อูโน (Roberto Uno) และวงจันทร์แรม เล่นดนตรีทั้งหมดประมาณ 55 นาที
ในงานแสดงครั้งนี้ยังมีวัตถุประสงค์รองอีกคือ มีพรรคพวกต้องการจะสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เสียงดนตรี เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว มีร้านอาหารอร่อยๆ ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยายาว 300 เมตร นั่งดูที่ร้านอาหารจะมองเห็นวัดกัลยาณมิตร ชมพระปรางค์วัดอรุณ มองเห็นวัดซางตาครู้ส กุฎีจีน และสะพานพุทธฯ หากได้พัฒนาพื้นที่แสดงดนตรีโดยนักดนตรีฝีมือสุดยอดจากทั่วประเทศและมีความหลากหลาย ก็คงเป็นพื้นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักกินอาหารก็คงสนุกไม่น้อย จึงได้ชวนคุณวิโรจน์ พรประกฤต เจ้าของร้านอาหารยอดพิมาน ปากคลองตลาด ได้มาดูการแสดงในครั้งนี้ด้วย
วันนี้เวทีของนักดนตรีในท้องถิ่นไม่ค่อยจะมีแล้ว หากมีพื้นที่ชั้นดีในใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นพื้นที่สำหรับ “ปล่อยของและปล่อยฝีมือ” (Creative Space) พื้นที่ของนักดนตรีทุกประเภทที่มีฝีมือ โดยทุกคนผ่านการคัดเลือกฝีมือมาอย่างดี เมื่อมีพื้นที่แสดงฝีมือ นักดนตรีก็สามารถอวดฝีมือ หารายได้เอาเองจากฝีมือและได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือขึ้นไปอีก อาจจะมีนักกระจับปี่ หมอแคน หมอพิณ หมอลำ เจรียง กันตรึม ช่างปี่จุ่ม ช่างซอ นักระนาด โนรา กาหลอ เป็นต้น โดยยกระดับรสนิยมการแสดงดนตรีไปอีกมิติหนึ่งในสังคมที่เปลี่ยนไป หากมีคนล่องเรือเจ้าพระยาวันละหลายหมื่นคน แวะฟังดนตรีแล้วหยอดเหรียญก็จะเป็นตลาดของฝีมือ
มีรายการแถม ลูกสาวคนกลางเป็นครูสอนไวโอลิน ซึ่งจะนำเด็กนักเรียนไวโอลินเก่งๆ จำนวน 6 คน ไปเข้าค่ายที่ประเทศเยอรมนีในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 มีเด็กที่เก่งมากแต่มีทุนทรัพย์ไม่พอจะไปเข้าค่าย จึงถือโอกาสให้แสดงเพื่อหาทุนให้ไปเรียนไวโอลิน ต้นกล้า (อายุ 15 ปี) พ่อมีอาชีพรับจ้าง แม่เป็นแม่บ้าน ต้นกล้าเริ่มการศึกษาจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสิรินธร เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนนาคประสิทธิ์ มูลนิธิวัดบางช้างเหนือ ปัจจุบันต้นกล้าอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี โดยรับทุนนักดนตรีจากโรงเรียน ต้นกล้าเรียนดนตรีที่โรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์กับอาจารย์กรุณา บุญยืน มา 7 ปีแล้ว

ต้นกล้าเล่าให้ฟังว่า “ผมมีความตั้งใจที่อยากเรียนไวโอลินให้ดียิ่งขึ้น ที่ผ่านมาคุณครูและโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ได้สร้างพื้นที่ให้ผมได้เรียนรู้ มีครอบครัวที่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจผม คุณพ่อเป็นครูคนแรก ท่านคอยสอนผมมาตลอด ท่านสอนไวโอลินให้ผม หาเงินให้ผมเรียนดนตรี ขอบพระคุณครูดนตรีทุกคน รวมทั้งโรงเรียนและครอบครัว ที่คอยสนับสนุนผมมาครับ”

งานฉลองวันเกิดครั้งนี้ ถือโอกาสสร้างกิจกรรมดนตรีเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย แต่ได้ทำสมความปรารถนาอย่างที่ตั้งใจไว้ ความสำเร็จที่ได้ทดลองกับวงออร์เคสตรากับคณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ ได้ยอดนักดนตรีแสดงฝีมือเพื่อให้พรรคพวกที่เป็นนักธุรกิจได้ชม รวมทั้งได้เปิดโอกาสให้ต้นกล้าได้แสดงเพื่อหาทุนไปเข้าค่ายดนตรี ได้แสดงฝีมือเพื่อแลกทุน ทั้งหมดกลายเป็นการแสดงดนตรีเพื่อความสุขของทุกคน