READ Café แห่งแรกในไทย จิบ-อ่าน-สันทนาการ-พบปะ ยกระดับความ (เรียน) รู้ ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่

READ Café แห่งแรกในไทย จิบ-อ่าน-สันทนาการ-พบปะ ยกระดับความ (เรียน) รู้ ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่
READ Café แห่งแรกของประเทศไทย ณ อาคารจอดรถ D ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

READ Café แห่งแรกในไทย
จิบ-อ่าน-สันทนาการ-พบปะ
ยกระดับความ (เรียน) รู้ ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ 

‘การอ่าน’ นับเป็นอีกหนึ่งรากฐานสำคัญในการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง โดยต้องอาศัยการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่ง ‘ความรัก’ ในการอ่าน ผ่านขั้นตอนเรียนรู้ ส่งเสริม สร้างสภาวะแวดล้อม และวัฒนธรรม เปรียบเสมือนการรดน้ำพรวนดินจนเจริญขึ้นเป็นต้นกล้าแห่งปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก กระทั่งเติบใหญ่

เพื่อสร้างสังคมแห่งปัญญาให้เกิดขึ้นจริง ล่าสุด บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ DAD Asset Development จับมือ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ ‘OKMD’ และ บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด ร่วมเปิดพื้นที่ส่งเสริมการอ่าน ‘READ Café’ แห่งแรกในประเทศไทย ณ อาคารจอดรถ D ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 แจ้งวัฒนะ

มุ่งหมายส่งเสริมบรรยากาศและสถานที่ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ พร้อมเปิดให้ทั้งประชาชนภายนอกและผู้ที่ทำงานในศูนย์ราชการสามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างเท่าเทียม

ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ในเมืองที่เริ่มใช้ร้านกาแฟเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ ทำงานหรือพบปะพูดคุยมากขึ้น ด้วยความผ่อนคลายจากกลิ่นหอมของกาแฟ การจัดสถานที่ มีเครื่องปรับอากาศ ด้วยบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพักผ่อน และส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการอ่านให้เกิดขึ้นได้

ADVERTISMENT

3 หน่วยงานผนึกกำลัง เนรมิต READ Café
แหล่งเรียนรู้สาธารณะสมัยใหม่

ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท

ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ DAD เผยถึงการจัดสรรพื้นที่ 50 ตารางเมตรบนชั้น 2 ของอาคารจอดรถ D ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นพื้นที่ผืนเดียวกับสวนสาธารณะลอยฟ้าขนาด 5,872 ตารางเมตร เนรมิต READ Café โดย OKMD รับผิดชอบในส่วนการสนับสนุนสื่อการเรียนรู้ภายในพื้นที่ให้บริการและบริษัท บางจากฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลสถานที่และให้บริการเครื่องดื่มจากร้านกาแฟอินทนิล ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ภายใต้การดูแลของบริษัท บางจากฯ

นอกจากเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ DAD ยังมีแผนในการพัฒนาพื้นที่ในส่วนนี้เป็นสโมสรเพื่อกิจกรรมสันทนาการ นัดพบปะ รับประทานอาหารและกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นการวางแผนปฏิบัติงานในรูปแบบ CSR in Process คิดและพัฒนากิจกรรมให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อคนจำนวนมาก ซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะแห่งนี้ได้ และยังเชื่อว่าการส่งเสริมประชาชนทั่วประเทศให้รักการอ่าน มีการเรียนรู้จะนำไปสู่การพัฒนาของประเทศชาติในระยะยาว

(จากซ้าย) ทวารัฐ สูตะบุตร, นาฬิกอติภัค แสงสนิท, ยศธร อรัญนารถ และกลอยตา ณ ถลาง ร่วมพิธีเปิด READ Café

ยศธร อรัญนารถ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากฯ เล่าถึงการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาเยาวชนซึ่งเสมือนพลังขับเคลื่อนแห่งอนาคต

ยศธร อรัญนารถ

“เชื่อมั่นว่าเมื่อ 3 องค์กรให้ความร่วมมือด้วยกันแล้ว เราจะสามารถผลักดันเป้าหมายร่วมกันให้สังคมไทยก้าวสู่การเป็นสังคมอุดมปัญญาหรือ Knowledge Society ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาพื้นที่ที่เรียนรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะสมัยใหม่ ถือว่ายกระดับมาตรฐานสากล” ยศธรกล่าว

ยืม-คืนด้วยระบบ ‘สมัครใจ’
ไม่รับประกันฉลาดขึ้น แต่ ‘ปลดปล่อย-ปลอดภัย’

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร

จากนั้น ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD ขยายความถึงระบบการยืม-คืนหนังสือใน READ Café ว่าเป็นระบบการยืม-คืนแบบสมัครใจ โดยผู้ใช้บริการสามารถยืมหนังสือที่สนใจได้ เพียงแค่ต้องนำมาคืนหรือจะแลกเปลี่ยนเป็นหนังสือเล่มอื่นมาไว้ใน READ Café ก็ได้เช่นกัน อีกทั้งยังชูอีกแพลตฟอร์มสำหรับการอ่านหนังสือรูปแบบออนไลน์ในแอพพลิเคชั่น ‘TK Read’ ที่รวบรวม e-book และสื่อการเรียนรู้เอาไว้มากมาย หลากหลายหมวดหมู่กว่า 10,000 รายการ เพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตของคนยุคใหม่

“ศูนย์การเรียนรู้จะเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ พอทุกคนเข้าศูนย์เรียนรู้ไม่ได้รับประกันว่าท่านจะฉลาดขึ้น แต่ว่าถ้าท่านจะมีความรู้สึกว่าปลอดภัย แล้วท่านจะมีความรู้สึกว่าท่านอยู่ในบรรยากาศที่อยากจะรับอะไรใหม่ๆ เป็นบรรยากาศที่จะทำให้สมองของท่านได้รับการปลดปล่อยแล้วก็พักวางจากเรื่องภายนอก มาสนใจกับเรื่องที่ท่านสนใจอยู่ เช่น อาจจะเป็นเรื่องหนังสือ บางคนเข้าศูนย์การเรียนรู้เพื่อเล่นบอร์ดเกม บางคนเข้าศูนย์การเรียนรู้เพื่ออ่านหนังสือพิมพ์ บางคนเข้าศูนย์การเรียนรู้เพื่อทำรายงานหรือว่าประชุมต่างๆ กิจกรรมลักษณะนี้เป็นกิจกรรมประเทืองปัญญา” ดร.ทวารัฐกล่าว

สำหรับคำกล่าวคุ้นหูที่ว่า ‘คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด’ ดร.ทวารัฐแย้งว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยอิงผลการสำรวจล่าสุดของแม็กกาซีน CEOWORLD ที่ชี้ว่าคนไทยทั้งประเทศอ่านหนังสือเฉลี่ย 149 ชั่วโมงต่อปี หากนับเป็นเล่ม อยู่ที่ 6.3 เล่มต่อปี ถือว่ามากเป็นอันดับที่สองในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ซึ่งอ่านหนังสือ 155 ชั่วโมงต่อปี หากนับเป็นเล่ม อยู่ที่ 6.72 เล่มต่อปี

เก็บไว้คนเดียวไม่มันส์ อ่านแล้วแบ่งปันในโลกออนไลน์
‘ผมมั่นใจ หนังสือยังมีความหมายต่อชีวิตเราทุกคน’

ดร.ทวารัฐยังแนะถึงวิธีการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ว่านอกจากการอ่านด้วยตนเองแล้ว การอ่านแล้วเล่าสู่กันฟังจากพ่อแม่สู่ลูก กลุ่มเพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ นักอ่านยุคใหม่ ผู้นำเรื่องราวที่ได้อ่านมาแบ่งปันในโลกออนไลน์ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันวัฒนธรรมการอ่านเช่นกัน

“เก็บไว้คนเดียวไม่มันส์ ต้องเล่าให้คนอื่นฟัง เล่าให้คนรู้จักฟัง เล่าให้เพื่อนฟัง เดี๋ยวนี้มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ คนที่ทำงานด้านออนไลน์อ่านหนังสือแล้วมาสรุป มาแชร์เรื่องที่อ่านให้ฟังกันในระบบออนไลน์ได้” ดร.ทวารัฐกล่าว ก่อนเล่าถึงแผนในอนาคตที่กำลังปรึกษาหารือกับพันธมิตรเพื่อต่อยอด READ Café ซึ่งเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ขนาดเล็ก ว่าจะขยับขยาย กระจายเมล็ดพันธุ์แห่งการอ่านให้เจริญงอกงามไปทั่วประเทศได้อย่างไร

บรรยากาศการทำเครื่องดื่มใน READ Café

ในอนาคตนอกเหนือจากการส่งเสริมการอ่านแล้ว ก็ยังมีแผนการในการส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เพื่อระดมปัญญาอย่าง Co-working space พร้อมด้วยกระดานอิเล็กทรอนิกส์สำหรับให้ขีดเขียนเพื่อขับเคลื่อนความคิดและจินตนาการให้โลดแล่น

อีกคำถามสำคัญ คือ ในวันที่เด็กและเยาวชนยุคใหม่คุ้นเคยกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้บทบาทของหนังสือที่เป็นเล่มจางหายไปมากน้อยเพียงใด

ดร.ทวารัฐให้คำตอบว่า ยังคงเชื่อมั่นถึง ‘หนังสือเล่ม’ ว่ามีคุณค่าในระดับที่ e-book ไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมวดหมู่ ‘หนังสือเด็ก’ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการจินตนาการจากภาพ การสัมผัสและการฟัง

“ผมมั่นใจว่าหนังสือยังมีความหมายในชีวิตกับพวกเราทุกคนต่อไปอีกนานเท่านาน หนังสือบางประเภทจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆ และเยาวชน แต่อย่างไรก็ตามการอ่านหรือการได้รับความรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็ชัดเจนว่าเป็นกระแส ในปัจจุบันเราใช้ผ่านมือถือ ผ่านไอแพดเป็นหลัก ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะผ่านแว่นตา ผ่านสื่ออีกหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถที่จะใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการส่งผ่านความรู้ได้” ดร.ทวารัฐกล่าวทิ้งท้ายอย่างเชื่อมั่น

ว่า ‘หนังสือเล่ม’ จะยังคงมีคุณค่าต่อผู้คนเสมอไป