คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : เริ่มจากโน้ต7ตัว

โปรแกรมการแสดงที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มติดเครื่อง

วันศุกร์ที่ 17 วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ มีการแสดงของทีพีโอ

วงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตรา ซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลที่ 12 แล้ว

บทเพลงที่บรรเลงในวันนั้นมีหลายเพลง

Advertisement

เพลงเอกที่ชอบคือ เปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 20 ในบันไดเสียงดีไมเนอร์ ประพันธ์โดย โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart)

คีตกวีชาวออสเตรีย (ค.ศ.1756-1791)

ผู้บรรเลงบทเพลงคือ อาจารย์แอเรนส์ รอล์ฟ เดียทเทอร์ (Arens Rolf-Dieter)

Advertisement

มีโยฮันเนสต์ คลัมป์ป (Johannes Klumpp) ชาวเยอรมัน เป็นวาทยกร

สำหรับอาจารย์แอเรนส์เดิมเป็นคณบดีวิทยาลัยดนตรีที่เยอรมนี ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การแสดงดนตรีที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มีธรรมเนียมน่าชื่นชม

นั่นคือ มีการบรรยายให้ความรู้ถึงบทเพลงที่จะบรรเลงให้ฟัง

แต่ละครั้งจะมีผู้รู้ซึ่งบางทีเป็นผู้เล่น บางครั้งเป็นผู้ประพันธ์ บางคราวเป็นอาจารย์ที่ศึกษาเชี่ยวชาญ มาถ่ายทอด

การแสดงเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ มี ภัทราวุธ พันธุ์พุทธพงศ์ หัวหน้าเครื่องบาสซูน วงทีพีโอ เป็นผู้บรรยาย

ความรู้ที่ได้รับจากบทเพลง เปียโนคอนแชร์โต ในวันนั้นคือ เป็นบทเพลงที่คีตกวีในยุคโรแมนติก 2 คนชื่นชอบ

คนหนึ่งคือ ลุควิค ฟาน บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven) ชาวเยอรมัน (ค.ศ.1770-1827)

อีกคนหนึ่งคือ โยฮันเนส บราห์ม (Johannes Brahms) ชาวเยอรมัน (ค.ศ.1833-1897)

สาเหตุหนึ่งที่บทประพันธ์นี้โดนใจ อาจเป็นเพราะโมซาร์ทเลือกใช้บันไดเสียง “ไมเนอร์” มาประพันธ์ก็ได้

คาดว่าในยุคสมัยคลาสสิกที่โมซาร์ทมีชีวิต ดนตรียังไม่ใช้แทนอารมณ์

แต่เพลงเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 20 ที่โมซาร์ทประพันธ์นี้ เขาใช้บันไดเสียงดีไมเนอร์ ซึ่งแสดงอารมณ์

เป็นอารมณ์เศร้า..อารมณ์แห่งความตาย

พลิกตำราดูเพิ่มเติมทราบว่าปกติเวลาเราเล่นเปียโนจะกดตัวโน้ตบนคีย์สีขาว

ตั้งแต่ตัว โด เร มี ฟา ซอล ลา ที แล้วตัวโดสูง

ถ้าเรากดตัวโน้ต 3 ตัว เช่น โด มี ซอล จะได้เสียงผสมผสานกลายเป็นคอร์ด

เช่น กด โด-มี-ซอล พร้อมกันเป็นคอร์ด “ซีเมเจอร์”

พอเราไล่ตัวโน้ตจากโดไปถึงโดสูง เขาเรียกไล่ “บันไดเสียง”

บันไดเสียง มี 2 แบบใหญ่ๆ หนึ่งคือ “ไดอาโทนิก” มี 8 ขั้น กับอีกหนึ่ง “โครมาติก” มี 13 ขั้น

บันไดเสียง “ไดอาโทนิก” ยังแบ่งเป็นบันไดเสียง “เมเจอร์” และบันไดเสียง “ไมเนอร์”

บันไดเสียงนี้ก็มี อาทิ บันไดเสียง ซีเมเจอร์ บันไดเสียง ซีไมเนอร์ บันไดเสียงดีเมเจอร์ บันไดเสียงดีไมเนอร์ ฯลฯ

ส่วนบันไดเสียง “โครมาติก” แบ่งเป็นบันไดเสียงฮาร์โมนิกโครมาติก และบันไดเสียงเมโลดิกโครมาติก

แหะ แหะ แหะ พบลงรายละเอียดแล้วมึน

เอาเป็นว่าโมซาร์ทเขาเลือกใช้บันไดเสียง “ดีไมเนอร์” กับบทเพลงเปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 20

โมซาร์ทใช้บันไดเสียงนี้ประพันธ์เพลง Queen of the Night ในโอเปร่า เรื่อง “ขลุ่ยวิเศษ”

ใช้บันไดเสียงนี้ประพันธ์บทเพลงตอนที่พ่อของนางเอกโอเปร่า เรื่อง

“Don Giovanni” แสดงความเคียดแค้นก่อนตายในฉากแรก

รวมทั้งบทเพลงสุดท้ายของโมซาร์ท Requiem mass ก็ใช้บันไดเสียงนี้

บันไดเสียงที่เต็มไปด้วยอารมณ์…โศกนาฏกรรม

ดังนั้น นับตั้งแต่ท่อนหนึ่ง บทเพลงเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 20 เริ่มด้วยเสียงอึมครึมครอบคลุมไปทั่วหอประชุม

ทีพีโอถ่ายทอดทำนองหนึ่งและขยับเข้าสู่ทำนองสอง แล้วเปียโนโซโลแทรกเข้ามา

บทเพลงดำเนินไป มีความหลากหลาย มีทำนองที่รุกเร้า มีเสียงที่ขัดแย้ง แต่จังหวะหนักแน่น

ส่วนเสียงเปียโนโซโลที่ได้ยินนั้น แจ่มชัดสะอาดสะอ้าน

พอเข้าสู่ช่วงคาเดนซา ซึ่งเปิดให้เปียโนโชว์เดี่ยว อาจารย์แอเรนส์ก็บรรเลงได้จับใจ

ท่อนสอง อารมณ์อันอึมครึมจากท่อนแรกเริ่มผ่อนคลาย

เสียงเปียโนเปลี่ยนผู้ฟังให้สัมผัสถึงเสียงอันนุ่มนวล

จากนั้นท่อนสุดท้ายก็เริ่มขึ้น แล้วดำเนินไปก่อนจะจบลงด้วยความสดใส

ในสูจิบัตรระบุว่า ท่อนนี้เริ่มต้นด้วยเปียโนโซโล และรับช่วงต่อโดยวงทีพีโอ

ทุกอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ดราม่าที่ผันผวนและเข้มข้น

แล้วสุดท้ายทุกอย่างก็คลี่คลาย

ความมืดมนของบันไดเสียง “ดีไมเนอร์” ถูกปัดเป่าหายไป

ความสว่างสดใสจากเสียงในบันไดเสียง “ดีเมเจอร์” เข้ามาแทนที่

บันดาลความเศร้าโศกกลายเป็นความสดใสในตอนท้ายสุด

โอ้ ไม่น่าเชื่อว่าแค่เปลี่ยนบันไดเสียง อารมณ์ก็เปลี่ยนได้

ถือเป็นความมหัศจรรย์ของตัวโน้ตที่รวมตัวกันแสดงพลัง

เพราะถ้าโน้ต 7 ตัว ไม่ได้รวมพลังกัน

ไม่ได้เรียงแถวไล่สูงต่ำจนเป็นบันไดเสียง ไม่ได้ผสมกันเป็นคอร์ด

ไม่ได้แสดงความพิเศษเฉพาะตัวที่แตกต่าง

หากโน้ตแต่ละตัวแค่เปล่งแค่เสียงโด เร มี ฟา ซอล ลา ที เพียงลำพัง

ความมหัศจรรย์ทางเสียงก็คงไม่ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้

ถ้าเปรียบโน้ต 7 ตัว เหมือนคน 7 คน องค์กร 7 องค์กร จังหวัด 7 จังหวัดที่มีความสามารถแตกต่าง

หากต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำ ผลงานที่ออกมาก็ไม่ต่างจากเสียงโน้ตเพียง 1 ตัว

แต่ถ้าเรารวมกันได้ เช่น รวมกัน 3 คน 3 องค์กร 3 จังหวัด ช่วยกันผลิตผลงาน

งานที่ออกมาก็จะมีพลังเหมือนเสียงคอร์ด

และถ้าเราทั้งหมดทุกคน ทุกองค์กร ทุกจังหวัดสามารถรวมกันได้

นอกจากจะมีพลังเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะสามารถพลิกแพลง สร้างสรรค์ได้อีกมากมาย

เหมือนกับการประพันธ์ดนตรี ที่ใช้ทั้งโน้ต ใช้ทั้งบันไดเสียง ใช้ทั้งคอร์ด

ใช้ผลิดอกออกผลกลายเป็นงานเพลงหลายรูปแบบ…ทรงคุณค่า

งานเพลงที่มีพัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน

และยังมีการพัฒนาต่อไปจากปัจจุบันสู่อนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image