ผู้เขียน | พรรณราย เรือนอินทร์ |
---|
เวียงกุมกาม ยามน้ำลด
ล้างดินโคลน ใจร้อนไม่ได้
สถานการณ์น้ำทางภาคเหนือเริ่มทุเลา แต่สถานการณ์หลังน้ำลดนั้นเล่า ก็หนักหนา
เพราะทิ้งไว้ซึ่งความเสียหายและคราบโคลนมากมายเกินพรรณนา
ไม่เพียงบ้านเรือนห้องหับของผู้คนเท่านั้น ทว่า รวมถึงโบราณสถานน้อยใหญ่ ดังที่ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กรมศิลปากร คอยอัพเดตความคืบหน้า
ท่ามกลาง ‘คอมเมนต์’ ที่ถั่งโถมทั้งออนกราวด์และออนไลน์ รัวคำถามว่าทำไมไม่รีบเร่งดำเนินการเร่งระบายน้ำพร้อมฉีดชำระล้างสถาปัตยกรรมงดงามโดยไว
สำนักศิลปากรฯ เชียงใหม่ จึงออกมาอรรถาธิบาย และแจ้งความคืบหน้าล่าสุดในช่วงไม่กี่วันมานี้
5 เหตุผล เร่งไม่ได้
น้ำซึมในโครงสร้าง ฝืนฉีดล้างเสี่ยงพัง!
ต่อคำถามที่ว่า ทำไมไม่เร่งสูบน้ำที่ท่วมขังออกจากโบราณสถานภายในพื้นที่เวียงกุมกาม และโบราณสถานอื่นๆ
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ให้คำตอบเป็นข้อๆ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ดังนี้
1.โบราณสถานแต่ละแห่งในพื้นที่ เป็นโบราณสถานที่ก่อสร้างด้วยอิฐซึ่งเป็นวัสดุที่ดูดซึมน้ำและแกนในของโบราณสถานขึ้นรูปแบบทางเทคนิคก่อสร้างด้วยเทคนิควิธีการก่ออิฐสอด้วยดิน เมื่อมีเหตุอุทกภัย หรือมีปัจจัยที่ทำให้ตัวโบราณสถานมีความชื้นภายในสูง เช่น ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน สะสม ทำให้น้ำฝน หรือน้ำท่วมซึมเข้าสู่ด้านในโครงสร้างของโบราณสถาน อิฐจะชุ่มน้ำและดินสออิฐจะเปลี่ยนสถานะกลายเป็นโคลน ทำให้โครงสร้างภายในไม่เสถียรในการรับน้ำหนัก หรือพยุงตัวของโบราณสถานเองได้
2.โบราณสถานในลักษณะตามข้อ 1 ก็เปรียบเสมือนคนเรา การที่ต้องเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังอยู่ จะเป็นการเร่งการปรับเปลี่ยนสภาวะของตัวโบราณสถานโดยเร็วเกินไปแบบไม่ทันตั้งตัว ผลจะเกิดคือป่วยหนักเหมือนคนเราที่อยู่ๆ อากาศก็เปลี่ยนแปลงฉับพลัน
3.มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยแรงดันจากน้ำที่ท่วมขังอยู่รอบๆ โบราณสถานเพื่อพยุงการกระจายแรงด้านข้างของตัวโบราณสถานเอง ลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
4.คราบดินโคลนที่เกาะติดกับโบราณสถานจำเป็นที่จะต้องทำให้แห้งโดยธรรมชาติ เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด เนื่องจากโคลนที่แห้งจะแยกส่วนออกจากตัวโบราณสถาน สามารถขูดลอกออกโดยง่าย
5.การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ในการทำความสะอาดโบราณสถาน อาจทำให้ชิ้นส่วน หลักฐานทางโบราณคดี ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมเสียหายได้
ไม่เพียงเท่านั้น สำนักฯดังกล่าว ยังตบท้ายว่า ไม่ได้ทอดทิ้ง หรือไม่ได้ใส่ใจในการดูแลรักษาโบราณสถาน หากแต่มีแผนการดำเนินงานและบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ในการดำเนินงานเร่งฟื้นฟูโบราณสถานและองค์ประกอบต่างๆ ภายหลังจากเหตุอุทกภัยเข้าสู่สภาวะปกติ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด และจัดเก็บรายละเอียดลักษณะความเสียหายเพื่อกำหนดแผนการอนุรักษ์ฟื้นฟู การจัดทำรายละเอียดเพื่อขอรับงบประมาณในการอนุรักษ์ฯ กำหนดแผนการป้องกันเหตุภัยพิบัติฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นกับโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีต่างๆ ต่อไปอีกด้วย
คืบ 8 โบราณสถานเวียงกุมกาม
ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ
ส่วนความคืบหน้าการระบายน้ำท่วมขัง ภายหลังจากสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงและปริมาณน้ำในพื้นที่อยู่ในระดับปกติ เริ่มทำไปแล้วตั้งแต่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา โฟกัสไปยังโบราณสถานต่างๆ ภายในมืองโบราณเวียงกุมกาม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ อาทิ โบราณสถานวัดปู่เปี้ย และวัดอิก้าง (อิค่าง) โดยชนหมัดบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการบำบัดน้ำเสียคงค้างในโบราณสถานเพื่อลดผลกระทบทางมลภาวะต่อชาวบ้านในพื้นที่
กระทั่ง 18 ตุลาคม สำนักศิลปากรฯ เขียงใหม่ อัพเดตอีกครั้ง โดยระบุถึงการดำเนินการภายใน โบราณสถานวัดธาตุน้อย และ วัดช้างค้ำ จนมีสถานะที่จะรักษาและประคองสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของตัวโบราณสถานได้
19 ตุลาคม มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการสูบน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่โบราณสถานเมืองโบราณเวียงกุมกามอีกครั้ง ได้แก่ โบราณสถานวัดธาตุขาว, วัดพระเจ้าองค์ดำ, วัดพระยามังราย
งานนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร แอ๊กชั่นให้การอนุเคราะห์ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสูบน้ำที่ท่วมขังบริเวณ โบราณสถานวัดหนานช้าง
กล่าวโดยสรุปคือ โบราณสถานภายในเมืองโบราณเวียงกุมกาม มีการสูบน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่โบราณสถานแล้ว 8 แห่ง ได้แก่ โบราณสถานวัดอิก้าง, วัดปู่เปี้ย, วัดธาตุขาว, วัดธาตุน้อย, วัดช้างค้ำ, วัดพระเจ้าองค์ดำ, วัดพระยามังราย, วัดหัวหนอง, วัดหนานช้างและ วัดกู่ไม้ซ้ง
เช็กความเสียหาย เก็บข้อมูลเข้ม
จ่อกำหนดแผนอนุรักษ์ยิบ
การดำเนินการทั้งหมด สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เผยว่าได้ตรวจสอบความเสียหายและเก็บข้อมูลลักษณะความเสียหายของโบราณสถานและองค์ประกอบภูมิทัศน์ต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดแผนและแนวทางการอนุรักษ์โดยละเอียด
อีกทั้งจะเร่งดำเนินการดูแลรักษาฟื้นฟูโบราณสถานและองค์ประกอบภูมิทัศน์โดยรอบโบราณสถานภายในพื้นที่เวียงกุมกามโดยไว หวังให้คืนสภาพกลับมางดงามสมเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมสำคัญของเชียงใหม่ และแหล่งเรียนรู้ในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปสถาปัตยกรรม
รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
ภาพทั้งหมดจาก สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
พรรณราย เรือนอินทร์