ปลดตรวนทางใจ ‘ไลฟ์โค้ชจิตอาสา’รวมพลัง สร้างสุข ‘ผู้ต้องขัง’ เรือนจำแม่สอด

หน้าเรือนจำอำเภอแม่สอด

นํ้าตาเอ่อรื้นทุกคราเมื่อถูกถามถึงอุบัติเหตุเมื่อ 2 ปีก่อน ที่พาให้เธอต้องคำพิพากษาเข้ามาใช้ชีวิตหลังลูกกรงนานถึง 2 ปีครึ่งแล้ว เหลือเวลาอีกเพียง 1 ปีครึ่งเท่านั้น

เป็นความทุกข์ใจแสนสาหัส…

“น้องหมิว” สารภาพว่า แรกๆ เธอได้แต่กล้ำกลืนน้ำตาก้มหน้าทำงานตรงหน้าทุกอย่างเพื่อให้ไม่ต้องคิดอะไร เป็นการฆ่าเวลาให้หมดไปวันๆ อย่างไร้จุดหมาย

ทว่า ชีวิตมีความสุขได้ตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ!

Advertisement

พจนารถ ซีบังเกิด หรือที่รู้จักกันในชื่อ “จิมมี่” ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง “จิมมี่ เดอะ โค้ช” กล่าวย้ำ

และเป็นที่มาของความตั้งใจชวนไลฟ์โค้ชจิตอาสา โดยความร่วมมือกันของกลุ่มบริษัทจิมมี่ เดอะ โค้ช ร่วมกับ กลุ่มโค้ชแถวหน้าของประเทศไทย เพื่อสร้างประโยชน์และความสุขให้กับคนไทยด้วยการโค้ช

ปีนี้เป็นปีแรกที่เข้าไปอบรมให้กับผู้ต้องขังหญิง ในเรือนจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยครั้งแรกเข้าไปจัดเวิร์กช็อปให้กับผู้ต้องขังหญิง 20 คน เมื่อตอนปลายปี และอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นลักษณะของการพูดคุยตัวต่อตัว เป็นเวลา 2 วัน เพื่อสร้างความพร้อมให้กับผู้ต้องขังก่อนจะกลับออกไปสู่สังคมภายนอก

Advertisement

“เราไม่ได้อยากทำแค่ปีเดียวแล้วจบ ครั้งนี้เป็นการนำร่องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ถ้าสังคมเข้าใจ โครงการนี้จะได้ดำเนินต่อไปอีก ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เลิกแน่ๆ เพราะเข้าใจว่าชีวิตคนเราพลิกได้” พจนารถบอก

หนึ่งในกิจกรรมที่ไลฟ์โค้ชเข้าไปอบรมให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำอำเภอแม่สอด
หนึ่งในกิจกรรมที่ไลฟ์โค้ชเข้าไปอบรมให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำอำเภอแม่สอด

คือการสร้างเกราะจากภายใน

การเป็นจิตอาสาเข้าไปให้การอบรม (โค้ชชิ่ง) ผู้ต้องขังหญิง เป็นหนึ่งใน 5 กิจกรรมนำร่องโครงการ “โค้ชเพื่อประเทศไทย” (Coaching for Thailand) ที่กลุ่มบริษัทจิมมี่ เดอะ โค้ช ร่วมกับกลุ่มโค้ชแถวหน้าของประเทศไทย และโครงการกำลังใจ โดยสำนักกิจการในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการโอกาสและผู้ที่ก้าวพลาดในการดำเนินชีวิตในสังคมไทยให้ได้ปรับปรุง แก้ไข ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต พัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข

สำหรับโครงการ “โค้ชเพื่อประเทศไทย” เป็นการดำเนินการนำร่องผ่านกลุ่มที่มีหน้าที่และอาชีพที่เป็นกำลังสำคัญของสังคมและประเทศ อันได้แก่ กลุ่มทหาร เยาวชน ครู ตำรวจ แพทย์-พยาบาล และกลุ่ม

ผู้ต้องขังหญิงชั้นดี

“คนจะมีความสุข ต้องมีความสุขจากข้างในก่อน ความคิดต้องไม่ถูกจองจำ การเปลี่ยนคนต้องเปลี่ยนจากข้างใน แม้ว่าออกไปแล้วต้องอยู่กับสภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ แต่ถ้าเขาเชื่อว่าเขาเลือกได้ เขาจะรอดได้”

พจนารถบอก และเล่าว่า

…ที่เรือนจำอำเภอแม่สอดส่วนมากเป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด บางรายพอจำความได้ก็เห็นยาเสพติดแล้ว เพราะบ้านขายยา ผู้ต้องขังหญิงรายหนึ่งซึ่งเป็นชนเผ่าเล่าให้ฟังว่า ปกติทำงานได้ค่าแรงวันละ 200-300 บาท แต่ค้ายาได้ 40,000 บาท ถ้าพ้นโทษออกไปไม่มีคนรับเข้าทำงาน เท่ากับต้องเริ่มต้นจากศูนย์ และยังมีผู้ค้ารายใหญ่คอยชักชวนให้กลับไปอีก

ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เมื่อพ้นโทษออกไปแล้วมักจะเกิดความไม่มั่นใจ กังวล และรู้สึกเหมือนกลายเป็นคนที่มีความผิดติดตัวตลอดเวลา ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

เราจึงเข้าไปทำโครงการนี้เพื่อให้เขารู้ว่า เขายังมีทางเลือกอื่น ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนขายยาเสพติด โดยเราเข้าไปเปลี่ยนวิธีคิดของเขา

พจนารถ ซีบังเกิด และ พิมพจนา ปรีดีสนิท
พจนารถ ซีบังเกิด และ พิมพจนา ปรีดีสนิท

โค้ชให้รู้จักตนเอง จุดไฟฝันอีกครั้ง

สำหรับใครหลายคนอาจมองว่า ไลฟ์โค้ชเป็นเรื่องของธุรกิจ ใช้โค้ชคนระดับผู้บริหาร ระดับซีอีโอ

แต่ในอีกด้านศาสตร์ของการโค้ชสามารถนำมาช่วยเหลือสังคมได้เป็นอย่างดี โค้ชเพื่อสร้างพลัง สร้างกำลังใจ สำหรับใครก็ได้ รวมทั้งกับผู้ต้องขัง คำว่า “ชีวิตมีความสุขได้ตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ” ไม่ได้เกินเลยแต่อย่างใด

การพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ภายในตัวตนของผู้ต้องขังแต่ละคนผ่านทักษะการโค้ช เพื่อให้มีความเข้าใจตนเอง ตระหนักในคุณค่าของตนเองได้ มีมายด์เซตที่ดีในการใช้ชีวิต ทำให้มีความแข็งแรงจากภายในไปพร้อมๆ กับการอยู่ร่วมกับครอบครัว เพื่อน กัลยาณมิตร และสังคมไทยด้วยความมั่นใจ อิ่มเอม และมีความสุข

กรณีของ “น้องหมิว” (นามสมมุติ) หนึ่งในผู้ต้องขังหญิงที่เรือนจำอำเภอแม่สอด อายุ 33 ปี พจนารถบอกว่า เป็นคนที่มีจิตใจที่ดีอยู่แล้ว อาสาช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ และคอยให้กำลังใจเพื่อนๆ แต่ตัวเธอเองไม่เคยเห็นข้อดีของตัวเองในจุดนี้

“หนูอยู่กับยายช่วยหยิบโน่นทำนี่ให้ตั้งแต่อายุสิบห้า แล้วก็ช่วยจัดยาให้กับแม่ เพราะแม่มองไม่ค่อยถนัด”

น้องหมิวบอก และว่า เมื่อก่อนก็เคยหงุดหงิดบ้าง บางทียายบอกให้ทำโน่นนี่นั่น หนูก็ทำให้ แต่ก็แกล้ง อย่างให้ทำ 1-2-3-4 หนูก็ทำ 4-3-2-1 แต่ตอนนี้ไม่แล้วค่ะ ตอนนั้นหนูยังจัดการกับอารมณ์ตัวเองไม่เป็น

“ในใจลึกๆ หนูกลับไม่เคยให้กำลังใจตัวเองเลย มันหมดไปตั้งแต่วันที่หนูถูกตัดสินรับโทษ หนูไม่เคยยอมรับและทำความเข้าใจว่าความผิดในครั้งนั้นมันคือส่วนหนึ่งของชีวิตหนู

“อย่างที่โค้ชสอนค่ะ คนเราพลาดได้ แต่ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับมันและก้าวข้ามมันไปให้ได้ หนูจึงหันกลับไปมองหากำลังใจตัวเอง พยายามกอดและบอกรักตัวเองให้มากๆ เพื่อให้เราเข้มแข็งมากพอ จนถึงวันที่หนูสามารถกลับไปมีชีวิตปกติอีกครั้งค่ะ

“อีก 1 ปีครึ่งก็จะได้ออกไปแล้ว ทีแรกหนูสมัครเข้าโครงการเพราะคิดว่าจะได้นำความรู้ที่ได้ไปดูแลพ่อแม่ แต่พ่อหนูยังแข็งแรง หนูว่าจะไปทำงานก่อนสัก 10 ปี แล้วค่อยกลับมาดูแลพ่อแม่

“…ตอนนี้มันยังไม่ใกล้และไม่ไกล แต่พยายามฝึกวิชาชีพ…ก็มีให้กำลังใจกับเพื่อนๆ บ้าง บางคนว่าถ้ากลับไปต้องมีคนว่าแน่เลย หนูก็บอกว่า คนติดคุกไม่ได้ไม่ดีเสมอไป บางคนทำเพื่อครอบครัว ทำเพราะภาระ เมื่อหันมามองตัวเองรู้สึกเรายังมีดีกว่า ไม่มีภาระ” น้องหมิวยิ้มทั้งน้ำตายังเปื้อนแก้ม

ฝึกความคิดบวก "ฉันคือใคร"
ฝึกความคิดบวก “ฉันคือใคร”

ชีวิตนี้เราเลือกได้

“น้องหมิว” เป็นเคสหนึ่งที่ได้พูดคุยด้วย อีกเคสหนึ่งเป็นการถ่ายทอดผ่าน พิมพจนา ปรีดีสนิท ไลฟ์โค้ชจิตอาสา

เธอเล่าถึงประสบการณ์ในการโค้ชผู้ต้องขังว่า มีอยู่เคสหนึ่งผู้ต้องขังเป็นหญิงสูงอายุ มีหลานที่กำลังโต เมื่อแรกเธอบอกลูกเลยว่า อย่าพา

หลานมาเยี่ยมเพราะอาย แต่เมื่อผ่านการอบรมแล้ว ความคิดของเธอก็เปลี่ยนไป ตอนที่ได้พูดคุยกันเธอบอกว่าเธออภัยให้ตัวเองได้ และเมื่อออกไปจะเล่าให้หลานฟัง เพื่อว่าหลานจะไม่เดินซ้ำรอยเธอ และยังเล่าให้หลานฟังทุกครั้งที่มาเยี่ยมว่าเธอได้เรียนรู้อะไรบ้างจากที่นี่

พิมพจนาบอก และว่า มีครั้งหนึ่งผู้ต้องขังคนเดียวกันนี้ เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่ต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำเพราะเพื่อนสนิทเป็นสายให้ตำรวจ แต่แล้วเพื่อนคนนี้ก็เข้ามาติดคุกเหมือนกัน เธอบอกว่าทีแรกว่าจะดักทำร้าย แต่ก็คิดได้เองว่า ไม่รู้จะทำเพื่ออะไร เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็จะไม่มีโอกาสได้เจอหลานอีก คือเธอมีความดีอยู่ข้างใน แต่ขาดคนชื่นชม เราเข้ามาที่นี่มาย้ำตรงนี้ ดึงความดีที่อยู่ข้างในออกมาให้เธอเห็นว่า นี่เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่

ขณะที่พจนารถบอกว่า เดือนพฤษภาคม (26-27 พฤษภาคม 2560) จะมีการประชุมพันธมิตรโค้ชแห่งเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2017 (APAC 2017 Coaching Conference) ซึ่งครั้งนี้ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ เธอจะนำโครงการทั้ง 5 กิจกรรมนี้นำเสนอบนเวทีการประชุม เพื่อให้เห็นว่า การโค้ชไม่ได้แค่เพื่อหากินอย่างเดียว แต่สามารถช่วยสังคมได้

“ไม่ได้ต้องการจะช่วยกู้โลก แต่ทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถ้าสังคมรอบๆ ดีขึ้น มันจะขยายไปเอง ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แค่ทำสิ่งเล็กๆ แต่เป็นประโยชน์ต่อสังคมก็พอ”


เปิดใจ’สมศักดิ์ ยุทธโอภาส’

ผบ.เรือนจำอำเภอแม่สอด

 สมศักดิ์ ยุทธโอภาส
สมศักดิ์ ยุทธโอภาส

สมศักดิ์ ยุทธโอภาส ผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บอกว่า ผู้ต้องขังมีร้อยพ่อพันแม่ ที่เก่งก็มีหลายคน บางคนซ่อมรถเก่ง แค่ฟังเสียงเครื่องยนต์ก็รู้แล้ว แต่เขาเอาความโดดเด่นนั้นมาใช้ไม่เป็น

“นักกีฬายังต้องมีโค้ชชี้แนะ” การที่คุณพจนารถและกลุ่มไลฟ์โค้ชเข้ามาอบรมให้กับผู้ต้องขัง ผ่านการพูดคุย วางเป้าหมายของชีวิต แล้วชี้จุดดีของแต่ละคน ผบ.สมศักดิ์ให้ทรรศนะว่า ในความคิดของผมไลฟ์โค้ชคล้ายธรรมะ คือสอนให้เป็นคนดี โดยให้เพื่อนให้พี่น้องเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นตัวเอง

ผมเองยังไม่เคยเข้ารับการอบรม แต่จากการพูดคุยกับผู้ที่ผ่านการอบรมแล้ว รุ่นแรกบอกว่า เขารู้สึกว่าพฤติกรรมของตัวเองเปลี่ยนไปจากที่เคยมองตนเป็นใหญ่ ไม่อดทนอดกลั้น ก้าวร้าว เปลี่ยนเป็นซอฟต์ลง จนมีคติของตนเอง เช่น ความผิดพลาดคือ บทเรียนที่ดีที่สุด

สิ่งหนึ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงคือ ทำให้การปกครองในเรือนจำง่ายขึ้น เพราะเขามีสติ การวิวาทไม่เกิด มองโลกในแง่บวกมากขึ้น

“ปัญหาในเรือนจำคือ มีคนร้อยพ่อพันแม่ โอกาสที่จะก่อเหตุมีมากมาย แค่ใครตักกับข้าวมากกว่าก็เขียนจดหมายร้องเรียนเข้ามาแล้ว เมื่อเราลดการกระทบกระทั่งไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีการเพิ่มความมีสติ ทำให้สังคมในเรือนจำดีขึ้น”

ผบ.สมศักดิ์บอก และกล่าวถึงสิ่งที่คาดหวังว่า หนึ่งคือ การไม่สร้างปัญหาเมื่ออยู่ในเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันจดหมายที่เขียนร้องเรียนไม่มีแล้ว ทำให้การปกครองง่ายขึ้น และสอง เมื่อพ้นออกไปอยู่ข้างนอกแล้ว เขาจะสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ มองโลกในแง่บวกขึ้น และมีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น

ประกอบกับการที่ได้รับการอบรมวิชาชีพจากในเรือนจำ เมื่อออกไปแล้วเท่ากับเขามีความรู้ติดตัวมากกว่าคนอื่น โอกาสที่จะหางานก็ง่ายขึ้น เพราะมีตัวเลือกในการทำงานมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image