นักวิชาการติง ‘กระเทียม’ กินมากเลือดแข็งตัวช้า เสี่ยง ‘โลหิตจาง’

“กระเทียม” เครื่องเทศสมุนไพรคู่ครัวไทยที่มักจะมีติดบ้านไว้สำหรับประกอบอาหารอยู่เสมอ ทั้งนำมาเจียวไว้โรยหน้าอาหาร ใช้เป็นส่วนประกอบของน้ำพริกและอาหารหลากชนิด หรือรับประทานสดๆ เป็นเครื่องเคียงในเมนูอาหาร

ปัจจุบันการบริโภค “กระเทียม” มีความตื่นตัวมากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารหลากหลายเมนูแล้ว ยังเชื่อว่าดีต่อสุขภาพ สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหวัด ได้จริงหรือไม่?? เรามาฟังคำตอบจากนักโภชนาการกัน

ผศ.ดร.เอกราช เกตวัลห์ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “กระเทียมเป็นสมุนไพรไทยที่มากด้วยสรรพคุณ มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่จะบอกว่ากินกระเทียมแล้วสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ คงไม่ถูกต้องนัก ควรเรียกว่าช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเหล่านี้จะเหมาะสมกว่า”

ผศ.ดร.เอกราช เกตวัลห์
ผศ.ดร.เอกราช เกตวัลห์

จากงานวิจัยพบว่ากระเทียมมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีสารสำคัญ ได้แก่ เคอร์ซิทิน (quercetin) ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการอักเสบ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และสารอัลลิซิน (allicin) ช่วยยับยั้งกระบวนการสร้างคอเลสเตอรอลในเลือด ทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลงได้ส่วนหนึ่ง ลดความเสี่ยงในการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือด และช่วยยับยั้งการแข็งตัวของเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ

Advertisement

นอกจากนี้ กระเทียมยังเป็นแหล่งของใยอาหาร โดยเฉพาะใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำได้ ซึ่งช่วยจับไขมันและลดการดูดซึมของสารพิษหรือสารก่อมะเร็ง แล้วขับออกจากร่างกาย จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งยังมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการหวัดและช่วยให้หายเร็วขึ้นอีกด้วย แต่ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่ากินกระเทียมแล้วจะไม่เป็นหวัด

ถึงแม้ว่ากระเทียมจะมีสรรพคุณที่มากด้วยประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การบริโภคมากจนเกินไปย่อมเกิดโทษต่อร่างกายได้ ผศ.ดร.เอกราชแนะนำให้บริโภคกระเทียมไม่เกิน 1 หัวขนาดเล็กต่อวัน

กระเทียมเม็ด

Advertisement

“ความเป็นพิษของกระเทียม เมื่อบริโภคมากเกินไปและต่อเนื่อง อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีแผลในกระเพาะอาหาร กลิ่นปากไม่พึงประสงค์ รวมถึงทำให้เลือดแข็งตัวช้า เนื่องจากกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงไม่ควรรับประทานควบคู่กับยากลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้เลือดแข็งตัวช้า เช่น ยาเฮพาริน (heparin) ยาวาร์ฟาริน (warfarin) แอสไพริน (aspirin) เป็นต้น เพราะจะเป็นการเสริมการออกฤทธิ์ของยา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด”

นักวิชาการคนเดียวบอกและย้ำว่า สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาในกลุ่มนี้เป็นประจำ และชื่นชอบการบริโภคกระเทียมควรระมัดระวังเพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคซีดหรือโรคโลหิตจางได้ นอกจากนี้ ไม่ควรรับประทานกระเทียมสดขณะท้องว่าง เพราะอาจทำให้ทางเดินอาหารผิดปกติ

กระเทียมเป็นเครื่องเทศสมุนไพรใกล้ตัว หารับประทานได้ง่าย มีสรรพคุณทางยา ดีต่อสุขภาพ แนะนำให้รับประทานทั้งในรูปแบบของอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหารต้ม ผัด แกง ทอด หรือจะเลือกบริโภคในรูปแบบกระเทียมสดก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน

ถ้าหากใครชื่นชอบกระเทียมดองเป็นพิเศษ แนะนำให้กินน้ำกระเทียมด้วย เพราะจะได้สารสำคัญที่มีอยู่ในกระเทียมครบถ้วน แต่ควรระมัดระวังเรื่องการปนเปื้อน แนะให้เลือกรับประทานจากแหล่งที่สะอาดถูกสุขอนามัย คนที่เป็นความดันสูงกินได้เล็กน้อย เพราะมีปริมาณโซเดียมสูง ปัจจุบันตามท้องตลาดยังมีจำหน่ายในรูปแบบของอาหารเสริม เป็นสารสกัดจากกระเทียม มีสรรพคุณไม่แตกต่างจากกระเทียมสด

การบริโภคในรูปแบบกระเทียมสดหรือนำไปประกอบอาหารโดยผ่านความร้อนไม่มาก นอกจากช่วยรักษาคุณภาพของสารสำคัญในกระเทียมแล้ว ยังทำได้ง่าย ประหยัด ราคาสบายกระเป๋า

การกินกระเทียมดีต่อสุขภาพ แต่ไม่ควรกินปริมาณมากเพื่อหวังผลในการรักษา เพราะอย่างไรก็ตาม กระเทียมไม่ใช่ยา แนะนำให้กินกระเทียมสดหรือใส่ในอาหารหลากหลายเมนูเพื่อสุขภาพที่ดี กินผัก-ผลไม้ทุกวัน พักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้

กระเทียม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image