แท็งก์ความคิด : ข่าวดีเรื่องการอ่าน

ข่าวดีเรื่องการอ่าน

ได้ยินข่าวนี้แล้วปลื้ม เป็นข่าวดีที่ระบุว่าคนไทยใช้เวลาการอ่าน 113 นาทีต่อคนต่อวัน

ข่าวนี้ทำให้ความเชื่อที่ว่าคนไทยยังอ่านหนังสืออยู่นั้นเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นข้อมูล

และข้อมูลที่ปรากฏเช่นนี้ในทุกๆ งานหนังสือ ทำให้คนที่อยู่ในวงการหนังสือเกิดกำลังใจ

ADVERTISMENT

เช่นเดียวกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 29 ที่เพิ่งผ่านพ้น

งานมหกรรมหนังสือฯครั้งนี้จัดระหว่างวันที่ 10-20 ตุลาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ADVERTISMENT

งานมหกรรมฯครั้งนี้ หากใครได้แวะเวียนไปคงจะรู้สึกเหมือนกันว่าคนแน่น และคนที่มาหาหนังสืออ่านมีแทบทุกวัย

ที่น่าปลื้มใจมากๆ คือนักอ่านวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น

แสดงว่าคนไทยยังนิยมการอ่านหนังสืออยู่ จำนวนคนที่แวะเวียนไปตามบูธหนังสือต่างๆ

ภายในงานทำให้วงการอุตสาหกรรมหนังสือมีความหวัง

สำนักพิมพ์มติชนก็เป็นหนึ่งในนั้น

และดีใจที่หนังสือหลายเล่มได้รับการขานรับจากแฟนคลับ

หลังจากงานมหกรรมหนังสือเสร็จสิ้น สำนักพิมพ์มติชนได้รายงานอันดับหนังสือขายดี 10 อันดับ

อันดับ 1 Amidst the Geo-Economic Clashes ไทยในสงครามเย็น 2.0 เขียนโดย ปิติ ศรีแสงนาม, จักรี ไชยพินิจ

อันดับที่ 2 Timelines of World History ร้อยพันเรื่องราวประวัติศาสตร์โลก เขียนโดย DK Team แปลโดย ธาม โสธรประภากร

อันดับที่ 3 จิตตุงแปร่ง ในโลก why (?) ป่วง เขียนโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์

อันดับที่ 4 ถังซำจั๋ง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง พิมพ์ครั้งที่ 3 แปลโดย ชิว ซูหลุน

อันดับที่ 5 ตำรับสร้าง(รส)ชาติ เขียนโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์

อันดับที่ 6 ข้างสำรับอุษาคเนย์ เขียนโดย องค์ บรรจุน

อันดับที่ 7 ชันสูตรประวัติศาสตร์ไขปริศนาเหตุสิ้นพระชนม์ เขียนโดย รศ.(พิเศษ) นพ.เอกชัย โควาวิสารัช

อันดับที่ 8 ไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส (ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ลำดับที่ 36) เขียนโดย หนุ่มเมืองจันท์

อันดับที่ 9 ดีเอ็นเอไม่ไทย บรรพชนไทยไม่แท้ ผู้เขียนโดย วิภู กุตะนันท์

และอันดับที่ 10 คิด Smart โอกาสเปลี่ยนโลก เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ส่วนความสำเร็จของงานมหกรรมหนังสือฯ ผู้จัดได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าพึงพอใจ

จากการเปิดเผยของ นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ฟังแล้วน่าดีใจ

นายสุวิชสรุปผลการดำเนินงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้

ระบุว่า จำนวนผู้เข้าชมรวมตลอด 11 วัน 1.4 ล้านคน และวันที่คนเข้าชมมากที่สุดคือวันที่ 19 ตุลาคม จำนวน 236,686 คน สูงกว่าวันที่มีผู้เข้างานมากที่สุด คือ 162,135 คน

ถือว่าเป็นวันที่มีคนเข้าสูงมากทีเดียว

ยอดขายรวมในปีนี้อยู่ที่ 480 ล้านบาท เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ 438 ล้านบาท

รายได้จากการจำหน่ายหนังสือปีนี้เพิ่มมากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 15

ถือว่าไม่ธรรมดา

เมื่อจำแนกคนที่มางานพบว่า ส่วนใหญ่ คือร้อยละ 69 มีอายุ 12-35 ปี เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้วที่มีร้อยละ 49

ช่วงวัยนี้ถือเป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน

เมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็อนุมานได้ว่ามีผู้สนใจอ่านหนังสือในวัยนี้มากขึ้น

ช่วงอายุรองลงมาคือ 23-28 ปี มีร้อยละ 23

เมื่อจำแนกตามเพศของผู้เข้างานพบว่า ร้อยละ 63.78 เป็นผู้หญิง ร้อยละ 26.91 เป็นผู้ชาย เป็น LGBTQ+ ร้อยละ 6.9 และอื่นๆ ร้อยละ 2.41

ส่วนภาพรวมของหนังสือขายดีภายในงาน อันดับแรกคือ การ์ตูน และมังงะ ร้อยละ 40 แซงนิยายที่เป็นแชมป์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 30

ที่เหลือคือ หมวดฮีลใจ/จิตวิทยา/พัฒนาตัวเอง ร้อยละ 20 แบบเรียน/หนังสือเด็ก/การลงทุน/สุขภาพ ร้อยละ 10%

ความสำเร็จของการจัดงานครั้งนี้ผู้จัดมองว่ามาจาก 3 ปัจจัย

ประการแรก ธีมงาน “อ่านกันยันโลกหน้า” ทำให้คนสนใจ เพราะแหวกแนวกว่าทุกครั้ง

ประการที่สอง กลุ่มวัยรุ่น อายุ 12-35 ปี เข้างานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20

ประการที่สาม สำนักพิมพ์ต่างๆ จัดกิจกรรมโปรโมชั่น ที่มีเฉพาะงานนี้เท่านั้น ไม่มีที่อื่น

ผลจากการจัดงานครั้งนี้ตอกย้ำว่า ประเทศไทยยังมีนักอ่านอยู่มาก

นักอ่านยังต้องการหนังสือสวนทางกับคำกล่าวว่า คนไทยไม่อ่านหนังสือ

และผลวิจัยล่าสุดพบว่า คนไทยมีสถิติการอ่านสูงขึ้น เป็น 113 นาทีต่อวัน

ฟังแล้วดีใจ นี่แสดงว่าคนไทยใช้เวลาในการอ่านมากขึ้น ข้อมูลนี้เป็นกำลังใจให้คนที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการอ่าน

ไม่ว่าจะเป็นคนในกลุ่มผู้ผลิตเนื้อหา กลุ่มผู้จัดจำหน่ายเนื้อหา หรือกลุ่มผู้ให้การสนับสนุน ที่มีความหวังจะเห็นคนไทยนิยมการอ่าน

หวังว่าสถิติเหล่านี้จะเป็นข้อมูลที่ทำให้ผู้คนที่เชื่อว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือกันแล้วเปลี่ยนความคิด

แล้วกลับมาร่วมขับเคลื่อนให้กระบวนการส่งเสริมการอ่านเกิดขึ้น และมีความต่อเนื่องตลอดไป

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image