‘บ้านวังมะด่าน’ พิษณุโลก ชุมชนต้นแบบ เลิกบุหรี่แบบหักดิบ

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล (สูทดำ)

24 กุมภาพันธ์ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำคณะเยี่ยมชมความสำเร็จของ รพ.สต.บ้านวังมะด่าน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นต้นแบบเลิกบุหรี่แบบหักดิบ ภายใต้ “โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน”

การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้พบชาวบ้านที่มีความตั้งใจในการเลิกสูบบุหรี่ จากผู้สูบในหมู่บ้าน 300 คน สมัครใจเลิกสูบตลอดชีวิตแล้ว 30 คน และจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดได้ทำพิธีดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่ โดยมีพระสงฆ์และประชาชนในหมู่บ้านเป็นสักขีพยาน

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าให้ฟังว่า บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพก่อให้เกิดโรคมากมาย ซึ่งจากการประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคที่เกิดจากบุหรี่คิดเป็นค่าใช้จ่ายสูงถึง 74.9 พันล้านบาท คิดเป็น 0.78 ของ GDP เป็นค่าใช้จ่ายตรงทางการแพทย์ 11,473 ล้านบาท การสูญเสียผลิตภาพจากการตายก่อนวัยอันควรเท่ากับ 61,219 ล้านบาท

Advertisement

การสูญเสียผลิตภาพจากการขาดงานของผู้ป่วย 731 ล้านบาท เพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ สสส.จึงริเริ่มโครงการ “โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” ขึ้น เป็นความร่วมมือจากหลายองค์กร อาทิ กระทรวงสาธารณสุข ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่าย มาร่วมทำความดีถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วยการชักชวน เชิญชวนและวิธีท้าชวนให้เลิกสูบบุหรี่แบบหักดิบ

ผู็สูงอายุ

สำหรับ รพ.สต.บ้านวังมะด่าน ต.วงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ ในระดับตำบลและหมู่บ้าน โดยมีเครือข่ายหมออนามัยและ อสม.ซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุดในการแนะนำชักชวนให้ประชาชนเลิกบุหรี่ ป้องกันการกลับมาสูบซ้ำ ป้องกันเด็กเยาวชนห่างไกลจากบุหรี่ด้วย

Advertisement

ความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชุมชน ทำให้ชุมชนบ้านวังมะด่านเป็นต้นแบบการเลิกบุหรี่แบบหักดิบที่สามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

โดยเน้นแนวทางปฏิบัติ 9 ข้อ ให้ทางเครือข่ายหมออนามัยและ อสม.ใช้เป็นแนวทางการทำงาน คือ 1.ค้นหา สำรวจ และจำแนกเป้าหมายคนที่ชวนให้เลิกสูบ 2.หาแรงจูงใจเพื่อชวนให้ตัดสินใจเลิกสูบเด็ดขาด 3.ให้ข้อมูลด้านลบของการสูบบุหรี่ 4.แนะนำให้ปฏิบัติเทคนิคกาเลิกสูบที่ง่ายและได้ผล 5.แนะนำอุปกรณ์ที่ช่วยให้เลิกสูบได้ง่ายขึ้น 6.ติดตามเยี่ยมเยือนให้กำลังใจ 7.ทำกิจกรรมสนับสนุนการเลิกสูบ 8.แนะนำบริการช่วยเลิกบุหรี่ และ 9.จัดกิจกรรมชื่นชมเชิดชู ทั้งนี้ จากการดำเนินงานกว่า 6 เดือน ที่ผ่านมามีผู้สมัครใจเลิกสูบุหรี่ทั่วประเทศ 206,287 คน แล้ว

ดร.นพ.บัณฑิตกล่าวว่า สสส.เห็นศักยภาพของเครือข่ายหมออนามัย อสม.ในการควบคุมยาสูบและดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ช่วยคัดกรอง แนะนำให้เลิก ป้องกันการกลับไปสูบซ้ำ ป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่ รณรงค์มุ่งให้ข้อมูลเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และกิจกรรมลงมือทำมุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยกระบวนการกลุ่ม ซึ่งชุมชนบ้านวังมะด่าน ตั้งกลุ่มคนเลิกบุหรี่ร่วมกัน พัฒนาไปสู่การสร้างบุคคลตัวอย่างเลิกสูบบุหรี่ ขยายไปสู่ชุมชนต้นแบบ นำไปใช้ในพื้นที่อื่นได้

นายมงคล  เงินแจ้ง (เสื้อขาว)
นายมงคล เงินแจ้ง (เสื้อขาว)

ขณะที่นายมงคล เงินแจ้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านวังมะด่าน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก หมออนามัยเลิกสูบบุหรี่ ฉายา “หมออนามัยหักดิบ” กล่าวว่า ตนสมัครใจเลิกบุหรี่แบบหักดิบ ตามโครงการ โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน เพื่อถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อเป็นตัวอย่างในการเชิญชวนประชาชนเลิกบุหรี่ ซึ่งจากการหักดิบ ช่วง 2 สัปดาห์แรกจิตใจต้องเข้มแข็ง หากพ้นช่วงนี้ไปก็สามารถเลิกบุหรี่ได้ประสบความสำเร็จ และนับเป็นวิธีที่เลิกได้เร็วกว่าการค่อยๆ เลิก โดยการลดปริมาณการสูบ แต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้วิธีหักดิบได้จะมีคลินิกเลิกบุหรี่ให้คำปรึกษากับผู้ต้องการเลิกบุหรี่

“กิจกรรมเด่นที่ใช้ขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ ได้แก่ การท้าชวนดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่ทั้งหมู่บ้าน 1 คนท้าชวน 1 คนที่สูบให้เลิก = 1 คนเลิกสูบแล้ว ท้าชวน 1 คนเลิกสูบต่อเนื่องไป = 1 ทวีคูณ ทำควบคู่ไปกับการจัดรายการวิทยุออนไลน์ให้ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลิกบุหรี่ มีกิจกรรมเชิดชูเกียรติทั้งคนชวนคนเลิกสูบบุหรี่และคนเลิกสูบบุหรี่ต้นแบบในระดับจังหวัด เพื่อสร้างกำลังใจ ป้องกันการหวนกลับมาสูบซ้ำอีก มีการประเมินผลหากรายใดเลิกบุหรี่ได้เกิน 6 เดือนถือว่าเลิกได้สำเร็จ”

นายมงคลกล่าวว่า สูบบุหรี่ตามเพื่อนตั้งแต่อายุ 19 ปี สูบมาแล้ว 36 ปี ก่อนตัดสินใจเลิกเพราะต้องการเอาชนะใจตัวเอง ประกอบกับอายุมากแล้ว เริ่มมีปัญหาทางสุขภาพ พื้นที่ในการสูบมีจำกัด เป็นที่รังเกียจของสังคม อยู่ในสังคมแบบไม่มั่นใจ และราคาบุหรี่แพงขึ้น จึงเข้าร่วมโครงการประกาศเลิกบุหรี่ตลอดชีวิตกับ สสส.ต้องการเป็นตัวอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ผมมั่นใจว่าผมและทุกคนเลิกสูบบุหรี่ได้ หากมีจิตใจเข้มแข็ง

5

สำหรับ ต.วงฆ้อง มีผู้สูบบุหรี่จำนวน 300 คน ขณะนี้ได้มีผู้สมัครใจเลิกบุหรี่แล้ว 30 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาสุขภาพ และประชาชนทั่วไปที่เห็นผลดีของการเลิกบุหรี่ ว่าทำให้สุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น จิตใจ อารมณ์ดีขึ้น เข้าสังคมได้อย่างมั่นใจ บุคลิกภาพดีนี้และที่สำคัญช่วยประหยัดเงินให้ครอบครัวได้มาก หลายคนจึงมาร่วมโครงการ

ในวันนี้ได้ร่วมดื่มน้ำสาบาน ต่อหน้าพระสงฆ์ ที่มาทำพิธีดื่มน้ำสาบานเลิก บุหรี่ในครั้งนี้ด้วย

นายมาก คงทรัพย์ อายุ 79 ปี ราษฎร หมู่ 9 ต.วงฆ้อง อ.พรหมพิราม กล่าวว่า ตนเองสูบบุหรี่ช่วงวัยรุ่น วันละหลายซอง จนทำให้ปัจจุบันมีอาการไอ สุขภาพแย่ และใบหน้าแก่เร็วกว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะสูบบุหรี่หนัก แรงบันดาลใจการเลิกมาจาก ผอ.รพ.สต.บ้านวังมะด่านที่มาชักชวนให้เลิกบุหรี่หลังจากมาตรวจสุขภาพ และบอกว่าหมอทำได้แล้วเลิกบุหรี่แล้ว จึงใช้ความพยายามในการเลิก เวลานี้เลิกได้กว่า 1 เดือนแล้ว สุขภาพดีขึ้น อาการไอบ่อยๆ ก็หายไปด้วย

นายนาวิน แจ้งพรหมอินทร์ อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 บ้านย่านยาว ต.วงฆ้อง อ.พรหมพิราม กล่าวว่า ตนเองเพิ่งประกาศเลิกบุหรี่ เมื่อช่วงวันเข้าพรรษาปลายปี 2559 ที่ผ่านมา จนทุกวันนี้ก็ไม่ได้สูบอีก พร้อมยอมรับว่าระยะแรกๆ ต้องต่อสู้กับใจตัวเองมาก และเคยแอบไปสูบบุหรี่ที่ห้องน้ำ 1 ครั้ง แต่สูบได้ครึ่งมวนเท่านั้น รู้สึกเหม็นกลิ่น อีกทั้งสำนึกในความผิดของตัวเอง จึงได้ตั้งใจใหม่ในความพยายามเลิกอีกครั้ง ใช้เวลาอีกไม่ถึงเดือนกว่าจะมั่นใจว่าตัวเองสามารถเลิกบุหรี่ได้จริงๆ และวันนี้พูดได้เต็มปากว่า ผมเลิกบุหรี่ได้ตลอดชีวิตแล้ว

ทั้งนี้ โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน กำหนดเป้าหมายให้มีผู้เลิกสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศในเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2559-2562 หรือตลอดชีวิตให้ได้ 3 ล้านคน โดยปีแรกจำนวน 560,000 คน และในปีที่ 2 ตั้งแต่มิถุนายน 2560 – พฤษภาคม 2561 จำนวน 2 ล้านคนนับต่อยอดจากปีแรก

และในปีที่ 3 สิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2562 ต้องทำให้ได้ จำนวน 3 ล้านคน

7

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image