คอลัมน์ประสานักดูนก : ดูนกเมืองขแมร์ (4) ตัวใหญ่มากระแวง

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป้าหมายวันนี้เปลี่ยนจากฝูงแร้งอาเซียน 3 ชนิด เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ ที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัจจุบัน เพียงแค่ 5 ทศวรรษ ก็สูญพันธุ์หมดสิ้นไปจริงๆ

ในฤดูแล้ง นกช้อนหอยใหญ่ จะหากินที่บ่อน้ำกลางป่าเต็งรัง ซึ่งยังคงมีสัตว์น้ำเป็นอาหารของนก อาทิ กบ เขียด ปลา หรือปลาไหล ที่อาศัยอยู่ในหลุมโคลน รอยแตกของดินแห้งแข็งด้านบน แต่ด้านล่างยังคงเละปนน้ำปนเลนอยู่มาก

เมื่อเย็นวาน หลังจากสมใจกับฝูงแร้งอาเซียน 68 ตัวแล้ว เราย้ายที่มาบ่อน้ำที่เรียกว่า บ่อ 1 กอกกขึ้นหนาแน่นกลางบ่อ เป็นแหล่งหลบภัยที่ดีของนกกระจาบธรรมดาหลายร้อยตัว เมื่อเราเดินลงจากรถ เข้าหาริมบ่อที่กว้างกว่า 100 เมตร นกตะกรุม 2 ตัว ก็บินโผขึ้นไปเกาะบนต้นไม้ริมบ่อ บ่อนี้ไกด์ท้องถิ่นบอกเราว่า “นกช้อนหอยดำ” มักจะลงมาหากินตอนเช้า

แต่ประเมินจากทำเลฮวงจุ้ยของบ่อที่ใกล้ถนนกลางป่าที่มีชาวบ้านสัญจรไปมาตลอดวัน ทั้งรถแต๊กๆ มอเตอร์ไซค์ หรือเดินเท้า เราคิดกันว่า ถ้าถอดใจไปเป็นนกช้อนหอยใหญ่ ที่ระแวงภัยสูงมาก และตัวใหญ่กว่านกช้อนหอยดำ ไม่น่าจะสบายใจที่จะลงหากินในบ่อ 1 นี้ เลยขอเปลี่ยนบ่อ ไปสำรวจบ่อที่ 2 ซึ่งขับรถลึกเข้าไปในป่าเต็งรังอีกฟากหนึ่งของป่า ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง

Advertisement

บ่อ 2 ใหญ่กว่าบ่อ 1 มาก ไม่มีกอกกหรือพืชน้ำขึ้นกลางน้ำแม้แต่น้อย สภาพทำเลเป็นบ่อขุดด้วยแบ๊กโฮให้ขอบบ่อกว้างขึ้น เพราะยังเห็นสันดอนดินที่ถูกขุดขึ้นมาทิ้งไว้ข้างๆ

บ่อ 2 นี้ ไกด์ยืนยันหนักแน่นว่า “นกช้อนหอยใหญ่” ลงหากินประจำ ซึ่งเราก็คิดว่าอย่างนั้นเพราะไกลจากชุมชน เข้ามาในป่าลึกกว่าบ่อ 1 จึงหมายตากันว่า เช้าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จะมาเสี่ยงดวงเฝ้าที่บ่อ 2 เพราะนิสัยของนกช้อนหอยใหญ่ถ้าตื่นหนีคนแล้ว จะไม่ยอมกลับมาหากินในบ่อเดิมอีกหลายวัน และจะอาศัยหลับนอนบนต้นไม้แห้งสูงใหญ่ใกล้ๆ บ่อน้ำที่จะลงหากิน เพื่อจะใกล้รุ่ง นกจะส่งเสียงร้องโต้ตอบกันในฝูง 2-9 ตัว แล้วไซ้ขน ก่อนจะบินมาลงที่บ่อน้ำ เพื่อหากินตั้งแต่มืด

อย่างวันนี้ เราตัดสินใจเข้าพื้นที่ตั้งแต่มืด ตื่นกันตี 4 (และทุกวันของทริปนี้ ไม่เคยออกจากที่พักก่อนแสงอาทิตย์ และกลับที่พักหลังพระอาทิตย์ตกทุกวัน.. ทุ่มเทจริงๆ) เพื่อจะเข้ามาตั้งบังไพรประจำตัว ห่างจากขอบบ่อน้ำที่คาดกันว่านกจะลงมาเป็นครั้งแรกกว่า 100 เมตร ไกลแต่ให้นกวางใจลงมาโชว์ตัวให้ชมดูดีกว่าใกล้แต่นกระแวง ไม่ยอมลง แห้วให้ช้ำใจ (ฮา)

Advertisement

อากาศเย็นกลางป่า ลมหนาวพัดเอื่อยๆ พลอยทำให้ความง่วงไม่รุนแรงมาก พอแสงตะวันเริ่มลับเหลี่ยมฟ้า เสียงสมาชิกในทริปเปรยเบาๆ ว่า เห็นนกบินลงมา 2 ตัวที่ขอบบ่อไกลโพ้น ส่องไบนอคไป นกช้อนหอยใหญ่ 2 ตัว เดินดุ่มๆ อยู่ชายทุ่งหญ้า ยังไม่เดินลงมาที่ขอบบ่อเลย นกใช้เวลาอยู่ที่ทุ่งหญ้าอยู่นานนับสิบนาทีจนกว่าจะวางใจ เดินมาดื่มน้ำที่บ่อ

ครานี้สังเกตได้ชัดเจนว่า ความยาวของจะงอยปากของนกทั้งสองตัวไม่เท่ากัน ตัวที่ปากยาวกว่าจะเป็นนกตัวผู้ ส่วนนกตัวเมียจะมีปากสั้นกว่า คาดว่าคงเป็นผลจากหน้าที่ของคู่ผสมพันธุ์ที่นกตัวผู้มักจะเป็นพ่อคนดี คอยหาอาหารไปป้อนแม่นกและลูกนกในรัง

ในระยะ 100+ เมตรนี้ ภาษานักถ่ายภาพนกเรียกว่า ระยะทำใจ คือ ไกลเกินระยะเลนส์ที่จะได้ภาพคมชัด แบบเห็นขนนกเป็นขน แต่ก็ยังใจชื้นว่า อุตส่าห์ดั้นด้นมารับลมหนาวกลางป่าเพื่อนบ้าน ก็ยังได้เห็นนกหายากระดับโลกที่ปัจจุบันมีประชากรแค่ 194 ตัว ในประเทศลาว กัมพูชา สถานภาพการอนุรักษ์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต

ตรองดูสิครับ แค่เกือบ 200 ตัว ถ้าถูกล่า ทุกวันๆ ปีเดียวก็คงหมดแล้วล่ะครับ

โชคดีที่องค์กรอนุรักษ์นกสากลและท้องถิ่นที่กำลังหลักคือไกด์ท้องถิ่นและชาวบ้านที่เข้ามาทำงานด้วยงบประมาณส่วนหนึ่งจากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่นักดูนกอย่างเราๆ ไปเที่ยวบ้านเขา ทำให้กัมพูชาเป็นความหวังหลักและฐานที่มั่นสุดท้ายของการอนุรักษ์นกช้อนหอยใหญ่ไว้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกเราครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image