“ทีเคพาร์คปัตตานี” พื้นที่สานฝัน สร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง และสันติสุข

เอ่ยชื่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งแรกที่ผู้คนมักนึกถึงคือ “ไม่ปลอดภัย”

แต่ใครจะรู้ว่าความคิดนี้อาจเป็น “กำแพง” ขวางกั้นการพัฒนาพื้นที่ การพัฒนาของเด็กและเยาวชน อาจรวมไปถึงทำให้ “ฝัน” ของคนในท้องที่ไม่เป็นความจริง

ทำให้เด็กและเยาวชนที่เติบโตขึ้นในพื้นที่ที่เป็น “ศูนย์กลางการศึกษา” ของพื้นที่ภาคใต้ เช่น ปัตตานี เมืองพหุวัฒนธรรม รุ่มรวยไปด้วยความหลากหลาย ถูกปิดกั้น

หลังจากความสำเร็จของอุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ค ยะลา ซึ่งเป็นเครือข่ายแห่งแรกในพื้นที่ภูมิภาคของทีเคพาร์คที่เปิดดำเนินการครบ 10 ปี ทำให้เกิดการร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และเทศบาลเมืองปัตตานี ดำเนินการสร้าง อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 แล้วเสร็จช่วงต้นปี พ.ศ.2560 โดยมีพิธีเปิดช่วงเช้าวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา

Advertisement
IMG_9435
ตัวอาคารออกแบบโดยใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่นคือ “เรือกอและ-รังผึ้ง” ตั้งอยู่บนถนนปัตานีภิรมย์ ริมแม่น้ำปัตตานี

ศอ.บต.เป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนด้านงบประมาณการจัดสร้าง เทศบาลเมืองปัตตานีช่วยอนุเคราะห์พื้นที่ในการจัดตั้งและดำเนินการหลังการเปิดให้บริการ ส่วน สอร.เป็นหน่วยงานหลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านห้องสมุดมีชีวิต รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนในการบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืน

ทีเคพาร์คปัตตานี เป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” สำหรับส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดนิสัยรักการอ่าน การเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ชาวปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมานี้เอง

เพื่อขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไประหว่างในพื้นที่ส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคให้เกิดความเท่าเทียม ตลอดจน เพื่อเป็นการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ และมุ่งเน้นการบูรณาการกับทุกภาคส่วน เพื่อให้แหล่งเรียนรู้ที่จัดตั้งขึ้นเกิดความยั่งยืน

Advertisement

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงานว่า หวังให้ทีเคพาร์คปัตตานีเป็นศูนย์กลางของเยาวชนชาวปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน แสวงหาความรู้อย่างสร้างสรรค์ และเป็นแหล่งเรียนรู้พหุวัฒนธรรม สร้างโอกาสให้เยาวชนทุกกลุ่มในพื้นที่ได้แสดงออก แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิด

ความเข้าใจกันมากขึ้น เป็นการสร้างความสมานฉันท์ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนในพื้นที่ ตอบโจทย์ปัญหาในการย้ายถิ่นฐานของผู้ปกครองและเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นความพยายามที่จะดึงเยาวชนให้มาศึกษาในบ้านเกิด พร้อมพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

IMG_9423
(จากซ้าย) พิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์, ราเมศ พรมเย็น, รัฐศาสตร์ ทองหมุน

ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร. หรือทีเคพาร์ค) เกริ่นว่า ที่นี่โชคดีเพราะเป็นการเริ่มสร้างตั้งแต่ยังไม่มีพื้นที่ ที่อื่นเราอาจจะปรับปรุง แต่ที่นี่เป็นการหาพื้นที่ตั้งแต่ต้น แปลว่าการมีส่วนร่วมในการทำงานนั้นเริ่มตั้งแต่ต้น สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ทุกๆ ภาคฝ่าย ไม่ว่าประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งส่วนข้าราชการ จะเข้ามาทำงานร่วมกัน นั่นเป็นจุดตั้งต้นที่ดี

“ส่วนที่สองเป็นเรื่องของการร่วมมือในการทำงานของตัวเอง การเลือกสื่อ ซึ่งทีเคพาร์คจะอบรมในการเลือกสื่อสาระการเรียนรู้ให้เข้ามาอยู่ เหมาะสมกับบริบทของท้องที่ เราพยายามให้คนของท้องถิ่นเองเป็นคนเลือกสื่อในการเข้ามารู้ เพราะว่าผู้ที่เรียนรู้ต้องชอบในสิ่งที่จะเรียนรู้ด้วย เราเข้ามาในฐานะที่ปรึกษาว่าสื่อชนิดไหนทำงานอย่างไร ส่วนความหลากหลายของสื่อ นอกจากหนังสือแล้วยังมีสื่อออนไลน์ สื่อดิจิทัล หรือทีเคพับลิคออนไลน์ไลบรารี สื่อมัลติมีเดียต่างๆ ไม่ด้อยไปกว่าทีเคพาร์คกรุงเทพฯ และไม่ด้อยกว่าที่ไหนเลย”

“ส่วนที่สามคือเรื่องบุคลากร เป็นที่น่าทึ่งมาก ณ ขณะนี้มีบุคลากร 29 คน ซึ่งเราคัดเลือกจากผู้สมัครที่ยื่นใบสมัครเข้ามากว่า 2,700 คน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง อัตราส่วนประมาณ 1 ต่อ 100 แปลว่ากระแสตอบรับของเยาวชนในท้องที่ของทีเคพาร์คนั้นมีจำนวนมาก นี่เป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นสิ่งสะท้อนของการพัฒนา ว่าประชาชนมีศักยภาพ และมีจำนวนมากพอที่จะพัฒนาต่อไป” ราเมศกล่าว

และอธิบายถึงสื่อที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่นว่า เช่น สื่อในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หนังสือเกี่ยวกับอาชีพท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมี หนังสือสื่อสาระท้องถิ่น โดยใช้บุคลากรท้องถิ่นมาทำงานทุกขั้นตอน เป็นคนของท้องถิ่นหมดเลย สื่อนี้จะสะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ ของคนในท้องถิ่นที่ออกมาจากความหลากหลาย ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ เช่น เรื่องปัตตานี กีตอ ปูเรื่องทุกเรื่อง เช่น สถานที่สำคัญทางศาสนาในปัตตานี สุดท้ายจะให้เด็กๆ เห็นว่าการอยู่ร่วมกันในปัตตานีโดยเรามีความร่ำรวยทางวัฒนธรรม ย้อนไปถึงแหล่งโบราณสถาน ไม่ว่าจะเป็นของชาวพุทธ ชาวอิสลาม หรือชาวจีน นั้นมีมาอย่างยาวนานแล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เยาวชนเห็นว่าเขามีความสุขมานานแล้ว

IMG_9407

ด้วยความเป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาของพื้นที่ภาคใต้ อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีจะมีส่วนช่วยส่งเสริมอย่างไรได้บ้าง?

ต่อคำถามนี้ ราเมศคิดว่าศักยภาพของพื้นที่มีความพร้อม เราเปรียบเสมือนตัวกระตุ้นอยู่ในพื้นที่ เหมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาอีกตัวหนึ่งเข้ามาเติมเต็มในส่วนที่เขายังไม่มี เพราะว่าในปัตตานียังไม่มีห้องสมุดขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ การมีห้องสมุดที่มีความพรั่งพร้อม ซึ่งห้องสมุดเรานั้นก้าวข้ามการมีแค่หนังสือไปแล้ว ไปเรื่องอีบุ๊กส์ ไปสื่อดิจิทัลต่างๆ ก้าวข้ามแม้กระทั่งช่องทางออนไลน์เพื่อที่จะไปสัมผัสกับโลก ความพรั่งพร้อมของพื้นที่เอง ผมคิดว่าเรามีส่วนสนับสนุน

“เป็นการติดปีกให้คนที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ให้คนได้บินเร็วมากยิ่งขึ้น” ราเมศทิ้งท้าย

ด้านเจ้าของพื้นที่ที่มีส่วนสนับสนุนให้ฝันของชาวปัตตานีเป็นจริง อย่าง พิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี กล่าวว่า อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี ตั้งอยู่บนถนนปัตตานีภิรมย์ บริเวณโรงภาพยนตร์ปัตตานีรามาเดิม ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี ลักษณะอาคารคล้ายรูปรังผึ้งและเรือกอและ อันหมายถึงการอยู่ร่วมกัน เป็นการออกแบบเพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยมีจุดเด่นอยู่ที่อาคารความสูง 2 ชั้น การตกแต่งภายในที่สะท้อนวัฒนธรรมประเพณีของปัตตานี

“หวังว่าที่นี่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และองค์ความรู้ที่ทันสมัย ระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการอ่าน การเรียนรู้ และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้เยาวชนมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด ในความมีอัตลักษณ์ที่เป็นความภาคภูมิใจของท้องถิ่น อันจะช่วยยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และประชาชนชาวปัตตานีให้ดีขึ้น”

ในวันนั้นมีนักเรียน ป.1 จากโรงเรียนเทศบาล 4 และนักเรียน ป.5-6 จากโรงเรียนเทศบาล 2 มาใช้บริการทีเคพาร์คปัตตานีเป็นครั้งแรกด้วย ทุกคนต่างมีสีหน้ายิ้มแย้ม ดูจะชอบห้องสมุดมีชีวิตซึ่งทำให้การเรียนรู้ของเขาไม่ “แห้งแล้ง” อีกต่อไป

IMG_9388
อัฟนาน มามะ (แถวหน้าด้านซ้าย)

ด.ญ.อัฟนาน มามะ นักเรียนชั้น ป.1/1 โรงเรียนเทศบาล 4 บอกว่าวันนี้รู้สึกสนุกมาก ที่คุณครูพามาร่วมงานในวันเปิดทีเคพาร์ค นอกจากมีหนังสือสำหรับเด็กแล้ว ยังมีของเล่น และสระน้ำความรู้ ที่ให้ทุกคนได้มาเล่นไปพร้อมกับการเรียนรู้ หลังจากนี้จะให้พ่อแม่พามาที่นี่บ่อยๆ เพราะบ้านอยู่ไม่ไกลนัก

ด.ช.รัฐศาสตร์ ทองหมุน นักเรียนชั้น ป.6/3 โรงเรียนเทศบาล 2 ซึ่งกำลังยืนอ่านหนังสืออยู่ที่บริเวณชั้นหนังสือ บอกว่าชอบการ์ตูนแนวผจญภัย บ้านอยู่ไม่ไกล หลังจากวันนี้จะมาบ่อยๆ เพราะว่าแปลกใหม่ ไม่น่าเบื่อ รู้ว่าที่นี่มีโรงหนังระบบสามมิติก็อยากมาดูด้วย เพื่อนๆ เองต่างก็ตื่นเต้นเพราะไม่ค่อยได้อ่านหนังสือในสถานที่แบบนี้ เป็นห้องสมุดที่แตกต่างจากที่โรงเรียน เพราะมีหนังสือเยอะ หลากหลาย สนุก มีมุมสำหรับเด็ก สามารถคุยเล่นกันได้แต่ต้องไม่เสียงดังรบกวนคนอื่น

จากภาพวันเปิดงาน หวังว่าอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี จะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งของการสร้างความเข้าใจ การมีส่วนร่วม และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในจังหวัดปัตตานี ซึ่งจะเป็นรากฐานในการสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง และการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุขต่อไป

IMG_9397

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image