แท็งก์ความคิด : สระบุรี-แซนด์บ็อกซ์

สระบุรี-แซนด์บ็อกซ์

มีเสียงร่ำลือกันว่า “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ประสบความสำเร็จ

โครงการนี้เริ่มเมื่อปี 2566 ตั้งเป้าให้จังหวัดสระบุรีเป็นตัวอย่างจังหวัดลดก๊าซเรือนกระจก

มีภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมมือกัน

ADVERTISMENT

การจะประสบความสำเร็จได้จังหวัดสระบุรีต้องดำเนินการอย่างจริงจัง

วิเคราะห์ดูเศรษฐกิจของจังหวัดสระบุรีพบว่า ขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยว

ADVERTISMENT

ดังนั้น การผลักดันให้จังหวัดสระบุรีเป็นเมืองคาร์บอนต่ำให้ได้ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทั้ง 3 ภาค

จังหวัดสระบุรีได้ใช้สูตร PPP หรือ Public-Private-People Partnership หมายถึง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เป็นกลไกสู่ความสัมฤทธิผล

ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 2567 จำนวน 3.5MtCO2 eq แล้วขยับปีละ 0.5 MtCO2 eq จนปี 2570 ได้จำนวน 5 MtCO2 eq

การปฏิบัติยึดแนวคิด 3C คือ การสื่อสารสร้างความเข้าใจ (Communication) การร่วมลงมือทำ (Collaborative Action) การสรุปถอดบทเรียน (Conclusion step-by-step)

ดูเหมือนว่าความพยายามขับเคลื่อนแซนด์บ็อกซ์ให้ประสบความสำเร็จได้รับการขานรับจากชาวจังหวัดสระบุรีอย่างต่อเนื่อง

วันก่อนมีโอกาสได้ความรู้เกี่ยวกับสระบุรีแซนด์บ็อกซ์จาก นายปรพล อดิเรกสาร ที่ปรึกษาสมาคมท่องเที่ยวสระบุรี

ทราบว่า สมาคมการท่องเที่ยวสระบุรีเป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมมือขับเคลื่อนแซนด์บ็อกซ์ครั้งนี้

และหนึ่งในต้นคิดสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ คือ นายบุญมี สรรพคุณ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายป่า ชุมชนสระบุรี และอุปนายกสมาคมการท่องเที่ยวสระบุรี

นายบุญมีเล่าให้ฟังว่า สระบุรีแซนด์บ็อกซ์นี้เกิดจากการคุยกันกลุ่มเล็ก มีนายชนะ ภูมี จากเอสซีจีร่วมคิด แล้วไปเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้มาร่วมทำ

ปรากฏว่า ผู้ว่าฯเอาด้วย จึงก่อเกิดเป็นแซนด์บ็อกซ์ของสระบุรี

กำหนดภารกิจ 5 ด้านที่ต้องทำ

1.ด้านกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use : IPPU) มุ่งดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวและใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในทุกโครงการก่อสร้างของจังหวัดสระบุรี กำจัดวัสดุไม่ใช้แล้วและของเสียด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

2.ด้านพลังงาน (Energy) เน้นเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

3.ด้านการจัดการของเสีย (Waste) หรือการจัดการขยะ

4.ด้านการเกษตร (Agriculture) ใช้วิธีการทำนาเปียกสลับแห้ง

และ 5.ด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use, Land-Use Change and Forestry : LULUCF) ดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน

นายบุญมีและสมาคมการท่องเที่ยวสระบุรีรับมอบหน้าที่เพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน

เพราะธรรมชาติของ “ป่า” คือ เก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ การมีป่ามากย่อมกักเก็บคาร์บอนได้มาก

ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มหน้าที่ให้ “คน” คือ ป้องกันมิให้ป่าคืนคาร์บอนไดออกไซด์กลับมา

คาร์บอนจะกลับคืนมาก็เพราะเหตุไฟไหม้ป่า

ดังนั้น หน้าที่ของ “คน” คือป้องกันมิให้เกิดไฟป่าขึ้น

นายบุญมี และสมาคม เดินหน้าสร้างป่าชุมชน จากเดิมที่สระบุรีมีป่าชุมชน 38 ป่า ในอำเภอวังม่วง มวกเหล็ก แก่งคอย วิหารแดง เสาไห้ และอำเภอเมือง

ขณะนี้กำลังขับเคลื่อนจัดตั้งป่าชุมชนใหม่อีก 7 ป่า ในพื้นที่บ้านถ้ำน้ำพุ อ.แก่งคอย บ้านหนองแหน อ.แก่งคอย บ้านเขาน้อยจอมสวรรค์ อ.วิหารแดง บ้านเขาดินใต้ อ.เสาไห้ และ บ้านหินซ้อนเหนือ อ.วังม่วง

และตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนอีก 1 แสนไร่ เพื่อกักเก็บคาร์บอนให้มากที่สุด

ขณะเดียวกันได้สร้างเครือข่ายป้องกันไฟป่าขึ้นในป่าชุมชนแต่ละแห่ง เพื่อสกัดมิให้เกิดไฟป่าซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์

ป่าชุมชนนั้นมีพื้นที่ประมาณ 400-900 ไร่ เรียกว่าเป็น “ป่าเล็ก”

“ป่าเล็ก” เหล่านี้จะอยู่รอบๆ อุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีพื้นที่ป่ามากกว่า เรียกว่า “ป่าใหญ่”

แต่ “ป่าเล็ก” เหล่านี้จะเป็นแนวกันชน มิให้ไฟจากบ้านเรือนเข้าไปไหม้ “ป่าใหญ่”

และ “คน” ใน “ป่าเล็ก” ก็เป็นอาสาสมัครดับไฟป่าที่ดี

เครือข่ายป้องกันไฟป่าในป่าชุมชนจะเป็นผู้ป้องกันมิให้เกิดไฟไหม้ สกัดมิให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้น

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการป่าชุมชนและเครือข่าย จำเป็นต้องมีการสนับสนุน นายบุญมีจึงประสานกับภาคเอกชน

ดึงให้ภาคเอกชนเข้ามาจับคู่ดูแลป่าชุมชน

ขณะนี้มีภาคเอกชนเข้ามาดูแลหลายบริษัท เอสซีจี ดูแล 10 ป่า ปูนซีเมนต์นครหลวง ดูแล 4 ป่า เคมีแมน ดูแล 3 ป่า สยามฟูรูกาวา ดูแล 2 ป่า เบทาโกร ดูแล 1 ป่า เป็นต้น

ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการจับคู่ เป้าหมายคือต้องการจับคู่ให้ครบทั้ง 38 ป่า

เมื่อมีป่า มีคน มีเอกชน และภาครัฐ ร่วมมือช่วยเหลือกัน การป้องกันมิให้คาร์บอนเกิดก็จะอยู่ในมือชาวสระบุรี

เมื่อผนวกกับภารกิจอีก 5 ด้าน ถ้าทำได้ตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้

สระบุรีก็จะประสบความสำเร็จในเป้าหมาย

เป็นจังหวัดลดก๊าซเรือนกระจก เป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้ในที่สุด

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image