‘อาหาร’เชื่อมสัมพันธ์องค์กร สารพัดเมนู สร้างอาชีพ เพิ่มคุณภาพชีวิต

คนหนึ่งนวดแป้ง คนหนึ่งห่อขนม อีกคนนึ่งแล้วทาน้ำมัน ภาพเหล่านี้คงไม่ใช่เรื่องแปลก หากไม่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารโดยตรงอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ทุกวันพฤหัสบดี ช่วงใกล้เลิกงาน กลุ่มพนักงาน ททท. จะเข้าร่วมอบรมทำอาหารเมนูง่ายๆ อาทิ ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ข้าวหน้าญี่ปุ่น ตลอดจนขนมสารพัดรูปแบบ

9

อย่างครั้งนี้ทุกคนกำลังลงมือทำ “ขนมกุยช่าย” อย่างตั้งใจ โดยมีเชฟฝีมือดีจาก ศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน (มติชน อคาเดมี) คอยบอกเคล็ดลับและแนะวิธีการทำตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือการเตรียมแป้งสำหรับห่อขนม ไปจนถึงการเตรียมไส้ หลากหลายชนิด ทั้งไส้ผัก, ไส้เผือก, ไส้มันแกวกุ้ง, ไส้หน่อไม้ และส่วนสำคัญอย่างการทำน้ำจิ้มสูตรเด็ดในขั้นตอนสุดท้าย

Advertisement

กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นโครงการสร้างอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานใน ททท. ซึ่งคณะผู้บริหารมองเห็นความสำคัญและจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นสวัสดิการและการดูแลพนักงาน ด้วยกิจกรรมเสริมสร้างความสุข และนับเป็นเรื่องใหม่ที่หลายองค์กรกำลังหันมาให้ความสำคัญ

สมรัก คำพุทธ เเละเชฟจากมติชน อคาเดมี

สมรัก คำพุทธ รองผู้ว่าการด้านบริหาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ เริ่มต้นมาจากผลประเมินความพึงพอใจของพนักงานต่อองค์กรเมื่อปี 2557

Advertisement

“จากเดิมเราไม่เคยเน้นเรื่องพวกนี้เลย แล้วพอเราสำรวจเรื่องความพึงพอใจและความผูกพันของพนักงานในองค์กร ปรากฏว่าพนักงานส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานซึ่งมีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ทำงาน เรื่องที่จอดรถ เรื่องฝุ่นละออง ซึ่งเราต้องยอมรับว่าอาคารเราเป็นอาคารเก่า เพราะฉะนั้นตัวของอาคารเก่าแน่นอนจะต้องมีปัญหาอย่างเรื่อง ฝุ่นละอองจะต้องมีบ้างเป็นปกติ แล้วการที่เราจะแก้ที่ปลายทางด้วยการไปซ่อมอยู่เรื่อยๆ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ แล้วเราก็ไม่ได้มีงบประมาณมาซ่อมทุกปี ดังนั้นเราเลยเริ่มทำแผนเสริมสร้างความพึงพอใจกิจกรรมยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อให้พนักงานมีความสุข”

จากนั้นก็มีการพัฒนายกระดับกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สมรักเล่าว่า ช่วงเริ่มต้น ททท.มีการทำเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ด้วยการเต้นซุมบ้า เต้นแอโรบิก เล่นโยคะ เพื่อเน้นให้พนักงานหันมาดูแลรักษาสุขภาพ ยังมีกิจกรรมทางศาสนา ด้วยการพาพนักงานไปนั่งสมาธิด้วย

“แล้วเราก็มองต่อไปว่านอกจากจะมีสุขภาพดีเเล้วจะทำอย่างไรให้พนักงานของเรามีความสุข มีความร่วมไม้ร่วมมือกันทำกิจกรรมด้วยกัน รวมทั้งสามารถสร้างเป็นอาชีพได้ ก็เลยคิด “กิจกรรมเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ ททท.ใส่ใจไม่ทิ้งกัน” ขึ้นมาเป็นกิจกรรมล่าสุดในเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการเปิดอบรมทำอาหาร

11

“ความจริงแล้วการอบรมเรื่องอาหารไม่ใช่เรื่องใหม่ เราไม่ได้ทำเป็นครั้งแรก ก่อนหน้าเคยมีการทำโครงการนี้ให้กับกลุ่มพนักงานเกษียณอายุ เพื่อให้เขามีอาชีพ มีรายได้หลังเกษียณไปแล้ว แต่ตอนนี้เราเห็นว่าแค่กลุ่มคนเกษียณไม่พอเพราะพนักงานในองค์กรบางคนสามารถนำไปสร้างอาชีพเสริมในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ได้ และถึงแม้จะสร้างอาชีพไม่ได้ก็สามารถทำกินเองที่บ้านได้ ประกอบกับตอนนี้ ททท.มีการโปรโมตเรื่อง อาหารถิ่น ดังนั้น การอบรมเรื่องอาหารเป็นเรื่องที่น่าสนใจ”

แต่กว่าจะเป็นกิจกรรมที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานได้อย่างวันนี้ รองผู้ว่าการด้านบริหาร ททท.ต้องศึกษาและวิเคราะห์รอบด้าน เพื่อให้โครงการที่จัดเกิดประโยชน์มากที่สุดและที่สำคัญคือทุกคนพึงพอใจ

“พอเรามองว่าเรื่องอาหารน่าสนใจแล้ว เราก็พยายามหาสถาบันที่จะมาสอนเรื่องการทำอาหาร แล้วเห็นว่า มติชนอคาเดมี มีความร่วมมืออยู่แล้วในเรื่องอาหารถิ่น และเรื่องเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ประกอบกับได้ยินเรื่องชื่อเสียงของมติชนอคาเดมี ซึ่งมีอะไรหลายอย่างที่ดีมาก เช่น เขานำเชฟที่มีความรู้มาสอน และมีผู้สอนหลายคนที่เป็นแม่ค้าที่ขายของจริง พอได้สถาบันสอนเเล้วมีเรื่องอาหารที่จะมาอบรม ซึ่งเมนูที่เลือกมาสอนจะเน้นอาหารที่ทำง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย และไม่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีราคาแพง อาจจะไม่ถึงขนาดที่เขาจะนำไปประกอบอาชีพจริงจัง เเต่อย่างน้อยสามารถนำกลับไปทำเองได้ในชีวิตประจำวัน”

3

สำหรับการอบรมอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงาน ททท. เริ่มต้นครั้งแรกในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก

“ผลตอบรับตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดกิจกรรมมาดีมาก ทุกคนพูดถึงเมนูอาหารที่อบรมก่อนหน้าบอกว่าอร่อยมาก แม้กระทั่งพนักงานผู้ชายที่มาร่วมเรียนก็ชื่นชอบกิจกรรมนี้ พอเราได้ยินก็รู้สึกชื่นใจที่เราจัดโครงการแล้วทุกคนมีความสุข แล้วผลตอบรับก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ละหลักสูตรเรารับพนักงานร่วมอบรมประมาณ 20 คนต่อหนึ่งเมนู แต่ก็ประกาศไปว่าถึงเต็มก็มาดูมาฟังได้ สุดท้ายพอเริ่มกิจกรรมก็มีพนักงานมาร่วมทำอาหารด้วยกันเกิน 20 คน” สมรักกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

“ถึงวันนี้ต้องบอกเลยว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมากกว่าการออกกำลังกายด้วยซ้ำ เพราะทุกคนให้ความสนใจ คนที่ร่วมกิจกรรมก็มีความสุข อาจจะเป็นเพราะเรื่องสถานที่เราไม่เอื้ออำนวยสำหรับการออกกำลังกาย ที่เราใช้พื้นที่บริเวณหน้าตึก เพราะมองว่าอยากให้คนรอบๆ มีส่วนร่วม คือสามารถมาออกกำลังกายร่วมกันได้ แต่ผลตอบรับของพนักงานไม่ค่อยดี เพราะเขาอายที่จะต้องออกมาเต้นหน้าตึก ทำให้กิจกรรมการออกกำลังกายไม่ได้ผลเท่าที่ควร อาจจะมีส่วนที่เป็นการเต้นซุมบ้าที่กลุ่มเด็กๆ จะชอบเพราะมันมีจังหวะคึกคัก แต่การทำอาหาร ผลตอบรับดีมากทุกกลุ่ม เเล้วเราก็มีประเมินกิจกรรมด้วย ก็พบว่าผลการประเมินเรื่องความพึงพอใจของพนักงานต่อองค์กรดีขึ้น เเละการประเมินเรื่องปัญหาสภาพแวดล้อมก็น้อยลง ก็รู้สึกว่าน่าจะมาถูกทางแล้ว”

6

ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง “ขนมกุยช่าย” สูตรเด็ดก็เสร็จสมบูรณ์ เหล่าเเม่ครัว ททท.ต่างภาคภูมิใจชื่นชมผลงานของตัวเองกันอย่างสนุกสนาน เเม้รูปร่างอาจจะยังดูไม่โปรเฟสชั่นนอล เเต่เรื่องรสชาติเทียบเท่าร้านดังได้สบาย เเละที่สำคัญ คือ เพิ่มความผูกพันระหว่างคน ททท.มากขึ้น สมรักบอกว่า การทำกิจกรรมร่วมกันทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับพนักงานมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้องๆ รู้สึกว่าสามารถได้พูดคุยและร่วมลงไม้ลงมือทำอะไรด้วยกัน ทุกคนชื่นชมกันหมดว่าเป็นโครงการที่ดี แล้วมีพนักงานผู้ชายฝากมาว่า ทำไมไม่จัดกิจกรรมให้ผู้ชายบ้าง เราก็เลยมองต่อไปว่าอาจจะมีกิจกรรมสำหรับผู้ชาย ที่เป็นความรู้พื้นฐานเรื่องช่าง เช่น ซ่อมแอร์ พัดลม หรือไฟ แบบง่ายๆ ที่สามารถซ่อมเองได้ หรืออย่างน้อยซ่อมไม่ได้แต่ก็สามารถรู้ว่าเสียตรงไหนเพราะอะไร

“นอกจากเรื่องการออกกำลังกายที่มีอยู่เเล้วกับเรื่องการอบรมทำอาหาร ก็เลยมีการคิดเพิ่มเติมต่อไปว่าจะทำกิจกรรมอะไรที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้กับพนักงาน ททท.ได้อีก ตอนนี้เลยมีการส่งแบบสอบถามให้ร่วมออกความเห็นกันมาว่าอยากให้มีกิจกรรมอะไร จะได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการ ไม่อยากทำสิ่งที่เขาไม่ต้องการ”

5

สมรักยังทิ้งท้ายอีกว่า การยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญของทุกองค์กร ไม่ใช่เเค่เฉพาะ ททท. ถ้าเราอยากให้พนักงานรักองค์กรเเละอยู่กับองค์กรไปนานๆ เราต้องให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีขวัญมีกำลังใจในการทำงาน ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมีเรื่องของ ค่าแรง ค่าจ้าง แต่เป็นสิ่งที่เราทำเองไม่ได้เพราะมีกฎระเบียบควบคุม ซึ่งรัฐบาลกำหนดอัตราเงินเดือนมาเราจะทำสูงกว่าที่กำหนดคงไม่ได้ ดังนั้น เราเลยมาเน้นในเรื่องสวัสดิการช่วยให้เขามีขวัญกำลังใจ ก็จะมีผลต่อการทำงานด้วย

“ถ้าพนักงานมีความสุข มีสุขภาพจิตที่ดี มีร่างกายที่แข็งแรง แน่นอนว่าผลงานต้องออกมาดี” สมรักทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image