พิรงรอง รามสูต ‘100 ปีจุฬา’ ศตวรรษแห่งนวัตกรรม เพื่อสังคม

นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของชาวจามจุรี เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 26 มีนาคม 2560

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยมุ่งหมายให้ผลิตบุคลากรเข้ารับราชการ เเละได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก ในปี 2445

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และมีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น

วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2459 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประดิษฐานขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

Advertisement

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดีด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาฯ นอกจากจะเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 เเละรัชกาลที่ 6 เเล้วยังเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อนำไปสู่ทิศทางของจุฬาฯในอนาคต

ในส่วนของกิจกรรมวันที่ 25 มีนาคม จะมีพิธีกรรมบวงสรวง ได้ ทูลเชิญสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และพระสงฆ์อีก 108 รูปจากทั่วประเทศ ร่วมสวดชัยมงคลในวาระครบ 100 เเละในวันที่ 26 มีนาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ ทรงร่วมงานวันครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาฯ และทรงเปิด “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี” บนพื้นที่ 28 ไร่ เขตสวนหลวง-สามย่าน ระหว่างจุฬาฯ ซอย 9 ไปจนถึงถนนบรรทัดทอง โดยสมเด็จพระเทพฯจะทรงปลูกต้นไม้ 9 ต้น ซึ่งเป็นต้นไม้พระราชทานจากวังสระปทุม

ยังมีกิจกรรม “จุฬาฯ Expo 2017” ภายใต้แนวคิดหลัก “จุฬาฯ 100 ปี นวัตกรรม คิดทำเพื่อสังคม” ขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 มีนาคม ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมองค์ความรู้ และสุดยอดนวัตกรรมที่จุฬาฯ คิด และทำเพื่อสังคม โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 โซน ได้แก่ สมาร์ท ซิตี้ เมืองนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี เฮลท์ ซิตี้ เมืองนวัตกรรมด้านสุขภาพ และฮิวแมน ซิตี้ เมืองความคิดด้านมนุษย์และสังคม

Advertisement

เป็นการเปิดศักราชใหม่ของมหาวิทยาลัยในศตวรรษใหม่ ที่มุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรมเพื่อสังคม

พิรงรอง รามสูต

– พัฒนาการของจุฬาฯ 100 ปีที่ผ่านมา?

พัฒนาการของจุฬาฯ อยู่ในพัฒนาการของประเทศ ของสังคมไทย ตั้งเเต่เริ่มต้นด้วยภาวะคุกคามจากการล่าอาณานิคม เราก็ต้องปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย ซึ่งข้าราชการเป็นจุดแรกของพื้นฐานการปฏิรูป ดังนั้นเพื่อให้ข้าราชการเก่งพอที่จะบริหารงานได้ จุฬาฯ จึงถือกำเนิดขึ้นเเละยกระดับขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัย

ตลอดระยะเวลา 100 ปีเราก็สร้างคนในลักษณะของบัณฑิตมาเรื่อยๆ และขยายองค์ความรู้สูงขึ้นจากบัณฑิตสู่มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต รวมไปถึงตัวอาจารย์ ที่ไม่ได้แค่สอนหนังสือแต่ก้าวข้ามไปสู่การทำวิจัยและจากวิจัยที่ส่งเสริมการเรียนการสอน ก็พัฒนาวิจัยที่จะตอบโจทย์ด้านต่างๆ ของสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

– บทบาทของจุฬาฯ

จุฬาฯเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในรูปแบบมหาวิทยาลัยวิจัย คือไม่เน้นเรื่องการจัดการบัณฑิตและสร้างบัณฑิตอย่างเดียว แต่จะต้องสร้างองค์ความรู้ และมุ่งสู่ความเป็นนานาชาติ จากจุดที่ต้องการตอบโจทย์แค่การสร้างข้าราชการ มาสู่การสร้างบัณฑิต และการสร้างองค์ความรู้ที่มากขึ้น เเละขณะนี้คือจะทำอย่างไรให้องค์ความรู้รวมถึงผู้ที่มหา”ลัยสร้างสามารถแข่งขันได้ในระดับโลกด้วย

– จุฬาฯ ตอบสนองสังคมได้มากน้อยแค่ไหน?

ตอบสนองได้ในระดับหนึ่ง เรามีอาจารย์ที่มีพันธกิจในแง่ความคิดอ่าน การเลือกหัวข้อวิจัย เเต่ก็มีอาจารย์บางคนมองแค่ว่า ฉันเป็นครู เพราะฉะนั้นการดูแลเด็กการผลิตเด็กให้ออกมาดีที่สุด มีความรู้ในศาสตร์ที่สอนนั่นคือการทำหน้าที่เต็มที่แล้ว

แต่มันมีความคาดหวังมากกว่านั้น คือคาดหวังว่าอาจารย์จะต้องเป็นนักวิจัย ต้องผลิตองค์ความรู้ และต้องมีผลงานตีพิมพ์ ต้องสร้างอันดับให้มหาวิทยาลัย และต้องเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยด้วย เเล้วในจุดหนึ่งก็มีปัญหามาก เพราะหลายแห่งมุ่งกันมากเรื่องการจัดอันดับ (ranking) ซึ่งจะมีตัวชี้วัดว่าการจัดอันดับของคุณ วัดด้วยจำนวนของการอ้างอิง จำนวนของผลงานที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศต่างๆ เมื่อบางส่วนมุ่งไปตรงนั้นก็จะเป็นการตอบโจทย์โลก คำถามคือในส่วนของสังคมล่ะ ตอนนี้เลยมีความตึงเครียดเหมือนกันในแง่การบริหารมหาวิทยาลัยว่าคุณจะเน้นอะไร บางทีไปทั้งสองทางก็ไปยาก แต่ก็ต้องสร้างความสมดุลให้ได้เพราะยังไงเราก็เป็นมหาวิทยาลัยไทย

เเล้วถ้าเทียบกับต่างประเทศ ทุกวันนี้สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยไม่ได้จ้างมืออาชีพมาบริหาร แต่เราเอาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยขึ้นมาเรียนรู้มาบริหาร ขณะที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศจำนวนมาก มีผู้บริหารเป็นนักบริหารที่เข้ามา ส่วนอาจารย์ก็หน้าที่สร้างงานวิจัยและสอนหนังสือ บางแห่งมีการซื้อตัวมาเพื่อผลิตผลงานอย่างเดียว เพื่อนำไปสู่การจัดอันดับ โดยผลงานที่ทำส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสังคมเลย เราอยากได้แบบนี้หรือเปล่า

แล้วหลายคนมองว่าทำไมมหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศก่อตั้งมาทีหลังจุฬาฯแต่ก้าวสู่ระดับโลกได้ ตรงนี้เราต้องดูด้วยว่าภาวะแวดล้อมมหาวิทยาลัยเหล่านั้นไม่เหมือนกัน มีเรื่องความเหลื่อมล้ำต่างๆ ด้วย ประกอบกับประเทศไทยเองก็มีเรื่องอื่นๆ อย่างขณะนี้เรามีความท้าทายเรื่องความขัดแย้ง รวมถึงความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในสังคมก็เป็นประเด็นภาระที่หนักกว่าการมุ่งสู่การจัดอันดับด้วยซ้ำ

– จุฬาฯ สามารถมีส่วนร่วมหรือหาทางออกเรื่องความขัดแย้งของสังคมอย่างไร?

ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายหรือเรื่องนโยบายก็มีช่องทางให้อาจารย์เข้าไปมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ เเต่ต้องยอมรับว่ารัฐที่เป็นอยู่ขณะนี้เป็นรัฐสั่งการก็จะมีประเด็นเรื่องความตะขิดตะขวงใจที่เข้าร่วมกับรัฐสั่งการ อันนี้เป็นเรื่องที่บังคับจิตใจไม่ได้ ที่เมื่อรูปแบบรัฐเปลี่ยน อาจารย์บางคนก็อาจจะกลัวและไม่แน่ใจว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมตรงนี้หรือไม่

แต่จริงๆ แล้วในแง่ของการพูดคุย ให้ความรู้ ให้ทรรศนะ ให้ประเด็นที่จำเป็นต่อการพัฒนาต่อไป อาจารย์ทุกคนที่มีความรู้เรื่องนี้ก็ยินดีที่จะคุย แต่ถ้าจะให้เข้าไปมีตำแหน่งหลายท่านก็มีความไม่สบายใจ เนื่องจากมันมีความขัดแย้งเลยไม่แน่ใจว่าในระยะยาวจะเป็นอย่างไร

ดังนั้น ในเรื่องการชี้ทางออกต้องยอมรับว่าเนื่องจากความขัดแย้งมันสูงมาก สังคมแบ่งขั้วมาก พูดอะไรไปก็เจ็บตัว อาจารย์หลายคนก็ไม่อยากจะพูด เพราะตอนนี้มันอยู่ในบรรยากาศของความกลัวไม่ใช่บรรยากาศปกติ ทำให้อาจารย์หลายท่านอาจจะรู้สึกกลัวและไม่อยากแสดงออก

– ในยุคบูรณาการ มีความท้าทายหรือไม่ในการสร้างคนและสร้างองค์ความรู้?

มีความท้าทายมาก ที่ผ่านมาเรางานเเบบแยกส่วน คณะอะไรก็ทำงานของตัวเองไป แต่ตอนนี้หลายเรื่องเช่น นิเทศศาสตร์กับดิจิทัลมันหลุดจากกันไม่ได้ตอนนี้เเทบจะเป็นเนื้อเดียวกันอยู่เเล้ว ดังนั้นก็มีความพยายามที่จะทำงานโดยเฉพาะในส่วนของการวิจัยจะเห็นเลยว่ามีการวิจัยที่เรียกว่าวิจัยบูรณาการ โดยอาจารย์ในมหาวิทยาลัยข้ามศาสตร์มาทำงานร่วมกัน เเล้วหลายเรื่องมันมีความท้าทายสูง จะทำอย่างไรให้อยู่ได้ในโลกที่มันต้องคิดอย่างรอบด้านแล้วต้องเชื่อมโยงกันหมดนี่คือสิ่งที่เราต้องการและนี่คือทิศทางที่เราจะต้องไป

– จุดมุ่งหมายในโอกาสครบรอบ 100 ปีจุฬาฯ?

ธงที่มุ่งไปเป็นเรื่องของนวัตกรรมและการวิจัยค่อนข้างเป็นหลัก โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ยุทธศาสตร์แรกคือสร้างคน ยุทธศาสตร์ที่สองคือสร้างองค์ความรู้ ยุทธศาสตร์ที่สามคือสร้างเสริมสังคมไทย ยุทธศาสตร์ที่สี่ คือก้าวไกลในสังคมโลก โดยในเรื่ององค์ความรู้ ซึ่งเป็นเรื่องของนวัตกรรมจะได้รับการจัดสรรงบประมาณค่อนข้างสูงที่สุด เพราะเรามองว่ามีหลายเรื่องเข้าไปซ่อนอยู่ในเรื่องนี้ เช่น การสร้างความรู้ก็สร้างเพื่อสังคม เป็นต้น เเล้วจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยที่โชคดีเพราะเรามีต้นทุนที่ดีมาก ทั้งต้นทุนที่ได้รับการพระราชทานพื้นที่ ที่สามารถเปิดเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชย์มาอุดหนุนด้านการศึกษาซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัชการที่ 6 ที่พระราชทานพื้นที่นอกเหนือจากพื้นที่การศึกษา เเล้วด้วยความที่เรามีพื้นที่อยู่กลางเมือง เราก็มองว่าจะทำอย่างไรที่จะคืนทุนให้กับสังคมได้บ้าง

– มีแนวคิดคืนทุนกับสังคมอย่างไร?

ในโอกาสครบรอบ 100 ปี เป็นเหมือนการเปิดศักราชใหม่ของจุฬาฯ เรามีความพยายามเปิดพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่พื้นที่การศึกษาที่จะเปิดรับนิสิตเพื่อสร้างคนสร้างบัณฑิต แต่เราจะเปิดพื้นที่สู่สังคมด้วย มองว่าสิ่งหนึ่งที่สังคมเมืองค่อนข้างขาด คือพื้นที่ที่เป็นสวน พื้นที่ของทุกคน ของทุกความสนใจ จึงมีเเนวคิดทำ “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี” ขึ้นบริเวณเขตสวนหลวง-สามย่าน ระหว่างจุฬาฯ ซอย 9 ไปจนถึงถนนบรรทัดทอง ถือเป็นปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะในเมืองที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้

ในพื้นที่อุทยานมีการออกแบบให้เป็นที่หน่วงน้ำของเมือง มีแนวพื้นที่รับน้ำ และระบบระบายน้ำใต้ดิน เเละมีอาคารที่จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้แห่งใหม่ โดยเบื้องต้นจะจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อจุฬาฯ นอกจากนี้ ยังพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมแห่งใหม่ พร้อมถนน 100 ปีจุฬาฯ ถนนสีเขียวที่ทอดยาวเชื่อมถนนพระราม 1-พระราม 4

ยังมีแนวคิดจะทำ CU innovation center หรือ ศูนย์นวัตกรรมแห่งจุฬา อยู่ถัดไปจากอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ติดกับถนนบรรทัดทอง เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้เรื่องนวัตกรรมร่วมกันระหว่าง นิสิต อาจารย์ หรือบริษัทต่างๆ ที่สนใจ ตรงนี้เป็นแผนที่วางไว้แต่ยังไม่สรุปชัดเจน เพราะตอนนี้มีการทำเรื่องนวัตกรรมกันเยอะมาก จุดหนึ่งอาจจะต้องหาพาร์ตเนอร์มาช่วย เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ว่าเราจะทำเองได้

พิรงรอง รามสูต

เรื่องน่าเป็นห่วงในระบบการศึกษา

เมื่อเด็กไทย”อ่านน้อย-เชื่อมโยงไม่เป็น”

ปัญหาเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากมายหลายครั้ง เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่เเละเป็นปัญหาสำคัญในระดับประเทศ

โดยเฉพาะเรื่องทักษะของเด็กรุ่นใหม่ที่นับวันจะมีปัญหามากขึ้นทุกที

สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการด้านนี้มานานอย่าง ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต มองว่าหลายเรื่องก็เป็นค่านิยมที่อยู่ในสภาพเเวดล้อม อย่างที่ประสบด้วยตัวเองคือ เมื่อก่อนตอนเลี้ยงลูกเด็กๆ เขาอ่านหนังสือ เเต่ตอนนี้พอมีสมาร์ทโฟนเข้ามามันกลายเป็นแพลตฟอร์มที่เทคโอเวอร์ไปเลย กลายเป็นว่าทุกคนก็ใช้ เเละทุกคนจะต้องอยู่บนนี้ ทำให้ทักษะการใช้เทคโนโลยีด้านนี้ไปกระทบกับทักษะในด้านอื่น ทั้งทักษะความรู้และทักษะการใช้ชีวิตด้วย เช่น การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มนี้จะไม่มีการเรียนรู้การสื่อสารเเบบเผชิญหน้าที่เรานั่งคุยกัน สบตากันเเละมีการโต้ตอบ

เมื่อเป็นค่านิยมทางสังคม การแก้ปัญหาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

“แค่ในห้องเรียนก็ยากแล้ว” พิรงรองเปิดเผยพร้อมรอยยิ้ม ก่อนระบุว่า เดี๋ยวนี้เวลาสอนจะต้องมีการวางกฎ ห้ามใช้คอมพิวเตอร์ เเละโทรศัพท์มือถือ เเล้วต้องพยายามเพิ่มทักษะด้านอื่นให้มากขึ้น

“จริงๆ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเเค่ในสังคมไทย เเต่มันเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก อย่างที่โรงเรียนประถมปลายและมัธยมต้นของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เจอปัญหาเเบบเดียวกัน เเละเด็กไม่สามารถเขียนหนังสือได้ ในที่นี้ไม่ใช่เเค่การเขียนด้วยปากกาไม่ได้ เเต่หมายถึงการเขียนหนังสือเป็นภาษาไม่ได้เพราะว่าเด็กอ่านไม่พอ ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงได้ เนื่องจาก 140 ตัวอักษรของทวิตเตอร์ก็ดีหรือคำพูดที่เราแชร์กันในโซเชียลมีเดียมันไม่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงของการคิดอะไรต่างๆ ขึ้นมา เทียบกับเวลาเราอ่านหนังสือมันจะมีจินตนาการ จะมีการนึกภาพและเชื่อมโยงตรงนั้นตรงนี้ได้” พิรงรองอธิบาย

และว่า วิธีแก้ของประเทศสหรัฐอเมริกาคือเขาทำชั่วโมงสำหรับการอ่านขึ้น โดยบังคับให้เด็กอ่านหนังสืออะไรก็ได้ เเล้วให้สรุป

“ขนาดอเมริกาที่เป็นสังคมที่พัฒนาที่สุด มีอิสระเเละเสรีมาก โรงเรียนยังต้องใช้มาตรการแบบนี้ เพื่อเเก้ปัญหา สำหรับเด็กไทยเองก็เช่นกัน เด็กเดี๋ยวนี้เวลาทำข้อสอบอัตนัยมาเราเเทบเอามือกุมหัวเพราะอ่านไม่รู้เรื่อง บางคนตั้งใจอ่านเท่าไหร่ก็ให้คะแนนไม่ได้เพราะมันอ่านไม่รู้เรื่องเลยว่าเขียนอะไรมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะอ่านน้อยเขียนก็ไม่ได้ ต้องเริ่มเเก้ระบบการศึกษาทั้งระบบ เพราะจะมาแก้ตอนที่โตแล้วมันช้าไป ต้องเริ่มจากครอบครัวจากที่บ้าน ตอนนี้ยังคิดว่าจะจ้างลูกให้อ่านหนังสือทุกวันในช่วงปิดเทอมด้วยซ้ำ (หัวเราะ)

“จริงๆ การอ่านเป็นเรื่องสำคัญมากเเละเป็นเรื่องที่ทุกส่วนต้องช่วยกันไม่ใช่หน้าที่ของมหาวิทยาลัยอย่างเดียว มหาวิทยาลัยเป็นเหมือนปลายมือแล้วก็คงช่วยได้บ้างแต่ไม่ได้ทั้งหมด” พิรงรองทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image