“สู้กับกฎหมายกดหัวสื่อ” ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ประกาศอย่างหนักแน่นทันทีที่รับตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า “จะนำพาสมาคมต่อสู้กับกฎหมายที่หมายกดหัวสื่ออย่างถึงที่สุด”

เป็นการเปลี่ยนชุดคณะกรรมการและเข้ามารับตำแหน่งในเวลาที่สถานการณ์วงการสื่อกำลังระอุ

โดยเฉพาะเมื่อมีความพยายามทำคลอด พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือที่เรียกกันว่า “พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ”

“ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์” นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยืนยันจะรับไม้ต่อจากคณะกรรมการชุดก่อน เดินหน้าคัดค้านกฎหมายควบคุมสื่ออย่างเต็มที่

Advertisement

ปราเมศเป็นผู้สื่อข่าวการเมืองจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ติดตามสัมภาษณ์บุคคลที่เป็นประเด็นร้อนเพื่อขยายต่อจากข่าวการเมือง

เขาเป็นคนแปดริ้ว เรียนที่โรงเรียนวัดหนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

“ผมเป็นเด็กวัดตั้งแต่เด็ก การอยู่วัดทำให้รู้จักพระที่เวียนมาบวชแล้วสึก เจอชาวบ้านทำให้ได้เรียนรู้คนหลายลักษณะ ได้สังเกตชีวิตคน สัมผัสคนมากมาย ตอนเรียนคณะสื่อสารมวลชน รามคำแหง กลับไปก็ไปนอนวัดไม่ได้เข้าบ้าน คิดว่าอยู่วัดได้ความรู้มากกว่าการเรียน”

Advertisement

ปราเมศเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ประสบการณ์ในการทำข่าวมากกว่า 20 ปี เริ่มจากช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เมื่อเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับสิ่งที่สื่อโทรทัศน์รายงานข่าวจึงตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น

“ตอนนั้นมีพี่ที่รู้จักคนหนึ่งเขาเป็นนักข่าวมาเล่าถึงสิ่งที่รัฐกระทำต่อประชาชน ฟังแล้วทำให้อยากเป็นนักข่าว ผมชอบอ่านข่าวการเมืองแล้วไปโม้ให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็บอกว่าไอ้นี่ไปจำหนังสือมาโม้ จึงคิดว่าทำยังไงถึงจะวิเคราะห์เองได้ ทำให้ชอบข่าวการเมือง”

จากรามคำแหง ปราเมศเริ่มต้นอาชีพนักข่าว กระโจนเข้าสู่สายข่าวการเมืองทันที ทำงานต่อเนื่องควบคู่กับการเข้ามาช่วยงานในสมาคมนักข่าวฯ จนล่าสุดได้รับตำแหน่งนายกสมาคม

 

– เข้ามารับตำแหน่งช่วงสถานการณ์กำลังร้อน

ผมไม่เก่งกล้าสามารถ แต่ผมรับฟังทุกฝ่าย เอาข้อดีของทุกฝ่ายมาช่วยขับเคลื่อน มีรุ่นพี่อาวุโส และรุ่นน้องภาคสนามช่วยกันอยู่ เพราะอยู่ในช่วงที่ทุกฝ่ายเรียกร้องให้ปฏิรูปวงการสื่อ ทั้งเรื่องเนื้อหาและช่องทางการนำเสนอเนื่องจากสื่อเยอะขึ้น ข้อมูลข่าวสารหมุนไวขึ้น

ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงที่สื่อถูกรุมกระหน่ำจากสังคมเยอะที่สุด พวกรุ่นพี่อดีตนายกสมาคมที่ไปเป็น สปท.-กรธ.จะรู้ว่าทุกวงการเขารุมถล่มว่าสื่อควรปฏิรูป แต่จะไปสู่จุดไหนเป็นเรื่องของอนาคต ที่สำคัญคือต้องปฏิรูปเรื่องกลไกควบคุมกันเองให้สังคมยอมรับ เรื่องนี้องค์กรสื่อกำลังต่อสู้ทางความคิดกับกลไกรัฐโดยเฉพาะ สปท.ยังไม่ได้ข้อยุติ

– หน้าที่หลักที่จะทำเมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง?

งานเดิมมีอยู่แล้ว แต่ที่ดูเป็นพิเศษตามที่คนก่อนๆ ทำไว้ตั้งแต่ที่รัฐบาลทหารเข้ามา คือเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เป็นจิตใจและจิตวิญญาณของสมาคมนักข่าวที่ต่อสู้กันมาตั้งแต่ก่อตั้งสมาคม ต่อสู้มาทุกยุคทุกสมัยไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร

เมื่ออำนาจรัฐเข้ามาสิ่งแรกที่ต้องการทำคือ ให้สื่ออยู่ภายใต้รัฐ ผู้นำสูงสุดอาจไม่ได้คิด แต่คนแวดล้อมสายเหยี่ยวอาจจะคิด ทุกรัฐบาลจะมีสายเหยี่ยวกับสายพิราบคือสายบู๊กับสายบุ๋นควบคู่กันไป ช่วงไหนสายเหยี่ยวมาแรงองค์กรสื่อต้องเตรียมรับศึกหนัก ช่วงไหนสายพิราบมีอิทธิพลต่อรัฐบาล สื่อก็จะทำงานด้วยความราบรื่นหน่อย แต่ทุกรัฐบาลก็จะมีการคุกคามและแทรกแซงสื่อเรื่อยมา แล้วแต่ว่าจะใช้รูปแบบไหน

– ตั้งแต่รับตำแหน่งพูดชัดเจนเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ?

ต้องพูดชัดเจนเพราะเป็นการรับไม้ต่อ ก่อนหน้านี้อยู่ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ จะติดตามว่าทิศทางจะเป็นยังไง จะสังเกตว่าคณะกรรมการชุดนี้จะมีฝ่ายสิทธิฯเยอะกว่าฝ่ายอื่น พยายามทาบทามผู้ใหญ่ คนที่มีความรู้ รวมถึงน้องๆ นักข่าวภาคสนามให้มาช่วยกันทำความเข้าใจกับรัฐและประชาชนให้รู้ว่าหากกฎหมายฉบับนี้ออกไปจะไม่เป็นผลดีทั้งต่อรัฐบาลและประชาชน

ถ้าจะให้เห็นภาพชัดเจนต้องย้อนไปปี 2535 มีการปิดหูปิดตาประชาชนโดยเฉพาะข่าวทีวี สุดท้ายประชาชนก็ลุกฮืออัตโนมัติเพราะอึดอัดกดดันและระเบิดออกมาขับไล่รัฐบาล ไม่มีใครอยากให้เกิดหรอก

สังคมบอกว่าสื่อต้องมีกฎหมายบังคับ แต่บางส่วนอาจไม่รู้ว่าสื่อมวลชนมีกฎหมายควบคุมอยู่เกือบ 30 ฉบับ กลไกเหล่านี้สามารถจัดการสื่อที่ไปละเมิดทำผิดสร้างความแตกแยกให้สังคมได้อยู่แล้ว แต่เมื่อกลไกไม่เคลื่อน อาจเพราะกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องไม่จัดการ นำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือประชาชนไม่มีช่องทางเข้ามาฟ้องร้องสื่อที่ละเมิดตัวเองและครอบครัว ก็ต้องหาทางออกกัน

201703081542407-20110627141736

– คิดว่าจะยับยั้งได้แค่ไหนในสภาที่ให้กฎหมายผ่านเกือบทุกฉบับ?

กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.คอมพ์ที่มีคนคัดค้านเป็นแสนแต่ สนช.ให้ผ่านนั้นไม่เหมือนกัน พ.ร.บ.คอมพ์เป็นฉบับแก้ไขเพิ่มเติม แต่ พ.ร.บ.สื่อเราเริ่มในขั้นแรกในการออกกฎหมายชั้น สปท. ได้จังหวะและเวลาที่ดีกว่าในการสู้ทางความคิดกับรัฐ ยังมีหวัง เพราะเราไม่ได้เคลื่อนให้เกิดความแตกแยกแต่หวังดีต่อประเทศและรัฐ เป็นความห่วงใยต่อสังคม

ถ้ากฎหมายนี้ออกมาอนาคตจะมืดมน ย้อนไปดูปี 2535 ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วจะแรงกว่านั้นอีก เพราะใน พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ นิยาม “สื่อมวลชน” ไว้กว้างและไม่ชัด จะเกิดปัญหาในอนาคตได้ นี่ยังไม่ได้พูดถึงรายละเอียดต่างๆ

– มีเรื่องไหนในกฎหมายฉบับนี้ที่ไม่ควรมีอยู่เลย?

เนื้อหากฎหมาย เจตนารมณ์ หลักการ และนิยามเรื่องสื่อมวลชนคือเหตุผลสำคัญที่สุดที่ไม่ควรอยู่ในกฎหมาย พี่ๆ ที่ได้เข้าไปสัมผัสมา บอกตรงกันว่าคนยกร่างกฎหมายสื่อนั้นไม่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน เมื่อได้คนที่ไม่เข้าใจมายกร่าง เนื้อหากฎหมายที่ออกมาจะทำให้มีผลทางลบในอนาคตได้ เริ่มตั้งแต่แนวคิดและธงที่จะร่างออกมาแบบนี้

– มองจุดประสงค์ที่ให้ตัวแทนภาครัฐเข้ามานั่งสภาองค์กรวิชาชีพสื่อด้วย?

เรื่องนี้เข้าข่ายแทรกแซงการทำงานของนักข่าว สื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเป็นหูเป็นตาแทนประชาชน เมื่อรัฐเข้ามาจะตรวจสอบลำบาก เพราะสภาชุดนี้มีอำนาจต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แม้เขาบอกว่ามีอำนาจออกใบอนุญาตแต่ไม่มีอำนาจเพิกถอน ก็เป็นถ้อยคำที่ต้องติดตามต่อไป ดูภาพโครงสร้างแล้วไว้ใจคนที่มีแนวคิดนี้ไม่ได้ มีธงคือต้องการคุมสื่อโดยใช้ตัวแทนรัฐ

– กลไกการกำกับดูแลกันเองที่ผ่านมาใช้ได้แค่ไหน?

ได้ผลระดับหนึ่ง ไม่ใช่ว่าไม่ได้ผลเลย ตอนนี้ก็ปรับตัวกันเยอะมาก ต้องมีกลไกกำกับกันเองและมีผลบังคับใช้ได้ สิ่งที่เคยเสนอแล้วหลายคนเห็นด้วยคือต้องมีกลไกที่ให้ประชาชนเข้าถึงช่องทางการฟ้องร้องสื่อที่ไปละเมิด การฟ้องร้องจะเป็นส่วนสำคัญให้สื่อปฏิรูปตัวเอง ระมัดระวังการเสนอข่าวที่ไปละเมิดคนอื่น ผิดกฎหมายความมั่นคง หรือกระตุ้นให้สังคมเกิดความขัดแย้ง กฎหมายมีบังคับไว้หมดแล้ว

– กรณีผิดจรรยาบรรณ บิดเบือนข่าว ลอกข่าว สมาคมมีการพูดคุยกับสมาชิกไหม?

ปกติมีฝ่ายจริยธรรมอยู่แล้ว ปัญหาคือตอนนี้นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ โซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามามีบทบาทเยอะมาก เมื่อมีการบิดเบือนข่าวจากสื่อโซเชียลมีเดีย เรามีแนวคิดว่าจะคุยกับสมาคมที่ดูแลเว็บไซต์ ไอที วิทยุโทรทัศน์ ว่าน่าจะมีทีมหรือให้องค์กรภาคประชาชนที่มีอยู่แล้วมาร่วมมอนิเตอร์พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น สรุปเป็นรายเดือนว่าสื่อ ก.มีพฤติกรรมที่หมิ่นเหม่ผิดกฎหมายหรือละเมิดผู้อื่นอย่างไร ให้ทีมมอนิเตอร์มีคำแนะนำ วิพากษ์และข้อเสนอแนะผ่านช่องทางต่างๆ เชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้

ถ้าสังเกตในการทำงานของแต่ละที่เริ่มตั้งคำถามว่าถ้าลงภาพนี้ไปจะผิดไหม ไม่ว่าสื่อพลเมืองหรือตามโซเชียล ต้องเป็นไปที่พูดมาเสมอคือ “ช้า ชัวร์ก่อนแชร์ หยุดเฮทสปีช และเสรีภาพบนความรับผิดชอบ” ถ้าเข้าใจคำเหล่านี้สังคมจะเดินหน้าไปได้

– การออกแถลงการณ์ของสมาคม มีหลักอย่างไรว่าเหตุการณ์ไหนควรแสดงท่าที?

จะมีการหารือกันเป็นกรณีไป ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีแรงๆ อย่างประกาศคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวกับสื่อ องค์กรสื่อต่างๆ ผู้อาวุโส นักข่าวที่รับผิดชอบจะมาหารือกันว่าสมควรออกแถลงการณ์ตอบโต้ชี้แจงประเด็นไหนบ้าง ให้รัฐรู้ว่าเป็นการออกกติกาใหม่มาคุม กด และแทรกแซงสื่อ ส่วนกรณีอื่นรายละเอียดปลีกย่อยต้องดูว่าเข้าข่ายไหม ซึ่งอำนาจตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่คนเดียว ต้องหารือกันก่อน อย่างน้อยมีคนที่มีความรู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น หรือถามต้นเหตุว่าเกิดจากอะไร เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ใช่มีอะไรก็ออกแถลงการณ์

– เคยมีคำสั่งปิดสถานีโทรทัศน์หรือให้บางรายการหยุดออกอากาศแต่สมาคมไม่มีท่าทีอะไร?

กรณีอย่างนี้ต้องดูเนื้อหาด้วย ที่ผ่านมาตอนผมอยู่ฝ่ายสิทธิฯก็มีน้องนักข่าวมาสัมภาษณ์ ว่ามีทีวีช่องหนึ่ง โดนปิดรายการให้ความเห็นได้ไหม ผมบอกว่าไม่คอมเมนต์ เพราะไม่รู้สาเหตุว่าเขาโดนเพราะอะไร พูดไปอาจสร้างความเข้าใจผิดได้

ที่ผ่านมาเคยแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกรณีปิดสถานี ถ้ารายการไหนผิดก็สมควรฟ้องร้องดำเนินคดีกับรายการนั้น ถ้าผิดกฎหมายจริง การปิดทั้งสถานีจะกระทบตั้งแต่เรื่องการแทรกแซงสื่อ คนทำงานมีครอบครัวตกงานก็กระทบหมด ผิดรายการหนึ่งคุณก็ต้องไปฟ้องร้องรายการนั้น หรือในหนังสือพิมพ์ คอลัมน์ใดทำผิด ข่าวใดเขียนผิดก็ต้องไปฟ้องร้อง แต่จะไปปิดหนังสือพิมพ์ได้ยังไง เพราะทำผิดเฉพาะบางส่วนไม่ใช่ผิดทั้งเล่ม

กรอบตรงนี้จะเป็นการพิจารณาและนำหลักกฎหมายมาจับเป็นกรณีไป อาจไม่โดนใจคนว่าทำไมไม่ออกแถลงการณ์ช่วยบ้าง มีการตั้งคำถามมาตลอด เราก็ชี้แจงกันเป็นภายใน ถ้าจะให้โต้ตอบหน้าสื่อทุกวันจะกลายเป็นองค์กรทางการเมือง เมื่อเถียงไม่จบจะมีเสียงเชียร์จากทั้งสองฝั่งเกิดความขัดแย้งก็ไปคุยทำความเข้าใจกันจะดีกว่า

201703081544154-20110627141736

– เสรีภาพของประชาชนกับเสรีภาพของสื่อเป็นเรื่องเดียวกันไหม?

เรื่องเดียวกัน เมื่อสังคมอยู่ในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง คนเหมาหมดว่าช่องทางสู่สาธารณะทุกอย่างเป็นสื่อมวลชนหมด ทำให้สื่อโดนมองว่าเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้สื่อไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากสังคมอีกส่วนหนึ่ง

แต่เมื่อรัฐหรือเอกชนไปทำโครงการที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านพยายามหาช่องทางสื่อออกมาทางสาธารณะเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปแก้ไขเยียวยา แต่ไม่มีช่องทางเพราะโดนปิดกั้นจากอำนาจรัฐหมด ส่วนฝ่ายทำโครงการมีโอกาสสื่อสารฝ่ายเดียว ประชาชนจะรู้เลยว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับสิทธิเสรีภาพของสื่อเป็นหนึ่งเดียวกัน คนที่ได้รับผลกระทบในทุกชุมชนจะรู้ว่าสื่อเป็นกระบอกเสียงแทนเขาและทวงคืนความสุขจากสิ่งที่เข้ามารบกวนกลับคืนมา

– มีคอมเมนต์เยอะมากว่า เมื่อประชาชนโดนลิดรอนเสรีภาพ องค์กรสื่อไม่มีท่าทีอะไรออกมา แล้วจะให้ประชาชนช่วยต่อต้าน พ.ร.บ.สื่อ?

เป็นธรรมดา ใครๆ มองว่าสื่อเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง สังคมจะมองอย่างนั้นก็ไม่ผิด แต่เมื่อมองไปในอนาคตความคิดนั้นอาจเปลี่ยนไปได้ องค์กรสื่อต้องทำความเข้าใจกับรัฐและประชาชนว่ากฎหมายนี้ไม่ดีอย่างไร เมื่อกระทบเสรีภาพของสื่อมวลชนจะกระทบสิทธิการรับรู้ของประชาชนยังไง ไม่เข้าใจตอนนี้ไม่เป็นไร แต่ในอนาคตต้องทำความเข้าใจให้ได้

– ภาพการคุกคามสื่อ ปาข้าวของ ต่อว่า เล่นหัว สมาคมคิดเห็นอย่างไร?

มีการมองกันอยู่ ช่วงหนึ่งเคยพูดถึงว่า ถ้าคนในอำนาจรัฐทำอย่างนี้อาจเข้าข่ายคุกคามทางอ้อมได้ แต่ช่วงหลังไม่ได้เกิดเหตุ เท่าที่ทราบมีคนหวังดี ผู้ใหญ่โทรไปเตือนว่าสิ่งที่คนมีอำนาจรัฐทำอย่างนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในวง แต่ถูกถ่ายทอดสู่สายตาประชาชน ทำให้ไม่เป็นผลดี ช่วงหลังก็ไม่เกิดขึ้น

– ตั้งแต่ทำข่าวมามีประสบการณ์ไหนที่จำได้ดีที่สุด?

หลายเหตุการณ์ ตอนสัมภาษณ์ผู้มีอำนาจรัฐ บุคลิกคนมีอำนาจเขาต้องเสียงดัง สัมภาษณ์ไปอาจมีคำแรงๆ ออกมาบ้าง บางทีสัมภาษณ์แล้วแหล่งข่าวมีอารมณ์จะมีผลดีต่อประเด็นข่าวได้ ไม่ต้องตกใจ เขาดุมาเรานอบน้อมไป จะนำไปสู่อีกคำถามหนึ่งที่ทำให้ได้ประเด็นที่ดีออกมา เขาไม่ได้คุกคามอะไร ด่าก็ด่าไปเหมือนผู้ใหญ่ด่าเด็ก จะทำให้เราได้ประเด็นที่อยากรู้มากขึ้น เป็นเทคนิคของแต่ละคน ไม่ได้กลัวอะไร แหล่งข่าวดุยิ่งดี

– มีใครอยากสัมภาษณ์อีกไหม?

ก็สัมภาษณ์มาหมดแล้ว เหลืออดีตนายกฯคนหนึ่ง อยากสัมภาษณ์แต่มีเหตุหลายอย่าง ผมเป็นนักข่าวการเมือง บางทีทาบทามสัมภาษณ์ชีวิตส่วนตัว แต่ก็ต้องมีประเด็นการเมืองเบาๆ ออกมา เลยอาจจะยาก นอกนั้นก็สัมภาษณ์มาหมดแล้ว

– อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้อยู่ในสายอาชีพนี้ได้ยาว?

การทำการบ้าน ติดตามการเมืองโลกและการเมืองในประเทศ อย่าเชื่อในสิ่งที่ได้ฟังและเห็นมา เวลาเอาคลิปมาโชว์ว่าคนนี้ผิดอย่าเพิ่งเชื่อ ต้องไปหาว่าเขาผิดเพราะอะไร ถ้าต้นทางการส่งข่าวเชื่อว่าผิด หากเรานำไปวิเคราะห์อาจทำให้สังคมเข้าใจผิดได้ ยิ่งสร้างความแตกแยกในสังคมเข้าไปอีก

ดังนั้น ได้ยิน ได้ฟังอะไรมาอย่าเพิ่งเชื่อ จงไปหาข้อมูลประกอบมาเพิ่มเติม และที่สำคัญต้องให้เกียรติแหล่งข่าว บางเรื่องที่ได้มาแล้วเขาบอกว่าห้ามเขียน หรือเขียนไปจะเกิดผลกระทบเยอะก็ไม่สมควร ถ้าจะนำเสนอต้องถามย้ำว่าท่านพูดแบบนี้คืออะไร ถ้าเขาพูดต่อคือให้เขียนได้ ต้องทำให้แหล่งข่าวไว้ใจ จะเป็นผลดีต่อการทำหน้าที่ จะขอสัมภาษณ์อีกเขาก็จะไม่ขัดข้อง ทำให้เรายืนหยัดอยู่ตรงนี้ได้

– มีอะไรที่ประทับใจในอาชีพนี้?

การเมืองเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิตของเรา เป็นสิ่งกำหนดนโยบาย ออกกฎหมาย วางเสาหลักให้ประเทศ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์ว่าในอนาคตจะเป็นยังไง ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งวิเคราะห์การเมืองได้ผิดเพี้ยนไม่มาก เพราะมีประสบการณ์และฐานข้อมูลที่สด เป็นความได้เปรียบ ทำให้เวลามองอะไรหากจะผิดก็ผิดไม่มาก

การเมืองเกี่ยวข้องกับเราตลอดชีวิต นักข่าวสายอื่นก็สำคัญ แต่สายนี้เหมาะกับบุคลิกเรา เหมาะกับสิ่งที่ผมชอบ ทำให้อยู่ได้นาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image