คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน : ระหว่างทางมีประวัติศาสตร์

ช่วงอาทิตย์ผ่านมามีโอกาสเดินทางไกลไปยังเมืองแมนเชสเตอร์, ลีดส์, แลงคาสเตอร์, แบล็กพูล และเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ

เมืองเหล่านี้ไม่ค่อยจะเป็นเมืองในฝันของนักท่องเที่ยวเท่าไหร่นักหรอก

เพราะไม่ใช่เมืองช้อปปิ้งอย่างมหานครลอนดอน

แต่เป็นเมืองแห่งฟุตบอล

Advertisement

โดยเฉพาะกับเมืองแมนเชสเตอร์ อันเป็นสถานที่ตั้งของทีมปีศาจแดง ทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด สนามที่ขึ้นชื่อว่าใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศอังกฤษ เพราะสามารถบรรจุผู้ชมได้ถึง 75,000 คน

ผมเองก็มีโอกาสแทรกตัวเข้าไปเชยชมสนามแห่งนี้ด้วย

แต่ขอไปเล่าให้ฟังวันหลัง

Advertisement

เพราะวันนี้อยากเล่าเรื่องที่ผมไปเยือนพิพิธภัณฑ์เสื้อเกราะ และอาวุธ (Royal Armouries Museum) ที่เมืองลีดส์ให้ฟังก่อน

เพราะทราบมาว่าที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยที่ถูกสร้าง และออกแบบขึ้นมาใหม่เพื่อสำหรับจัดแสดงเสื้อเกราะ และอาวุธที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16

บางส่วนเคยจัดแสดงที่ทาวเวอร์ ออฟ ลอนดอน และฟอร์ต เนลสันมาก่อน

กระทั่งปี 1990 รัฐบาลจึงทำการจัดสร้าง Royal Armouries Museum ที่เกิดขึ้นจากการวิจัย และพัฒนาการออกแบบ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความร่วมสมัยสำหรับศตวรรษที่ 21

เพราะอยากให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงประวัติศาสตร์ในหลายช่องทาง

ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องผ่านสื่อผสมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีอันทันสมัย ห้องฉายหนัง แม้กระทั่งการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสนามรบ เพื่อให้ผู้ชมพลอยตื่นเต้นไปกับแสง สี เสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะที่นักรบชาวอังกฤษเข้าไปแผ่ขยายอาณานิคมในดินแดนต่างๆ ด้วย

สำคัญไปกว่านั้น ผู้เข้าชมยังจะได้เห็นเสื้อเกราะของกษัตริย์ นักรบ ทหาร อาวุธต่างๆ อีกมากมาย รวมไปถึงเสื้อเกราะสำหรับช้าง ม้า และตัวละครสำคัญต่างๆ ในสมัยศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาอีกด้วย

จนทำให้รู้สึกได้ถึงความยิ่งใหญ่ของอังกฤษสมัยนั้น

ทั้งยังทำให้เข้าใจในทันทีว่าเมื่อ 500-600 ปีก่อน กองทัพอังกฤษยังมีประสิทธิภาพที่น่าเกรียงไกรขนาดนี้ ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าสมัยต่อมาที่อังกฤษเริ่มแพร่ขยายการล่าอาณานิคมในประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป แอฟริกา และเอเซีย กองทัพอังกฤจึงเป็นกองทัพหนึ่งที่น่าครั่นคร้ามมากที่สุด

สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะเสื้อเกราะ และศาสตราวุธต่างๆ ที่ใช้ด้วย เพราะเท่าที่เห็นในพิพิธภัณฑ์ นอกจากด่านหน้าคือความเป็นกษัตริย์นักรบแล้ว องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างคือการออกแบบเสื้อผ้า และการเสาะแสวงหาแหล่งวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในการผลิตอาวุธ

โดยเฉพาะแร่เหล็ก

ทองคำ

และสารเคมีต่างๆ เพื่อใช้ทำเป็นกระสุน ดินปืน

ซึ่งในพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ไว้ทั้งหมด ที่สำคัญในการออกแบบพิพิธภัณฑ์ของที่นี่จะไม่เหมือนกับเราเดินในพิพิธภัณฑ์โบราณเลย

ที่เล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว

แต่ที่นี่ตรงข้าม เพราะสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ทุกชิ้นสามารถเล่าเรื่องด้วยตัวของมันเองทั้งสิ้น แม้แต่ม้าที่สวมชุดเกราะ หรือแม้แต่ทหารจำลองที่นอนตายอยู่กลางสนามรบ ก็ล้วนต่างทำให้เรารู้สึกหึกเหิม หดหู่ และเข้าใจเหตุการณ์ของบ้านเมืองสมัยนั้นขึ้นมาทันที

เพราะทุกประเทศต่างต้องการความเป็นใหญ่

ทุกประเทศต่างต้องการอาณานิคม

และทุกประเทศต่างต้องการทรัพยากรอันมีค่าของอีกประเทศหนึ่ง

ซึ่งอังกฤษสมัยนั้นเขาก็ต้องการเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะหาไม่แล้ว เขาคงไม่ไปรบกับฝรั่งเศส สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ อีกมากมาย

เพื่อจะได้ครอบครองพื้นที่ให้มากที่สุดหรอก

ผลเช่นนี้ เมื่อเราศึกษาจากประวัติศาสตร์เสื้อเกราะ และอาวุธต่างๆ ของกองทัพอังกฤษสมัยนั้นที่มีมากกว่า 85,000 รายการ จึงทำให้ทราบทันทีว่าในหน้าประวัติศาสตร์ที่อังกฤษผ่านสนามรบแต่ละช่วงศตวรรษ พวกเขาล้วนผ่านความเจ็บปวดมามากมาย

ยิ่งเมื่อเห็นเสื้อเกราะ ศาสตราวุธต่างๆ ที่พยายามรักษาให้ลูกหลานเห็นในวันข้างหน้า ยิ่งทำให้เรารู้สึกเห็นภาพความตาย เลือด และการรุกรานอย่างไม่มีวันสิ้นสุด จนทำกษัตริย์ของประเทศอื่นๆ ทหาร และประชาชนของประเทศอริราชศัตรูของเขาต้องบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

ก็ล้วนมาจากความไม่รู้จักพอของมนุษย์นี่เอง

แม้จะทราบว่ากองทัพต้องมีระเบียบวินัย

กระหายในชัยชนะ

หรือหลักการปกครองของผู้มีอำนาจ

เพราะในประวัติศาสตร์ผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น ก็เหมือนกับประเทศอังกฤษในเวลานี้ แม้เหตุการณ์จะผ่านมากว่า 500-600 ปี

แต่เชื่อแน่ว่าในช่วง 500-600 ปีที่เกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆ ที่อังกฤษเข้าไปทำสงครามด้วย คงทำให้ประชากรของประเทศเหล่านั้นคงอดคิดไม่ได้ว่าที่ประเทศของเราแพ้สงครามเป็นเช่นนี้เอง

ที่ประเทศของเราต้องอยู่ภายใต้อาณานิคมเป็นเช่นนั้นเอง

เพราะขนาดผมซึ่งเป็นคนไทย และมีส่วนรับรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรุกรานของอังกฤษที่แพร่ขยายอาณาเขตมายังผืนแผ่นดินในเอเซียบางประเทศ ยังทำให้ผมเข้าใจในทันทีว่ากองทัพอังกฤษน่าสะพึงกลัวเพียงใด

แล้วถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์จริงสมัยนั้นล่ะ

คงน่าสะพึงกลัวกว่าหลายร้อยเท่า

เพราะลำพังแค่เสื้อเกราะ และศาสตราวุธมากมายที่นอนนิ่งอย่างไม่มีชีวิตภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังทำให้ผมรู้สึกขนลุกได้ขนาดนี้ แต่ถ้ามันลุกขึ้นมาเต้นเร่าได้จริงๆ ล่ะ

หรือสำแดงเดชให้ปรากฏจริงๆ ล่ะ

จะน่าสะพึงกลัวขนาดไหน

ลองหาโอกาสไปชมกันครับ พิพิธภัณฑ์เสื้อเกราะ และอาวุธที่เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ

เปิดให้บริการทุกวัน แถมเข้าชมฟรีด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image