สร้างเลือดใหม่ เด็กไทยรักษ์ป่า ผ่านต้นกล้า ‘กาแฟ’ ยกคุณภาพชีวิตคนชายขอบ

แปลงกาแฟที่ภูชี้เดือน โดยให้ชาวบ้านและสามเณรในโครงการช่วยกันดูแลปลูกฝังการรักษ์ป่า

เป็นเรื่องจริงที่เมื่อเอ่ยชื่อ “เชียงราย” นอกจากสีสันละลานตาของดอกไม้งามบนดอยตุง สิ่งหนึ่งที่หลายคนจะนึกถึงพร้อมกับกลิ่นหอมที่อวลเข้ามาเต็มจินตนาการคือ “กาแฟ”

คอกาแฟไม่มีใครไม่รู้จัก “ดอยช้าง” ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากพระเมตตาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานต้นกล้ากาแฟ เพื่อใช้ปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขา

จากวันนั้นเป็นเวลากว่า 40 ปี “ดอยช้าง” หนึ่งในหัวหมู่ทะลวงฟันที่ทำให้เชียงรายวันนี้เป็นเมืองหลวงของกาแฟ

ข้อดีประการหนึ่งคือ ด้วยชื่อเสียงของกาแฟดอยช้าง ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ในสหภาพยุโรป เป็นการเปิดตลาดและรับรองคุณภาพของเมล็ดกาแฟจากดอยสูงบนดินแดนแห่งนี้แทบจะโดยอัตโนมัติ

Advertisement

วันนี้ในอำเภอแม่สรวย อำเภอแม่จัน มีโรงสีกาแฟผุดขึ้นเพื่อให้บริการคั่วกาแฟเกือบ 10 เจ้า ไม่นับร้านกาแฟสดที่เปิดอยู่รายทางรอให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่มากมาย

ถามว่าธุรกิจนี้ยังเปิดกว้างสักแค่ไหน

ยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมากมาย โดยเฉพาะกับกาแฟอินทรีย์ที่ปลูกบนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 700 เมตรเป็นต้นไป ซึ่งความเย็นและความชื้นของป่าจะช่วยดูแลรสชาติของเมล็ดกาแฟเป็นอย่างดี แม้จะสุกช้ากว่ากาแฟพื้นราบ แต่รสชาติและกลิ่นหอมเต็มอิ่มกว่ามากนัก

Advertisement
สุชาดา สวัสดิ์เอื้อ และกันยา สิงห์เจริญ
สุชาดา สวัสดิ์เอื้อ และกันยา สิงห์เจริญ

จากโครงการพิทักษ์ฯ ถึงกาแฟรักษ์ป่า

มีโอกาสได้ติดตามผู้ก่อตั้ง โครงการพิทักษ์พระพุทธศาสนาตามแนวชายแดน ขึ้นไปดูงานส่งเสริมคนท้องถิ่นปลูกกาแฟแทนพืชเชิงเดี่ยวที่ตำบลริมโขง จังหวัดเชียงราย

วัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว ไม่เพียงสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น แต่ยังต้องการปลูกฝัง (ตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย) ให้รักษ์ป่า เลิกถางพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันเสียที ตัวการสำคัญที่ทำให้ป่าหลายๆ แห่งแปรสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น

สุชาดา สวัสดิ์เอื้อ หนึ่งในสองผู้ก่อตั้งโครงการพิทักษ์พระพุทธศาสนาตามแนวชายแดน (ร่วมกับกันยา สิงห์เจริญ) เล่าให้ฟังถึงที่มาของความคิดดังกล่าวว่า เริ่มตั้งแต่เมื่อ 25 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ทำโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยชักชวนให้เด็กๆ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสมัครเข้าบรรพชาเป็นสามเณรในภาคฤดูร้อน เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่เด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลได้เรียนหนังสือโดยไม่มีเงื่อนไข

เด็กๆ ตามชายขอบส่วนมากพ่อ-แม่ทำเกษตรและฐานะยากจน จึงต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อมาช่วยพ่อ-แม่ทำงาน ส่วนหนึ่งต้องบอกว่าเป็นเพราะเห็นความจำเป็นของการทำมาหากินมากกว่า ขณะเดียวกันก็ไม่มีรายได้มากพอที่จะส่งลูกไปเรียนต่อ การที่เด็กๆ ได้เข้าบรรพชาจึงเป็นโอกาสเดียวที่ช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนต่อในระดับสูง ซึ่งถ้าเด็กๆ ตั้งใจจะเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญา โครงการของเราก็จะส่งเสริมให้ โดยมีเงื่อนไขเดียวว่าจะต้องอยู่ในเพศบรรพชิต

เราเห็นความจำเป็นของการบวชเรียน แม้จะพรรษาเดียวก็ตาม เพราะอย่างน้อยเด็กๆ ได้มีโอกาสใกล้ชิดพระพุทธศาสนา และธรรมะจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจของพวกเขา สามารถนำเอาหลักคิดจากคำสอนไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งช่วยบรรเทาปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดนลงด้วย โดยได้รับความช่วยเหลือจาก พล.ต.ท.ธีรเดช รอดโพธิ์ทอง รอง ผบ.ตชด.ในขณะนั้นอำนวยความสะดวกให้กับโรงเรียน ตชด.ทั่วประเทศ ส่งเด็กๆ เข้าโครงการ มี ดร.ภัสริน อินทรกำแหง เป็นประธานโครงการ ซึ่งต่อมามูลนิธิพิทักษ์ประชาชาติ เข้ามาโอบอุ้มโครงการนี้ด้วย

ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณครู ตชด.ที่ช่วยเหลือประสานงานนำเด็กจากโรงเรียนลงมา และกลายเป็นประเพณีที่จะมีเด็กๆ จากโรงเรียน ตชด.ในเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ลงมาบวชเรียนทุกปีอย่างต่อเนื่อง มีตั้งแต่ระดับ ม.1-ม.6 มีทั้งปริญญาตรี และมีบางรูปกำลังทำปริญญาโท

ตอนนี้เราเน้นที่อำเภอแม่แจ่ม อำเภอกัลยาณิวัฒนา เพราะที่นั่นมีชาวไทยภูเขาเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันเด็กที่ผ่านการบวชเรียน แม้สึกออกมาแล้ว หลายๆ คนกลับมาช่วยงานเป็นพี่เลี้ยงในโครงการ

สามเณรในโครงการ ที่วัดสบสม อ.เชียงของ จ.เชียงราย
สามเณรในโครงการ ที่วัดสบสม อ.เชียงของ จ.เชียงราย

มรดกที่พ่อทิ้งไว้

สำหรับโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟเป็นโครงการต่อยอดที่สุชาดาบอกว่า ได้ความคิดจากการที่ได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเด็กๆ ในโรงเรียน ตชด.แล้วเห็นสภาพของภูเขาที่ถูกตัดถางไปมากมาย จึงปรึกษากับ กันยา สิงห์เจริญ ผู้ก่อตั้งโครงการว่าน่าจะหาวิธีใดสักอย่างให้ลดการตัดต้นไม้

สุชาดายอมรับว่า ทีแรกไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นกาแฟ เป็นต้นไม้อะไรก็ได้ที่ทำให้ชาวบ้านลดการตัดไม้ทำลายป่า แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถสร้างรายได้ที่พอเพียงให้กับชาวบ้านด้วย สุดท้ายมาลงที่กาแฟ โดยได้แรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริและพระราชทานต้นกล้ากาแฟให้ชาวไทยภูเขาปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น ลดการถางพื้นที่ทำกิน ซึ่งเราเริ่มต้นโครงการมากว่า 3 ปีแล้ว

เราสำรวจและศึกษาอยู่นาน กระทั่งมั่นใจว่ากาแฟจะช่วยดูแลรักษาการตัดไม้ทำลายป่าได้ โดยที่มีองค์กรที่ศึกษาเรื่องกาแฟรักษ์ป่าเข้ามาช่วย ทำให้เด็กๆ และชาวบ้านในพื้นที่ที่เราทำงานด้วยมานานมีกำลังใจที่จะทำเรื่องกาแฟรักษ์ป่าด้วย

“ตอนนี้การส่งลูกมาบวชเป็นสิ่งที่ดี การปลูกกาแฟรักษาป่าเป็นสิ่งที่ดี และการทำงานกับ ตชด.เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติไปแล้ว”

ขณะที่กันยาในฐานะประธานก่อตั้งโครงการพิทักษ์พระพุทธศาสนาตามแนวชายแดน หนึ่งในผู้บุกเบิกส่งเสริมให้เด็กๆ ในพื้นที่ตามตะเข็บชายแดนได้มีโอกาสร่ำเรียนเขียนอ่านโดยการบวชเรียน และขยายผลต่อมาที่จะเป็นการสร้างอาชีพ โดยส่งเสริมให้เด็กๆ และชาวบ้านในพื้นที่ได้ปลูกกาแฟแทนการปลูกข้าวโพดเพื่อลดการถางป่าบอกว่า

“ไม่ได้คาดหวังอะไร แค่เห็นความก้าวหน้าก็พอใจ เพราะเราไม่ได้หวังผลเลิศว่าจะต้องเป็นอย่างไร

“อย่างเรื่องการปลูกกาแฟ คิดเพียงว่าให้ทุกคนมีอาชีพ ได้เพาะปลูก ให้ทุกดอยได้ปลูก ทุกคนมีอาชีพจากการทำไร่ เพราะตัวเองก็ทำไร่อยู่แล้ว ปรากฏว่าปลูกได้ผลดี และที่ดีกว่านั้นคือ เขารู้จักคั่ว(กาแฟ) รู้จักขาย เป็นความก้าวหน้าอีกก้าว ครั้งนี้เราลงมาติดตามความคืบหน้าจึงมอบเครื่องสีกาแฟเพื่อให้สำเร็จอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้ครบวงจรตั้งแต่สร้างจนขายได้ หลังจากนั้นอยู่ที่ความสามารถของเขาแล้วว่าจะสามารถทำให้ได้กาแฟที่รสชาติเป็นอย่างไร”

สำหรับการส่งเสริมการศึกษากับเด็กนักเรียน ตชด.ภาคฤดูร้อน กันยาบอกว่า “เป้าหมายส่งเสริมการศึกษาเด็ก ร.ร.ตชด.ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยไม่เลือกว่าจะเป็นคนไทยหรือเป็นชนเผ่า แต่อยู่ที่ความสมัครใจที่จะเรียนเพิ่มเติมในช่วงปิดเทอม ที่น่ายินดีคือ สามเณรรุ่นที่บรรพชาก่อนหน้า ปัจจุบันยังบวชเรียนอยู่ บางรูปสำเร็จการศึกษาเทียบเท่าระดับปริญญาโท บางรูปเป็นพระธรรมจาริก”

พ.ต.ท.กิตติคุณ ช่างเขียน กับแปลงเพาะกล้ากาแฟ
พ.ต.ท.กิตติคุณ ช่างเขียน กับแปลงเพาะกล้ากาแฟ

เปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นป่าอาราบิก้า

ทางด้าน พ.ต.ท.กิตติคุณ ช่างเขียน ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอาชีวศึกษาเชียงราย-พะเยา ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานโครงการพิทักษ์พระพุทธศาสนาตามแนวชายแดนมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงการส่งเสริมชาวบ้านและนักเรียนโรงเรียน ตชด.ในเขตพื้นที่ตำบลริมโขง จังหวัดเชียงราย ให้หันมาปลูกต้นกาแฟ แทนที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เล่าให้ฟังว่า…

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2543 พื้นที่แถบนี้ยังเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ แต่ 15-16 ปีต่อมา ดอยทั้งหลายที่เห็นกลายเป็นภูเขาหัวโล้น เพราะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด เป็นผลให้หน้าดินลดลง หินก็โผล่ขึ้นมาให้เห็น

ผมเริ่มศึกษาการปลูกกาแฟตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน โดยได้ความคิดจากเด็กนักเรียนในชั้นเรียนที่มีรายได้โดยการปลูกกาแฟส่งให้กับกาแฟดอยช้าง และพบว่าการปลูกกาแฟสามารถสร้างรายได้พอสมควร จึงทดลองปลูกด้วยตนเองโดยใช้พื้นที่รอบบ้าน

ผมอยากให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากปลูกไม้ล้มลุกมาเป็นไม้ยืนต้น โดยเฉพาะกาแฟ ซึ่งเป็นพืชที่ต้องการร่มเงา มีคุณค่าสูง และให้ราคาสูงกว่ามาก

“ปลูกกาแฟเฉพาะที่ขายเป็นเชอรี่ (ผลกาแฟสด) ได้ราคากิโลกรัมละ 20 บาท เทียบกับข้าวโพดราคาแค่ 3-4 บาท และการปลูกข้าวโพดยังทำให้สมดุลธรรมชาติเสียไป เช่น ดินเสีย จะไปปลูกอย่างอื่นก็ลำบาก” สารวัตรกิตติคุณบอก และเล่าว่า

“กาแฟที่ผมไปส่งเสริมบางส่วนที่ทำมาเมื่อ 4-5 ปีก่อน ตอนนี้เริ่มจะออกผลแล้ว อย่างที่ภูชี้ฟ้าซึ่งเราส่งเสริมให้เณรและเด็กๆ ในพื้นที่ทำเป็นแปลงอนุบาลและลงต้นกล้าไว้ด้วย แม้ว่าจะใช้เวลา 3 ปี และให้ผลในปีที่ 4 แต่ดูแลง่าย เพราะให้น้ำแค่ปีแรกเท่านั้น ที่เหลือธรรมชาติจะดูแลให้ ด้วยความชื้นของป่า ประกอบกับดินที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ได้ผลิตผลเป็นกาแฟที่มีคุณภาพดีกว่ากาแฟที่ปลูกในพื้นราบ

“กาแฟต้นหนึ่งอยู่ได้ 50-60 ปี บางต้นอยู่ได้เป็น 100 ปี ‘ทำสาว’ ได้ไม่รู้กี่ครั้ง เพราะอยู่ที่การตัดแต่งกิ่งแล้วมันจะงอกขึ้นมาใหม่ เป็นสิ่งที่ผมอยากให้ชาวบ้านทำ และยืนยันได้เลยว่าตลาดกาแฟบ้านเราราคาสูงกว่าต่างประเทศ เพราะเราปลูกในที่สูง และไม่ใช้สารเคมี

“มันเป็นทางเลือกให้กับชาวบ้าน ถ้าขายเป็นเชอรี่ กิโลละ 10-20 บาท แปรรูปเป็นกาแฟแห้งกิโลละ 100-120 บาท ถ้าเอาไปสี-คั่ว-แพค ยิ่งขายได้ราคาสูงขึ้นไปอีก 2-3 เท่า”

เมล็ดกาแฟเริ่มสุก เรียกว่า "เชอรี่"
เมล็ดกาแฟเริ่มสุก เรียกว่า “เชอรี่”

นอกจากนี้ เปลือกกาแฟหลังจากสีเอาเมล็ดออกแล้วยังใช้เป็นปุ๋ยได้ดี หรือจะนำไปหมักเป็นไวน์ก็ได้รสชาติดี

พ.ต.ท.กิตติคุณบอกอีกว่า ความที่เป็นครูคลุกคลีอยู่ในพื้นที่มานาน เป็นที่เคารพรักของชาวบ้านในแถบนี้ จึงใช้โอกาสที่ไปประชุมบ้างแวะพูดคุยเยี่ยมเยียนชาวบ้านระหว่างทาง แนะนำให้แต่ละบ้านแบ่งเงินจากรายได้ส่วนหนึ่งไปซื้อต้นพันธุ์เงาะ ส้ม มะม่วง ลำไย ฯลฯ เอาไปลงแทรกในสวนข้าวโพดเพื่อให้มีร่มเงา ต่อไปจะได้ปลูกกาแฟ โดยมีตัวอย่างให้เห็นคือแปลงกาแฟที่บ้าน และแปลงที่ภูชี้เดือน

สำหรับคนที่ไม่มีเงิน ก็จะให้ปลูกกล้วยก่อน ซึ่งระหว่างที่รอกาแฟ 3 ปี จะมีรายได้จากไม้ผลที่ปลูกไว้ เชื่อว่าจะสามารถลดการถางไร่เพื่อปลูกข้าวโพดไปได้

ผมตั้งใจจะส่งเสริมกับพื้นที่บนดอยที่มีปัญหาในทุกจุด เช่น ที่บ้านห้วยหมาก อ.แม่ฟ้าหลวง หรืออย่างที่ภูชี้ฟ้า ที่ปีนี้เริ่มให้ผลแล้วเป็นแปลงกาแฟสาธิต เชื่อมั่นว่าในอนาคตพื้นที่สีเขียวน่าจะเกิดขึ้นได้แน่นอนที่เชียงราย

เป็นความมุ่งมั่นที่ต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ผลกาแฟหลังจากล้าง กะเทาะเปลือกแล้ว ผึ่งให้แห้ง
ผลกาแฟหลังจากล้าง กะเทาะเปลือกแล้ว ผึ่งให้แห้ง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image