23 ปี ‘เปล่งเสียงเปลี่ยนโลก’ ด้วยปลายปากกาของคนธรรมดา

23 ปี ‘เปล่งเสียงเปลี่ยนโลก’ ด้วยปลายปากกาของคนธรรมดา

23 ปี ‘เปล่งเสียงเปลี่ยนโลก’
ด้วยปลายปากกาของคนธรรมดา

23 ปีก่อน ในวันสิทธิมนุษยชนสากล กลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ได้เฉลิมฉลองวันสำคัญนี้ด้วยการเขียนจดหมายเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง เพื่ออุทิศเวลาให้แก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก และเป็นการส่งเสียงเพื่อไม่ให้การหายตัวไป หรือการคุมขังคนเหล่านั้นเป็นเพียงเรื่องราวที่ถูกลืม

จดหมาย 2,326 ฉบับในวันนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ แคมเปญเพื่อการยืนหยัดเคียงข้างผู้ถูกละเมิดสิทธิและครอบครัวของพวกเขา พร้อมส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจ ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสื่อสารไปยังชาวโลกว่าประชาชนทุกคนพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่ว่าการใช้อำนาจนั้นจะเกิดที่ใดบนโลกก็ตาม

ร่ายเวทมนตร์ของคนธรรมดา

ADVERTISMENT

7 ธันวาคม พ.ศ.2567 ในปีที่ 23 ของแคมเปญ ‘Write for Rights เขียน เปลี่ยน โลก’ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เปิดตัวแคมเปญนี้พร้อมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยร่วมผลักดันเรื่องราวการต่อสู้ของคนธรรมดา 10 กรณี หนึ่งในนั้นคือ กรณีของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ถูกลงโทษจำคุก 16 ปี 20 วัน จากคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการปราศรัยในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วง พ.ศ.2563 โดยกิจกรรมเปิดตัวแคมเปญครั้งนี้อยู่ภายใต้แนวคิด ‘The Magic of Ordinary People’ หรือ เวทมนตร์ของคนธรรมดา

ADVERTISMENT
เขียนจดหมายวิเศษเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจทั่วโลก ยุติการละเมิดสิทธิ

ณธกร นิธิศจรูญเดช เจ้าหน้าที่อาวุโส ฝ่ายรณรงค์เชิงสาธารณะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า แนวคิดในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วย 2 ประเด็น คือความเชื่อของแอมเนสตี้ที่ว่าพลังจากคนธรรมดาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และอีกมิติหนึ่งคือความเป็นเวทมนตร์ ความเป็นผู้วิเศษ ที่ปรากฏอย่างชัดเจนในการปราศรัยครั้งหนึ่งของ อานนท์ นำภา ซึ่งแต่งกายในธีม Harry Potter วรรณกรรมเยาวชนชื่อดัง การชุมนุมในวันนั้นถูกเรียกขานว่า ‘ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์’

“เรามีความเชื่อว่าสิ่งที่เราพยายามให้เกิด อย่างการเขียนจดหมายก็ดี การลงชื่อในข้อเรียกร้องก็ดี ทั้งหมดนี้เราเรียกว่าเป็นการยืนหยัดเคียงข้าง หรือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะเราคิดว่าเสียงในประเทศมันอาจจะดัง แต่ถ้ามันมีเสียงของประเทศอื่นเข้ามาช่วยขับเคลื่อนด้วย ช่วยเรียกร้องด้วย มันน่าจะดังและมีพลังพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ นี่คือความเชื่อหลักของแอมเนสตี้” ณธกรกล่าว

ลูกของผู้ต้องหาการเมือง ยังรอคอยพ่อ
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การเขียนจดหมาย การลงชื่อสนับสนุน และการแบ่งปันเรื่องราว เป็นวิธีที่ทรงพลังที่เราสามารถสนับสนุนนักกิจกรรมที่กำลังเผชิญความเสี่ยงได้

“คนธรรมดาเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยข้อความสั้นๆ ที่จะร่วมกันยืนยันในหลักการของผู้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน และจะเป็นแรงหนุนให้มีกำลังใจต่อไป บอกเขาว่า ยังมีพวกเราอยู่เคียงข้าง อย่าดูถูกดูแคลนตัวอักษร อย่าดูถูกดูแคลนพลังของจดหมาย หรือพลังของคนตัวเล็ก และเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง พลังของคนธรรมดานี่แหละที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้” ปิยนุชกล่าว

ศิลป์ ดนตรี บทกวี ‘สรรพรส’

ปรุงน้ำยาสรรพรส

การเปิดตัวแคมเปญ ‘Write for Rights เขียน เปลี่ยน โลก’ แสดงออกผ่านกิจกรรมมากมายหนึ่งในนั้นคือ การปรุง ‘น้ำยาสรรพรส’ เพื่อให้ผู้ร่วมงานทุกคนแปลงร่าง พร้อมส่งเสียงร่ายเวท เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สมุนไพรรสเผ็ดฉุนนานา ทั้งแก่นฝาง พริกไทย กระวาน ออลสไปซ์ ลาเวนเดอร์ บลูโลตัส และจูนิเปอร์ เบอรี่ ถูกนำมาวางเตรียมไว้ ให้ผู้ร่วมงานใช้เจตจำนงเสรีเลือกหยิบใส่หม้อ รอคอยการต้มและแจกจ่าย

ดนตรีสดและบทกวีสร้างแรงบันดาลใจ

เตชิต จิโรภาสโกศล ผู้นำเวิร์กช็อปปรุงน้ำยาสรรพรส อธิบายว่า คำว่าสรรพรสก็คือมีหลายรสชาติ เวลาเราใส่สมุนไพรพวกนี้เข้าไป มันเหมือนเรากำลังเปลี่ยนพลังงานของน้ำ ของของเหลว

“คือจริงๆ แล้ว การถ่ายเทพลังงานตามหลักธาตุมันมีอยู่สองอย่าง คือน้ำกับลม สมุนไพรที่เลือกมาแต่ละอันก็เป็นสมุนไพรที่รสฉุน เผ็ด ที่มันจะเติมพลังงานให้ ไฟคือความเผ็ดร้อน รสฉุนมันคือลม แล้วก็มีความหวาน ความหอมของดอกไม้ แล้วก็จะมีส่วนผสมพิเศษ อย่างกุหลาบกับลาเวนเดอร์ มันจะเป็นธาตุพิเศษ เป็นธาตุเวทมนตร์จริงๆ คือมีหลายธาตุอยู่ด้วยกัน เวลาเราดมลาเวนเดอร์ เราจะเห็นว่ามันมีทั้งความฉุน ความหวาน ความเค็ม ความเปรี้ยว เพราะฉะนั้น มันเป็นธาตุวิเศษ พวกแม่มดเลยชอบใช้ลาเวนเดอร์ในการปรุงยา

“สมุนไพรแต่ละตัวมันก็มีพลังงานของมัน และเราแต่ละคนก็มีพลังงานในการเลือก เวลาเราเลือกอะไร เรามีเหตุผลนะ เราใส่พลังงานลงไป พลังงานในการเลือก แล้วพอมันผสมกัน มันคือเจตนา มันคือพลังงานของทุกคนมารวมกัน ทีนี้เราก็แค่ใช้น้ำ ก็คือไวน์ มาผสมให้มันรวมกัน เราก็ใช้ไฟมากระตุ้น ให้พลังงานของทุกคนมารวมกัน” เตชิตกล่าว

นอกจากนี้ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ยังถูกแสดงผ่านศิลปะอย่างดนตรีและบทกวี ที่บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งจุดประกายความหวังและกำลังใจให้กับผู้ที่เข้าร่วมงาน เสริมทัพ และพลังใจ ผ่านไอศกรีมรสชาติพิเศษอย่าง รส Bee-lieve in Action ให้ทุกคนได้ก้าวเดินต่อไป

‘อะไร อะไร’ พื้นที่เล็กๆ แห่งเสรีภาพ

แม้ทุกวันนี้ผู้คนจะสามารถเชื่อมโยงกันได้ผ่านพื้นที่ออนไลน์ เช่นเดียวกับแคมเปญ ‘Write for Rights เขียน เปลี่ยน โลก’ ที่สามารถแสดงพลังได้ผ่านทางออนไลน์ แต่พื้นที่ทางกายภาพก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อย ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน นี่จึงเป็นเหตุผลที่เตชิตเปิดร้าน ‘อะไร อะไร’ (Arai Arai Home Cafe) ร้านกาแฟเล็กๆ บนถนนไมตรีจิตต์ ให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเปิดตัวแคมเปญ และจัดมุมสำหรับลงชื่อในแคมเปญ ‘Write for Rights เขียน เปลี่ยน โลก’ เป็นเวลานานถึง 4 เดือน

“เราทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง พัฒนาชุมชน มันก็ทำให้เรามีพื้นฐานเรื่องความเท่าเทียม เรื่องสิทธิอยู่แล้ว และพื้นที่ตรงนี้เราเปิดเพื่อให้เมืองมีพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ที่คนมีความเห็นแตกต่างหลากหลายสามารถมาแชร์ มาคุยกันได้ คือตอนนี้ ต่อให้เรามีพื้นที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น มีช่องทางออนไลน์เยอะขึ้น แต่ยังไง พื้นที่ที่เป็นกายภาพมันก็สำคัญ เมื่อไรก็ตามที่มีคนที่อาจจะมีความสนใจเล็กๆ น้อยๆ เขาอาจจะทำคนเดียวอยู่ตลอดชีวิต แต่ถ้ามันมีพื้นที่ให้เขาได้นำเสนอออกมา ให้คนได้ดูเขาสักคนสองคน เขาก็จะรู้สึกมั่นใจและไปต่อ”

จากความสนใจเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง เตชิตมองว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองคือการที่คนเรามีสิทธิเสรีภาพในการส่งเสียง ซึ่งสะท้อนในบทบาทของร้านอะไร อะไร ในการเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถส่งเสียงของตัวเองได้โดยไม่ถูกตัดสิน

“มนุษย์เรามีเจตจำนง มีเจตนารมณ์ เราเกิดมาด้วยเสียง ด้วยคำพูด เรารู้สึกว่าถ้าการพูดออกไป ทำให้คนอื่นได้เรียนรู้ ได้รับรู้ ได้เข้าใจ ได้มองเห็นอะไรมากขึ้น แล้วมันก็เป็นช้อยส์ของคนอื่นที่เขาจะเลือก มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ผมรู้สึกว่าการทำอะไรแบบนี้มันทำให้สังคม ให้ปัจเจก ให้จิตวิญญาณของทั้งปัจเจกและของประเทศเติบโตขึ้น มากกว่าที่เราจะตีกรอบให้มันอยู่ในระนาบเดียวกัน ในกรอบเดียวกัน

“มนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มันไม่มีทางหรอกที่สวนสวนหนึ่ง หรือป่าป่าหนึ่งจะเกิดขึ้นได้โดยการปลูกต้นไม้ประเภทเดียวกัน ถ้าคุณเป็นผู้ดูแลที่ดี คุณก็ควรจะเข้าใจธรรมชาติของความแตกต่างเหล่านี้ และคุณทะนุถนอมดูแลความแตกต่างนี้ และความแตกต่างเหล่านี้จะให้ผลผลิตกับคุณเอง” เตชิตกล่าว

อ่านเรื่องราวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมลงชื่อแสดงพลังของคนธรรมดาที่จะเปลี่ยนโลก ผ่านแคมเปญ ‘Write for Rights เขียน เปลี่ยน โลก’ ได้ที่ www.amnesty.or.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image