52 ปีเส้นทาง (มติชน) เกียรติยศ
อรุณ วัชระสวัสดิ์
เชฟปรุง ‘น้ำจิ้ม’ บนหน้า นสพ.การเมือง
เสียงปรบมือกึกก้องทั่วห้องโถงชั้นล่างของอาคารสำนักงาน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อมี อรุณ วัชระสวัสดิ์ รับมอบโล่รางวัล มติชนเกียรติยศ จากมือ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานเครือ ‘มติชน’ เมื่อ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา
เปิดบันทึกหน้าแรก ด้วยการเป็นบุคคลแรกที่คว้ารางวัลดังกล่าว ในงานประกาศรางวัล มติชนอวอร์ด 2024 ก่อนกล่าวสปีชแรก ที่กลั่นกรองร้อยเรียงประวัติศาสตร์ของชีวิตตนเองอันไม่อาจแยกออกได้จากประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย ไม่ว่าในฐานะการ์ตูนนิสต์ นักหนังสือพิมพ์ ศิลปินผู้สรรค์สร้างงานศิลปะสะท้อนการเมืองในหลากเหตุการณ์ร่วมสมัย
ตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านพ้น แม้โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน เทคนิคการบรรเลงเส้นสายเปลี่ยน แต่ ‘จุดยืน’ ทางความคิดของ อรุณ ไม่เคยเปลี่ยน
ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน คือ หมุดหมายและหลักไมค์ที่ปักแน่นในใจของปูชนียบุคคลผู้นี้
และนี่คือสุนทรพจน์ ‘ฉบับเต็ม’ ของ อรุณ วัชระสวัสดิ์ ในวาระสำคัญนี้
‘ผมขอยืนยัน ไม่คิดอยากทำอย่างอื่น’
เมื่อเจอแรงบันดาลจาก ประยูร จรรยาวงษ์
ผมเขียนการ์ตูนมา 50 ปี ตกใจมาก ว่าผ่านมานานเหลือเกิน นับตั้งแต่การตีพิมพ์ผลงานครั้งนี้ ผมอยากจะบอกว่ามาได้อย่างไร และอยากจะขอบคุณทุกท่านที่ช่วยให้ผมมาถึงจุดนี้
ผมเริ่มเขียนการ์ตูนเมื่อ 52 ปีที่แล้ว นานมาก ตอนนั้นอายุ 25 เรียนอยู่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนความคิดที่ว่าจะเป็นนักเขียนการ์ตูนเมื่อไหร่นั้น ก็เริ่มจากตอนเด็กๆ ที่ชอบวาดตามหนังสือนิยายภาพ ส่วนมากจะเป็นหนังสือฝรั่ง
ผมเป็นคนต่างจังหวัด อยู่สุราษฎร์ธานี ตอนชั้นประถมศึกษาก็หัดเขียน หัดวาดการ์ตูนมานับตั้งแต่นั้น
ส่วนที่อยากเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมืองก็เริ่มเมื่อตอนเข้ากรุงเทพฯ เรียนหนังสือที่เพาะช่าง ต้องขอขอบคุณประยูร จรรยาวงษ์ เป็นท่านแรกที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ให้อยากเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมืองนับจากนั้นตลอดมา ไม่คิดอยากจะทำอย่างอื่นเลย ผมขอยืนยัน
‘มันเป็นไปได้อย่างไร’ ครั้งแรกก็ได้ลง ‘สยามรัฐ’
เปรียบนักมวยใหม่ขึ้นเวทีราชดำเนิน
หนังสือพิมพ์สยามรัฐเป็นหนังสือพิมพ์ที่นิยมมากสำหรับคอการเมือง เป็นหนังสือพิมพ์ที่รวบรวมนักเขียนเก่งๆ จำนวนมาก ก็เป็นหนังสือแนวเดียวกันกับมติชนที่เป็นอยู่แบบนี้ ที่ได้เสนอความคิดผ่านเนื้อเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมเป็นหลัก
มีอยู่วันหนึ่งผมอยากเป็นนักเขียนหนังสือการ์ตูนการเมือง จึงเขียนหนังสือการ์ตูนการเมืองตัวอย่างขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ชื่อ ‘ม้าหิน-จอมปลวก’ ซึ่งต่อมาตัวการ์ตูน ‘หัวจุก’ ก็ได้มาเป็นแมสคอตของประชาชาติและมติชน ผมส่งผลงานที่เป็นตัวอย่างชิ้นนั้นทางไปรษณีย์ไปให้ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ตอนนั้นที่ทำงานอยู่กับ ขรรค์ชัย บุนปาน ที่สยามรัฐ ไม่นานก็ได้พิมพ์การ์ตูนการเมืองลงในหนังสือพิมพ์ครั้งแรก ซึ่งเป็นเรื่องราวเมื่อ 50 ปีมาแล้ว
ตอนนั้นถ้าเปรียบเป็นนักมวย ก็คงเป็นนักมวยที่ไม่เคยขึ้นเวทีที่ไหน แต่ผมขึ้นเวทีครั้งแรกคงเป็นราชดำเนินเลย มันเป็นไปได้อย่างไร แต่ไม่นานจากนั้นเขาก็ให้ผมออกจากการวาด โดยให้เหตุผลว่า ผมเป็นพวกเดียวกับสุจิตต์ กับ ขรรค์ชัย ซึ่งอาจจะเพราะเขาไม่ชอบงานของผมก็ได้
ความรู้จากวงเหล้า ฟังข่าว สมองคิด
‘เป็นการ์ตูนตลอดเวลา’
ต่อมา เมื่อท่านตั้งโรงพิมพ์พิฆเณศ ก็ได้มาช่วยออกแบบปก ทำให้ผมมีความรู้เรื่องการพิมพ์การออกแบบ และทำให้เจอเพื่อนรักจนมาถึงทุกวันนี้ ทำให้ได้มีความรู้ทางวิชาการ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี การเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยสนใจเลยก่อนหน้านั้น
เรื่องมีอยู่ว่า คุณสุจิตต์จะพาผมไปตั้งวงกินเหล้ากับนักวิชาการ นักคิดนักเขียนหลายท่าน ใกล้ๆ โรงพิมพ์ จนได้รับฟังทุกวันๆ ทำให้มีความรู้มากขึ้นจากวงสนทนานั้น โดยไม่จำเป็นต้องไปเรียนที่ไหนเลย
ต่อมาอีกไม่นาน คุณสุจิตต์ กับ คุณขรรค์ชัย เปิดหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งผมเห็นว่าความตั้งใจของพี่ทั้งสอง คือ การทำหนังสือพิมพ์รายวันในอุดมคติสักฉบับ โดยมีโรงพิมพ์พิฆเณศเป็นจุดเริ่มต้น
ถ้ามีเสาเข็มคงเป็นโรงพิมพ์พิฆเณศ และประชาชาติเป็นเสาหลัก การทำงานที่ประชาชาตินี่เองทำให้ได้เขียนการ์ตูนการเมืองทุกวัน แล้วก็รู้สึกว่ามั่นคงครั้งแรก
ประชาชาติสมัยนั้น มันเป็นเหมือนการรวบรวมม้าป่าที่ต้องไปรบจำนวนมาก ปกครองยาก แต่ก็สนุก กลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น
เวลาผมฟังใครพูด หรือ อ่านข่าว ในสมองส่วนหนึ่งจะคิดเป็นรูปการ์ตูนตลอดเวลา

สุจิตต์ ขรรค์ชัย สุทธิชัย สร้างให้มีชื่อ
‘ถ้าท่านไม่สร้างขึ้นมา อาจไม่ได้มีนักวาดการ์ตูนชื่อ อรุณ วัชระสวัสดิ์’
ผมเขียนการ์ตูนอยู่ประชาชาติได้ไม่นาน หนังสือพิมพ์ก็โดนปิด พอโดนปิด ทุกคนก็ไม่มีงานกันหมด พอดีตอนนั้น สุทธิชัย หยุ่น เดอะ เนชั่น เรียกไปคุยด้วย
การเขียนการ์ตูนการเมืองที่เนชั่นเป็นการเขียนที่ยากที่สุดในชีวิต เพราะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ผมไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้
ลองนึกภาพดูว่า ต้องเขียนในหนังสือที่อ่านไม่รู้เรื่อง แล้วเพื่อนฝูงในที่ทำงานก็พูดภาษาอังกฤษกัน ด้วยความที่ผมไม่ได้สนใจเรื่องภาษา ผมก็เลยเขียนเป็นการตูนใบ้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเขียนหนังสือ ทำให้ผมต้องใช้ความคิดหนักมากในการทำให้คนเข้าใจการ์ตูนที่ผมเขียน โดยไม่ต้องใช้การเขียนข้อความซึ่งยากมาก
แต่สิ่งนี้ก็มีประโยชน์ ทำให้ผมเขียนหนังสือการ์ตูนได้โดยที่ไม่ต้องเขียนคำบรรยาย และทำให้ผมเป็นคนที่เขียนการ์ตูนแบบที่มีคำบรรยายไม่เป็น ก็มีทั้งเสียและไม่เสีย
ตอนที่ทำอยู่ที่เดอะ เนชั่น เขาเปิดหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เขาชวนผมไปเขียนการ์ตูน เขาเปิดหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ผมก็เขียนวันละ 3 ชิ้น คนละเรื่องไม่ซ้ำกัน
สิ่งที่ได้จากตอนทำให้เนชั่น ทำให้รู้ว่านักเขียนอยู่ต่างประเทศเขาคิดกันอย่างไร เขียนกันอย่างไร สมัยนั้นเขามักจะมีการ์ตูนการเมืองหลากหลายสไตล์ หลากหลายเทคนิค หลากหลายความคิด ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีคิด และข่าวสารต่างประเทศมากมายด้วย เรียกได้ว่า คุณสุทธิชัย ได้ชี้แนะแบบที่ไม่มีสถาบันไหนสอนให้เขียนการ์ตูนการเมืองเลย
สิ่งที่เล่ามาทั้งหมด อยากจะบอกว่าท่านทั้งสามคน สุจิตต์ ขรรค์ชัย สุทธิชัย สร้างให้มีชื่ออรุณถึงทุกวันนี้ ถ้าท่านไม่สร้างขึ้นมาก็อาจจะไม่ได้มีนักวาดการ์ตูนชื่อ อรุณ วัชระสวัสดิ์ มายืนอยู่ตรงนี้ ขอขอบพระคุณท่านทั้งสามคน
เพียง ‘น้ำจิ้ม’ บนโต๊ะอาหาร
ขอบคุณภัตตาคารชื่อ ‘มติชน’ ขึ้นป้าย ‘ร้านนี้น้ำจิ้มอร่อย’
การที่ผมได้รับรางวัลในครั้งนี้ทำให้รู้สึกแปลกใจมาก แปลกใจตั้งแต่ที่ได้คว้ารางวัลศรีบูรพา ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมวรรณกรรม หรือ สังคมศิลปะ ไม่เคยมองเห็นความสำคัญของงานวาดการ์ตูนเลย จึงแปลกใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้
ในความรู้สึกของผมคิดว่า ทุกคนคงคิดว่าการ์ตูนมีแต่เรื่องตลกขบขัน ไร้สาระ โดยที่ไม่รู้ว่าเราก็มีสติปัญญา ความคิด ความรู้สึกต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ เพียงแต่เราสะท้อนความคิดออกมาเป็นภาพเท่านั้น ผมมาวันนี้อยากจะบอกว่าพวกเราเป็นศิลปินเหมือนกันเพียงแต่ทำงานคนละแขนงกับท่าน
ตลอดเวลาที่ทำการ์ตูนการเมืองมา มันเหมือนน้ำจิ้มถ้วยหนึ่งบนโต๊ะอาหารซึ่งมีอาหารที่อร่อยและมีคุณภาพบนภัตตาคาร ยิ่งหนังสือพิมพ์มติชนแล้วนั้น สร้างสรรค์อาหารที่ปรุงโดยเชฟชั้นดี งานวาดของผมเป็นเพียงน้ำจิ้มเพื่อปรุงให้รสอาหารเหล่านั้นมีรสชาติขึ้น ผมคิดอย่างนั้นจริงๆ
วันนี้ผมก็อดดีใจไม่ได้ ที่เจ้าของภัตตาคารได้ขึ้นป้ายใหญ่ที่หน้าร้านว่า ร้านนี้มีน้ำจิ้มอร่อย ซึ่งต้องขอขอบคุณที่เห็นคุณค่า
น้ำจิ้ม หมายถึง การ์ตูนการเมือง ที่สังคมยังคงมึนงงในการจัดประเภทว่าจะเป็นอะไร ศิลปะก็ไม่ใช่ กวีก็ไม่ใช่ วรรณกรรมก็ไม่เชิง ความมึนงงเหล่านี้ทำให้ศิลปินวาดการ์ตูนถูกสังคมมองข้ามมาตลอด จนล้มหายตายจากไปตามๆ กัน
ทุกวันนี้เหลือนักวาดน้อยเต็มที หรือใกล้จะสูญพันธุ์ แต่วันนี้ผมต้องขอขอบคุณแทนนักเขียนการ์ตูนทุกท่าน ที่ถูกเห็นถึงคุณค่า
ภูษิต ภูมีคำ – เรื่อง
วรวิทย์ พานิชนันท์ – ภาพ