การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี
พิมพ์ครั้งที่ 16
กลับมาอีกครั้ง สำหรับอีกหนึ่งผลงานอมตะของ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักปราชญ์ผู้ล่วงลับ
การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 16 โดย สำนักพิมพ์มติชน
ปัดฝุ่นต้นฉบับระดับขึ้นหิ้งของวงการออกมาเผยแพร่ให้สังคมได้ร่วมขบคิดไปกับบทวิเคราะห์อันลุ่มลึกของนักประวัติศาสตร์ชื่อดังที่มีกระแสตอบรับอย่างท่วมท้นเสมอมา ทั้งแวดวงวิชาการและผู้อ่านเพื่อประดับความรู้
เปิดข้อมูลที่เผยให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ย่อมมีหลากหลายแง่มุมปะปนคละเคล้า
เมื่อพระราชประวัติและวีรกรรมของพระองค์ทรงยิ่งใหญ่ จึงเป็นเหตุให้มีผู้แต่งเติม เสริมต่อเรื่องราวออกไปดุจ ‘นิยาย’ ทว่าแท้จริงแล้ว สาระสำคัญของพระราชประวัตินั้นอาจไม่มากนัก และหลากหลายเรื่องราวยังคงเป็นปริศนาแฝงด้วยเงื่อนงำ ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และหลักฐานชิ้นใดจะสนับสนุนเรื่องราวที่เล่าขานสืบต่อกัน
ว่าแล้ว มาสำรวจโลกทัศน์ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ผ่านการพลิกอ่านและสืบค้นเรื่องราวของ ‘พระเจ้าตาก’ ไขคำตอบและคลี่คลายปริศนาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของพระองค์ ผ่าน 4 บทสำคัญ 632 หน้า
ดังนี้
บทที่ 1 การสลายตัวของราชอาณาจักรอยุธยา
บทที่ 2 การรื้อฟื้นราชอาณาจักรอยุธยาด้วยการเมืองแบบชุมนุม (พ.ศ.2309-2314)
บทที่ 3 ราชอาณาจักรอยุธยาในการเมืองแบบชุมนุม (พ.ศ.2310-2317)
บทที่ 4 การสลายตัวของการเมืองแบบชุมนุมศึกอะแซหวุนกี้และผลกระทบต่อการเมืองภายใน
หนึ่งในปริศนาที่นักประวัติศาสตร์ชวนร่วมถกคือ แท้จริงแล้ว ‘พระเจ้ากรุงธนบุรี’ เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร เมืองสำคัญในประวัติศาสตร์จริงหรือไม่ ?
หนังสือพระราชพงศาวดารไทยกล่าวถึงการรบของพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้นพม่ายกเข้าล้อมพระนครไว้ถึง 2-3 แห่ง นับเป็นเรื่องประหลาดที่พระราชพงศาวดารจะบันทึกการรบของนายทหารชั้นผู้น้อยอย่าง ‘พระยาตาก’ แต่ความจริง พระราชพงศาวดารอยุธยาตอนปลาย ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นการทราบทั่วกันว่า ‘พระยาตาก’ เป็นบุคคลสำคัญในเวลาถัดมา
ความสามารถในการรบของพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อก่อนกรุงแตก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่าเหตุให้ได้รับพระราชทานตำแหน่งและยศศักดิ์เพิ่มขึ้นจนได้เป็น ‘พระยากำแพงเพชร’ แท้ที่จริงแล้วสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็อาศัยเรื่องที่เล่ากันมานานแล้วว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเคยได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองกำแพงเพชร
เนื่องจากมีหลักฐานชั้นรองที่เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า ‘พระยาวชิรปราการ’ ราชทินนามจากพระภิกษุผู้หนึ่งได้ถวายเทศน์จุลยุทธการวงศ์ในรัชกาลที่ 2 และเนื้อความส่วนหนึ่งเรียกเมืองกำแพงเพชรในภาษาบาลีว่า ‘วชิรปาการ’ ส่งผลให้หลังจากนั้นก็มีผู้ใช้ราชทินนามนี้เรียกว่าพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังเช่น ม.จ.พระประภากรบวรสุทธิวงศ์, กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ความเชื่อว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองกำแพงเพชรนี้ เกิดจากการอ่านข้อความที่ค่อนข้างคลุมเครือในงานนิพนธ์ภาษาบาลีของพระวันรัต วัดพระเชตุพน เรื่อง ‘สังคีติยวงศ์’ เนื่องจากพระวันรัตได้อ้างถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นภาษาบาลีว่า ‘วชิรปาการราชา’ หรือ ‘วชิรปาการรญฺญา’ แต่ท่านก็มิได้กล่าวในเนื้อความว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่เพียงเรียกก๊กของพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าดังนี้เท่านั้น
ครั้นเมื่อตรวจสอบด้วยหลักฐานร่วมสมัยแล้ว ไม่ปรากฏในหลักฐานชิ้นใดว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยได้ดำรงตำแหน่งสูงถึงเจ้าเมืองกำแพงเพชร เพราะกำแพงเพชรเคยเป็นหัวเมืองสำคัญของสุโขทัย และเมื่ออยุธยาแยกจากสุโขทัย ก็ได้ยกกำแพงเพชรไว้เป็นเมืองหลวงคู่กับพิษณุโลก และภายหลังได้มีการจัดอันดับของเมืองออกเป็น เมืองเอก เมืองโท และเมืองตรี ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ลูกจีนพ่อค้าเกวียนจะได้รับพระราชทานตำแหน่งพระยากำแพงเพชรโดยง่ายเช่นนั้น และจากการพิจารณาผ่านหลักฐานทั้งหลาย เท่าที่พบในปัจจุบันก็อาจสรุปได้ว่า ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือชิ้นใด ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองกำแพงเพชร ในทางตรงกันข้ามหลักฐานชั้นต้นส่วนใหญ่เรียกพระองค์ว่า ‘พระยาตาก’ ตลอดมา มีฐานะเพียงขุนนางหัวเมืองระดับน้อย ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการสงครามเท่านั้น
ยังมีปริศนาอีกมากมาย ที่ชวนให้ค้นหา พร้อม ‘คิดต่อ’ จากข้อมูลและบทวิเคราะห์ทรงพลัง จากเล่มที่อ่านกี่ครั้งก็ยังไม่รู้เบื่อ
ติดตามทุกช่องทางของสำนักพิมพ์มติชนที่
Line : @matichonbook
Youtube : Matichon Book
Tiktok : @matichonbook
Twitter : matichonbooks
Instagram : matichonbook
โทร. 0-2589-0020 ต่อ 3350-3360
‘หนังสือขายดีที่ประสบความล้มเหลวเมื่อพิมพ์ครั้งแรก’
ย้อนอ่าน คำนำ (เมื่อพิมพ์ครั้งที่สอง)
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือขายดีที่ประสบความล้มเหลวเมื่อพิมพ์ครั้งแรกในต้นปี พ.ศ.2539 นั้นจำหน่ายหมดลงอย่างรวดเร็วจนต้องพิมพ์เพิ่มอีกในเวลาอันสั้น แต่ความสำเร็จของหนังสือไม่ได้อยู่ที่ตลาดเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะหนังสือทางวิชาการเช่นหนังสือเล่มนี้ ยังควรต้องมีผลกระทบต่องานศึกษาเรื่องเดียวกันที่ติดตามมาบ้าง ไม่ในทางลบก็ทางบวก
หากทว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีผลกระทบอะไรแก่ใครเลย มีผู้เขียนบทความหรือหนังสือที่เกี่ยวพันไปถึงเรื่องในสมัยพระเจ้าตากสินอีกมากหลังจากที่หนังสือเล่มนี้ได้พิมพ์ออกมาแล้ว แต่ไม่มีงานของผู้ใดอ้างถึงหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะเพื่อปฏิเสธหรือเพื่อยืนยันข้อมูลหรือการตีความของหนังสือเล่มนี้เลย
อะไรที่เคยพูดกันมาในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาอย่างไร ทุกคนก็ยังพูดเหมือนเก่าทุกอย่าง ประหนึ่งว่าหนังสือเล่มนี้ไม่เคยปรากฏขึ้นในโลกนี้
ฉะนั้นเมื่อคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ บอกว่าจะพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นใหม่หลังจากขาดตลาดไปนานแล้ว ข้าพเจ้าก็ยินดีเหมือนอย่างนักเรียนทั่วไปคงยินดี แต่ก็รู้ดีว่าผลกระทบทางด้านความคิดนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงเพราะจำนวนและความแพร่หลาย มีปมบางอย่างในกระแสความคิดของคนทุกสังคมซึ่งต่อต้านข้อมูลและมุมมองใหม่
ในความจดจำเกี่ยวกับอดีตของทุกสังคม ล้วนมีจุดที่เป็นเหมือน ‘ปม’ คือเป็นจุดซึ่งร้อยรัดเส้นเชือกของความคิดจำนวนมากที่พุ่งมาจากทั่วทุกสารทิศ ให้มารวมกันเพื่อสานต่อเป็นตาข่ายแห่งความทรงจำที่ครอบคลุมเวลาจากอดีตถึงปัจจุบันและอนาคต
เส้นเชือกที่จะมาสานกันเป็นปมได้นั้นมีที่มาทั้งจากข้อมูลจริงซึ่งปรากฏในหลักฐานที่อาจพิสูจน์ความแม่นยำได้ และทั้งจากข้อมูลเชิงนิยาย นิทานที่ไม่อาจพิสูจน์ได้หรือแม้แต่ขัดแย้งกับข้อมูลเชิงประจักษ์
ปมดังกล่าวจึงต้องมีธรรมชาติที่ต่อต้านข้อมูลและมุมมองใหม่เสมอ เพราะการทำลายปมประวัติศาสตร์แต่ละปม ย่อมหมายถึงการที่ต้องถักทอตาข่ายแห่งความทรงจำใหม่ ซึ่งครอบคลุมไม่แต่เฉพาะเวลาในอดีตเท่านั้น หากรวมถึงเวลาของปัจจุบันและอนาคตด้วย
ตาข่ายแห่งความทรงจำครอบคลุมเวลา แต่เป็นฐานให้แก่ความเป็นจริงในปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคต ฉะนั้นการถักทอตาข่ายแห่งความทรงจำใหม่จึงเป็นความเจ็บปวดในทุกสังคม
แม้กระนั้นก็เป็นความจำเป็น เพราะไม่มีสังคมใดสามารถเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชั่วนาตาปีได้ด้วยความทรงจำที่ไม่ทำให้ตนเองพร้อมจะเผชิญกับปัจจุบันและเข้าใจปัจจุบันได้จริง
หนังสือเล่มนี้สร้างความเจ็บปวด อาจมีผู้ซื้อและอ่านอีกมาก แต่ก็คงไม่ปรากฏในงานศึกษาของผู้อื่น มากไปกว่าอาภรณ์
ของบรรณานุกรม ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ไม่ซึมเข้าไปท้าทายสำนึกของผู้คนที่ห่อหุ้มตัวไว้ด้วยตาข่ายแห่งความทรงจำซึ่งรับสืบทอดมาในรอบ 100 ปีนี้ ตราบจนกว่าคนไทยจะเริ่มรู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ทำให้ตาข่ายแห่งความทรงจำของตนยังไม่สามารถครอบคลุมเวลาของปัจจุบันและอนาคตได้เสียแล้ว ถึงตอนนั้นคนไทยก็จะต้องรื้อปมประวัติศาสตร์ต่างๆ เพื่อถักทอตาข่ายแห่งความทรงจำขึ้นใหม่
เมื่อเขียนงานชิ้นนี้ในครั้งแรก ข้าพเจ้ารู้สึกว่าคำที่คนทั่วไปเรียกพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวของกรุงธนบุรีว่าพระเจ้าตากสินนั้น ดูเป็นการอาจเอื้อมเกินไปที่เอาพระนามจริงมาเรียกเป็นธรรมเนียมที่จะเอ่ยพระนามพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยาทุกพระองค์สืบมาจนถึงรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยพระสมัญญานาม หรือพระนามที่ปรากฏในพระสุพรรณบัฏ พระเจ้าตากสินจึงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ถูกประชาชนเรียกขานด้วยพระนามจริง เหตุดังนั้นข้าพเจ้ายืนยันที่จะเอ่ยถึงพระองค์ว่า ‘พระเจ้ากรุงธนบุรี’
แต่ในบัดนี้ ข้าพเจ้ากลับรู้สึกว่า การที่พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดียวที่ประชาชนเรียกขานด้วยพระนามจริงนั้นนับเป็นพระเกียรติที่คนไทยถวายแก่พระองค์ท่านอย่างที่ไม่เคยถวายแก่พระมหากษัตริย์พระองค์ใดเลย อีกทั้งการเรียกขานเช่นนี้ก็สมควรแก่บทบาททางการเมืองของพระเจ้าตากสินที่ดำรงในฐานะของหัวหน้าชุมนุมตลอดรัชกาลอีกด้วย หากข้าพเจ้าทำได้ข้าพเจ้าอยากจะแก้พระนามของพระองค์ในหนังสือเล่มนี้เป็นพระเจ้าตากสินให้หมด แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจไม่ทำ เพราะเกรงว่าหากแก้ไขตกหล่นไว้ในที่ใดก็จะเกิดความลักลั่นขึ้นโดยไม่จำเป็น
ตั้งแต่ได้พิมพ์หนังสือนี้แล้ว ข้าพเจ้าได้พบข้อมูลอีกบางอย่างที่ช่วยเสริมเนื้อความในหนังสือนี้ได้ดี รวมทั้งได้รับความกรุณาจากเพื่อนบางคนได้บอกข้อมูลที่ข้าพเจ้าไม่ทราบมาก่อนด้วย จึงได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้แก้ไขปรับปรุงหนังสือนี้ขึ้นใหม่ในบางตอน
ข้าพเจ้าได้ระบุชื่อเพื่อนที่ได้กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ในหนังสือนี้แล้ว และขอแสดงความขอบพระคุณอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ด้วย
ในท้ายที่สุด ขอขอบพระคุณคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งได้เห็นคุณค่าของงานชิ้นนี้และให้กำลังใจในการเขียนมาแต่ต้น ตลอดจนเสี่ยงในทางธุรกิจที่พิมพ์งานทางวิชาการเล่มใหญ่ขนาดนี้ออกจำหน่ายในครั้งแรก แม้ฉบับพิมพ์ครั้งที่สองนี้ก็ปรากฏขึ้นได้ด้วยความอนุเคราะห์ของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ โดยแท้
นิธิ เอียวศรีวงศ์
วันเข้าพรรษา, 2534