จากฮาร์วาร์ด ถึงป้อมมหากาฬ เปิดใจศาสตราจารย์ ไมเคิล เฮิร์ซเฟล “เมืองเก่าไม่มีคน ก็ไม่มีความหมาย”

“กทม.ไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องวิถีชีวิต”

ประโยคสั้นๆ จากปากชายชาวต่างชาติในกลุ่มผู้ฟังการเจรจาระหว่างชาวป้อมมหากาฬ นักวิชาการ กทม. และทหารในวันรื้อถอนบ้านเรือนระลอกล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้วงสนทนาต้องหันมอง

นี่อาจเป็นเพียงประโยคบอกเล่าธรรมดาๆ หากชายคนดังกล่าว ไม่ใช่ ไมเคิล เฮิร์ซเฟล ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ คณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา สถาบันการศึกษาที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ที่สำคัญยังเป็นผู้ลงพื้นที่ศึกษาชุมชนป้อมมหากาฬมานานกว่า 13 ปี

มีข้อมูลในเชิงวิชาการแน่นปึ๊ก ทั้งในมุมของชุมชน และหน่วยงานภาครัฐอย่างกรุงเทพมหานคร

ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เขาให้สัมภาษณ์สื่อดังอย่าง “นิวยอร์กไทม์ส” ว่าการดำเนินการของ กทม.เป็นไปภายใต้โมเดลความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่ปราศจากผู้คน โดยหลงลืมว่าเมืองมีไว้เพื่ออะไร ทั้งยังอยู่กับโลกจินตนาการของชนชั้นกลางที่ทำได้ยากในโลก ความจริง

Advertisement

ก่อนจะมาปรากฏตัวในวงเจรจาดังกล่าวในฐานะผู้สังเกตการณ์ ที่ออกตัวสนับสนุนชุมชนป้อมมหากาฬโดยยืนพื้นฐานของหลักวิชาการ

ต่อไปนี้คือความคิดเห็นในประเด็นร้อนแรงแห่งเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ แม้ทุกฝ่ายจะยืนยันว่าพร้อมเปิดใจเจรจา

-จากการศึกษาชุมชนป้อมมหากาฬกว่า 13 ปีที่ผ่านมา มองเห็นพัฒนาการทางความคิดและการต่อสู้ระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายอย่างไรบ้าง

ผมว่าตอนแรกภาครัฐคิดว่าชาวบ้านจะไม่ทัดทานอำนาจของ กทม. เพราะชาวป้อมมหากาฬยากจนมาก แต่มาถึงตอนนี้ก็ 25 ปีแล้วจากวันที่เริ่มต่อสู้กัน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบอกเสมอว่าต้องการประนีประนอมกับ กทม. เขาไม่ได้อยากละเมิดกฎหมาย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ตอนที่ผมเข้าไปพูดคุยกับประธานชุมชน เขายังบอกว่า ผมจะต้องไปคุยกับเจ้าหน้าที่ กทม.ด้วย

Advertisement

ที่ผ่านมาชาวบ้านแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความสามารถที่จะสร้างอะไรร่วมกันได้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ชุมชนอื่นๆ จะเลียนแบบ ไม่เฉพาะที่เมืองไทย ที่ต่างประเทศด้วย แต่อาจจะเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่บางคนกลัว เพราะเขาบอกว่า ถ้าชาวบ้านป้อมมหากาฬประสบความสำเร็จ จะเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นๆ

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงนิดหน่อยคือ มีคนที่ท้อใจออกจากชุมชนไปแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่กดดันและมีปัญหาเรื่องของสิทธิการอยู่อาศัย

ปัญหาแบบนี้ ไม่ได้มีเฉพาะกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ประเทศไทย เป็นปัญหาที่มีอยู่ทั่วโลก แต่บางประเทศมีนโยบายที่เข้าใจค่าของคนทุกคน ในขณะที่ กทม.ไม่มีพื้นที่สำหรับทุกคน ใครจะไปไหนก็ได้ เขาไม่สนใจ โครงการเมื่อหลายปีก่อน ให้ชาวป้อมมหากาฬย้ายไปอยู่ที่มีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีโรงเรียน ชาวบ้านทำงานอะไรไม่ได้ มาตอนนี้ กทม.บอก ถ้าย้ายไปจะช่วยขนของ นี่ไม่พอ ไม่ใช่โครงการที่ใช้ได้

– มองว่าอะไรคือข้อจำกัดของ กทม. ในการเปิดทางให้ชุมชนอยู่ต่อ

ในฐานะที่เป็นนักมานุษยวิทยา ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจปัญหาของ กทม.ด้วย กทม.เป็นข้าราชการ เป็นคนเหมือนกัน เขากลัวคนที่อยู่ระดับสูงกว่า ผมแน่ใจว่าบางคนใจดี แต่ไม่กล้าเสี่ยงทำอะไร ผมรู้จักคนแบบนั้น แต่มีบางคนที่กลัวละเมิดกฎหมาย เอากฎหมายมาอ้างตลอด เพราะคิดว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่นักมานุษยวิทยาเราศึกษากฎหมายและบริบทของสังคม เรารู้แล้วว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามตัวอักษร สิ่งที่สำคัญคือทุกคนใช้กฎหมายอย่างไร เพราะฉะนั้นกรณีของป้อมมหากาฬ ผมคิดว่าถ้ามีเจตนาที่ดี สามารถเปลี่ยนวิธีการทางกฎหมายได้ ถ้ารัฐบาลชุดนี้สนใจทบทวนกฎหมาย ผมแน่ใจว่าทำได้ ในช่วงที่คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกทม. ผมก็เคยคุยกับนักกฎหมาย แล้วก็เห็นแนวทางว่าจะทำยังไง

– มองอย่างไรต่อภาพรวมของการดูแลมรดกทางวัฒนธรรมในไทย ไม่ใช่เฉพาะกรณี กทม.กับป้อมมหากาฬ

ข้าราชการทุกประเทศ ไม่เฉพาะเมืองไทย เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งบางครั้งเป็นปัญหาเพราะเขาไม่เข้าใจคนยากจน ผมมีความรู้สึกว่าเขาดูถูกชาวบ้าน ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯกทม. ซึ่งเป็นไปไม่ได้ (หัวเราะ) จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ กทม.ต้องเข้าไปอยู่ในชุมชนสัก 2-3 เดือน เพื่อให้เห็นปัญหาในชีวิตประจำวันของคนยากจนว่าเป็นอย่างไร ถ้าเขามีประสบการณ์แบบนี้ จะเริ่มเข้าใจและนับถือชาวบ้าน

ความตึงเครียดระหว่างชนชั้นทางสังคมที่ต่างกันเป็นปัญหาที่มีทั่วโลก ไม่เฉพาะที่เมืองไทย แต่คนที่โชคดี มีเงิน อยู่อย่างสบาย ควรช่วยคนที่ยากจนกว่า อย่างชาวบ้านป้อมมหากาฬ ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ยากจนจริงๆ ผมเห็นป้ายสุภาษิตในบ้านหลังหนึ่งที่สะท้อนทัศนคติของเขา คือข้อความว่า บ้านนี้โคตรรวย (ยิ้ม)

– สถานการณ์ทางการเมืองไทยในขณะนี้มีส่วนผลักดันให้การดำเนินการไล่รื้อรวดเร็วขึ้นหรือไม่ หลังจากต่อสู้ได้นานถึง 25 ปี

ผมเป็นคนต่างชาติ เป็นผู้สังเกตการณ์ที่มาจากข้างนอก เพราะฉะนั้นบางคนคิดว่าไม่มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทย แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของไทยเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่คนต่างชาติจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวธรรมดาหรืออาจารย์ที่มีความรู้พิเศษสนใจมานานแล้ว ที่สำคัญที่สุด ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เปลี่ยนมุมมองและนโยบาย ประเทศไทยจะเสียโอกาส โดยทำลายส่วนหลักของประวัติศาสตร์ไป

– กรณีศึกษาต่างประเทศ มีการแก้ไขปัญหาลักษณะนี้อย่างไร

ก็แล้วแต่ประเทศ ผมทำวิจัยแบบนี้ที่ประเทศกรีซและอิตาลี ในอิตาลีไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเจ้าของบ้านส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ ซึ่งทุกคนมองผลประโยชน์ของบริษัท มีมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล คนพวกนี้เป็นเจ้าของบ้าน คนส่วนใหญ่เช่าบ้านอยู่ จึงไม่สามารถทัดทานอำนาจของคนเหล่านี้

สำหรับกรีซก็แล้วแต่ว่าเมืองไหน ผมทำวิจัยในเมืองเล็กๆ ที่เกาะครีต ผู้คนอยู่ในบ้านที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเหมือนกับกรณีป้อมมหากาฬในแง่ที่เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมของอาณาจักรเวนิส แต่พวกเขาเป็นเจ้าของบ้านเอง และรู้สึกภูมิใจมาก มีรายได้เยอะจากการท่องเที่ยว นี่เป็นตัวอย่างที่ กทม.สามารถเลียนแบบได้ ชาวป้อมมหากาฬไม่ได้ขอเป็นเจ้าของพื้นที่ เขาเข้าใจอย่างชัดเจนว่าไม่มีทางเป็นไปได้ แค่อยากมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยต่อไป

– เห็นด้วยหรือไม่ที่มีนักวิชาการไทยบอกว่า ถ้า กทม.ทำลายชุมชนป้อมมหากาฬ จะเป็นการทำลายประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ด้วย

ใช่ เพราะประวัติศาสตร์ของประเทศ ไม่ได้ประกอบด้วยวัดกับวังเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยบ้านเรือนของคนธรรมดา ซึ่งหายไปเยอะแล้ว และสร้างใหม่ไม่ได้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ กทม.จะต้องพิจารณา กทม.บอกว่าชาวบ้านไม่มีประวัติศาสตร์ แต่ประวัติความเป็นมาของชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งชาติด้วย และประวัติศาสตร์จะประเมินเจ้าหน้าที่ที่พยายามทำลายวิถีชีวิตของผู้คน

– ถ้าอย่างนั้นอนุรักษ์บ้านโบราณบางหลังโดยไม่ต้องมีคนอยู่ได้หรือไม่

เมืองเก่าที่ไม่มีคน ไม่มีชุมชน ก็ไม่มีความหมาย จะเป็นสวนสาธารณะ มียาม มีคนทำงาน แต่ถ้าไม่มีผู้อยู่อาศัยที่จะรู้จัก ที่รักบ้านหลังนั้น รักพื้นที่ของเขา ก็ไม่มีความหมายเหมือนกัน ผมแน่ใจว่ามีนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยเพื่อช้อปปิ้ง ไม่สนใจเมืองเก่า แต่มีนักท่องเที่ยวมากมายที่อยากเห็นวิถีชีวิตของคนไทยว่าเป็นอย่างไร ผมไม่อยากให้พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเป็นพิพิธภัณฑ์แบบที่คนจะไปเยี่ยม แล้วให้คนเป็นตุ๊กตาในพิพิธภัณฑ์ แต่ควรจะมีวิถีชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติ

– แต่กทม.บอกว่ามีข้อมูลที่ชี้ชัดได้ว่าคนในชุมชนป้อมมหากาฬจำนวนมากเพิ่งย้ายมาจากที่อื่น

อันนี้ผมไม่ปฏิเสธนะ การที่ กทม.บอกว่าคนพวกนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่ลูกหลานของผู้อยู่อาศัยเดิมก็เป็นความจริง แต่การที่เขาเป็นคนที่มาอยู่ในบ้านของผู้อยู่อาศัยเดิม เขาก็รักษาศาลของเขา ซึ่งเป็นประเพณีไทยเก่ามาก แสดงให้เห็นว่าเขาสนใจ แต่ถ้า กทม.เอาพื้นที่ไปแล้วทำลายศาลที่มีอยู่ ถามว่าใครแสดงความสนใจกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่มากกว่ากัน กทม.หรือชาวบ้าน?

การที่คนกลุ่มนี้มาจากข้างนอก ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ใช่ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ประวัติศาสตร์กว่า 20 ปีที่ผ่านมาก็คือการสร้างชุมชนร่วมกัน เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนไทยจะต้องภูมิใจที่มีคนแบบนี้ ที่สามารถสร้างชีวิตของชุมชนได้ โดยไม่รบกวนคนอื่น

– มองสถานการณ์ตอนนี้อย่างไร มีทางออกเสนอหรือไม่

ผมคิดว่าควรทำความเข้าใจความคิดของ กทม. และพูดคุยกับเขา ชาวบ้านอาจบอกว่าเคยพูดคุยกับเจ้าหน้าที่นานมาแล้วซึ่งก็จริง แต่ขณะนี้ เป็นจุดอันตรายที่สุด เพราะ กทม.มาไล่รื้อแล้ว ถ้าประสบความสำเร็จในกรณีป้อมมหากาฬ หลังจากนี้จะทำอะไรก็ได้ ผมคิดว่าเราควรสนับสนุนชาวบ้านที่ป้อมมหากาฬ

มีความเห็นอย่างไรกับตอนนี้ที่มีหลายชุมชนในกรุงเทพฯประสบปัญหาการรื้อถอนบ้านเรือน ไม่ใช่เฉพาะจาก กทม. แต่จากปัจจัยอื่นด้วย เช่น ชุมชนตรอกบวรรังษี และชุมชนริมเจ้าพระยา

อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าผมเป็นที่ปรึกษา กทม. จะบอกว่าต้องคิดใหม่ เพราะถ้าเขาทำโครงการนี้ ผมกลัวว่าในไม่ช้าการท่องเที่ยวที่เมืองไทยจะเริ่มเสีย โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ ผมมั่นใจว่าชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่มาเมืองไทย ไม่สนใจที่จะเห็นอนุสาวรีย์ หรือสวนสาธารณะที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย เขาอยากเห็นวิถีชีวิตของผู้คนในเมือง เพราะฉะนั้น นี่เป็นสิ่งที่ กทม.ต้องเลือก ถ้าเขาไม่คุุยกับนักท่องเที่ยวและนักวิชาการต่างชาติ ก็จะไม่เข้าใจว่ามุมมองของเราเป็นอย่างไรผมเห็นด้วยว่าชุมชนบางแห่งมีปัญหา เพราะฉะนั้น ต้องประเมินแยกกันเป็นกรณีๆ ไป เราไม่สามารถบอกได้ว่าทุกแห่งเหมือนป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นชุมชนที่เรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์โบราณสถาน และแสดงให้เห็นว่าสามารถดูแลรักษาพื้นที่ได้ นี่คือความแตกต่าง ผมสันนิษฐานว่าคนต่างชาติทุกคนที่มาเยี่ยมชุมชนมีความเห็นเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าไล่รื้อทั้งหมด นี่จะเป็นปัญหาใหญ่กับ กทม.เอง

image ไมเคิล เฮิร์ซเฟล

เขาสอนผมถึงความสำคัญของการเป็นมนุษย์

แม้จะเป็นถึงศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ “อาจารย์ไมเคิล” บอกว่า จากการลงพื้นที่วิจัยที่ชุมชนป้อมมหากาฬเมื่อกว่า 13 ปีก่อน ก็ยังคิดว่าตัวเองยังเป็นนักศึกษา โดยเรียนรู้จากชาวบ้าน สิ่งสำคัญคือต้องนับถือคนที่ศึกษา ต้องปกป้องบุคคลเหล่านั้น เช่น ถ้าไม่อยากให้ชื่อปรากฏในงานวิจัย ก็ตกลงทันที ไม่มีปัญหา

“ผมคิดว่าเราไม่สามารถเป็นนักมานุษยวิทยาได้โดยไม่นับถือมนุษย์ นี่เป็นหลักการพื้นฐาน เป็นวิชาการที่มีจริยธรรมสูงมาก”

กระทั่งเมื่อเสร็จสิ้น ได้มีการตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “SIEGE OF THE SPIRITS : Community and Polity in Bangkok” โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยชิคาโก เมื่อปี 2016 บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนป้อมมหากาฬโดยเฉพาะ ไม่มีชื่อชาวบ้านคนใด นอกจากประธานชุมชนเท่านั้น

“จริงๆ แล้วไม่ได้อยากให้หนังสือเป็นเครื่องมือของฝ่ายค้าน เนื้อหาข้างในก็อธิบายสถานการณ์ทั้งหมด โดยสะท้อนมุมมองของเจ้าหน้าที่ กทม.ด้วย เพื่อความยุติธรรม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผมเห็นด้วยกับชาวบ้านมากกว่า” อาจารย์เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังระบุว่าชุมชนป้อมมหากาฬมีคุณค่ามาก โดยเฉพาะด้านการรักษาตัวเองให้มีวินัย ดูแลพื้นที่ที่อาศัยอยู่ และการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน เพราะหากขาดสิ่งนี้ชุมชนจะตายแน่นอน

“ความเป็นชุมชนมีความสำคัญเท่ากับประวัติศาสตร์ เพราะเขาแสดงให้เห็นว่าคนไทยอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น ชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬยังสอนให้ผมรู้ถึงความสำคัญของความเป็นมนุษย์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image