นอกลู่ในทาง : “ท-ท-ท=ทำทันที”คาถาเอาตัวรอดยุคดิจิทัล

วันก่อนมีโอกาสไปร่วมงานเปิดออฟฟิศแห่งใหม่ “PLAYTORIUM” ของบริษัท เอ็มเอฟอีซี จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันดีในแวดวงไอทีในชื่อ “MFEC” การขยับขยายพื้นที่ทำงานเพื่อรองรับบุคลากรที่เพิ่มขึ้นมากก็เรื่องหนึ่ง แต่ออฟฟิศใหม่ของ MFEC ยังตั้งใจออกแบบตกแต่งทุกสิ่งอันให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของทีมงานคนรุ่นใหม่

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดีไซน์พื้นที่ให้เปิดโล่งทันสมัย แบบ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” มีมุมพักผ่อนหย่อนใจให้ทำกิจกรรมต่างๆ มีมุมกาแฟขนาดใหญ่ มีล็อกเกอร์ให้เก็บของใช้ส่วนตัว และจะมาทำงานเมื่อไร

เวลาไหนก็ได้ เปิดตั้งแต่เช้ายันดึกดื่นเที่ยงคืน

เรียกว่าสร้างบรรยากาศปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานอย่างเต็มที่

Advertisement

และตั้งใจยกระดับการทำงานภายใต้แนวคิด “New Office-New Culture” 4 ประการประกอบด้วย 1.ความร่วมมือ (Collaboration) 2.การสื่อสาร (Communication) 3.มุ่งมั่นตั้งใจ (Concentration) และ 4.สบายๆ (Chill out)

ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “MFEC” บอกว่า PLAYTORIUM ถือเป็นสำนักงานสาขาที่ 2 และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนภาพองค์กรที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสอดรับกับทิศทางธุรกิจต่อจากนี้ไปที่จะเน้นการสร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่ร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรธุรกิจ รวมถึงการร่วมลงทุนกับพนักงานที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างธุรกิจ

“20 ปีที่ผ่านมา MFEC ทำแต่ในสิ่งที่เรารู้ แต่จากนี้ต่อไป เราจะทำในสิ่งที่ไม่รู้”

Advertisement

อะไรเป็นปัจจัยให้ต้องลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ไม่รู้?

“ศิริวัฒน์” อธิบายว่า เวลาคนเราถนัดหรือเชี่ยวชาญด้านใด ก็จะทำในสิ่งเดิมๆ ที่คุ้นเคย แต่นวัตกรรมใหม่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราก้าวเข้าไปทำในสิ่งที่ไม่รู้ เพื่อนำมาต่อยอดความรู้เดิม และต้องยึดหลัก “ท.ท.ท.-ทำทันที” เพราะถ้ามัวแต่คิด และพยายามบวกลบหาตัวเลขกำไรขาดทุนก็อาจไม่ทันเสียแล้ว

“ธุรกิจที่เราทำมา 20 ปี คือ เราเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ที่มีมาใหม่เรื่อยๆ ให้ชำนาญ และไปดูว่าธุรกิจของลูกค้ามีปัญหาอะไร แล้วนำเทคโนโลยีไปตอบโจทย์เพื่อให้ธุรกิจเขาเติบโตก้าวกระโดด เราขายของเป็นบิสซิเนสโมเดลแบบ SI ในขณะที่หลายธุรกิจถดถอยจากเทคโนโลยีดิสรัปต์ ทุกบริษัทต้องคิดถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงไม่มีเวลาจะมาสนใจซื้อของเราเองก็ด้วย ถ้าจะอยู่รอดได้ก็ต้องคิดบิสซิเนสโมเดลใหม่ขึ้นมา ต้องเอาความชำนาญในเทคโนโลยีที่มีสร้างตลาดใหม่”

การมาถึงของเทคโนโลยี “คลาวด์ คอมพิวติ้ง” ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฮาร์ดแวร์ที่จะค่อยๆ ลดลง และในอนาคตจะเหลือแค่ในระดับของแอพพลิเคชั่นเท่านั้น หมายความว่าบริษัทต่างๆ ที่เคยต้องซื้อระบบและอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทั้งหลายเพื่อจัดเก็บข้อมูลก็ไม่ต้องซื้ออีกต่อไป แต่ขึ้นไปใช้ระบบคลาวด์แทนได้

“ถ้าผมเดินเข้าไปหาลูกค้าแล้วบอกว่า ผมจะขายระบบโน่นนี่ให้ ก็คงไม่มีใครมีอารมณ์มาดู เพราะทุกคนกำลังต้องการลดต้นทุน

แต่ถ้าบอกว่าคุณมี Asset ที่ซ่อนไว้เยอะมาก ให้ผมไปช่วยดู ช่วยคิด ลงทุนให้ ขายได้แล้วมาแบ่งกัน ทุกคนก็จะเริ่มคิด และนี่คือบิสซิเนส

โมเดลที่เรากำลังสร้างขึ้นมา จากนี้ไปเราจึงจะใช้ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่มีไปตั้งโจทย์ใหม่ แก้ปัญหาหรือปรับโมเดลธุรกิจให้ลูกค้าที่กำลังโดนความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีคุกคามอยู่เช่นกัน”

สเต็ปของการทำธุรกิจในอนาคตในมุมมองของ ซีอีโอ MFEC คือการมีความร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่การแข่งกันขายของหรือแข่งกันว่าเทคโนโลยีใครเจ๋งกว่า

ตัวอย่างของความร่วมมือเพื่อหารูปแบบธุรกิจใหม่ระหว่าง MFEC กับพันธมิตรธุรกิจที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว คือความร่วมมือกับผู้บริหารค่ายเพลงเลิฟอีส ของ “บอย โกสิยพงษ์” พัฒนาแอพพลิเคชั่น “Fanster” ซึ่งจะเป็นแอพพ์ที่ให้ผู้ชื่นชอบศิลปินในค่ายเลิฟอีสติดตามความเคลื่อนไหวของศิลปินที่ชื่นชอบได้

MFEC ลงทุนพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ขึ้นมา โดยคาดหวังว่าจะมีรายได้เกิดขึ้นในอนาคต

“เราพยายามหารายได้จากความสามารถในการเข้าถึงคนในโลกยุคปัจจุบัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแฟนเพลงกับศิลปินใกล้ชิดขึ้น มีส่วนร่วมระหว่างกันมากกว่าเดิมผ่านเทคโนโลยี ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ทำให้ได้ประโยชน์กับธุรกิจและมีรายได้มาสนับสนุนศิลปินเพื่อสร้างผลงานใหม่ๆ วิน-วินทุกฝ่าย ทั้งแฟนเพลง ศิลปินและธุรกิจ”

แม้จะไม่มีอะไร “การันตี” ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่มันคือการลองผิดลองถูกกับประสบการณ์ใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องทำในโลกที่่มีการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคตลอดเวลา

“ศิริวัฒน์” ย้ำว่าใครปรับตัวเร็วกว่าได้เปรียบ สิ่งที่ผมกลัว ผมไม่กลัวคู่แข่งในประเทศ แต่กลัวโดนดิสรัปต์จากโมเดลที่มาจากต่างประเทศ ถ้าทุกคนไปคลาวด์หมด ไม่ซื้อเซิร์ฟเวอร์ ไม่ซื้ออะไร เราตายหมู่เลยนะ และถ้าไม่รีบปรับตัวตั้งแต่วันนี้ 5 ปีข้างหน้า ไม่รอดแน่

MFEC เลือกปรับตัวในช่วงที่ยังแข็งแรง จากสภาพทางการเงินที่มีเงินสดล้นมือพร้อมลงทุน โดยมีนโยบายที่จะร่วมลงทุนกับพนักงานที่พร้อมแยกออกไปตั้งบริษัท

สตาร์ตอัพ เพราะมองว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าลงทุนในสตาร์ตอัพทั่วไป และช่วยกระตุ้นให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และร่วมรับผิดชอบกับความเติบโตของบริษัท

“พนักงานพอทำงานมาสักพัก มักคิดอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หลายคนลาออกไปทำเอง ที่ประสบความสำเร็จก็มี ไม่สำเร็จก็มี เช่นกันกับบริษัทถ้าจะไปลงทุนในสตาร์ตอัพที่เราไม่รู้จักแบ๊กกราวด์เลยก็เป็นความเสี่ยง แต่ถ้าลงทุนกับพนักงานที่มีไอเดียดีๆ ก็วินวินทั้งคู่”

โมเดลนี้ทำให้ภาพในอดีตที่ทุกคนเป็นเสมือนลูกจ้างเปลี่ยนไป นับจากนี้เขาจะรู้สึกว่าตนเองเป็นสตาร์ตอัพ ที่กำลังคิดค้นพัฒนาสิ่งใหม่ ซึ่งสนุกสนานและเปิดศักยภาพมากกว่าเดิม

“โลกเปลี่ยนแม้กระทั่งคอนเซ็ปต์ของการจัดองค์กรแบบเดิมไม่เวิร์กแล้ว ออฟฟิศใหม่ที่เพิ่งเปิดทุกสิ่งไม่ได้เกิดจากผม ผมเข้ามาที่นี่วันแรกยังถามทีมงานว่าทำไมใช้ไฟสีนี้ น้องๆ บอกว่าเขาไม่ต้องการแสงสว่างมาก ต้องการแบบนี้แล้วจะมีบรรยากาศมีความรู้สึกอยากทำงาน หลายอย่างของคนรุ่นใหม่ไม่เหมือนเราจริงๆ ดังนั้นต้องปล่อยให้เขาทำ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image