ฟังศิลป์จากดนตรี : คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

ปลายเดือนนี้หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล มีโปรแกรมสำคัญระดับโลก

วง BBC Symphony Orchestra เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเปิดการแสดง

BBC Symphony Orchestra เป็นวงออเคสตราที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆ ของโลก

ทราบมาว่า วง BBC Symphony Orchestra เดินทางมาครั้งนี้ มีกำหนดแสดงคอนเสิร์ต 3 ประเทศเอเชีย

Advertisement

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) ไทย และพม่า

สำหรับไทยมีกำหนดแสดงวันที่ 28 และวันที่ 29 มีนาคม

มี เอ็ดเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Edward Gardner) ชาวอังกฤษ วัย 42 เป็นวาทยกร

Advertisement

และ เบนจามิน กรอสเวเนอร์ (Benjamin Grosvenor) นักเปียโนชาวอังกฤษ วัย 24 รับหน้าที่โซโล Piano

พลิกโปรแกรมการแสดงวันแรก เริ่มต้นจากบทเพลง “กินรี” บทเพลงพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ตามด้วยเพลง Dadaville ของ แกรี่ คาร์เพนเตอร์ (Gary Carpenter) นักประพันธ์ดนตรีชาวอังกฤษ วัย 69 ปี

แล้วก็เพลง Piano Concerto ของ เบนจามิน บริทเทน (Benjamin Britten) นักประพันธ์ดนตรีชาวอังกฤษ (ค.ศ.1913-1976)

ปิดท้ายด้วย Symphony no.1 จากฝีมือการประพันธ์ของ วิลเลียม วอลตัน

(William Walton) นักประพันธ์เพลงชาวอังกฤษ (ค.ศ.1902-1983)

บทเพลงวันแรกอยู่ในยุคสมัยใหม่ ใครสนใจอยากฟังบทเพลงร่วมสมัยรับรองไม่ผิดหวัง

ส่วนโปรแกรมวันที่สอง ส่วนใหญ่เป็นบทเพลงในยุคโรแมนติก

เริ่มด้วยบทเพลง กินรี เช่นกัน ส่วนบทเพลงอื่นๆ ย้อนเวลากลับไปหาอดีตมากกว่าโปรแกรมวันแรก

ทั้ง Festive Overture ของ ดิมิทรี ชอสตาโกวิช (Dmitri Shostakovich) นักประพันธ์ดนตรีชาวรัสเซีย (ค.ศ.1906-1975)

ทั้ง Piano Concerto no.20 in D minor ประพันธ์โดย โวล์ฟกัง อะมาดิอุส โมซาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart) นักประพันธ์ดนตรีชาวออสเตรีย (ค.ศ.1756-1791)

ทั้ง Calm Sea and Prosperous Voyage ของ เฟลิกซ์ เมนเดิลโซห์น (Felix Mendelssohn) นักประพันธ์ดนตรีชาวเยอรมนี (ค.ศ.1809-1847)

และ Enigma Variations ของ เอ็ดเวิร์ด เอลการ์ (Edward Elgar) นักประพันธ์ดนตรีชาวอังกฤษ (ค.ศ.1857-1934)

มองดูตามโปรแกรมแล้วน่าชมน่าฟังทั้งสองวัน

วงที่บรรเลงเป็นวงระดับโลก เปียโนโซโลก็ไม่ธรรมดา

ตามประวัติ อายุแค่ 11 ขวบ สามารถคว้ารางวัลมาเพียบ พอโตเป็นมืออาชีพ บริษัทยักษ์จากสหรัฐอเมริกาได้ดึงตัวเข้าสังกัด

กลายเป็นนักเปียโนชาวอังกฤษที่เข้าสังกัดบริษัทแห่งนั้นในรอบหลายสิบปี

Benjamin Grosvenor จึงเป็นนักดนตรีอายุน้อย แต่ฝีมือระดับพระกาฬ

ดังนั้นเมื่อมีโปรแกรมมาแสดงในไทย … แล้วทำไมเราถึงจะไม่ไปฟังกันล่ะ

ย้อนกลับไปที่บทเพลงที่ Benjamin Grosvenor นำมาโชว์ ถือว่า 2 วัน 2 สไตล์

วันแรก เปียโนคอนแชร์โต ของ Britten นั้น แค่เปิดฉากท่อนแรกก็เร็วปรื๋อ

หากไม่มีฝีมือจริงคงไปไม่รอด

ส่วนในท่อนที่ 3 ที่เปียโนส่งเสียงลึกลับน่าค้นหา

นักเปียโนคงต้องควบคุมปลายนิ้วที่กระทบคีย์บอร์ดอย่างดี เสียงที่ออกมาถึงจะสร้างความประทับใจให้ผู้ฟัง

แต่เมื่อ Benjamin Grosvenor เลือกบทเพลงนี้มาโชว์ แสดงว่าแน่

ส่วนจะแน่แค่ไหน ต้องไปฟังกันเอง

อีกบทเพลง คือ Piano Concerto no.20 in D minor ประพันธ์โดย Mozart

บทเพลงนี้แตกต่างจากบทเพลงของ Britten แบบกลับหลังหัน

Mozart ประพันธ์บทเพลงนี้ด้วยบันไดเสียงแห่งความตาย …บันไดเสียง D minor

แต่ตอนสุดท้ายจบด้วยบันไดเสียงแห่งความสดใส …. D major

ทั้งการเริ่มต้นด้วยความอึมครึม และบทสรุปที่สดใส

Benjamin Grosvenor จะถ่ายทอดออกมาได้อย่างนี้หรือเปล่า…อันนี้ก็ต้องไปฟังอีกเช่นกัน

เช่นเดียวกับ บทเพลงที่บรรเลงโดยวง BBC Symphony Orchestra

อาทิ บทเพลง Enigma Variations ที่ Elgar ประพันธ์ขึ้นเพื่อระลึกถึงบุคคลที่รู้จัก

เขาใช้ฉันทลักษณ์แบบธีม และแวร์ริเอชั่นส์ (Theme and variations)

อย่างการ variations หรือ “แปรทำนอง” ครั้งที่ 1 Elgar ต้องการกล่าวถึงภรรยา

ส่วน variations อื่นๆ ก็กล่าวถึง เพื่อนที่คบ นักดนตรีที่คุ้น ผู้มีพระคุณที่รู้จัก ฯลฯ

นับรวมๆ แล้วมีการ Variations ถึง 14 รอบ …ฟังกันเพลินล่ะ

บทเพลงที่ “แปรทำนอง” ถึง 14 ครั้ง เท่ากับคิดค้นสร้างสรรค์ 14 แบบ

ถือเป็นอีกบทเพลงที่ควรฟัง

ยิ่งบทเพลงนี้เป็นบทเพลงที่สร้างชื่อให้ Elgar ดังเป็นพลุแตก

แถมยังมีบาง Variations ที่ได้รับความนิยม เพราะฟังแล้วโดนใจ ถึงขนาดมีวงออเคสตราเลือกไปบรรเลงเฉพาะ Variations นั้น

อย่างเช่น Variations ที่เก้า … แวร์ริเอชั่นนี้มีคนบอกให้ไปลองฟัง

โอ้ แค่เขียนมาถึงจุดนี้ก็อยากฟังแล้ว

บทเพลงแต่ละชิ้นที่อยู่ในโปรแกรม มิใช่บทเพลงธรรมดา

แต่ละบทเพลงผ่านการคิด การประพันธ์ผ่านการสร้างสรรค์

และกาลเวลาที่ผ่านมาก็การันตีความนิยมของบทเพลงว่ามีคุณภาพจนผู้คนนิยมเป็นอมตะ

การได้ฟังดนตรีดีๆ เหมือนได้ชมภาพงามๆ เหมือนได้อ่านวรรณกรรมชั้นเยี่ยม

เหมือนได้สัมผัสงานศิลปะ

สัมผัสจากการฟัง…ฟังศิลป์จากดนตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image