ก่อนมวลมนุษย์ จะขาดแคลน ‘นวัตกรรมแห่งชาติ’ ดักทางวิกฤต สังคมสูงวัยในวันนี้ เทรนด์ในวันหน้า

ก่อนมวลมนุษย์ จะขาดแคลน
‘นวัตกรรมแห่งชาติ’ ดักทางวิกฤต
สังคมสูงวัยในวันนี้ เทรนด์ในวันหน้า

เพียงแวบเดียว ไทยก็ก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์’

ยังไม่นับทรัพยากรที่หลงเหลืออย่างจำกัด สภาพภูมิอากาศที่มีแต่จะย่ำแย่ลง เห็นก็แต่เทคโนโลยีและ
มันสมองของมนุษย์เท่านั้นที่จะเสาะหาทางรอด

แต่ความหวังยังมี ด้วยเรามีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่มุ่งมั่น ค้นคิดนวัตกรรมที่จะต่อชีวิตคนไทย กวาดสายตาดูงานวิจัยล่าสุด มองการณ์ไกลไปถึงอนาคต กระโดดไปจับเทรนด์ในวันข้างหน้า

ADVERTISMENT

นับจากวิกฤตโควิดที่ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) หรือเอ็มเทค ระดมสมองคิดค้น ‘PETE เปลปกป้อง’ ร่วมกับเครือมติชนและพันธมิตร เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ ช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติให้พ้นวิกฤตทางสาธารณสุข

หนนี้ติดเรดาร์กวาดสัญญาณอนาคต เห็นแววว่าวิกฤตต่อไปไม่นานไม่ช้าก็มาแน่ รุดสร้างงานวิจัยไปดักรอก่อนมนุษย์จะขาดแคลน ‘ปัจจัย 4’

ADVERTISMENT

“ทีมฟู้ดก็ทำอาหารเสิร์ฟผู้สูงวัย อย่าง ‘แพลนต์เบส โปรตีน’ ซึ่งอีกหน่อยอาหารน่าจะขาดแคลน ก็ยากที่จะทำให้ครบวงจร เพราะยังมีกลไกอีกมากทางการตลาด แต่หากมีการรับรู้ในวงกว้างและมีคนสนใจเข้ามาช่วยกันดู ก็น่าจะเป็นประโยชน์”

รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการ MTEC อัพเดตโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายไม่เพียงไทย แต่ในระดับ ‘มวลมนุษยชาติ’

ในโอกาสปีใหม่นี้จึงมาพร้อมทีมนักวิจัย จัดกระเช้านวัตกรรมอัดแน่นผลงานล่าสุดจากทางศูนย์ มอบให้แด่ ปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

คลอดจากแล็บ สู่ประตูบ้านสดๆ ร้อนๆ มุ่งเน้นซัพพอร์ตด้านอาหาร การเกษตร และ Well Being

สู่ปลายทางคือ ‘คุณภาพชีวิต’ ที่ดีขึ้นของคนไทย

ดักรอเทรนด์ในวันหน้า ลดภาระ-ลดนำเข้า

“เรามีนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ทำเรื่องที่รู้อยู่แล้ว แต่จะทำเทรนด์ในวันหน้า”

“หลายงานที่เราทำ เป็นกึ่งช่าง กึ่ง Engineer เราหวังให้กระจายออกไปถึงมือผู้ใช้ในวงกว้าง ทำยังไงให้ถึงมือผู้ใช้จริง เป็นโจทย์ที่เรากลับมาคิดและผลักดันต่อ”

ผู้อำนวยการ MTEC วางคอนเซ็ปต์ภาพกว้าง ที่หวังผลักดันอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อมซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญ โดยมีภาพในใจ คือมองประเทศไทยเป็น ‘หน่วยงานทางธุรกิจ’ ลงทุนวิจัยให้เอกชนซึ่งเป็นภาคการผลิต หากมีโจทย์อะไรทางทีมก็พร้อมช่วยแก้อย่างเต็มที่

ในมุม Well-Living เห็นหลายงานที่อีก 5-10 ปีน่าจะมีความสำคัญมากขึ้น บางชิ้นทาง สวทช.ได้เข้าไปเป็นฝ่ายเลขาของระบบ ‘บัญชีนวัตกรรมไทย’

“อย่างตอนนี้ก็มีความพยายามจาก สปสช. ซึ่งจะมีเรื่องการเบิกจ่าย ถ้าอะไรที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมแล้ว สปสช.ก็อยากจะไปจัดซื้อจัดจ้างในนั้นมากขึ้น พยายามเพิ่มสัดส่วนสินค้า รวมถึงการวิจัยและพัฒนาที่เป็นของคนไทย”

น่าลุ้นว่าหากเป็นไปได้จริงจะช่วยทดแทนและลดการนำเข้า โดยเฉพาะยา-เครื่องมือแพทย์ ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระหมอและผู้ดูแลผู้สูงวัยได้กว่าที่คิด

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ รองผู้อำนวยการศูนย์ ด้านวิจัยและพัฒนาการออกแบบและการผลิตสำหรับเทคโนโลยีวัสดุ พาส่องนวัตกรรมใหม่ ที่จัดมา 2 ตะกร้าล้นๆ เพราะผลงานแน่นมาก

แบ่งเป็นงานวิจัยหลัก 4 หัวข้อ ได้แก่

โซนสีเขียว-Net Zero ที่เป็นเทรนด์ของทั้งโลกและแผนของประเทศ มีทีมที่ทำงานสนับสนุนรัฐและเอกชน ในเรื่องคาร์บอนเครดิต รวมถึงดูเรื่องการจัดการของเสีย กากอุตสาหกรรม ให้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

โซนสีฟ้า-สุขภาพและการแพทย์, โซนสีส้ม-ด้านอุตสาหกรรม ที่โฟกัสไป Industry 4.0 และยานยนต์สมัยใหม่ ที่ผลักดันร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและภาคอุตสาหกรรม

“ตอนนี้เราอยากทรานส์ฟอร์มเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นยานยนต์ไฟฟ้า คนไทยจะปรับตัวอย่างไร ก็เป็นมิชชั่นของทีมวิจัยที่จะเข้าไปสนับสนุน”

ส่วน โซนสีม่วง-วัสดุขั้นสูง ที่หาทางเพิ่มมูลค่า โดยมองทั้งในมุม Bio-based material เป็นวัสดุทางชีวภาพ ที่จะยกระดับวัตถุดิบในประเทศ ให้พืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงขึ้น ทั้งยางพารา ไผ่ และไบโอชาร์ ฯลฯ เพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการ-ชุมชน พึ่งพาตัวเองได้

ชุดบอดี้สูท Rachel

อัพเกรดสังคมชราภาพ ต้องแข่งที่ ‘คุณภาพ’

ใช้ความรู้ลึกถึงโมเลกุลและเทคโนโลยีวัสดุ พัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการมาแล้วหลายราย

ไล่เรียงไปทีละเซต เริ่มจากตะกร้าแรก-เฮลตี้ยิ่งกว่ากระเช้าไหนๆ เหมาะมอบให้สูงวัยที่เรารักอย่างยิ่ง มีทั้งแบรนด์ Ve-Chick พะแนงและแกงเขียวหวานไก่พร้อมรับประทาน ทำจากโปรตีนพืช (Plant-Based) โปรตีนสูง ไฟเบอร์แน่น ไร้คอเลสเตอรอล ไม่อ้วน เหมาะกับคนคุมน้ำตาล มีทั้งแบบฉีกซองและถ้วยพร้อมรับประทาน เก็บได้นาน เหมาะพกไปแคมป์ปิ้ง หรือสมมุติเกิดวิกฤตก็ฉีกซองนี้ราดข้าวพร้อมรับประทานทันที

ชิ้นที่ 2 EGF (Epidermal Growth Factor) เคยปิดตัวในงาน Health Care ปี 2567 เป็นเครื่องสำอางกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน บำรุงผิวผู้สูงอายุ ที่กำลังพุ่งเป้าไปสู่ปลายทางคือการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน แผลกดทับ สมานแผลหายช้า พัฒนาไปสู่สตาร์ตอัพ ซึ่งถ้าเข้าหลักประกันสุขภาพได้ จะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง เข้าถึงคนทุกระดับชั้น

ชิ้นที่ 3 Magik Growth หรือถุงแดง ใช้ห่อผลไม้เศรษฐกิจมูลค่าสูง ช่วยเซฟผลผลิต จุดเด่นคืออากาศถ่ายเทดี ป้องกันแมลง กระรอก เพลี้ย ราดำ ช่วยลดการใช้สารเคมีไปในตัว

ถุงละราว 35 บาท แต่คุ้มกับต้นทุน เพราะใช้ซ้ำได้อย่างน้อย 3 ปี ตีกลมๆ ทุเรียนลูกละ 500 บาท ถ้าผลผลิตเสียหาย นั่นคือเงินที่เสียไป ช่วยลดทั้งการให้เคมี (ไม่ต่ำกว่า 7-8 ครั้ง) ทั้งยังอัพเกรดราคา บางเจ้าที่ทำงานร่วมกันโซนจันทบุรี ระยอง ขายได้ลูกเป็นพัน คนจองเรียบ ยอมควักเงินจ่าย

แข่งที่ราคาอาจสู้ไม่ไหว แต่แข่งด้วยคุณภาพเกษตรกรไทยทำได้แน่ ในเรื่องการส่งออกเราจะการันตีได้ 100% ว่าออร์แกนิค

สอดรับกับข่าวดีที่เราปลดล็อกทุเรียนไทยส่งออก ล็อตแรกไปจีนได้แล้ว ไม่เพียงราชาแห่งผลไม้ ยังรวมถึงมะม่วง, ส้มโอ, ทับทิมสยาม, ส้มจุก, กล้วย ช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์แป้งเนื้อที่มากขึ้น ซึ่งหมายถึงรายได้ที่มากขึ้นตามมา

นอกจากนี้ ยังมาพร้อม ‘ถุงปลูกต้นไม้’ ที่เชื่อมกับแอพพลิเคชั่น ช่วยลดอุณหภูมิในดินและรากเจริญเติบโตได้ดี

ด้าน ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผอ.ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี MTEC คอนเฟิร์มอีกเสียงว่า ‘Magik Growth’ ทำให้เปลือกทุเรียนบางลง เนื้อเพิ่มขึ้น พิสูจน์มาแล้ว 2 ปี โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง

เป็นหูเป็นตา ซัพพอร์ตสูงวัยเข้าสังคม

อีกตะกร้า เน้นด้านการดูแลสุขภาพโดยเสริมดีไซน์เข้าไป

เตรียมวางตลาดภายในต้นปีนี้คือ ชุดบอดี้สูท Rachel ที่ช่วยพยุงกล้ามเนื้อ

ดร.วรวริศ กอปรสิริพัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยการออกเเบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี กำหนดโจทย์คือ ความต้องการให้ผู้สูงอายุมี Health span ที่ยาวขึ้น ด้วยการออกไปเข้าสังคม ออกกำลังกาย มีกิจวัตรเพื่อสุขภาพดีไปนานๆ

จึงร่วมมือกับอาจารย์ทางด้านตัดเย็บ และเทคโนโลยีด้านผ้าจากทาง ไทยวาโก้ ออกแบบแพตเทิร์นที่พิสูจน์แล้วว่าซัพพอร์ตการเคลื่อนไหว พุ่งเป้าไปที่สูงวัยกลุ่ม Active Aging ใส่แล้วคล่องตัว ลดความเสี่ยงหกล้ม ทั้งยังช่วยปรับ Posture ลดการปวดหลัง

โดยมาพร้อม ‘Gunther IMU’ เซ็นเซอร์กันเธอหกล้ม ใส่ซ่อนในชุด คอยสั่นเตือนให้ปรับปรุงอิริยาบถเวลานั่งหลังค่อม โดยเก็บข้อมูลไปที่แอพพ์ ‘Janine’ เตือนลูกหลานผู้ดูแล

“ตอนนี้กำลังวิจัยในลักษณะ Clinical Trial ร่วมกับไทยวาโก้ ทดสอบระยะยาวในผู้สูงอายุ ซึ่งต่อไปเราหวังว่าจะมีการนำขึ้นบัญชีนวัตกรรมแห่งชาติ และนำเข้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ดร.วรวริศเผยสเต็ปต่อไป ซึ่งยังมีไอเดียต่อยอดไปในมุมออฟฟิศซินโดรมด้วย

รวมถึงพัฒนาระบบดูแล แต่ไม่บันทึกภาพ ไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว มีทั้ง ‘Med Logger’ ปุ่มเตือนกินยา มาพร้อมปุ่มฉุกเฉิน หากรับประทานยาแล้วกดไปสัก 3 วัน AI จะเริ่มจำว่าคุณแม่ทานยาทุก 9 โมงเช้า วันไหนลืมจะมีน้ำเสียงเฟรนด์ลี่คอยเตือน

รวมถึง ‘Gate Sensor’ ตรวจจับการเข้า-ออก ใช้ติดที่วงกบประตู AI จะเรียนรู้พฤติกรรมการใช้ห้องน้ำ

มีเคสตัวอย่าง บางท่านคุณแม่เข้าห้องน้ำตี 2 ตั้ง 5-6 ครั้ง ลูกเห็นว่าไม่ปกติเลยรีบพาไปหาหมอ ปรากฏเป็นลำไส้อักเสบ ต้องไปผ่าตัดวันรุ่งขึ้นเลย ด้วยความเป็นพ่อแม่ อาจจะดื้อไม่ยอมบอกลูก แม้จะทดแทนไม่ได้ แต่อย่างน้อยทำหน้าที่บางอย่างแทนลูกหลานที่อยู่ไกลบ้าน

งานของวันพรุ่งนี้ ต่อลมหายใจสังคมเกษตรกรรม ขยับทั้งห่วงโซ่

ผู้อำนวยการ MTEC แอบกระซิบด้วยว่า ยังมีอีกชุด เป็นงานของวันพรุ่งนี้ แต่ยังอยู่ในสเตจการวิจัย

“อีกหน่อย ‘น้ำ’ น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งการให้น้ำ ปรับปรุงดิน เวลาเรารดน้ำจะรดตามความพึงพอใจ แต่มันมีวิธีดู ต้นไม้มี Stress แล้วค่อยรด ช่วงที่ขาดน้ำเราอาจใช้เทคโนโลยีได้”

อย่างการติด ‘กล้องถ่ายภาพความร้อน’ (Thermal camera) แล้วขึ้นไปบินโดรนดู ต้นไหนที่ขาดน้ำอุณหภูมิความร้อนจะสูงกว่าต้นอื่น นับเป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการเพาะปลูก ซึ่งหาก
ท้องถิ่น หรือ อบต.สนใจเป็นเพื่อนคู่คิด ร่วมทดลอง ก็พร้อมอ้าแขนรับ อยากให้ความรู้กระจายไปในวงกว้าง

“อย่างเปลือกทุเรียน แกะแล้วบางทีเอามาเผา หรือทำเป็นไบโอชาร์ ทำให้ดินอุ้มความชื้นมากขึ้น จะลดการให้น้ำได้ ซึ่งเรายังต้องการผลทดสอบในวงกว้างอยู่”

ภาคการเกษตร คือเส้นเลือดใหญ่ ในขณะที่มิติแรงงานก็เป็นปัจจัยสำคัญ ในมุมนี้ก็เริ่มมองหาทางออกไว้เช่นกัน

“ตอนนี้เราพยายามมองว่าจะทำอย่างไรให้ 1-2 คน สามารถทำเกษตรได้ทั้งสวน เหลือทางเดียวคือ จับกลไกการเกษตรกับเทคโนโลยีเข้าไปช่วย”

“อย่างถุงแดง ถ้ามองให้ดี มันมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นได้อีก เช่น ออกรถกระเช้าสักคันขับไปรับจ้าง ขึ้นไปฉีดน้ำล้างขั้ว เอา ‘รา’ ออก แล้วค่อยห่อ หรือเกิด Business ใหม่ๆ เช่น ‘เช่าถุง’” ผอ.เชื่อสุดใจในความครีเอตของคนไทย ถ้าคนเริ่มเห็นจะเกิดการต่อยอดไอเดียทางธุรกิจได้ไม่รู้จบ

ยังมีแวลูเชนอีกสารพัด ไม่ว่าจะเป็นการปลูกถั่วเหลือง (ที่ต้องนำเข้าจากเมียนมา) สลับกับนาข้าว แล้วหาตลาดรองรับ

“ถ้าเกิดเชื่อเรื่องโลกร้อน ซึ่งผมเชื่อว่าอีกหน่อยจะต้อง Shift จากปศุสัตว์ มาเป็นโปรตีนพืช หรือไม่ก็พวกเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Cultured meat) สิ่งที่เรามอง มันเหมือนสารตั้งต้น คล้ายๆ เรามีหมู มันจะกลายไปเป็นหมูปิ้ง หมูชะมวง อีกสารพัด”

ในมุมนโยบายเอง MTEC คือองค์กรที่โฟกัสเรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาอย่างต่อเนื่อง ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ รองผู้อำนวยการศูนย์ ด้านวิจัยและพัฒนาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม เปิดใจ ว่าจุดตั้งต้นเริ่มจากปัญหาพลาสติก

“สิ่งที่เราค้นพบคือ ถ้ามันจะหมุนเวียนได้ สารที่เติมลงไปต้องไม่กระทบคนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่างประเทศพบสิ่งที่เรียกว่า มลพิษตกค้างยาวนาน” เป็นคีย์เวิร์ดที่อยากให้คนไทยเริ่มระวัง แต่ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

ผู้บริหารในเครือมติชน นำโดย ปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการฯ ให้การต้อนรับผู้บริหารศูนย์ MTEC (จากซ้าย) ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ, ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ, ดร.สิทธิสุนทร สุโพธิณะ และ รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ (ผอ.ศูนย์)

สำหรับ มติชน ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ MTEC มาอย่างยาวนาน เคยร่วมงานนับตั้งแต่มหกรรมยางพารา บึงกาฬ, Health Care หรือแม้แต่อีเวนต์ที่มิวเซียมสยาม เมื่อได้เห็นขอบเขตการทำงานของ MTEC ที่กว้างและใหญ่ระดับชาติ ก็พร้อมใช้ความเป็นสื่อเพื่อประชาชนช่วยสื่อสาร

ปราปต์ เอ็มดีมติชน เห็นแววโปรดักต์หลายชิ้น จะมาช่วยอุดช่องว่างสังคมสูงวัย ซึ่งไม่นานมานี้ก็ได้เปิดคอลัมน์ ไลฟ์@Science ในมติชนรายวันหน้า 5 ทุกวันเสาร์ ให้ประชาชนได้ติดตามวิทยาการความก้าวหน้าจากฝั่ง MTEC เรียกว่าฟีดแบ๊กจากคนอ่านล้นหลาม โทรไปสอบถามถึงศูนย์ก็มี

“อย่างเรื่องทุเรียน เรายังมีนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านที่น่าจะมาคอนเน็กต์กันได้ ปลายเดือนนี้จะมีเรื่องไข่ผำ โปรตีนตัวใหม่ของสังคมเกษตรอย่างบ้านเรา รวมถึงวานิลลาด้วย”

เพราะส่วนที่ยากที่สุดในการแก้ปัญหา คือการตั้งโจทย์ที่ดี หากมีปัญหาสังคมในเชิงเทคนิค กระซิบบอก MTEC ได้เสมอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image