ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร
#ทีม OKMD เปิดประชันไอเดียทันเทรนด์โลก
Learn Lab 2025
เอไอ (AI) ก่อวิกฤต หรือ สร้างโอกาส?
ทุกวันนี้เทคโนโลยีล้ำหน้า ยิ่งยวด และรวดเร็ว
โดยเฉพาะการปรากฏตัวขึ้นมาของ ‘ขุมพลังสมองกล’ ที่เราพูดถึงกันอย่างหนาหูว่า ‘เอไอ’ (Artificial Intelligence หรือ AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มักติดตั้ง ฝังลงไปในทุกอุปกรณ์สมาร์ท เพื่อรวบรวมข้อมูล และเรียนรู้พฤติกรรมมนุษย์ จนสามารถประมวลผล เพื่อสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเองได้
ถ้านึกขึ้นแบบไวๆ ว่าเราใช้มันทำอะไรได้ ในชีวิตประจำวัน ก็คงเคยเห็นกันมาแล้วบ้างว่า มันสามารถประมวลผลข้อมูลได้ ‘นับล้านล้านชุด’ สร้างระบบตอบคำถามอัตโนมัติ สรุปข้อมูลข่าวสาร แต่งเพลง วาดภาพ หรือแม้กระทั่งโยนโจทย์ให้เขียนหนังสือ หรือแม้แต่ ‘บทกวี’ ก็ตาม
จนตอนนี้คนต้องเริ่มหันมาตั้งคำถาม ถึงศักยภาพของมันแล้วว่า ตอนนี้ปี 2025 มีอะไรที่เอไอยังทำไม่ได้บ้าง แล้วมันจะผงาดขึ้นมาครองโลก จนเบียดให้แรงงานคนตกกระป๋องหรือไม่?
ด้วยคำถามมากมายที่ถาโถม ถึงเวลาชวนมาเปิดมายด์เซตด้วยมองการเรียนรู้ฉบับคนรุ่นใหม่ไฟแรง ผู้ไม่ยำเกรงเทคโนโลยีใหม่ พร้อมที่จะหยิบจับมันมาเป็นตัวช่วย สำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และหาทางแก้โจทย์ความท้าทายแห่งยุคสมัย ที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ได้
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารและพัฒนาความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ฉายสปอตไลต์ส่องห้องเรียนรู้สร้างสรรค์ “Learn Lab 2025: Mega Trend Meta Learning” ซึ่งดำเนินการร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Alpha+ Sandbox มุ่งพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมผลักดันให้ประเทศไทย ก้าวสู่ศูนย์กลางการพัฒนาและนวัตกรรมการเรียนรู้ระดับโลก ณ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ศูนย์กลางเรียนรู้ใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ห้องปฏิบัติการแห่งอนาคต
พื้นที่หยิบ‘เอไอ’ประลองไอเดียจึ้ง!
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD กล่าวถึงโครงการว่า ‘Learn Lab 2025’ เป็นโครงการที่ทาง OKMD คิดค้นขึ้นมา ด้วยความตั้งใจอยากให้เป็นห้องปฏิบัติการของการเรียนรู้ ซึ่งเราอยากให้ห้องเรียนแห่งนี้ เป็นพื้นที่การประลองความคิดใหม่ๆ สำหรับการเรียนรู้แห่งอนาคต
“ปีที่แล้วเราเจอกันที่มิวเซียมสยาม ปีนี้เราเจอกันที่ TK Park ปีถัดไปเราก็ยังจะเจอกันอีก โดยเฉพาะปีนี้มีความพิเศษ ที่ผมอยากจะเชิญชวนน้องๆ ทุกคนได้มาประลองความคิดที่เชื่อมโยงกับเมกะ เทรนด์ (Mega Trend) ซึ่งเป็นกระแสโลก ไม่ว่าจะอยู่ทวีปไหนในโลกคนเขาก็ทำเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี ความมั่นคงทางด้านอาหาร พลังงาน สิ่งแวดล้อม หรือกระทั่ง Geo-Politics มันมีหลายประเด็นมาก
“ซึ่งถ้าเราปล่อยไหล ไม่ทำอะไรกับเมกะ เทรนด์เลย บางเรื่องก็เป็นประโยชน์ บางเรื่องก็นำพวกเราไปสู่ปัจจัยเสี่ยงโดยไม่จำเป็น เพราะฉะนั้น ถ้าหากเรามีแนวคิดอะไรใหม่ ในการที่จะทำให้เทรนด์ที่ว่า ไปอยู่ในจุดที่เราต้องการก็จะเป็นประโยชน์” ผอ.OKMD ย้ำจุดสำคัญ
ก่อนจะขยายดีเทลอีกว่า สิ่งที่จะมาช่วยเราในคราวนี้ คือ ปัญหาประดิษฐ์หรือ เอไอ (AI) เพราะฉะนั้น Learn Lab แห่งนี้ก็อยากให้น้องๆ มาประลองความคิดจับเมกะ เทรนด์ โดยใช้ AI เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์
“ปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาเสริม แต่อีกมุมหนึ่งก็คือเข้ามาดิสรัปต์กระบวนการเรียนรู้ เพราะถ้าเราใช้มันไม่เป็น เราก็จะกลายเป็นทาสมันเลยนะ เราจะเชื่อมันไปหมด แต่ถ้าใช้มันเป็น มันจะเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ ช่วยหาแนวคิดและความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาโลกนี้ได้” ดร.ทวารัฐโชว์ภาพกว้าง
จากนั้นหันมาเจาะที่ตัวโครงการว่า ธีมปีนี้เกี่ยวกับ Mega Trend Creativity Beyond AI ซึ่งเราอยากจะให้น้องๆ ได้มาประลองความคิดสร้างสรรค์ นำเอไอมาประยุกต์ใช้ในเรื่องที่เป็นเมกะ เทรนด์ต่างๆ 2 เดือนนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม ไปจนถึงเดือนมีนาคม
ปีนี้พิเศษด้วยการกำหนดธีมสำหรับน้องๆ ที่จะนำความคิดสร้างสรรค์เข้ามา จะต้องเน้นในเรื่องกระแสของโลกนี้ หรือ ‘Mega Trend’ ซึ่งโลกของเรากำลังเผชิญอยู่หลายเรื่อง เช่น ภาวะโลกร้อน Food Security อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ความมั่นคงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งเรื่องฝุ่นควัน เป็นต้น ผมเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าหากเรามีการเรียนรู้เมกะ เทรนด์เหล่านี้ แล้วหาวิธีการเรียนรู้และแก้ไขปัญหา ก็จะนำมาสู่โซลูชั่น (Solution) ใหม่ๆ ได้
ยกตัวอย่างเรื่องสินค้าเกษตร หรือกระบวนการก่อให้เกิดการทำอาหารเพื่อการส่งออกนั้น ปัจจุบันมีเทรนด์การส่งออกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์เรื่องสุขภาพ สารอาหาร เรื่องลักษณะนี้ถ้าเอไอเข้ามาช่วยได้ในลักษณะที่ว่า กลุ่มเป้าหมายคนที่บริโภคอาหารส่งออกนี้ ต้องการสารอาหารประเภทนี้เป็นพิเศษ หรือต้องการอาหารรสชาติหนึ่งเป็นพิเศษ ก็สามารถที่จะทำให้ผู้ส่งออก หรือเกษตรกรของเราผลิตสินค้าออกมาได้ตามความต้องการตลาดนั้น
รวมถึงการเกษตรแบบ Precision Agriculture คือ การเพาะปลูกอย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นแม่นยำในทางภูมิศาสตร์ โลเกชั่น สถานที่ หรือแม่นยำในเชิงฤดูกาล โดยการปลูกให้ถูกต้องกับฤดูกาล ก็จะสามารถได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ก็เป็นการนำเมกะ เทรนด์ มาเป็นโจทย์ แล้วนำเอไอมาเป็นตัวช่วย
“งานนี้เป็นงานกึ่งค่ายบูตแคมป์ (Bootcamp) ระดมความคิด สร้างพลัง และทำงานเป็นทีม มีโอกาสได้เรียนรู้จากโค้ชเข้ามาช่วยแนะนำให้ความรู้ และที่สำคัญจะได้รับแรงบันดาลใจจากแชมป์เก่าอีกด้วย
“ผมเข้าใจว่าสุดท้ายแล้ว น้องๆ จะมาประลองยุทธ์ หรือประลองความคิดกัน รอบตัดสินในช่วงกลางเดือนมีนาคม เพราะฉะนั้นช่วง 2 เดือนนี้ จะเป็นช่วงที่น้องๆ ได้ปลดปล่อยพลังสมอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ได้
ขอให้ทุกคนได้สนุก ปลดปล่อยพลังความคิดสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติต่อไป” ดร.ทวารัฐปลุกไฟฮึด
ก่อนจะยกภาพความสำเร็จให้เห็นว่า เมื่อปีที่แล้วเรามีโอกาสได้พบสตาร์ตอัพทีมหนึ่ง ซึ่งชนะเลิศจากโครงการ Learn Lab เป็นสตาร์ตอัพที่ต้องการเอาเครื่องมือมาเป็นผู้ช่วยคุณครู โดยเป็นโปรแกรม หรือแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยคุณครูในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถสอนภาษาอังกฤษได้ เป็นตัวช่วยที่จะทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้การสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็ก
“เราดีใจที่ผลผลิตจาก Learn Lab นำไปสู่การปฏิบัติใช้จริงดังนั้น ปีนี้เราก็อยากเห็นผู้เข้าร่วมโครงการ ได้นำไอเดียมาทำให้เกิดโซลูชั่นใหม่เช่นกัน”
ต่อมา ดร.ทวารัฐชวนมองกระบวนการสร้างสรรค์ในห้องเรียนแห่งอนาคตนี้ว่า โครงการ Learn Lab อยู่ภายใต้โครงการร่มใหญ่ของ ‘มหานครแห่งเอไอ’ เป็นโครงการที่ทาง OKMD อยากที่จะส่งเสริมให้เกิดการเอาเทคโนโลยีเอไอมาประกอบการเรียนรู้
“อย่างที่ผมบอกว่า ถ้าเราไม่คุ้นกับเอไอแล้ว เราจะใช้จนเพลิน ใช้จนเป็นทาสมัน แต่ว่าถ้าเราประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ แล้วเรารู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ใช้อย่างมีจริยธรรมและจรรยาบรรณอย่างถูกต้องแล้ว ผมเชื่อเหลือเกินว่า เอไอ จะเป็นเทคโนโลยีที่จะมาปฏิวัติการเรียนรู้ของเรา
“ปีนี้เราเปิดกว้าง ขอแค่ให้มีความตั้งใจ ซึ่งใจจริงอยากส่งเสริมให้มากันเป็นทีม เพราะว่าจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่ว่าถ้าจะสมัครเดี่ยวก็ไม่ได้ขัดข้อง”
ผมคิดว่าคุณค่าหลักของ Learn Lab คือ การสร้างแรงบันดาลใจ แล้วก็ส่งสัญญาณให้น้องๆ เยาวชน ได้รู้จักการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง เพราะว่าถ้าหากเรียนรู้โดยแค่การอ่านหนังสือ หรือ ดูยูทูบอย่างเดียว มันไม่สามารถซึมเข้าหรอก แต่มันต้องลงมือทำด้วย
“การลงมือทำที่ดีที่สุด คือ การลงสมัครในเวทีการแข่งขันแบบมิตรภาพ ซึ่งเราไม่ได้แข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย แล้วการแข่งขันนั้นมันจะวัดผลว่า เราเจ๋งจริงหรือเปล่า ถ้าเจ๋งจริงก็จะนำไปสู่การนำไปใช้ได้เลย แต่ถ้าเจ๋งจริงปีหน้าก็มาใหม่” ดร.ทวารัฐยืดอกเปิดโอกาส
ก่อนที่จะขมวดปม ชวนมองคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
“ผมขอพูดในฐานะนักวิชาการว่า ‘เอไอ’ มันเป็นเครื่องมือที่มีพลังมาก สามารถที่จะสืบค้น สร้างสรรค์อะไรได้หลายเรื่อง แต่ว่าถ้าทำโดยไม่มีจริยธรรมและจรรยาบรรณ เช่น ก๊อบปี้ คัดลอก หรือตัดแปะงานเขามา ซึ่งสิ่งนั้นที่เราสร้างสรรค์ มันจะไม่ใช่สิ่งใหม่ ไม่ใช่นวัตกรรมเลย แต่มันจะเป็นการประยุกต์ใช้โดยไม่ถูกต้อง
“แต่ถ้าหากเอาเอไอมาเป็นตัวช่วย แล้วก็หาโจทย์ที่ชัดเจนว่า เอไอสามารถนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้จริง ผมเชื่อว่ามันจะเป็นตัวช่วยแห่งการเรียนรู้ เหมือนกับปัจจุบันนี้ ที่เราคิดอะไรไม่ออกก็จะเสิร์ชกูเกิล ซึ่งมันก็เป็นเครื่องมือที่มีเอไอทำงานอยู่เบื้องหลัง
ถ้าเราไม่มีความรู้เลย เราจะเชื่อทุกสิ่งอย่าง แต่ถ้าเรามีความรู้แล้ว อย่างน้อยเราจะเอ๊ะบ้าง กระตุกต่อมคิดของเราบ้างว่า สิ่งมันให้คำตอบมาเนี่ย ถูกต้องหรือเปล่า หรือคำตอบที่มันให้มา เป็นคำตอบที่คาดหวังไว้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็อาจจะค้นความลึกลงไปอีก เพื่อหาคำตอบเหล่านั้น
“ฉะนั้น อยากจะส่งสัญญาณว่า เอไอเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ แต่ต้องใช้ให้เป็น” ดร.ทวารัฐทิ้งโจทย์กระตุกต่อมสร้างสรรค์
จุดไฟสร้างสรรค์เหนือ‘เอไอ’
ทำไมปล่อยให้มันเขียนหนังสือแทนเรา?

ต่อมาชวนทำความเข้าใจกับคีย์เวิร์ดที่คุ้นหูอย่าง ‘Meta Learning’ แบบเจาะลึกโดย โตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD ตั้งต้นเล่าว่า เวลาที่เรา ‘Meta Learning’ มันเหมือนกับการถอนตัวเองออกมาจากพื้นที่หนึ่ง แล้วก็มองย้อนกลับว่า สิ่งนั้นมันเป็นอะไร เช่น สายการเขียน มันมีนิยายที่เรียกว่า Meta Fiction คือ นิยายที่เล่าว่านักเขียนมันกำลังเขียนอะไร ฉะนั้น Meta Learning มันเหมือนกับก่อนที่เราจะเรียนรู้อะไร เราต้องถอนตัวเองออกมา แล้วดูว่าวิธีที่เราจะเรียนรู้ได้นั้นมันเป็นอย่างไร
“สมัยผมเด็กๆ 30 ปีที่แล้ว พ่อส่งไปเรียนดนตรี เลือกเรียนอิเล็กโทน ซึ่งสมัยนั้นมันฮิตมาก เวลาจะเรียนเปียโน หรืออิเล็กโทน สมัยนั้นมันมีที่เดียวที่สอน ผมก็ต้องไปเรียนโรงเรียนนั้นด้วยวิธีที่เขาจะสอน ซึ่งก็เป็นอาจจะเป็นหลักสูตรที่มาจากญี่ปุ่น แต่ว่า Meta Learning ทำให้เห็นวิธีเรียน วิธีสอนเปียโน มันมีกี่แบบ แล้วแบบไหนมันเหมาะสมกับเรา ก่อนที่จะไปสมัครเรียนได้
“ปัจจุบันสมมุติว่า น้องๆ อยากจะเรียนเปียโน เปิดยูทูบขึ้นมาก็จะมีวิธีสอนเปียโนขึ้นมาเยอะมาก นี่ล่ะคือ Meta Learning เพราะก่อนที่เราจะเรียนอะไร มันจะมีวิธีเรียน วิธีสอนแบบไหน อย่างไรบ้าง” โตมรย้อนเล่าประสบการณ์
ต่อมาโตมรขยายภาพต่อไปว่า ‘Meta Learning’ หรือการเรียนรู้ในเรื่องการเรียน มันมีมานานแล้ว เช่น วิชาญาณวิทยา (Epistemology) แต่ปัจจุบันเรามีโอกาสที่จะใช้ Meta Learning มากขึ้น ด้านหนึ่งคือมีข้อมูลเยอะไปหมด อีกด้านหนึ่ง คือ มันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เอไอ’ เข้ามา
“ผมคิดว่าเอไอเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าสมมุติเราอยากจะรู้ว่า มีวิธีการสอนเปียโนกี่แบบ เราอาจจะไปนั่งค้นเอาในยูทูบว่ามีกี่แบบ แต่ถ้าเราลองถามเอไอ หรือ Generative AI เช่น Chat GPT มันน่าจะบอกภาพใหญ่ให้เราเห็นว่า ความรู้เรื่องนั้นมันมีเรื่องอะไรที่เราควรจะเรียนรู้อยู่ในนั้นบ้าง มันมีใครศึกษาอะไรยังไงไว้แล้วบ้าง” โตมรเชื่อมร้อยให้เห็นภาพ
จากนั้นขมวดปมแล้วทิ้งท้ายว่า Learn Lab ครั้งนี้จึงใช้ชื่อว่า CREATIVITY BEYOND AI เพราะหลังจากที่เราใช้เอไอ ไปช่วยดูแล้วว่าภาพใหญ่ในเรื่องที่เรากำลังจะทำ มันมีอะไรอยู่บ้าง มีใครเคยทำอะไรบ้างแล้ว
“มันต้องกลับมาเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะใช้ Creativity ของเรา ทำให้มันไปไกลกว่าเอไออย่าปล่อยให้ความสนุกในการคิดงาน ไปอยู่ในมือเอไอ อย่างเช่น เวลาที่เราเขียนหนังสือ แล้วเราบอกให้เอไอ เขียนแทน ทำไมเราทำอย่างนั้นล่ะ
“อย่าลืมว่าความสนุกในการทำงาน มันคือการได้เขียนด้วยตัวเอง อาจจะใช้เอไอ มาช่วยบ้าง แต่ว่าเป็นตัวช่วยในการผลักเราไปข้างหน้า ให้เราไปได้ไกลขึ้น”
ทลายกรอบห้องเรียนเก่า
เทคโนโลยีช่วยเรียนรู้แบบ‘อีซี่’

หันมาฟัง พริษฐ์ เที่ยงธรรม หรือเฟิม ผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นพี่ ผู้ชนะจาก Learn Lab ปีที่แล้ว จากทีมผู้สร้าง ‘Edsy’ แพลตฟอร์มฝึกพูดภาษาอังกฤษสุดปัง เล่าว่า การเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนไทย ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเป็นการท่องคำศัพท์ ท่องแกรมม่า ฟังครูบรรยายไปทั้งคาบ ก็เลยมีนักเรียนไทยหลายคน ไม่ได้ชอบวิชาภาษาอังกฤษ หรือไม่ชอบภาษาเลย
“พอได้ไปดูเขาเล่นเกมภาษาอังกฤษ ได้ฝึกคุยกับครูต่างชาติมากขึ้น มันอาจจะไม่น่าเบื่อเท่ากับการท่องแกรมม่าอย่างเดียว แพลตฟอร์ม Edsy ของเราก็เลยเอาคอนเซ็ปต์ Meta Learning มาดูแล้วพบว่า การเรียนภาษาอังกฤษมันมีหลายแบบ มันมีแบบไหนบ้าง แล้วแต่ละแบบเหมาะกับใครบ้าง ใครต้องใช้วิธีการเรียนรู้แบบไหน
“พอเราทำตัวโปรโตไทป์ให้นักเรียนได้ฝึกพูดสนทนากับ AI เช่น เอไอจะให้โจทย์เป็นคำถาม แล้วนักเรียนก็อัดเสียงตอบ แล้วเอไอก็จะมาดูว่ามีผิดแกรมม่าที่ไหนบ้าง แก้แกรมม่าให้” รุ่นพี่ผู้ชนะโครงการปีที่แล้วย้อนเล่า
ก่อนจะชี้ให้เห็นจุดที่น่าสนใจอีกว่า บางทีคุณพูดภาษาอังกฤษ มันอาจจะดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ เพราะเพนพอยต์ของคนไทย คือ เราพูดคำ สองคำจบ เราไม่รู้จะพูดอะไร เราพูดยาวไม่เป็น หรือคลังคำศัพท์ไม่เยอะ
รวมถึงการคิดเป็นภาษาไทยแล้วพูดออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ถูกแกรมม่าเป๊ะ แต่ฝรั่งฟังแล้วงงว่า เอ๋? คุณพูดอะไร เพราะฉะนั้นสเต็ปที่ 2 คือ เอไอจะแนะนำได้ถึงวิธีพูดประโยคหนึ่ง มันมีหลายวิธีมาก มันจะแนะนำวิธีพูดให้เข้ากับโทน ให้เข้ากับนิสัย และตัวตนของเด็กมากขึ้น เด็กเขาชอบส่วนนี้มาก
“พอเขาได้ลองผิดลองถูก ได้ลองพูดแบบไม่กลัวว่าจะมีคนมาจับผิด หรือจะมีคนมาล้อว่าผิดแกรมม่า เพราะเอไอไม่มี Judgment อยู่แล้ว เด็กก็เลยเริ่มชอบ เริ่มสนุกขึ้น เริ่มคิดคำตอบที่มันครีเอทีฟ จนเขาก็กลายเป็นคนที่รักภาษาอังกฤษมากขึ้น ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของ Meta Learning ตอนนี้ก็มีโรงเรียนนำร่องไปใช้กว่า 1,000 โรงเรียนแล้ว” พริษฐ์ร่วมจุดแรงบันดาลใจ
ตีโจทย์ให้แตก ล้มแล้ว ก็แค่ลุก
หนุนรุ่นใหม่สร้างการเปลี่ยนแปลง

นอกจากฝั่งเทคโนโลยีแล้ว ยังเสริมทัพด้วยมุมมองด้านธุรกิจ พัฒนพงศ์ รานุรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งดีวานาสปา ซึ่งเริ่มต้นด้วยการออกตัวว่า ตนไม่ได้เป็นนักเทคโนโลยี ซึ่งคำหนึ่งที่ได้ยินมา คือ นวัตกรรมไม่ได้มาจากเทคโนโลยีเสมอไป คุณไม่จำเป็นต้องเอาเอไอไปใส่ในทุกโมเดล แล้วคิดว่ามันจะชนะ
“พอเราพูดถึงคำว่านวัตกรรม คนมักจะพูดถึงสิ่งใหม่ สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดนวัตกรรมชัดที่สุด คือ การเอาศาสตร์ 2 ศาสตร์ที่ต่างกันมาผสานกัน แล้วมันมักจะเกิดนวัตกรรมเสมอ
แต่ถ้าจะทำนวัตกรรมนั้นให้สำเร็จ คุณต้องจับ Mega Trend กับ Micro Behavior ให้ออก มันจะสร้างความสำเร็จให้คุณได้แน่ เพราะนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และผู้ออกแบบห้องเรียนแห่งนี้ พูดถึงเรื่องนี้ตรงกัน มันจึงน่าสนใจ และก็ขอให้ทุกคนอย่าเชื่อทั้งหมด ให้ตั้งคำถามว่า ทำไมพี่ๆ เขาพูดแบบนี้” พัฒนพงศ์ดึงสติเบาๆ ก่อนเล่าเรื่องราวชีวิตที่ชวนเปิดมายด์เซต
ตนเป็นคนชอบทำแบรนดิ้ง จบจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราเป็นนักวิจัยก็จะรู้ว่าทุกอย่างคือการเรียนรู้ เลยไม่กลัวเฟล เพราะเวลาทำงานก็มักจะทดลองเสมอ และเมื่อไปถึงปุ๊บแล้วมันเฟล อ้าว! ก็มันเฟลไง เราก็เดินต่อ
สิ่งที่เราทำ 3 อย่าง คือ หนึ่ง เข้าใจสิ่งที่ตัวเองทำก่อน สองเคารพในความแตกต่างหลากหลาย แม้กระทั่งคู่แข่งที่เกิดขึ้น และสาม สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง
“ขอให้ทุกท่านสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวก เพื่อให้ผู้คนดีขึ้น สังคมดีขึ้น ประเทศชาติดีขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่เราผลักดันกัน” พัฒนพงศ์ฝากไว้ให้คนรุ่นใหม่คิดต่อ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ “Learn Lab 2025” ได้ถึง 31 มกราคมนี้ ชิงเงินรางวัลกว่า 200,000 บาท ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ‘OKMD’ และ ‘Alpha Plus SANDBOX’ เป็นต้น
โดยครั้งนี้พิเศษกว่าที่เคย โดยการเปิดกว้าง ไม่จำกัดอายุ เพียงรวมทีมกันมา 2-5 คน ก็สามารถจูงมือกันมาสมัครได้แล้ว โดย OKMD เน้นย้ำว่า เตรียมพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ให้ได้ลองผิดลองถูก ไม่ต้องกลัวเจ็บจากการล้มเหลว เพราะมีทีมโค้ชคอยประกบให้คำแนะนำ ให้สามารถเอาไปปรับต่อยอดได้จริง
หากทีมใดเค้นไอเดียออกมาจนทำกรรมการทึ่งตะลึงหงาย เตรียมโกยเงินรางวัลมูลค่ากว่า 2 แสนบาท!
ภูษิต ภูมีคำ