คำแนะนำ… จาก’นายกฯ’ ‘ความหวังดี’และ’ความจริง’

“วอน ‘บิ๊กตู่’ ช่วยพยุงราคาหมามุ่ย”

เป็นอีกพาดหัวข่าวรับปีใหม่ในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด

อะไรจะแย่ไปกว่าการพยายามดิ้นรนทำมาหากินด้วยวิถีทางอื่นแล้วไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง

วิถีทางที่ว่านี้ เป็นวิธีที่ผู้นำประเทศแนะนำเกษตรกรเสียด้วย

Advertisement

ย้อนกลับไปมองรอบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผ่านร้อนผ่านหนาว นับตั้งแต่ปลูกพืชท้องถิ่นแล้วขายไม่ออก ไปจนกระทั่งสัตว์ที่เลี้ยงไว้ทำเงินไม่ได้อย่างที่เคย ไม่แปลกอะไรที่ “นายกฯลุงตู่” จะออกมาช่วยแนะนำวิธีทำมาหากินในห้วงยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ

ถอยกลับไปในเดือนมิถุนายน 2558 ในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” หลังจากอธิบายถึงปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกหัวระแหงแล้ว นายกรัฐมนตรีก็แนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชอื่นๆ ที่ใช้ทดแทนการปลูกข้าว-ปลูกยาง รวมถึงเพาะจิ้งหรีด เพาะไส้เดือนขายเพื่อช่วยในการเพิ่มรายได้และปรับปรุงดิน

“นี่ประเทศไทย ผืนดินไทย ถ้าขยันขันแข็งซะอย่างเดียวก็มาเอง” เป็นคำสรุปและให้กำลังใจนุ่มๆ จาก พลเอกประยุทธ์ในค่ำวันนั้นผ่านหน้าจอโทรทัศน์

Advertisement

และเดือนต่อมา-กรกฎาคม ระหว่างให้โอวาทกับคณะโครงการเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกาที่กลับมาเยือนแผ่นดินแม่ นายกรัฐมนตรีก็กล่าวว่า รัฐบาลสนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพรแทนการปลูกข้าว ในกรณีที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ และที่ผ่านมา ก็มีการขายหมามุ่ยได้กิโลกรัมละกว่า 800 บาท ขณะที่หลังส่งไปแปรรูปแล้ว ราคาพุ่งสูงกิโลกรัมละกว่า 80,000 บาท

“เราจะมานั่งโง่ปลูกอย่างอื่นที่มีกำไรเพียงพันบาทหรือไม่กี่บาทอีกทำไม” เป็นหนึ่งในวิวาทะของวันนั้น

แต่ตัดภาพกลับมาเมื่อไม่กี่วันก่อน มีข่าวชาวบ้านร้องทุกข์ไปยังนายกฯ หลังปลูกหมามุ่ยทดแทนยางพาราที่ราคาตกต่ำแล้วแต่กลับปรากฏว่าไม่มีตลาดรองรับ

ขณะที่เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นายกฯก็แนะนำให้ชาวเกษตรกรเรียนรู้การปลูกสวนกล้วยหอมแซมสวนยางพารา เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้ครอบครัวในสภาวะราคายางตกต่ำ ซึ่งหลายฝ่ายออกมาค้านว่า การปลูกกล้วยในสวนยางพารานั้นไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะกล้วยเป็นพืชใช้น้ำเยอะและใบใหญ่ เมื่อโตก็จะไปบังหน้ายางจนแสงแดดลอดไม่ถึง ทั้งยังจะดึงน้ำและความชุ่มชื้นไปจากยางจนยางชื้นและเกิดเชื้อรา
ส่วนอีกประเด็นที่ “พีค” ตั้งแต่ต้นปี คือการที่ท่านนายกฯแนะให้ชาวสวนยางพาราปลูกสตรอเบอรี่ซึ่งหารายได้ทดแทนในช่วงราคายางตกต่ำ จนหลายคนออกมาวิจารณ์ว่า จะเป็นการฝืนธรรมชาติ ฝืนชีวิตเกินไปที่จะปลูกพืชโตยากในภูมิประเทศแบบภาคใต้ให้งอกงามเพื่อหารายได้ให้ครอบครัว
การปลูกพืช การหาวิถีทางทำมาหากินทดแทนวิถีทางเดิม ควรจะพิจารณาอย่างไร จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจ

รู้เขารู้เรา
รู้ตลาด รู้สินค้า

pra01180159p3

เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ประเด็นเรื่องการปลูกพืชแซมในสวนยางพาราหรือปลูกพืชอื่นเพื่อทดแทนนั้น มีการทำมาแล้วระยะหนึ่ง แต่ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนระบบการจัดการ เกษตรกรต้องรู้ว่าสิ่งที่ปลูกนั้นมีตลาดรับซื้อที่ไหนบ้าง

“เหมือนกรณีเพาะจิ้งหรีด คือทำได้ แต่การที่บอกว่าราคาดี ก็เพราะเป็นสภาวะปริมาณอุปทานไม่มาก ผลผลิตไม่เยอะ แต่เมื่อผลผลิตเยอะขึ้น เป็นธรรมดาที่ราคาสินค้าจะก็ถูกลง พี่น้องเกษตรกรจึงต้องอย่าไปคิดว่าปลูกเพราะราคาดี แต่ต้องมีตลาด ต้องตอบโจทย์ตลาดให้ได้ก่อน ถ้าเราหาตลาดได้ชัดและคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดี ก็จะเสริมรายได้จากการปลูกยางได้” เดชรัตน์กล่าว ก่อนจะเสริมว่า เช่นเดียวกับกล้วย ที่แน่นอนว่าปลูกได้ แต่หากหวังพึ่งตลาดส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ในทางปฏิบัตินั้นนับว่าเป็นเรื่องยากไม่น้อย

“เพราะต้องเริ่มจากจะส่งสินค้ามาส่วนกลางอย่างไร เท่านี้ก็เป็นปัญหาและอาจทำให้เกษตรกรถูกกดราคาได้ เมื่อปริมาณสินค้าเยอะเข้า ราคาก็ตก พี่น้องเกษตรกรที่ไม่มีช่องทางตลาดอื่นก็จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย”

และสำหรับกรณีล่าสุดอย่างหมามุ่ยที่หาตลาดลงไม่ได้นั้น เดชรัตน์วิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกษตรกรไม่ได้มองตลาดไว้ก่อน นำไปสู่วงเวียนเดิมที่หาที่ส่งไม่ได้

“คือการแนะว่าปลูกพืชนั้นปลูกพืชนี้แล้วราคาจะดี ในทางปฏิบัตินั้นจะส่งผลเสียในระยะยาว ถ้าเกษตรกรปลูกตามราคาอย่างเดียว เมื่อราคาเปลี่ยนก็จะไม่มีทางออก ต้องปลูกโดยมีตลาดชัดเจนก่อน อยากย้ำตรงนี้” อาจารย์เน้นเสียง “คืออาจต้องใช้กลุ่มสหกรณ์หรือสถาบันการเกษตรมาช่วยหาข้อมูลด้วย ขณะที่เกษตรกรคงจะต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก จะปลูกอะไรก็ควรหาข้อมูล”

ระยะสั้น กลาง ยาว
ต้องมีการวางแผน

pra01180159p2

ขณะที่ นันทนา นันทวโรภาส อาจารย์จากวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ให้ความเห็นผ่านเสียงนุ่มๆ ว่า ประเทศไทยในเวลานี้กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรงและทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อก้าวเข้าปี 2559 ที่เห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยนั้นลดลงในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตร ทั้งนี้ ปัจจัยหนึ่งสืบเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย แนวนโยบายจึงไม่ยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกรปลูกแต่ในสิ่งที่เคยปลูก เพราะไม่ทราบชัดเจนว่าพืชชนิดใดที่จะมีตลาดรองรับ

“เป็นปัญหาเรื่องวางแผนระยะยาวค่ะ” อาจารย์สาวสรุปมองย้อนกลับไปก็เห็นจะจริงเช่นนั้น เมื่อที่ผ่านมากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของคำแนะนำจากนายกฯ ล้วนชี้ตรงถึงภาคเกษตรที่ทั้งเจ็บทั้งช้ำผ่านคราบน้ำตาของคนทำไร่ทำสวน ที่จนป่านนี้ก็ยากจะบอกว่าเงยหน้าอ้าปากได้สะดวกหัวใจแล้ว

“มองว่าปัญหาเฉพาะหน้าที่เรากำลังเผชิญอยู่ แล้วท่านนายกฯออกมาให้คำแนะนำกับเกษตรกรในเรื่องการปลูกพืชชนิดนั้นชนิดนี้ ตรงนี้ควรเป็นเรื่องการวางแผนระยะยาว เช่น ตอนนี้ปัญหายางพาราราคาตกต่ำ ไม่ใช่เฉพาะยางหรอกที่ต่ำ แต่พืชผลการเกษตรอื่นๆ ก็ตกต่ำ ตรงนี้ต้องหาแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าว่ารัฐบาลจะช่วยสนับสนุนหรือมีแนวทางอย่างไร”

การออกมาแนะนำให้ประชาชนปลูกพืชผักหรือเพาะเลี้ยงสัตว์ราคาดีนั้น จึงต้องเป็นเรื่องเฉพาะหน้าจริงๆ เพราะจะมากน้อย การปลูกพืช เพาะสัตว์ใดๆ ก็ตาม ต้องใช้เวลาอย่างต่ำก็ 6 เดือนหรือหนึ่งปีเต็มหรือบางชนิดก็นานหลายปีทีเดียว เรื่องการปลูกพืชเสริมจึงเป็นเรื่องของการวางแผน ที่ต้องวางให้เป็นระยะ ไม่ใช่สักแต่ปลูกพืชราคาดีตามมีตามเกิดเพราะจะไม่มีตลาดรองรับ

“โดยเฉพาะพืชที่นายกฯแนะ อยากจะถามเหมือนกันว่าท่านพูดจริงหรือพูดเล่น เช่น ปลูกสตรอเบอรี่ในสวนยาง ทั้งที่เป็นพืชคนละภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ซึ่งถ้าท่านพูดจริง น่าจะเป็นปัญหาว่าท่านไม่เข้าใจว่าพืชผลการเกษตรมีสภาพภูมิประเทศต่างกัน”

“ดังนั้นการแนะนำอะไรต่างๆ ควรเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ในการวางแผนระยะยาว ระยะกลาง และเฉพาะหน้า ไม่อาจใช้วิธีพูดไปเรื่อยๆ ได้”

การปรับเปลี่ยน
และปัญหา’ข้อมูล’

ในหลายครั้ง เราจะพบว่าสิ่งที่พลเอกประยุทธ์พูดด้วยท่าทางขึงขังจริงจังภายใต้มาดดุดันนั้น บางครั้งก็เป็นด้วยอารมณ์ขันอย่างที่เจ้าตัวเคยบอกไว้ว่า “เป็นคนตลก”

จนยากจะดูทิศทางลมว่าอันที่จริงแล้ว ที่นายกฯนำเสนอมานี้ควรปฏิบัติจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงมุขตลกเพื่อกระตุ้นให้คนในชาติอารมณ์ดีไปวันต่อวัน

อาจารย์นันทนามองว่า กับปัญหาเศรษฐกิจและผลผลิตทางเกษตรตกต่ำ เชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ “เย้าเล่น” ในประเด็นนี้อย่างแน่นอน ทุกคำแนะนำที่ออกมานั้น นายกฯน่าจะเชื่อว่าหากประชาชนปฏิบัติตามแล้ว รายได้ภาคครัวเรือนน่าจะดีขึ้น

“จริงๆ เข้าใจว่าท่านนายกฯพูดจริง เพราะท่าทีไม่ใช่ท่าทีแบบสนุกสนาน แต่คนที่เป็นผู้นำประเทศควรมีความรู้ว่าพืชต่างๆ ควรปลูกในภูมิประเทศ ภูมิอากาศแบบไหน คือถ้าถามว่าที่เขาพูดเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเล่น เข้าใจว่าคงเป็นเรื่องจริง บริบทจริง แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงพูดเช่นนั้น เพราะท่านนายกฯควรมีความรู้ว่าพืชควรปลูกที่ไหน ไม่ควรทำให้ประชาชนมึนงงกับสิ่งที่นำเสนอ”

ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง การปรับเปลี่ยนตนเองเป็นเรื่องสำคัญ

ที่มาพร้อมๆ กันกับการปรับเปลี่ยน ก็คือ ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ต้องผ่านการค้นคว้าหรือวิจัย ทดลองปฏิบัติ จนหมดความสงสัยในระดับหนึ่ง

แนวโน้มปัญหาเศรษฐกิจที่นับวันยิ่งรุนแรง ทำให้การปรับเปลี่ยนโดยมีข้อมูลที่หนักแน่น เป็นตัวสนับสนุน มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image