จุดเริ่มต้นเส้นทาง… 100 ปี ‘มหาวิทยาลัยแห่งแรกของสยาม’

แบบตึกใหญ่ของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ หรือตึกบัญชาการแบบไทย ออกแบบโดย ดร.คาร์ล ดอห์ริ่ง นายช่างของกระทรวงมหาดไทย และ นายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ นายช่างของกระทรวงธรรมการ โดยอาศัยแบบไทยโบราณจากสุโขทัยและสวรรคโลก (ภาพจาก หนังสือ 70 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530)

การศึกษาของไทยก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เจ้าขุนมูลนายและราษฎรมักส่งบุตรหลานที่เป็นเด็กผู้ชายไปศึกษาเล่าเรียนกับภิกษุที่มีความรู้ อาศัยวัดวาอารามเป็นสถานศึกษา บวชเป็นสามเณรบ้าง ฝากตัวเป็นศิษย์วัดบ้าง ส่วนเด็กผู้หญิงจะเรียนรู้เกี่ยวกับการบ้านการเรือน การเย็บปักถักร้อยมียายหรือแม่เป็นผู้สอนอยู่ที่บ้าน

ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงปฏิรูประบบราชการพร้อมกับระบบการศึกษา สิ่งที่ตามมาคือระบบการศึกษามีพัฒนาการเกิดขึ้นหลายระดับ จนสามารถสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2460 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯมาทรงวางศิลาฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯมาทรงวางศิลาฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458

เรื่องราวจุดเริ่มต้นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของสยาม เส้นทางผ่านมา 100 ปี ผู้เขียนขอนำเสนอบทความที่อธิบายการถือกำเนิดขึ้นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางพลวัตที่เปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของรัฐสยามและของโลกตะวันตกในยุคนั้น คืองานเขียนของ นนทพร อยู่มั่งมี ในบทความที่ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยแรกสถาปนา จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2560

 ตราโรงเรียนข้าราชการพลเรือน
ตราโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

นนทพร อยู่มั่งมี ได้อธิบาย อิทธิพลตะวันตกที่มีต่อการปรับปรุงระบบการศึกษาสยามว่า “ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 นับเป็นช่วงที่อิทธิพลของชาติมหาอำนาจตะวันตกเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเข้ามาครอบครองดินแดนต่างๆ ทั้งเพื่อแสวงหาทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และเพื่อแข่งขันอำนาจทางการเมืองระหว่างกัน สิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาดินแดนอาณานิคมต่างๆ ในด้านสาธารณูปโภค ระบบการศาล ภาษา รวมทั้งระบบการศึกษาและเทคนิควิทยาการต่างๆ ล้วนมีผลกระทบต่อคนพื้นเมือง ผู้รับผิดชอบการศึกษามีทั้งรัฐบาลเจ้าอาณานิคมและคณะสอนศาสนา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดการขยายออกเป็นวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยตามลำดับ

Advertisement
แบบอาคารหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
แบบอาคารหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“สำหรับทวีปเอเชียมีการตั้งมหาวิทยาลัยตามแบบตะวันตกแห่งแรกในอินเดีย ซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ได้แก่ University of Calcutta เมื่อ พ.ศ.2400 ส่วนประเทศที่มีการปฏิรูปตามอย่างชาติตะวันตกอย่างญี่ปุ่นเริ่มพัฒนากระบวนการศึกษาแบบตะวันตก และมีการตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกคือ Keio University เมื่อ พ.ศ.2401 ขณะที่เมืองไทยซึ่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการรับวิทยาการและการค้าการติดต่อกับชาติตะวันตกในช่วงเดียวกัน ได้มีมิชชันนารีชาวอเมริกัน คือ หมอบรัดเลย์ ได้มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลตั้ง “ยูนิเวอร์ซิตี” ผ่านหนังสือพิมพ์ The Bangkok Recorder ของตนเมื่อ พ.ศ.2408″

นักเรียนเก่าโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่มาในงานวงศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการโรงรเียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458
นักเรียนเก่าโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่มาในงานวงศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการโรงรเียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458

จนกระทั่ง พ.ศ.2420 ศาสนาจารย์แซมวล จี. แม็กฟาร์แลนด์ (Samuel G. McFarland) ได้เสนอต่อรัฐบาลสยาม เรื่องแผนการตั้งมหาวิทยาลัยให้การศึกษาแก่เด็กๆ ที่กรุงเทพฯ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้แม็กฟาร์แลนด์รับผิดชอบการดำเนินงานโรงเรียนสวนอนันต์ ที่วังนันทอุทยาน ซึ่งเปิดในเดือนมกราคม พ.ศ.2421

ข้อเสนอของชาวตะวันตกทำให้สยามเวลานั้นต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัว เพื่อให้ทันต่อสภาพบ้านเมืองของโลกตะวันตก จึงเป็นแรงกระตุ้นอีกทางหนึ่งที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูประบบราชการของรัฐสยามตามมาในห้วงเวลาเดียวกัน

Advertisement

การปฏิรูประบบราชการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีส่วนสำคัญต่อการสร้างบุคลากรทางการศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของระบบราชการรูปแบบใหม่ เช่น การกำหนดรูปแบบงาน, ตำแหน่ง, เงินเดือน อย่างชัดเจน

พร้อมทั้งส่งเสริมบุคคลให้มีความสามารถสอดคล้องกับระบบงานแบบใหม่ ที่เน้นความมีประสิทธิภาพและความรอบรู้ทางวิชาการต่างๆ รัฐบาลจึงก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.2414 เพื่อศึกษาวิชาการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นสำหรับเพื่อไปเป็นขุนนาง และมีการตั้งโรงเรียนเพื่อศึกษาศาสตร์แขนงต่างๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะงาน เช่น มีการตั้งโรงเรียนแผนที่, โรงเรียนนายร้อยทหารบก, โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนกฎหมายขึ้นตามลำดับ

 เมื่อแรกสร้าง "ตึกเทวาลัย" อาคารหลังนี้ถูกเรียกว่า "ตึกบัญชาการ" ถือเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอาคาร "อักษรศาสตร์ 1" และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "อาคารมหาจุฬาลงกรณ์" (ภาพจากหนังสือ ร้อยเรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬาฯ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558)
เมื่อแรกสร้าง “ตึกเทวาลัย” อาคารหลังนี้ถูกเรียกว่า “ตึกบัญชาการ” ถือเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอาคาร “อักษรศาสตร์ 1” และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “อาคารมหาจุฬาลงกรณ์” (ภาพจากหนังสือ ร้อยเรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬาฯ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558)

เมื่อความต้องการข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถ จึงนำไปสู่การตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ขึ้นใน พ.ศ.2442 และต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า โรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งได้ดำเนินการมาจนจวบสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พัฒนาการของโรงเรียนมหาดเล็กสู่การสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แรกเริ่มนั้นเมื่อ พ.ศ.2456 พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ข้าราชการผู้ใฝ่ใจในการศึกษา ได้เสนอแผนการยกสถานะจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เสนอให้จัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ด้วยการตั้งมหาวิทยาลัย ให้มีการสอน 8 แผนกสำคัญ คือ วิชาแพทย์ วิชาอาจารย์ วิชาเนติบัณฑิต วิชาราชบัณฑิต วิชานวโกศล วิชาพาณิชยการ วิชากสิการและความรู้บ้านเมือง และข้าราชการอีกท่านหนึ่งที่ได้เสนอให้สร้างมหาวิทยาลัย แถลงแนวคิดไว้เมื่อ พ.ศ.2457 คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

ต่อมา วันที่ 26 มีนาคม 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ มีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดยมี พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก

พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก
พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงแรกมีการจัดการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะแพทยศาสตร์ คงตั้งอยู่ที่โรงเรียนแพทย์เดิม ณ ศิริราชพยาบาล 2.คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ทำการสอนที่ตึกบัญชาการ คือ ตึกสร้างใหม่ที่ถนนสนามม้า 3.คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งรวมโรงเรียนยันตรศึกษาใช้ตึกเดียวกับคณะรัฐประศาสนศาสตร์ 4.คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เปิดสอนที่วังใหม่หรือวังกลางทุ่ง หรือวังวินด์เซอร์ (เคยเป็นวังของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มาแต่เดิม)

หลังเหตุการณ์ พ.ศ.2475 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น การโอนย้ายบางคณะไปรวมกับสถาบันการศึกษาอื่น ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพความเป็นปึกแผ่นของจุฬาฯ ขณะนั้น ก่อนที่จะกลับมารวมเป็นหนึ่งอีกครั้งในเวลาต่อมา

หากท่านอยากรู้เรื่องราวจุดกำเนิดเริ่มต้นของสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของสยาม เส้นทางผ่านมา 100 ปี ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและเหตุการณ์ เผชิญกับปัญหาต่างๆ นานัปการ แต่สามารถผ่านอุปสรรคลุล่วงมาได้ ซึ่งมีรายละเอียดมากขึ้นกว่านี้ โปรดอ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับประจำเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งกำลังวางตลาดอยู่ในขณะนี้

หรือมาร่วมฟังเสวนา “มหาวิทยาลัยในพระราชปณิธาน : 100 ปีแห่งวิทยาการ และงานศิลปวัฒนธรรม” วันที่ 23 มีนาคมนี้ เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้องโถงมติชนอคาเดมี

ภาพร่างตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) จะเห็นการนำรูปแบบศิลปะสุโขทัยมาเป้นแบบตึก
ภาพร่างตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) จะเห็นการนำรูปแบบศิลปะสุโขทัยมาเป็นแบบตึก
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image